Skip to main content

AwanBook

Abdulloh Wanahmad : ถอดความ

บทสัมภาณ์ชิ้นนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ของท่านฮาซันตอยิบ หลังจากที่มีการลงนามเจรจาสันติภาพปาตานีเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา บทสัมภาษณ์ชิ้นเป็นการทอดความจากคลิปเสียงที่ได้ออกอากาศไปแล้วผ่านสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยมีเดียสลาตัน

(ต่อจากที่แล้ว)

ส่วนที่ทางฝ่ายรัฐไทยร้องขอให้ทางฝ่ายขบวนการลงลึกในรายละเอียดนั้นคือประเด็นใดบ้าง?
เรื่องที่เขาร้องขอให้ลงในรายละเอียดนั้น คือประเด็นในเรื่องของสิทธิความเป็นเจ้าของคือประเด็นหลัก

ต้องการออโตนอมิหรือว่าอิสระ(เมอร์เดก้า)หรือว่าการกระจายอำนาจ?
ซึ่งในเรื่องนั้นเราเองก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ ซึ่งต้องรอปรึกษากันก่อน

คือหมายถึงไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการปล่อยตัวหรือไม่อย่างไร?
เรื่องการปล่อยตัวอันนั้นมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

หมายความว่าทั้งหมดห้าข้อนั้น มีแค่เรื่องสิทธิฯเองใช่ไหม(ที่ต้องส่งรายละเอียด)?
คือความจริงแล้วเราก็ต้องการคุยทุกประเด็น แต่ที่เป็นประเด็นหลักก็คือเรื่องของสิทธิความเป็นเจ้าของมากกว่าเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นเราก็ทำการพูดคุยเช่นกัน แต่ในส่วนของฝ่ายรัฐเอง ก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่นในเรื่องการปล่อยตัวและผู้ที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งทางท่านทวี และท่านภราดรเอง ก็กำลังพยายามอยู่ หนำซ้ำทางเขาเองก็ขอให้เราส่งรายชื่อ(เจาะจงเป็นรายบุคคล)หากเป็นไปได้ ว่ามีใครบ้างที่อยากให้ทำการยกเลิกหมายจับ แต่ว่าทางเรายังไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ อันนั้นก็มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเขาก็แล้วกัน

เรื่องที่ต้องการลดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฏอนนั้น หมายถึงการลดลงไม่ใช่ยุติเลยใช่ไหม?
ใช่ ไม่ได้เป็นการยุติ แต่เป็นการลดการปฏิบัติการลงในเดือนรอมฏอนนี้ แต่ว่าในหลักการแล้วเราก็ตอบรับในส่วนนั้น

เหตุใดไม่หยุดปฏิบัติการณ์เลย?
อันนั้นเราจะรับปากไม่ได้ เพราะว่าอาจมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราเองก็ไม่อาจที่จะรับทราบได้ว่า แต่คงอาจมี แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หยุดเลยเช่นกัน

แต่ว่าสำหรับฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่เอง มั่นใจไหมว่าสามารถยอมรับในเรื่องนี้ได้?
อันนั้นเราก็ต้องดูเงื่อนไขของเราก่อน ซึ่งทางเราจะส่งไปยังรัฐไทยอีกครั้งว่าจะมีอะไรบ้างที่เขาจะต้องทำ เพื่อที่จะยุติปฏิบัติการทุกรูปแบบ

ส่วนเรื่องการชี้แจงในสิทธินั้นคงยังไม่สามารถที่จะบอกได้ใช่ไหม?
ณ ตอนนี้ ในเรื่องดังกล่าวเรายังไม่สามารถที่จะให้รายละเอียดได้ เพราะเราอาจต้องทำการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง เพราะว่าเรื่องนี้เรามองว่ามันเป็นเรื่องในระดับภาคปฏิบัติในระดับนโยบายมากกว่า

มีคำถามจากคนมลายูในพื้นที่ว่า ท่านสามารถเป็นตัวแทนของนักรบในพื้นที่ได้จริงหรือ?
คือเราในฐานะที่ขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรใหญ่ และในเรื่องของการต่อสู้นี้เราเองก็เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มพูโลและกลุ่มบีไอพีพีกันมานาน และกับบางกลุ่มอื่นๆ ที่มีความคิดที่ดี (ไม่ใช่ผู้ขัดขวาง) ในเรื่องแนวทางการต่อสู้และการเจรจา เราสามารถดึงมาได้หมด และตอนนี้เราเองก็กำลังพยายามอยู่ ซึ่งความจริงแล้วพวกเขาเองก็กำลังรอเสียงจากพวกเราด้วยซ้ำ ส่วนกลุ่มอื่นๆ นั้น จากการที่เราได้รับทราบมาว่า พวกเขาเอง ต่างก็กำลังรอเสียงจากพวกเราอยู่(เพื่อต้องการเข้าร่วม) แต่ว่าเรากำลังรอดูท่าทีก่อน

แต่ว่าตอนนี้ทางบีไอพีพีเองก็ได้เข้าร่วมแล้วใช่ไหม?
บีไอพีพีได้เข้าร่วมแล้ว ส่วนพูโลนั้นก็ได้เข้าร่วมมานานแล้ว

คือหมายถึงผู้แทนที่เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้?
ไม่ใช่ๆ ยังไม่มี

แล้วในสื่อเห็นบอกว่าเข้าร่วม?
ไม่ใช่อย่างนั้น คือได้รับความสนับสนุนต่อการเจรจาในครั้งนี้

ในสื่อได้รายงานมาว่าตัวแทนจากบีไอพีพีได้เข้าร่วมด้วย?
ยังไม่ได้เข้าร่วม นอกจากท่านลุกมาน บินลีมา เท่านั้น ที่มาจากพูโล ส่วนบีไอพีพีนั้น ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นการโดยตรงแต่เป็นทางอ้อม

หากว่าท่านไม่สามารถดูแลทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ได้ (กลุ่มอื่น) ท่านสามารถที่จะสื่อสารกับกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของท่านนั้นได้หรือไม่?
คือเราเองก็มีการสื่อสารกันมาโดยตลอด แต่ถ้าเป็นพูโลเราก็มอบหมายให้ทางฝ่ายพูโลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มเล็กอื่นๆ นั้น ฝ่ายเราก็สื่อสารกันมาตลอด มิได้ทอดทิ้งแต่ประการใด ส่วนกลุ่มที่ใหญ่ๆ นั้น ก็ได้เข้าร่วมกับเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สรุปก็คือทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ใหญ่และที่เล็กๆ และบรรดาประชาชน(แนวร่วม)เราก็ดึงมาเช่นเดียวกัน

ท่านสามารถเล่าถึงประวัติการศึกษาของท่านได้ไหม? และมีความสอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นหรือไม่?
การศึกษาของผมก็เริ่มจากการศึกษาศาสนาที่ปาตานี จากนั้นก็ไปต่อที่อินโดนีเซียทางด้านสังคมศาสตร์และการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะในเรื่องการปกครอง และนอกเหนือจากนั้น ผมได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดจากนักต่อสู้ที่นั่น ประมาณปี 1960-1975 ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวของเราก็รับมาจากอินโดนีเซียไม่ใช่น้อย นั่นคือประวัติการศึกษาของผมอย่างคร่าวๆ

อยากจะถามว่าการศึกษาของท่านนั้นมีความสอดคล้องกันหรือไม่กับแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น?

คือการเคลื่อนไหวของเรานั้นก็มีความสอดคล้องกับแนวทางของบีอาร์เอ็น เพราะว่าอุดมการณ์ของทางบีอาร์เอ็นนั้นอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาในพระเจ้าเอกองค์อัลลอฮ์ซุบฮานาฮูวาตาอาลา โดยยึดหลักแห่งอุดมการณ์ที่อยู่บนความศรัทธาและอิสลาม (iman dan islam) และแนวทางการปฎิบัติของเรานั้นเพื่อต้องการสร้างสังคมมลายูให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ภายใต้ผู้นำที่หนึ่งเดียวจากบนลงล่าง ซึ่งจากความเป็นหนึ่งเดียวนี้เอง เราจะสามารถปลดปล่อยตัวเราจากอาณัติแห่งการขดขี่ จากเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและอื่นๆ และในการนี้เราสามารถที่จะสถาปนาการปกครองตัวเองขึ้นมาที่มีความยุติธรรมที่สงบสุขที่ได้รับการโปรดปรานจากพระองค์


ภายหลังจากที่ท่านอุสตาซกลับมาจากอินโดนีเซียท่านได้ทำหน้าที่สอนหนังที่ไหนบ้าง?

ซึ่งหลังจากที่ได้กลับมาจากอินโดนีเซีย เราได้ไปสอนที่เจาะไอร้องเป็นสถานที่แรก และที่สถานศึกษาปอเนาะปือดอ และส่วนตัวนั้นก็ได้จัดตั้งสถานศึกษาของเราเองที่ตันหยงมัสนราธิวาส บ้านเกิดตัวเองได้ประมาณห้าปี แต่ปัจจุบันนี้สถานที่ดังกล่าวเหลือแต่ร่องรอยไปแล้ว

เกี่ยวกับคำถามที่ว่ามาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาวมลายูปาตานี ซึ่งในการนี้ทางฝ่ายไทยเองไม่ค่อยกล้าที่จะให้ทางมาเลเซียนั้นเป็นตัวประสานในเรื่องนี้?
โดยปกติแล้วมาเลเซียนั้นมีความปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเรา ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอด และเราก็เป็นคนเชื้อสายมลายูมุสลิมและเขาเองก็เป็นชาวมลายูมุสลิมเหมือนกัน อีกทั้งเรายังมีสายสัมพันธุทางต้นตระกูลอีกด้วยระหว่างปาตานีและมาเลเซียที่ยาวนานมากนับจากอดีต

และส่วนที่สองก็คือ ถึงแม้ว่ามาเลเซียนั้นย่อมมีผลประโยชน์อยู่บ้าง เพราะเขา(มาเลเซีย)ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียน และยังมีความสัมพันธ์กันในทางการเมือง มีความร่วมมือกัน และเราเองก็มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับทางมาเลเซีย เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามเราก็มักจะเข้าไปยังฝั่งมาเลเซีย ซึ่งตรงจุดนี้มาเลเซียเองก็มีความเห็นใจต่อเรา เพราะถึงอย่างไรก็ตาม เขาเองไม่ควรที่จะละเลย(ไม่รับรู้)ในเรื่องนี้ แต่มาเลเซียเองก็ต้องรักษาตัวเองด้วย ถึงแม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ควรจะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในกลุ่มอาเซียนอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าเขาจะมีความใกล้ชิดกับเรา แต่บทบาทในระดับอาเซียนเขาจะทำตัวเป็นกลาง ในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนบ้านและมีความเกี่ยวเนื่อง(ได้รับผลกระทบ)โดยตรง ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง อย่างไรก็ตามเขาจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้

และทำไมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ฝ่ายมาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลางมากกว่าบทบาทผู้อำนวยความสะดวกด้วย?
เพราะว่ามาเลเซียเองย่อมมีความรู้ดีในเรื่องนี้ระหว่างเรากับรัฐไทย เพราะถ้าเรามองดูเขาเองก็มีความเป็นกลางอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้เราไม่ต้องการคนอื่น เพราะเขามีความรู้ดีต่อเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีความรู้เลยในเรื่องนี้เค้าจะมารับผิดชอบและเป็นคนกลางได้อย่างไรกัน แต่ถ้าเอาคนอื่นมาเค้าก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่รู้ปัญหา แต่มาเลเซียเขาย่อมรู้ปัญหานี้ดีอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เองเรามีความต้องการให้ทางมาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลาง

เป็นไปได้ไหมที่ทางบีอาร์เอ็นจะรับพิจารณา ถ้าหากว่าจะมีฝ่ายที่สามเข้ามาร่วมในฐานะคนกลางด้วย และฝ่ายไทยเองก็เห็นด้วยกับฝ่ายที่สามในฐานะที่เป็นตัวกลางให้ อย่างเช่น อเมริกา หรือญี่ปุ่น?
อันนั้นก็ต้องดูสถานการณ์ เราเองก็จะต้องรับพิจารณาอีกครั้งหนึ่งไม่ว่ากับทางมาเลเซียเอง ฝ่ายไทยเอง ซึ่งจะต้องรอดูสถานการณ์อีกที เราเองไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ในส่วนนี้ แต่ว่าในปัจจุบันเรายังยึดมั่นต่อมาเลเซียอยู่

ในประเด็นที่ว่า ทางบีอาร์เอ็นนั้นต้องการให้ฝ่ายไทยให้การยอมรับว่าบีอาร์เอ็นคือขบวนการปลดปล่อยไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน?
คือทางฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้นได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้ทางการไทยนั้นให้การยอมรับ เพราะว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าบีอาร์เอ็นนั้นเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่อสังคมปาตานีทั้งมวล และต่อขบวนการอื่นๆ นั่นคือสิ่งเราร้องขอ ก็เพราะว่าจะให้เกิดความกระจ่างและความมั่นใจต่อบีอาร์เอ็น เพราะว่าต้องการให้การพูดคุยนั้นเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น และอีกอย่างที่เราหวังจากรัฐไทยก็คืออยากให้รัฐไทยนั้นทำหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนปาตานีและเจ้าหน้าที่รัฐต่อเรื่องนี้ด้วย นั่นคือสิ่งที่ต้องการ ว่าอย่าได้กังวลต่อบีอาร์เอ็นอีกเลย

ส่วนอิสรภาพในความหมายของท่านนั้นเป็นรูปแบบใด กระจายอำนาจ การปกครองพิเศษที่ไม่ใช่เมอร์เดก้าหรือรูปแบบใด?
ความจริงแล้วเราก็ต้องไปดูในแง่ของความหมาย อิสรภาพในที่นี้คือเราไม่ใช่องค์กรก่อการร้ายไม่ใช่องค์กรที่ต้องการก้าวก่ายผู้อื่น แต่ว่าเราต้องการอิสรภาพเพื่อชนชาวมลายูปาตานีของเรา ให้หลุดพ้นจากการเป็นผู้ที่ถูกกดขี่จากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอิสรภาพในด้านการเมืองการปกรอง สังคม เศรษฐกิจ อัตลักษณ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม คือไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิโดยคนอื่น นั่นคือแก่นฐานของอิสรภาพในความหมายของเรา

อาจเป็นรูปแบบออโตนอมิหรือแบบปกครองพิเศษ?
จะว่าแบบออโตนอมิหรือแบบปกครองพิเศษนั้น อันนี้เราก็ต้องดูในเนื้อหาว่าเป็นในรูปแบบใด ว่าสิ่งที่เราต้องการเป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองทางเศรษฐกิจ อันนั้นเรายังไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ชัดเจนและเราเองก็ยังไม่ได้ทำการพูดคุยในเรื่องนี้

ในขบวนการบีอาร์เอ็นเองมีไหมกลุ่มที่ต้องการเอกราชและอีกกลุ่มที่ต้องการแค่ออโตนอมิ?
คือความจริงแล้วโดยหลักการเดิมของบีอาร์เอ็นนั้นคือการได้รับเอกราช เราต้องการเอกราช ชาวปาตานีทั้งหมดล้วนต้องการเอกราช และกลุ่มอื่นๆ ก็ต้องการเอกราชเช่นเดียวกัน แต่เราก็จะต้องมาพูดกันอีกที ถึงแม้ว่าโดยความเป็นจริงคนในพื้นที่เองก็ต้องการเอกราช ซึ่งก็ต้องดูในการพูดคุยของเราอีกว่าเราได้มาเท่านั้นเท่านี้ๆ แต่โดยหลักการแล้วก็คือเอกราช

มีความแตกแยกไหมในขบวนการ?
คือโดยหลักการแล้วในบีอาร์เอ็นจะต้องอยู่ภายใต้การชี้นำของฝ่ายการเมือง เราจะต้องพูดคุยในระดับแกนนำต่างๆ ว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร อันไหนที่รับได้อันไหนที่รับไม่ได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงตรงจุดนั้น แต่ต้องทำความเข้าใจต่อชาวโลกว่า ชาวมลายูปาตานีและกลุ่มต่างๆ นั้นต้องการเอกราช และอยู่ฝ่ายไทยด้วยว่าแค่ไหนอย่างไร

หากว่าเกิดความแตกแยกระหว่างฝ่ายที่ที่ต้องการเอกราชกับฝ่ายที่ต้องการออโตนอมิกดดันเกิดข้อขัดแย้งกัน เราจะทำอย่างไร?และอาจมีผลต่อการพูดคุยในครั้งนี้หรือไม่?
คืออย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นก็คือเรานั้นขับเคลื่อนด้วยการเมือง จะดำเนินการใดๆ ก็ด้วยการเมือง สมมุติว่าแรกเริ่มของเรานั้นคือการได้รับเอกราชเราก็ต้องทบทวนในทางการเมืองดูเราสามารถรับได้แค่ไหนในทางการเมือง หากฝ่ายการเมืองเห็นว่าต้องเอกราชอย่างเดียว อันนี้เราก็ต้องมาพูดคุยกันอีกทีว่ารับได้แค่ไหนอย่างไร แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่ได้ถึงจุดนั้น แต่ทางบีอาร์เอ็นก็ได้ประกาศต่อประชาคมโลกไปแล้วว่า เราจะกระทำการใดๆ ก็ด้วยการเมืองเท่านั้น

นับจากปี2004 จากการวิเคราะห์ของทางการไทยมองว่าบีอาร์เอ็นโคออดีเน็ตคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการปฏิบัติการณ์ในภาคใต้? แต่ว่าในการทำข้อตกลงในครั้งนี้ได้ทำข้อตกลงกับบีอาร์เอ็น และบอกได้ไหมว่าเมื่อไรที่บีอาร์เอ็นและโคออดีเน็ตก่อตั้งขึ้น?
ความจริงแล้วบีอาร์เอ็นโคออดีเน็ตไม่ได้มีอยู่เลย นอกจากบีอาร์เอ็นอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนคำว่าโคออดีเน็ตนั้นเป็นชื่อเรียกจากคนภายนอก ชื่อโคออดีเน็ตนั้นเราใช้แค่ไม่กี่เดือนเองไม่ถึงปีด้วยซ้ำ คือประมาณปี1979-1780 ประมาณแปดเดือนเท่านั้น ความจริงแล้วผมเองที่เป็นคนตั้งชื่อนั้นขึ้นมา เพื่อต้องการรวมกันของหน่วยแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ทั้งหมดให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองภายในประเทศ ฝ่ายเปอร์มูดอ ฝ่ายการทหาร ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายการต่างประเทศ เพราะแต่ก่อนนั้นเรามีปัญหายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันด้วยเหตุเราจึงใช้คำโคออดีเน็ตไม่ใช่บีอาร์เอ็น นั่นคือเป็นเทคนิคของเรา บีอาร์เอ็นนั้นมีหนึ่งเดียวเท่านั้น

แล้วบีอาร์เอ็นคองเกรสนั้นเป็นมาอย่างไร?
แต่ก่อนนั้นมีการแตกแยกกันระหว่างฝ่ายเปอร์มูดอ จึงแตกออกมาเป็นคองเกรส แต่วันนี้คองเกรสไม่ได้มีอีกแล้ว และได้ร่วมเป็นหนึ่งกับบีอาร์เอ็นแล้ว เมื่อปี2012ปีที่แล้ว

จากการที่ได้มีข้อตกลงร่วมกันอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้ เช่นทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์และที่อาเจะฮ์ ได้มีอิทธิพลต่อบีอาร์เอ็นหรือไม่ที่จะทำข้อตกลงในครั้งนี้?
จริงๆ แล้วสำหรับทางบีอาร์เอ็นเองด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาของกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหว การที่จะคลี่คลายปัญหาการต่อสู้นี้ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การใช้อาวุธอย่างเดียว คือเราไม่สามารถที่จะยุติได้ด้วยอาวุธ จากอาวุธเราก็ไปสู่การพูดคุยกัน เราก็ยึดหลักที่ว่าการที่จะแก้ไขปัญหาได้ก็ต้องที่โต๊ะเจรจาเท่านั้น ถึงแม้ว่าในพื้นที่นั้นจะมีการต่อสู้กัน แต่ก็ไม่สามารถคลี่คลายได้ ด้วยเหตุนี้เราเองก็ได้บอกกับทางการไทยว่า การต่อสู้ก็ต่อสู้ไปแต่สำหรับการคลี่คลายนั้นจะต้องด้วยการเจรจาเท่านั้น และอีกอย่างก็คือความบริสุทธิ์ใจที่จะสามารถให้การแก้ไขรวดเร็วขึ้น

มีอะไรที่จะเพิ่มเติมอีกไหม?
สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมในที่นี้ เท่าที่เราทราบก็คือฝ่ายกองทัพเองก็มีการแตกแยกกันภายใน และขอให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวในการสนับสนุน ซึ่งในศตวรรษที่21นี้ถือเป็นยุคที่ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยบนโต๊ะเจรจา อย่าไปมองดูในพื้นที่ เพราะในพื้นที่นั้นมันเป็นเรื่องของชีวิตผู้คน คนนั้นตายคนนี้ตาย สิ่งเหล่านั้นมันได้ถูกกำหนดโดยพระเจ้าอยู่แล้ว ซึ่งก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งที่จะสามารถแก้ได้ก็ต้องบนโต๊ะเจรจา อยากให้ทางกองทัพนั้นสนับสนุนเพื่อสิ่งเหล่านี้จักได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยที่ไม่มีฝ่ายที่คอยจะดึงขากันเอง ผมหวังว่าคงจะเป็นอย่างนั้น เท่าที่รับรู้ทางกองทัพเองยังไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าฝ่ายไทยเองดูจะมีความตั้งใจจริงแต่ด้วยอุปสรรคจากบางฝ่าย สิ่งที่เราต้องการก็คือขอให้สนับสนุนในเรื่องนี้ ลองคิดดูว่านานกว่าสองร้อยปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ได้ ณ ตอนนี้เราได้เห็นสิ่งที่ทางรัฐไทยกำลังพยายามจะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายของพระราชวังเองก็ขอให้การสนับสนุนด้วย

แล้วทางด้านของพรรคการเมือง?
ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ นั้น อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธรรม และอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ก็ขอให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ปัญหาของส่วนรวม ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือของผู้นำแต่อย่างใด หรือเพื่อส่วนตัว หรือเป็นการหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า ขออย่าให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เรามาร่วมกันสนับสนุนในเรื่องนี้

พรรคประชาธรรมต่อต้านไหม?
ประชาธรรมนั้นเขาทำตัวแย้งกัน เพราะไม่กี่วันก่อนหน้านี้เขาได้ขึ้นไปยังกรุงเทพฯ และพูดว่าพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ความจริงแล้วเขาน่าจะบอกกว่าเขาสนับสนุนต่อการพูดคุยในครั้งนี้น่าจะดีกว่า เพราะเราได้รับรายงานมาว่าพวกเขาได้ขึ้นไปยังกรุงเทพฯประมาณหกสิบคน รวมถึงกลุ่มคนที่เข้าไปรายงานตัวด้วย ขึ้นไปพูดว่าพวกเขาสามารถที่จะคลี่คลายปัญหาภาคใต้ได้ อันนั่นคือตัวทำลายที่แท้จริงความจริงเขาน่าจะให้การสนับสนุนกับคณะเจรจาน่าจะดีกว่า อย่างน้อยเป็นการชี้แนะก็ยังดี

แล้วเกี่ยวกับการที่ฝ่ายรับไทยจะเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มแทรคที่สอง(ภาคประชาสังคม)ที่ไมได้เข้าร่วมนั้นท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
คือเท่าที่ได้รับทราบมานั้นมีความพยายามที่จะทำในเรื่องนั้น ว่าพวกเขาสามารถสานต่อได้หากว่าการพูดคุยนี้เกิดล่มไป ซึ่งเราก็บอกว่าเรื่องนั้นไม่จำเป็น แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เขาพอจะมีความเข้าใจกันเอาเอง และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เช่นกัน ทำไมไม่การสนับสนุนต่อเรื่องการพูดคุยครั้งนี้น่าจะดีกว่า

แต่ว่าเป็นภาครัฐเองที่พยายามดำเนินการในเรื่องนี้?
คือเราก็บอกไปแล้วว่า เหตุใดหรือ? ที่จะต้องนำพวกกลุ่มเหล่านี้อีกมาข้องเกี่ยวอีกด้วย ทั้งๆ ที่รู้ๆกันอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็รู้ว่าผมโกรธ(ไม่เห็นด้วย)ในเรื่องนี้