ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
2.มีข้อเสนอหนึ่งน่ารักมาก คือให้ทหารที่เป็นมุสลิมได้พักผ่อน กลับบ้าน มีเวลาอยู่กับครอบครัวและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ มองในมุมกลับคือ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่กำลังของกองทัพ เพราะทหารที่เป็นมุสลิม ก็คือกำลังสำคัญของกองทัพเหมือนกัน กองทัพก็น่าจะรู้ดีถึงความตึงเครียดภายในของสมาชิกระหว่างความเป็นมุสลิมกับความเป็นทหารประจำการ ทหารมุสลิมจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจหากต้องหันกระบอกปืนเข้าหาคนร่วมศาสนา ส่วนทหารไทยพุทธก็รู้สึกว่าไม่สนิทใจเพื่อนเหมือนเดิม
3. กรณีไม่ให้ "รัฐบาลสยาม" เข้ามาจัดกิจกรรมทางสังคมใดๆ ที่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในเดือนรอมฏอนนั้น อาจตีความได้ว่าควรเข้ามาให้ถูกต้อง ถูกทาง จริงๆแล้วผมคิดถึงบางเรื่องที่มิอาจเอ่ยถึงได้ในที่นี้และคิดว่าน่าจะเป็นเป้าประเด็นสำคัญมากกว่า เพราะในความเป็นจริง การห้ามไม่ให้ตัวแทนของรัฐเข้าไปยุ่งนั้นยากมากในชีวิตประจำวัน ในทางกลับกัน คนมลายูต่างหากที่วิ่งเข้าหาตัวแทนรัฐในมิติต่างๆ ด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไขว้กันไปมา แต่ถ้าหากเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือชีวิตแห่งรัฐล่ะ...แหะๆ ตีความกันเองนะ "อินทผาลัม"ที่เคยได้กันทุกปีหน่ะอะไร
4. เรื่องสิ่งเสพติดและสุรา ก็ไม่เห็นยากนี่ครับ การห้ามไม่ให้ขายในเดือนรอมฏอนกรณีมาเลเซียหรือประเทศที่มีมุสลิมเป็นสมาชิกร่วมกับคนในศาสนาอื่นๆ ยังทำได้ ส่วนคนกลุ่มอื่นๆ ก็ยังสามารถหาซื้อได้ในเขตชุมชนของตนเอง เรื่องนี้มิใช่ของใหม่ ยิ่งหากมองว่าพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่อ่อนไหวทางวัฒนธรรม ยิ่งต้องทดลองใช้โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้าง อาทิ มาตราการควบคุมพื้นที่ ระยะเวลาซื้อขาย ฯลฯ แต่ไม่ควรควบคุมในรายละเอียดเพื่อลดแรงปะทะอันเนื่องจากความหลากหลายทางวิถีชีวิต
5. รัฐไทยต้องเข้าใจเดือนรอมฏอนคือเดือนสำคัญทางศาสนาอิสลาม คำแถลงการณ์นี้จึงมุ่งเน้นเป้าประเด็นไปที่เรื่องการลดความรุนแรง วัตรปฏิบัติของมุสลิม และเรื่องสิ่งของที่ฮาลาม (ต้องห้าม) การไม่ตระหนักหรือรับไม่ได้ คือปัญหาสำคัญที่รัฐต้องสนทนากับประชาคมโลกและประชาคมอิสลาม เดือนนี้ไม่ใช่เดือนในวัฒนธรรมของมลายูหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่รัฐไทยรู้สึกหวาดระแวง และก็ไม่รู้ว่าจะหวาดระแวงกันไปทำไม
6.เราต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นไม่สามารถเป็นตัวแทนปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกระดับของภาคใต้ได้ แต่ข้อเสนอครั้งนี้เป็นที่น่ารับฟัง ทั้งยังสอดคล้องกับข้อเสนออื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
7. เราต้องยอมรับว่าการสร้างกระแสเช่น ส่วนมากเดือนรอมฏอนมักจะมีสถิติความรุนแรงน้อยลงจากภาคที่ไม่ใช่รัฐ ขณะที่ภาครัฐต่างหวาดระแวงว่าเดือนรอมฏอนจะเป็นเดือนแห่งความรุนแรง เพราะเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่ส่งผลให้ปฏิบัติการณ์ใดๆ ล้วนมีคุณค่ามากขึ้น ทัศนะที่ต่างสุดขั้วเช่นนี้ ควรพักลงได้แล้วและหันมาสร้างความหมายเชิงบวกกับ "ช่วงเวลาพิเศษ" อย่างเดือนรอมฏอนกันดีกว่า ทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นและรัฐไทย อาทิ ลดกำลังทหารลง คุยกันมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยในยามค่ำคืน ด้วยการให้ค่ำมั่นว่าทหารจะไม่เข้ามายุ่งย่ามในชีวิตหรือออกไปจากพื้นที่เลยก็น่าจะดี รู้หรือไม่ว่ายามค่ำคืนของเดือนรอมฏอน เคยเป็นช่วงเวลาแสนสนุกของผู้คนมลายูในพื้นที่ เพราะหลังจากเปิดบวชเสร็จ คนในพื้นที่จะพากันไปเยี่ยมญาติ ตระเวนไปเปิดบวชบ้านเพื่อนสนิทบ้าง นั่งคุยกันจนดึกดื่นค่อนคืนบ้าง เรื่องพวกนี้คือความทรงจำที่ดีของคนในพื้นที่ก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นและก่อนที่ทหารเข้ามาประจำการ การคืนความทรงจำ คือ การสร้างสันติภาพแบบหนึ่งนะครับ
8.ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดตัวแทนรัฐไทยและผู้นำฝ่ายทหารจึงออกอาการรับไม่ได้...เหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้นมันเข้าใจได้ไม่ยากถ้าเกิดพวกเค้าเข้าใจและเข้าถึงคนในพื้นที่จริงๆ
เอ...หรือว่าที่ผ่านมา รัฐไทยเจรจาอะไรไปด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรเลย...