Skip to main content

            ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการทรมานสากล เพื่อเป็นการระลึกถึงเหยื่อของการทรมาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมกันจัด “เวทีนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการทรมานในประเทศไทย”เพื่อให้สาธารณชนรับรู้สภาพปัญหาการทรมานและแสวงหาความร่วมมือเพื่อป้องกันการทรมานในประเทศไทย โดยมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อจากการถูกซ้อมทรมาน ทนายความ องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการป้องกันการทรมานและสิทธิมนุษยชน แพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายทหารพระธรรมนูญ กรมคุ้มครองสิทธิ นักศึกษา ฯลฯ เข้าร่วม

            "การทรมาน" (Torture) ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม
            กระทรวงยุติธรรม โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ยกตัวอย่างของการทรมาน เช่น การซ้อมตามเนื้อตัวร่างกายด้วยการทุบตี ตบ เตะ ต่อย ใช้พานท้ายปืนกระแทก ใช้ไฟฟ้าหรือบุหรี่จี้ที่อวัยวะเพศ การปัสสาวะใส่ปาก การคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกให้ขาดอากาศหายใจเป็นระยะๆ การใส่กุญแจมือผูกกับเฮลิคอปเตอร์ขณะทำการบิน การบังคับถอดเสื้อผ้าให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานาน การกดศีรษะลงน้ำ ให้อดอาหาร บังคับให้รับประทานสิ่งที่ปกติไม่พึงรับประทาน การโรยพริกลงบนบาดแผล การกระทำชำเราหรือล่วงละเมิดทางเพศ การตัดอวัยวะสำคัญ ถอนฟัน ดึงเล็บ บังคับให้ตากแดดเป็นเวลานาน บังคับใช้ยากล่อมหรือหลอนประสาท ให้เปลือยกายในที่สาธารณะ หรือการกระทำต่อความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น[1]
            ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวถึงการทรมานว่าเป็นความผิดทางศีลธรรมทุกอย่าง ไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นได้ ถือเป็นสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานอย่างเด็ดขาด ไม่ว่ากฎหมายภายในประเทศที่ใช้มาก่อนหรือหลังก็ขัดไม่ได้  การทรมานถือเป็นอาชญากรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และหากมีความกว้างขวางและประทุษร้ายต่อประชาชน จะถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับศาลอาญาระหว่างประเทศ หากเกิดการทรมานในสงคราม ถือว่าเป็นอาชญากรรมในสงคราม ทุกรัฐจะต้องยอมรับในกรอบสากลนั้น
             นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ   ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2550 – 2555 มีรายงานตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานจากศูนย์ทนายความมุสลิมกว่า 300 กรณี และจากกรรมการสิทธิมนุษยชนจำนวน 102 กรณี จากการสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และผู้รอดพ้นจากการทรมาน (รอดชีวิตจากการทรมาน) และในกรณีที่เสียชีวิตนั้น หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายคลอบคลุมถึงการชดใช้เยียวยาเหยื่อ แม้จะมี พ.รบ. ชดเชยผู้เสียหาย แต่ก็ไม่สามารถได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล
            “ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่เดียวที่ได้ประกาศให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดความรุนแรงลง แต่การเยียวยาก็ยังไม่ครบถ้วนทุกกรณีที่ได้รับร้องเรียน การที่รัฐเอื้อให้เกิดช่องทางในการจ่ายค่าเสียหาย แสดงว่ารัฐยอมรับว่ามีการปฏิบัติในเรื่องการทรมานเกิดขึ้นจริง ถึงแม้รัฐจะไม่อย่างเป็นทางการก็ตาม”
            นายมูฮัมหมัดเปาซี อาลีฮา  เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานในพื้นที่ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยให้ความรู้ในเรื่องสิทธิของประชาชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พบว่าสถิติการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานอาจจะดีขึ้น แต่ก็ยังพบเห็นการทรมานอยู่เสมอ หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ปัญหาการทรมานมาจากค่านิยม ทัศนคติและอารมณ์ ก่อให้เกิดการทรมานบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยผู้กระทำการทรมานคิดว่า การทรมานยังมีประโยชน์ในการบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพ และเมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้กลไกยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำดังกล่าว กลับพบว่ากลไกดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหาได้  
            นางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะ  ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ กล่าวถึงการทำงานเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานภายใต้โครงการยุติธรรมนำสันติสุข พบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมโครงการมีภาวะวิตกกังวล   มีความเครียดจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง และเป็นโรคซึมเศร้า โดยผู้ที่อยู่ในเรือนจำจะรู้สึกปลอดภัยมากกว่า แต่ก็มีความเศร้าเพราะไม่มีความหวังในอนาคตว่าจะสามารถออกไปทำอะไรได้ มีแต่ความคิดแง่ลบในการปฏิเสธรัฐ ไม่กล้ารับการช่วยเหลือเพราะสาเหตุจากการกลัวทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ และยังเกิดความห่วงครอบครัว  รวมถึงผู้ที่ได้รับการดูแลภายใต้กฎอัยการศึก  เกิดความหวาดกลัว ระแวงสังคม เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ก็มีความต้องการจะหลบหนี  ไม่กล้าออกไปไหน หรือคิดจะดักทำร้ายเจ้าหน้าที่  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเยียวยาโดยรัฐได้ เพราะผู้กระทำคือรัฐ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐไปเลย 
            “จากเงื่อนไขที่ว่าต้องมีรอยบอบช้ำหลังจากการทรมานใน 7 วันถึงจะได้รับการเยียวยา ข้อนี้ควรมีการแก้ไขเพราะบุคคลเหล่านั้นจะถูกกักตัวไว้ให้รอยแผลหาย ก่อนที่จะปล่อยตัวออกมาแจ้งความได้ และโจทย์ที่ยากที่สุดคือการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ผู้เสียหายกลับมาอยู่ในสังคมได้ รวมถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ   แต่ทั้งนี้ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า หากมีการเข้าไปจัดการอย่างขาดการวางแผนที่ดีหรือจัดการในมาตรการที่รุนแรง อาจทำให้ผู้เสียหายจากที่เคยถูกซ้อมเพื่อให้ยอมรับผิดอาจถูกวิสามัญแทน”
            นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน โดยถือว่าการทรมานเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ทั้งปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนความรุนแรงลดน้อยลงในเชิงปริมาณ แต่เพิ่มขึ้นในเชิงสถิติ ปัญหาผู้อพยพโดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่เป็นปัญหาการใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง การขัดแย้งทางการเมืองและการฆ่าตัดตอนซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการทรมานทั้งสิ้น แนะรัฐต้องชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
            “ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ความจริง สิ่งที่รัฐต้องทำคือทำให้ความจริงปรากฏ ถ้าความจริงไม่ปรากฏว่ารัฐเป็นผู้ละเมิด ประชาชนก็จะถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป และมีสิทธิที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ รัฐจะต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ จะต้องไม่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวล อีกทั้งมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา และรัฐต้องยืนยันให้ได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก”
            ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.จังหวัดสงขลา และกรรมการกรรมาธิการกฎหมายและความยุติธรรม กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กับประมวลอาญา ต้องเขียนถึงขั้นตอนการฟื้นฟูและเยียวยา และเสนอว่าการแก้ไขกฎหมายควรตระหนักถึงความสำคัญปัญหาการทรมาน แต่มองว่าการการเสนอเป็นเพียงพระราชบัญญัติสนับสนุนเท่านั้นซึ่งอาจจะใช้เวลานาน   ทางกรรมาธิการกฎหมายจึงเลือกเส้นทางในการแก้ไขโดยประมวลกฎหมายอาญา และวิธีพิจารณากฎหมายอาญา ซึ่งจะเน้นเรื่องการซ้อมทรมาน  และการแก้ไขการเยียวยาเพิ่มวงเงินและเพิ่มฐานความผิด และเสนอการวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งศาลควรมีอำนาจขอไต่สวน
            นอกจากนั้นนางสาว text-decoration:none;text-underline:none">นริศราวัลณ์ แก้วนพรัตน์ ญาติของพลทหารวิเชียร เผือกสม พลทหารประจำกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานของครูฝึกจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การร้องเรียน และความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อหาความเป็นธรรม ถึงแม้เวลาจะผ่านไป 2 ปี เธอและครอบครัวยังต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจมืดของระบบอุปถัมภ์ เพื่อปกป้องสิทธิให้กับคนอื่น โดยไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก  เธอยังคงเชื่อว่า "ความถูกต้องและความยุติธรรม" เป็นสิ่งสำคัญ และต้องอยู่เหนือ "อำนาจและเงิน" ปัจจุบันญาติพลทหารวิเชียรได้นำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลเป็นคดีแพ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
 
 


[1] ข่าวสดรายวัน วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8216