Skip to main content
กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

บทนำ

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้จัด ”การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 5” ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 26 - 30 พฤษภาคม 2556 เพื่อการสร้างความเข้าใจ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใน3จังหวัดชายแดนใต้ กับ กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมกับเตรียมความพร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะเป็นตัวแสดงที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะวิทยากรจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำเนินการอบรมในหัวข้อ “กระบวนการแก้ไขปัญหาในทางสันติวิธี” ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 แบ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จะเป็นการบรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  ซึ่ง ผศ.ดร. ศรีสมภพได้นำเสนอเรื่องสถิติความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่กลุ่มบุคคลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกันการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต และวิเคราะห์ความแตกต่างของเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ (คลิกอ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้) หลังจากที่ผศ.ดร.ศรีสมภพได้ให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ในเบื้องต้นแล้ว จะเข่าสู่ช่วงการอบรมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 5 มาจากอำเภอ กรงปินัง, รามัน, ธารโต, มายอ และเทพา โดยจะแบ่งความคิดเห็นในรูปแบบคำถามเชิงทัศนคติที่ถามถึง ความคาดหวัง, ความกังวล และบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

            บทความฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อย่อย โดยจะมี บทนำ, บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่5, ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ และ บทสรุปของบทความ ซึ่งจะแสดงถึงบทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในสถานการณ์ขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแสดงที่บทบาทสำคัญใน Trackที่3 รวมไปถึงบทบาทในการเชื่อมต่อกับ Trackที่ 1 และ Trackที่ 2 ในกระบวนสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มการพูดคุยสันติภาพไปแล้วในวันที่ 28 มีนาคม 2556 และ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

แผนภาพที่ 1 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน

ที่มา : ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ

 

บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 5

            หลังจากจบการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ก็เข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดย มูฮำมัดอายุบ  ปาทาน และ คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  การอบรบเชิงปฏิบัติการณ์นี้ได้แบ่งผู้เข้าร่วมที่เป็นกำนันผู้ใหญ่เป็นกลุ่มย่อยคละทุกอำเภอที่เข้าร่วมในการอบรมเพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างกันในกลุ่มภายใต้ประเด็นคำถามดังนี้

1. ท่านมีความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ท่านมีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพ

3. ในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้าง

ประเด็นคำถามนี้ได้นำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าสู่การระดมความคิดเห็นกันภายในกลุ่มตนเองพร้อมกับการนำเสนอและอภิปรายความคิดเห็นของกลุ่มตนเองให้ทุกกลุ่มฟัง

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

 

ประเด็นคำถามแรก กำนัน-ผู้ใหญ่ความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         ความสงบคงกลับคืนมา

 

·         การเจรจาครั้งนี้คาดหวังว่าน่าจะประสบความสำเร็จ

·         ให้ได้สันติภาพกลับคืนมาโดยเร็ว

 

·         อยากให้เหตุการณ์สงบ

·         สร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน-หน่วยงานของรัฐ

 

·         คาดหวังให้ทุกภาคส่วนทำงานให้สำเร็จ

 

·         อยากให้ทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจกันในการเจรจา

·         อยากให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นโดยเร็ว

 

·         อยากให้มีความสงบเกิดขึ้น

·         การเจรจา  เกิดความสำเร็จขึ้น

·         เศรษฐกิจจะดีขึ้น  ทำให้ประชาชนอยู่ดีขึ้น

 

·         คงจะสงบแต่ต้องใช้เวลา

 

·         การเจรจาสำเร็จแต่ต้องใช้เวลา 3ปี

 

·         คาดหวังในกระบวนการสันติภาพก็อยากให้สวย  แต่แนวทางการแก้ไขปัญหายังเลือนรางไม่ชัดเจน

·         เป็นไปไม่ได้

 

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

 

ประเด็นคำถามที่ 2 กำนัน-ผู้ใหญ่มีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         ไปเจรจากับBRN แต่กลุ่มอื่นยังก่อความไม่สงบอยู่

·         ยังกังวลว่าเจรจากับBRNให้สำเร็จและกลุ่มอื่นๆด้วย

 

·         ถ้าเหตุการณ์ยังอยู่แบบนี้  คิดว่าคงไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ถ้าเจรจาไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น

·         ไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่

 

·         กระบวนการสันติภาพไม่จริงจังทั้งสองฝ่าย

·         กังวลต่อความผันผวนของทิศทางการเมืองไทยและมาเลเซีย(การเปลี่ยนรัฐบาล  การดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง)

 

·         ความจริงใจของแต่ละฝ่ายที่ร่วมการเจรจา

 

·         ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

 

·         เงื่อนไขการเจรจาต่างฝ่ายต่างรับไม่ได้

·         การที่รัฐเจรจาถูกคนถูกกลุ่มไหม

·         หลายๆกลุ่มที่เหลือจะมีการเคลื่อนไหวต่อ

 

·         คนเจรจาเป็นตัวจริงไหม

 

·         การเจรจาจะไม่เกิดความสำเร็จถ้าไม่ใช่ตัวจริง

·         การต่อรองจะไม่สามารถบรรลุได้

·         เมื่อเจรจาสำเร็จจะทำให้เกิดแตกเป็น2ฝ่าย รับกับไม่รับทั้งในฝ่ายขบวนการและรัฐไทย

 

·         กลัวไม่สำเร็จ

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

·         สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในหมู่บ้าน

·         เกิดความปรองดองทั้ง 2 ฝ่าย

 

·         ต่างคนต่างเฝ้าบ้านของตัวเอง (งานเยอะ  มีเงินน้อย)

 

·         ประชาสัมพันธ์ผลของการเจรจาให้ชาวบ้านทราบข้อเท็จจริง

 

·         ต้องนำเสนอข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านให้ทางหน่วยงานเข้าใจ

·         ดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน  แก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่  เรียกร้อง-กดดัน 2 ฝ่าย

 

·         ช่วยแสดงความคิดเห็น (ขอมีส่วนร่วมในการเจรจา)

 

·         เห็นความสำคัญของกำนัน-ผู้ใหย่บ้านเป็นอับดับ 1 อย่าเป็นคำตอบสุดท้าย

·         ร่วมเสนอความคิดเห็นให้ความสำคัญกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้มีบทบาทมากขึ้น

 

·         สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่กระบวนการสันติภาพ

 

·         ต้องมีตัวแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเจรจาด้วย

 

·         ให้หมู่บ้านให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจเต็มที่ในการปกครองหมู่บ้าน

จากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม  ทางคณะวิทยากรได้ทำการจัดหมวดหมู่และทำรวมกลุ่มความคิดเห็นที่คล้ายกันจากการนำเสนอของทุกกลุ่มในแต่ละประเด็นคำถามข้างต้น เป็นหัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถาม  เพื่อนำสู่กระบวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ลงความเห็น ร่วมกันว่า  หัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถามอย่าง ความคาดหวัง, ความกังวล, และ บทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพในหัวข้อย่อยใดควรจะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผลการลงคะแนนมีดังนี้

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

 

1

การเจรจาสันติภาพสำเร็จแต่ต้องใช้เวลา

56

2

การเจรจาสันติภาพสำเร็จมีสันติสุขคืนกลับมา

4

3

การเจรจาสันติภาพไม่มีความเป็นไปได้

0

 

จากการลงคะแนนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า สิ่งที่กำนัน-ผู้ใหญ่คาดหวังมากที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ  การเจรจาสันติภาพสำเร็จแต่ต้องใช้เวลา  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้มีความคาดหวังว่ากระบวนการสันติภาพที่ได้ดำเนินอยู่นี้ สามารถประสบความผลสำเร็จแต่ต้องใช้เวลาในกระบวนการ   ผู้ใหญ่บ้านแสดงความเห็นต่อความคาดหวังว่า “ยังมีกลุ่มอื่นนอกจาก BRNยังไม่ได้ร่วมพูดคุยสันติภาพ” , “กระบวนการสันติภาพต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งสองฝั่ง ดังนั้นน่าจะใช้เวลาสักประมาณ 10 ปี” และ “การแก้ไขปัญหาต้องมีเจ้าภาพ ให้เวลาสัก 3 ปี จะมีการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน  ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้จะได้รับแรงเสียดทานจากประชาคมอาเซียนให้แก้ปัญหา  เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวอยู่ติดกับประเทศมาเลเซีย”   จากเสียงสะท้อนนี้อาจจะเป็นไปตามความเห็นที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดได้ลงความเห็นว่า การเจรจาสันติภาพจะสำเร็จแต่ต้องให้เวลากับกระบวนการสันติภาพ  การจริงใจในการแก้ปัญหาของทั้งสองตัวแสดง (รัฐกับBRN) และ  การร่วมแรงร่วมใจในการสร้างวัฒนธรรมสันติภาพในพื้นที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกับส่งสัญญาณจากประชาชนในพื้นที่ไปให้ทั้งสองตัวแสดงให้หยุดการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

1

มีกลุ่มอื่นนอกจากBRNยังไม่ได้เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ

29

2

มีความจริงใจทั้ง 2 ฝ่าย

22

3

ไม่มั่นใจว่าเป็นตัวจริง

6

4

ความต่อเนื่องและเสถียรภาพของการเมืองไทย

3

5

ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถต่อรองกันได้

2

6

กลัวเจรจาไม่สำเร็จ

0

 

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 5 นี้ได้เลือกความกังวลในกระบวนการสันติภาพที่สำคัญที่สุดก็คือ  “มีกลุ่มอื่นนอกจาก BRN ยังไม่ได้เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ” และอันดับถัดมาคือ “มีความจริงใจทั้ง 2 ฝ่าย” 2 ข้อนี้ได้สะท้อนความกังวลของกำนันผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพที่ได้ดำเนินการพูดคุยสันติภาพอยู่ที่ประเทศมาเลเซียอยู่ในขณะนี้ มีผู้ใหญ่บ้านอธิบายข้อกังวลนี้ว่า “ตอนนี้อยู่ในช่วงการสร้างบรรยากาศ ตอนนี้รัฐพูดคุยอยู่กับ BRNที่ต้องการเอกราช   แต่ถ้ากลุ่มอื่นที่ไม่ต้องเอกราชจะร่วมพูดคุยได้หรือไม่ อย่างกลุ่มเขตปกครองตนเอง”   เสียงสะท้อนนี้เป็นส่งสัญญาณไปหาทางรัฐว่า  ถ้าต้องให้พื้นที่เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง จะต้องไม่ละเลยทุกกลุ่มที่ออกมามาสู้เพื่อประชาชนชาวปาตานี ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี รัฐต้องคุยกับทุกกลุ่มอย่างจริงใจเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกันไม่เพียงแค่คุยกับBRNโดยกลุ่มเดียวเท่านั้น

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

1

มีส่วนร่วม/เป็นตัวแทนในการเจรจาสันติภาพ

33

2

ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนของตัวเอง

14

3

เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับชาวบ้านในการทำความเข้าใจเรื่องสันติภาพ

9

4

เรียกร้อง+กดรัฐกับผู้เห็นต่างให้ใช้กระบวนการสันติภาพ

6

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ความเห็นว่าสำคัญที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ “มีส่วนร่วม/เป็นตัวแทนในการเจรจาสันติภาพ” เป็นเสียงสะท้อนออกมาว่าการเจรจาสันติภาพนอกจากการที่ Track 1ที่คู่ขัดแย้งหลักได้พูดคุยกับแล้ว ยังต้องฟังเสียงของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็น Track 3 ด้วย  เพราะการพูดคุยนี้จะกำหนดชะตากรรมของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  แต่ไม่การตกลงกันเพียงแต่ในTrack 1 ไม่เพียงพอต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่  การฟังเสียงประชาชนในพื้นที่จริงๆส่งสัญญาณไปถึงคู่ขัดแย้งด้วย หรือ นำเอาข้อเสนอของประชาชนเป็นฐานในการพูดคุยระหว่างกันระหว่างคู่ขัดแย้งในTrackที่1  นอกจากจะมีความชอบธรรมในกากำหนดชะตากรรมในพื้นที่แล้ว  ยังมีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนประชาชนปาตานีโดยแท้จริงอีกด้วย

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ

            ช่วงท้ายของการอบรมเชิงกระบวนการ ผศ.ดร ศรีสมภพได้ชวนคุยเรื่อง ข้อเสนอ 5 ข้องของ BRN ได้ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า “ข้อเสนอ 5 ข้อ ของ BRN การที่รัฐไทยไม่รับข้อเสนอ จะเป็นการล้มโต๊ะเจรจาทันที ผมมองว่า ข้อเสนอไม่ได้เป็นเรื่องอะไรที่พิเศษเลย” จะเห็นได้ว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้มีคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ BRN อาจจะเป็นเพราะถ้าฝ่ายรัฐไทยไม่รับข้อเสนอจะเป็นเหตุให้ BRN ไม่ทำการพูดคุยสันติภาพกับรัฐไทยต่อ และอาจจะเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นของเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้  และการรับข้อเสนอนี้ไม่ได้มีอะไรที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญประเทศไทย  ตามข้อตกลงระหว่าง BRN กับรัฐไทย  ที่ได้ลงนามร่วมกันพูดคุยสันติภาพภายใต้รัฐธรรมนูญไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นว่า “ทหารเป็นปัญหาต่อกระบวนการสันติภาพ  เข้ามาอยู่ในพื้นที่แล้วสร้างต่อปัญหาต่อชุมชน  อย่าคิดว่าทหารเป็นปัญหากับคนมุสลิมเท่านั้น  เพราะบางพื้นที่หมู่บ้านพุทธยังไล่ทหารออกไปเลย  เพราะฉะนั้นต้องถอนทหารก่อนถึงจะมีสันติภาพ” เสียงสะท้อนนี้ได้ทำให้เห็นว่า งานทางการทหารนอกจากจะทำไม่สอดคล้องกับงานการเมืองที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทำแล้ว  ยังทำลายฐานมวลชนคนพุทธที่สนับสนุนตนเองอีกด้วย กลายเป็นว่าทหารนอกจากเป็นตัวแสดงที่เป็นคู่ขัดแย้งกับมลายุมุสลิมอยู่แล้ว  กลับเพิ่มความขัดแย้งกับคนไทยพุทธในพื้นที่อีกด้วย 

มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเสนอทางแก้ปัญหาในพื้นที่ว่า “อยากให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องที่  สามารถจัดการดูแลความปลอดภัยในท้องที่ตัวเองได้  ให้ ทวี จัดหาเงินมาปีละ 100,000 บาท  สามารถจัดการบริหารเรื่องความปลอดภัยและกิจการทางศาสนาในท้องที่ตัวเองได้ โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อิหม่าม และกรรมการในหมู่บ้าน    ยกตัวอย่างเช่นในกรณีเงินบำรุงมัสยิด บางครั้งรัฐไม่ได้ช่วยเหลือ  บางครั้งรัฐจะจัดงานมัสยิดก็ไม่ตรงกับช่วงเทศกาลที่ต้องจัดงาน  ทำให้ชาวบ้านที่จะต้องจัดงานตามแผนงานของทางรัฐ  ลำบากใจที่จะจัด”  เสียงสะท้อนนี้มีข้อเสนอในการดูแลตนเองในพื้นที่อย่างน่าสนใจมาก ได้คิดการจัดการในพื้นที่ตนเองอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งการจัดการตนเองในลักษณะนี้ยังอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมสนูญไทยที่สามารถจัดการได้  แต่อาจจะติดตรงระเบียบบริหารราชการของกรมการปกครองที่จะเป็นการยากที่ทำความคิดนี้ให้สำเร็จ  เว้นแต่ที่รัฐสนใจในข้อเสนอนี้อย่างจริงจัง สามารถทำให้การจัดการนี้เป็นโครงการดูแลตนเองในตำบล-หมู่บ้านได้

 

บทสรุป

            โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการฝึกอบรมที่เป็นการเตรียมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้พร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  การเตรียมพร้อมนี้ทำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ตระหนักถึงบทบาทของ และตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตัวแสดงความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่และต่อไปในอนาคต กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยภายในประชาชนระดับรากหญ้า (Track 3) ในพื้นที่ และยังเชื่อมต่อกับTrackที่ 2 (องค์กรภาคประชาสังคม)โดยการประสานงานระหว่างกัน พร้อมกับมีบทบาทเชื่อมต่อกับ Track ที่ 1 โดยตำแหน่งหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบของกรมการปกครอง ซึ่งการทำกระบวนการสันติภาพของกำนันผู้ใหญ่บ้านจะเป็นตาข่ายนิรภัย ที่ช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track 1 (ตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนBRN) โดยทำการพูดคุยคู่ขนานในTrack 2 กับ 3 ควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีการพูดคุยล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ ในกรณีประสบปัญหาเช่นนั้น กระบวนการสันติภาพใน Track 1 สามารถนำข้อเสนอที่ Track 2-3 ที่ได้ทำกระบวนการคู่ขนานมาใช้หรือนำมาประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย)  เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ทราบถึงกระบวนการสันติภาพจึงสิ่งที่จำเป็นและได้รับการหนุนเสริมทั้งจากทางรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่  เพื่อเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวมที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้