Skip to main content
วลักษณ์กมล จ่างกมล
 
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
การจะเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของบทบาทสื่อในการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพ เราน่าจะทบทวนกลับไปสู่ความจริงพื้นฐานที่น่าจะฐานของการร่วมกันคุยและหาทางออกหรือข้อเสนอแนะของบทบาทสื่อในกระบวนการสันติภาพได้บ้าง ความจริงพื้นฐานที่กล่าวนั้น ก็คือประเด็นของความย้อนแย้งระหว่างธรรมชาติของ “กระบวนการสันติภาพ” กับ “การทำงานของวิชาชีพสื่อ” ซึ่งพอจะสรุปได้หลัก ๆ ดังนี้
 
ประเด็นแรก กระบวนการสันติภาพนั้นซับซ้อน แต่การทำงานของสื่อยึดความกระชับเข้าใจง่าย
 
ประเด็นที่สอง กระบวนการสันติภาพนั้นใช้เวลายาวนาน ทั้งในการเริ่มต้นและพัฒนาไปสู่เป้าหมาย แต่การทำงานของสื่อนั้นเน้นความรวดเร็วและทันท่วงที
 
ประเด็นที่สาม กระบวนการสันติภาพนั้นเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและน่าเบื่อหน่าย แต่การทำงานของสื่อนั้นต้องการความตื่นเต้นเร้าใจ ดึงดูดความสนใจผู้รับสาร
 
ประเด็นที่สี่ กระบวนการสันติภาพที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะนำไปสู่การคลี่คลายความตึงเครียดและตื่นเต้นของเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง แต่การทำงานของสื่อต้องการขายความขัดแย้งรุนแรง
 
และประเด็นสุดท้าย เราพบว่าในหลาย ๆ ขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพต้องดำเนินอยู่ในที่ลับและเป็นการถกเถียงของกลุ่มเฉพาะ แต่การทำงานของสื่อเน้นที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลและช่วงชิงพื้นที่ในการเผยแพร่ให้เร็วที่สุด
 
จากประเด็นเรื่องของความย้อนแย้งที่เป็นความจริงพื้นฐานและธรรมชาติของสองสิ่งที่ว่านั้น เป็นที่มาของสถานการณ์ปัญหาของการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพในสื่ออยู่ ณ ขณะนี้ ไม่เพียงแต่สื่อไทย แต่เป็นสื่อทั่วโลก แม้ว่าในวงการสื่อเมืองไทยในขณะนี้มีการปรับตัวหันมาทบทวนบทบาทในประเด็นนี้กันบ้างแล้ว รวมทั้งในการรายงานข่าวบางชิ้น บางช่วงเวลา ของสื่อมวลชนบางกลุ่มบางคนก็เห็นความพยายามในการที่จะทลายเส้นแบ่งของความย้อนแย้งเหล่านั้นอยู่บ้าง แต่อาจจะเป็นความพยายามเฉพาะที่เป็นเรื่องของปัจเจก หรือจากกลุ่มพลังผลักดันภายนอกองค์กรสื่อ หรือกลุ่มองค์กรวิชาชีพทางเลือกมากกว่าที่จะเป็นพลังผลักดันภายในของกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อกระแสหลัก เวทีในวันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มแบบนั้น
 
จากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยและทบทวนบทเรียนจากการศึกษาบทบาทของสื่อในกระบวนการสันติภาพในที่ต่าง ๆ ระดับนานาชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถนำมาอธิบายได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมสื่อของเมืองไทยได้ไม่แตกต่างกันเลย นั่นคือ จากความย้อนแย้งต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ได้ก่อให้เกิด 3 ปัญหาสำคัญในการทำงานของสื่อในกระบวนการสันติภาพ คือ
 
1. การเน้นย้ำไปที่ตัว “เหตุการณ์” มากกว่า “กระบวนการ” ดังที่กล่าวว่ากระบวนสันติภาพนั้นใช้เวลาในการพัฒนาการไปสู่แต่ละเป้าหมายหรือแต่ละข้อตกลง แต่การทำงานของสื่อนั้นรอไม่ได้หรือไม่ต้องการรอ สื่อต้องการข่าวทันทีจึงพยายามหยิบเหตุการณ์ย่อย ๆ มาเป็นข่าว ซึ่งบางเหตุการณ์ก็กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการสันติภาพ และอาจก่อให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกและตีความไปต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเหตุการณ์เหล่านั้นมันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ยังไม่มีบทสรุปท้ายสุดหรืออาจมีการปรับเปลี่ยนไปเองเมื่อถึงช่วงการเจรจาจุดหนึ่ง คำถามแบบเน้นผลระยะสั้นที่ติดอยู่ในห้วงคิดของสื่อส่วนใหญ่ตลอดเวลาในการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านชิ้นงานข่าวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะก็คือ “เวทีครั้งนี้สำเร็จหรือล้มเหลว” หรือว่า “กระบวนพูดคุยครั้งนี้จะจบเป็นครั้งสุดท้ายหรือว่าจะมีต่อไปอีก”
 
2. การที่สื่อยังยึดติดอยู่กับคุณค่าของข่าวแบบดั้งเดิม คือต้องหาว่าจุดผิดปกติของกระบวนการอยู่ตรงไหน ความเร้าอารมณ์ของตัวบุคคล หรือข้อความ หรือการพยายามอธิบายตัวความขัดแย้งว่าใครดูไม่เต็มใจหรือเต็มใจ ประเด็นขัดแย้งทางการเมืองภายใน ระหว่างประเทศเป็นอย่างไร การตีคุณค่าของฝ่ายที่เกี่ยวข้องบางฝ่ายว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จนเกิดคำถามสะท้อนจากสาธารณะว่าทำไมเราต้องไปให้ค่ากับโจรก่อการร้าย
 
3. การที่สื่อเป็นอุปสรรคในกระบวนการสันติภาพเสียเอง เพราะในความเป็นจริงของกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการเจรจาก็คือ มันควรเป็นกระบวนการที่เป็นความลับและดำเนินไปโดยที่ไม่มีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เข้ามาทำให้เสียกระบวน การนำเสนอข้อเรียกร้องข้อตกลงบางอย่างที่ยังไม่ถึงที่สุด ทำให้ภาพของการ “ยอมแพ้” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปรากฏต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อกระบวนการสันติภาพ ทำให้สาธารณชนต่อต้านกระบวนการสันติภาพ แทนที่ฝ่ายผู้แทนการพูดคุยจะใช้เวลาหรือหากลยุทธ์ในการไปถกเถียงกันเองก็กลับต้องมาชี้แจงและเจรจากับสาธารณชนแทน นี่เป็นผลกระทบทางลบที่เกิดจากสื่อหรือเราจะกล่าวว่ามันคือ spoiler effect
 
ท่ามกลางสภาพการณ์ความย้อนแย้ง และสภาพปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของบทบาทสื่อที่เราพบนั้น น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้หลับไปทบทวนกันว่า เราควรจะหาทางออกอย่างไรเพื่อ เป็นข้อเสนอต่อสื่อในกระบวนการสันติภาพเพื่อให้สื่อได้ก้าวข้ามและเอาชนะกับความย้อนแย้งเหล่านั้น ในที่นี้ เป็นข้อเสนอในเชิงนโยบายมี 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
1. บทบาทของสื่อเพื่อกระบวนการสันติภาพนั้น ควรจะเป็นบทบาทแห่งความร่วมมือ ทั้งความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อด้วยกัน องค์กรสื่อกับภาคองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ และองค์กรสื่อกับภาคส่วนสาธารณะ ซึ่งอาจผ่านช่องทางของการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ
 
2. สื่อต้องมีกระบวนการออกแบบและจัดการเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในทุกขั้นตอน เช่น ต้องมีเซกชั่นหรือโต๊ะเฉพาะกิจที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะการจะสร้างสันติภาพนั้นไม่ง่ายดาย และไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าสันติภาพไม่จำเป็น ดังนั้น หากสื่อมีเป้าหมายชัดว่าต้องการให้ “สันติภาพ” เป็น “ปลายทาง” ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทุก ๆ ขั้นตอนจึงต้องมีการออกแบบและจัดการที่ชัดเจนเป็นระบบ นี่เป็นบทบาทใหม่ของสื่อในการสร้างสันติภาพที่เราอาจเรียกว่าเป็น “Advocacy journalism” หรือวารสารศาสตร์เชิงหนุนเสริม นี่เป็นการท้าทายต่อการปฏิรูปบทบาทของสื่อครั้งสำคัญ เป็นบทบาทของของสื่อในกระบวนการสันติภาพที่ต้องแตกต่างไปจากบทบาทเดิม ๆ ที่เคยมี
 
ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติการรายงานข่าวต่าง ๆ นั้น น่าจะเป็นประเด็นที่หลายท่านได้เคยนำเสนอกันมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ที่เรายังมุ่งเน้นไปที่บทบาทการรายงานข่าวความรุนแรง หรือความขัดแย้ง ซึ่งก็สามารถใช้หลักการเดียวกันได้ในการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากถ้าจะพิจารณาก็เป็นการทำบทบาทของความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ หรือ peace journalism เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นบทบาทในแต่ละห้วงเวลาของกระบวนการเท่านั้นเอง นั้นคือ บทบาทก่อนกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของการเน้นไปที่การให้ไกด์ไลน์ว่าสื่อควรต้องนำเสนอความรุนแรงอย่างไร ให้คนเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ เห็นแง่มุมอื่น ๆ เห็นความต้องการและการเรียกร้องที่ซ่อนอยู่ เห็นทางออก เห็นว่ามันมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ ส่วนในขั้นตอนนี้ก็เป็นการตอกย้ำบทบาทของการมี “สันติภาพ” เป็นเป้าหมาย ทำอย่างไรให้สื่อเป็นกลไกหลักในการสร้างให้สาธารณะหนุนนำและอดทนกับกระบวนการสันติภาพที่มันใช้เนิ่นนาน ซับซ้อน และเข้าใจยากเช่นนี้ให้ได้