Skip to main content

ที่มา: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  นับจากกรณีปล้นปืนเมื่อคืนวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่กองพันพัฒนาที่4 กองทัพภาค4  ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส  ขยับขึ้นเป็น 1871 ศพ  โดยในเดือนพฤจิกายน 2549 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งสิ้นจำนวน 47 ราย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวอิศรา เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาถึงยอดผู้เสียชีวิตนับถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1,730 ศพ 
             
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา นับจากเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน มีตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น141 ราย   โดยแยกเป็นเดือนกันยายน 31 ศพ, เดือน ตุลาคม 63 ศพ และเดือน พฤศจิกายน 47 ศพ 
 
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 15 วันหลังของเดือน พฤศจิกายน เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและมีความต่อเนื่องอยู่กว่าสัปดาห์  ส่วนใหญ่จะปรากฎเหตุอยู่ในพื้นที่ เขตอำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา  เป็นเหตุในลักษณะการรวมตัวชุมนุมของชาวบ้าน เพื่อออกมาขับไล่เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่
           
โดยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ได้มีการรวมตัวของชาวบ้านผู้ชายและหญิงรวมเกือบร้อยคน ที่บริเวณหน้ามัสยิดบ้านสะปอง หมู่ 3 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา โดยมีข้อเรียกร้องให้ ตชด.ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในโรงเรียน ตชด.ยาสูบออกจากพื้นที่
           
เหตุของการชุมนุมเนื่องมาจาก ในคืนวันที่ 19 พฤศจิกายน มีคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงบ้านนายสือแม อาแว ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบล ปะแต ซึ่งได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกรณีสังหารเจ้าหน้าที่ ตชด. 2 ราย ที่บ้านทำนบ ตำบลปะแต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งการกราดยิงของคนร้ายไม่ทำให้ผู้ใดได้รับบาดเจ็บ  
          
อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน  โดย ชาวบ้านต่างเชื่อว่าเหตุกรณียิงปืนกราดใส่บ้าน นาย ลือแม นั้นน่าจะเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการล้างแค้น เนื่องจากวันเกิดเหตุ ไม่มีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เลย 
           
ในเวลาต่อมานายอำเภอยะหา ร่วมกับผู้นำในพื้นที่ ได้เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า จะจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของบ้านผู้เสียหายและทางการจะดำเนินการจับตัวคน ร้ายที่ก่อเหตุมาลงโทษให้เร็วที่สุดทำให้ผู้ชุมนุมยอมสลายตัว
          
วันรุ่งขึ้น 21 พฤศจิกายน การชุมนุมได้เกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ตำบลปะแต ที่หมู่บ้านฆอรอราแม โดยมีข้อเรียกร้องเพิ่มจากประเด็นวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยการเรียกร้องให้ "ทหารพราน" ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่โรงเรียนบ้านละมัย ออกจากพื้นที่ด้วย 
            
การชุมนุม ได้แยกเป็น 2 จุดๆ ละประมาณ 60 - 70 คน  จุดที่ 1 กลางถนนบริเวณสามแยกทางไป อ.กรงปินัง ก่อนถึงโรงเรียนท่าละมัย ม.4 ต.ปะแต อ.ยะหา จว.ยะลา  ได้มีการตั้งเต็นท์ ส่วนจุดที่ 2 บริเวณกลางถนนทางไป อ.เบตง ม.4 ต.ปะแต อ.ยะหา จว.ยะลา ตั้งเต้นท์กลางถนนและใช้รถจักรยานยนต์มาปิดกันถนน ห่างจากจุดแรกประมาณ 300 เมตร ต่อมาได้มีการสลายการชุมนุมไปเอง
           
ในวันที่ 22 พฤศจิกายน การชุมนุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง 2พื้นที่คือ อำเภอธารโตเป็นชาวบ้านจากบ้านเกษตร บ้านแหรและบ้านผ่านศึก อำเภอธารโต ประมาณ 300 - 400 คน ได้มีการนำศพของนายซุกรี บางานิง คนร้ายที่เสียชีวิตจากการปะทะกันในคืนที่ผ่านมาจากโรงพยาบาลธารโต เดินขบวนแห่ศพผ่านหน้า สภ.อ.ธารโต ตลาดธารโต และเข้าทำพิธีฝังศพที่มัสยิดสามัคคีธารโต
            
ส่วนอีกจุดที่ อำเภอบันนังสตา กลุ่มผู้หญิงและเด็กซึ่งใช้ผ้าปิดหน้าประมาณ 150 คน ชุมนุมอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบันนังสตาเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับ ผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการปะทะในคืนที่ผ่านมา จนกระสุนพลาดเป้าไปถูกบ้านเรือนของชาวบ้านที่ตำบลป่าหวัง ท้ายสุด นายอำเภอบันนังสตาเจรจารับปากว่ารับผิดชอบ การชุมนุมจึงสลายตัวไปในช่วงบ่ายวันเดียวกัน 
           
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวกันในตลาดธารโตและเดินทางมาขอความเป็นธรรมที่ที่ว่าการอำเภอธารโตให้ กับนายมะรอยี กาเราะ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่บ้านคีรีเขตดึกคืนที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ นายอำเภอธารโตได้รับปากว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม บ่ายวันเดียวกันชาวบ้าน 500 คน เดินขบวนแห่ศพนายมะรอยีเข้าตัวอำเภอธารโตเพื่อทำพิธีฝังตามประเพณี
           
โดย การชุมนุมของชาวบ้านที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่พบว่า แกนนำกลุ่มเดิม ที่เป็นแกนนำคอยปลุกระดมชาวบ้านให้ออกมาเคลื่อนไหว และอาศัยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นข้ออ้างในการระดมชาวบ้านเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต่างๆ 
           
เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกในสามพท.  ของอ.ระแงะ จ.นราธิวาส,  อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นจำนวน 7  คน และเสียชีวิต  5 คน  ในจำนวนผุ้เสียชีวิตทั้ง5คนนี้  เป็นลูกจ้างของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 2 ศพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตบนถนนหมู่1 บ.ปาแดรู ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา  นอกจากนี้ยังมีโชเฟอร์รถยนตร์ 6 ล้อ นาย วิชัย สีชมพู ชาวจ.แพร่ ที่ถูกคนร้ายขี่รถมอเตอร์ไซด์ตามประกบยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้นเข้าที่ศีรษะจำนวน 4 นัดทำให้นาย วิชัย เสียชีวิตทันที 
            
สำหรับภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 16 - 30 ก.ย. มีทั้งหมด  47  ครั้ง เกิดเหตุการณ์มากที่สุดที่จังหวัดยะลา จำนวน 20 ครั้ง   รองลงมาเป็นจังหวัดปัตตานี  จำนวน  14  ครั้ง จังหวัดนราธิวาส จำนวน  11 ครั้ง  ส่วนจังหวัดสงขลา 2 ครั้ง  
            
โดยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มีทั้งหมด 24 ราย เป็น ประชาชนทั้ง 22 ราย  เจ้าหน้าที่ของรัฐ 2 ราย  ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีทั้งหมด 32 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย ประชาชน 28 ราย  ส่วนผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 1 ราย