Skip to main content

 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

 
หลายวันก่อนผมประสบความสำเร็จในการตามหาโรตีแสนอร่อยใน จ.เชียงใหม่ ความอร่อยในแง่นี้คงต้องรวมความสะดวกด้วย เนื่องจากบ้านของผมอยู่ห่างจากชุมชนมุสลิม ที่ผ่านมาจึงผมฝากท้องไว้กับแป้งทอดโรยนมเสียส่วนมาก โรตีเจ้านี้ไม่มีชื่อร้านแต่อยู่ห่างจากสี่แยกแม่เหียะไปทาง อ. หางดง ไม่ไกลนัก คนขายโรตีเป็นสตรีวัยกลางคนซึ่งมาพร้อมกับลูกสาว เธอทั้งสองคลุมผ้าในสไตล์มาเลย์ ผู้เป็นแม่ขายโรตีไปก็สอนลูกถึงการใช้ความร้อนให้เหมาะสมกับประเภทของโรตี รวมไปถึงการโรยนมและน้ำตาลให้เหมาะ รสชาติโรตีของเธอคุ้นลิ้นผมมาก มะตะบะยิ่งไม่ต้องพูดถึงรสชาติเยี่ยมกว่าของมะตะบะปูยุดเสียอีก
 
ผมสังเกตว่าเธอมีวิธีทำโรตีที่ต่างออกไปนิดหน่อย แผ่นแป้งของเธอไม่ได้ใช้วิธีพับเป็นสี่เหลี่ยมบางๆ แบบโรตีจากบังคลาเทศชอบทำเพื่อให้แป้งกรอบ หากใช้วิธีนวดแป้งให้เป็นเส้นแล้วขดเป็นก้นหอย ตบให้แบน จากนั้นก็เอาลงทอดโดยใส่น้ำมันเล็กน้อยและปราศจากเนยมาการีน เมื่อทอดได้ที่ เธอจะนำมาวางบนโต๊ะ เอาผ้าสีขาวคลุมแล้วตบให้พับเข้าหากัน แป้งโรตีหอมๆ จะมีเทคเจอร์ขึ้นมา ลูกสาวของเธอจะทำหน้าที่ทาเนยสดลงบนหน้าโรตีตามด้วยนมข้นหวาน (ผมไม่ชอบน้ำตาลทราย เพราะหวานแหลมเกินไป) เท่าที่ผมทราบ คนที่ร้านของเธอจะยืนออกันที่ร้านเต็มไปหมดตั้งแต่ช่วงค่ำจนค่อนคืน ร้านที่ไม่มีโต๊ะแห่งนี้กลับทำให้หลายคนยืนกินและสั่งกลับบ้านได้ นับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก
 
คนบางตาลง ผมจึงสบโอกาสสอบถามที่มาของวิชา “โรตีวิทยา” ของเธอ เธอตอบหน้าตาเฉยว่า “อ้อ ไปเรียนมาจากซาอุดี้...ตอนนั้นไปทำงานรับจ้างที่นั่น พวกเย็บผ้าหน่ะ ตอนนี้น้องชายยังเรียนวิชากฎหมายอิสลามที่นั่นอยู่เลย”
 
“ห๊า...ซาอุ แล้วพี่เป็นคนเมือง (หมายถึงคนที่พูดภาษาคำเมือง) ป่าวครับ...” จากนั้น พี่สาวขายโรตีก็ “อู้กำเมือง” ให้ผมฟังชนิดเสียงในฟิลม์ เธอเล่าภูมิหลังให้ฟังเล็กน้อยว่าสืบเชื้อสายมาจากมุสลิมปาทานในเชียงใหม่ในรุ่นทวดซึ่งแต่งงานกับคนเมืองมาตลอด เธอนิยามตนเองว่าเป็น ปาทานล้านนา...หรือ คนเมืองที่เป็นมุสลิม...(ฮึ่มมมม ฟังไว้นะนักล้านนาศึกษาทุกท่าน คนเมืองไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผิวขาว อู้กำเมือง จินตนาการเชิงพื้นที่ของเค้าไม่ได้อยู่แค่ภาคเหนือ เชียงตุง และสิบสองปันนา)
 
โรตีของแม่ค้าขายโรตีคนนี้ทำให้ผมตัดสินใจเป็นลูกค้าประจำแน่นอน แต่เรื่องราวที่มาของ “โรตีวิทยาซาอุดี้” ของเธอนั้น ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นได้ว่า โรตีที่ผมเคยไปตระเวนกินที่สามจังหวัดภาคใต้นั้นเองก็ใช่ย่อย ใครเคยกิน “โรตีโอ่ง” คงจำได้ถึงรสชาติแป้งโรตีที่ฟูนุ่ม หอมกลิ่นไหม้อ่อนๆ บนผิวแป้งจากการนำเอาแผ่นแป้งโรตีไปแปะไว้ในด้านในของโอ่งน้ำที่ดัดแปลงมาเป็นเตาอบ ความอร่อยของโรตีไขมันต่ำชนิดนี้อยู่ที่การนำไปจิ้มกับน้ำแกงรสเข้ม ความฟูของแผ่นแป้งจะดูดซับน้ำแกงเอาไว้อย่างได้ที่ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ที่มาของโรตีดังกล่าวที่ผมทราบมาคือ นักเดินทางชาวมลายูได้ไปแสวงบุญแถบตะวันออกกลางและได้พบเห็นวิธีการทำโรตีแบบนี้ออกมา ในขณะที่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งคือ นักเดินทางดังกล่าวไปเรียนรู้วิธีการทำโรตีโอ่งจากซาอุดี้ เมื่อครั้งไปเรียนศาสนาและแสวงบุญที่นครเมกกะ เมื่อกลับมาก็รับเอาวิทยาการทางโลกย์มาด้วย เรื่องเล่าพวกนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะการทำโรตีแบบนี้มีมากในแถบเอเชียกลางและอาหรับประเทศ หากจะกล่าวกันจริงๆ แป้งและกรรมวิธีแบบโรตีโอ่งก็ล้วนมีรากตอทางวัฒนธรรมร่วมแป้งพิชซ่าเตาอิฐที่คนในเมืองเห่อกันนั่นแหละ โลกแถบเอเชียกลางมักอ้างตัวเองเป็นต้นกำเนิด ส่วนประเทศทางยุโรปก็มักจะอ้างอิงเรื่องการพัฒนาจนกลายเป็นจุดเด่น
 
โรตีที่เรารู้จักนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากบรรดานักเดินทางชาวอินเดียซึ่งเข้ามาในภูมิภาคมลายูอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน โดยเฉพาะนโยบายการอพยพ (เชิงบังคับ) คนอินเดียใต้ โดยเฉพาะในเขตรัฐทมิฬนาดูของอินเดียและ ผู้คนในบางส่วนของบังคลาเทศเข้ามาในมาเลเซีย (รวมถึงบางส่วนของสามจังหวัดภาคใต้ของไทยปัจจุบัน) และสิงค์โปร์ ช่วงอาณานิคมอังกฤษ คนอินเดียเหล่านี้ส่วนมากเข้ามาเป็นแรงงานหลักในสวนยางและงานชะล้าง อาทิ ล้างส้วม ท่อน้ำ รวมไปถึงงานซักผ้า ปัจจุบัน ในมาเลเซียยังเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “โดบี้” (Dobi) ปัจจุบัน ร้านซัก อบ รีด ในมาเลย์ยังใช้ชื่อว่า Dobi Shop เนื่องจากคนอินเดียจำนวนมากมาจากเมืองโดบี้นั่นเอง คนอินเดียโดยรวมจะเรียกโรตี (roti) ว่า โรติ บ้าง โรตีบ้าง แล้วแต่สำเนียง ดังนั้น มันจึงไม่แปลกอย่างไรที่คนในสามจังหวัดและมุสลิมทั่วประเทศไทยจะคุ้นกับโรตีมาอย่างยาวนาน โรตีอาจไม่ใช่อาหารอิสลาม เพราะอาหารอิสลามคืออาหารที่ฮาล้าล โรตีถือเป็นอาหารที่เดินทางไปทั่วโลกพร้อมกับการเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้คน โรตีจัดเป็นอาหารของโลกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม ส่วนกรณีของ นาน (nan) และ จาปาตี (japati) นั้นก็วางอยู่บนพื้นฐานเดียวกับโรตีนั่นแหละ ต่างกันตรงขั้นตอนของการให้ความร้อน
 
ภาพของโรตีที่บ้านเราคุ้นชินคงเป็นแบบแผ่นแป้งกรอบพับเป็นสี่เหลี่ยม หากที่สามจังหวัดภาคใต้และมาเลยเวียมักนิยมทานโรตีอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า “โรตีจาไน” หรือ ถ้าเรียกหาโรตีธรรมดาก็จะได้ โรตีจาไนมาทาน โรตีประเภทนี้คือสิ่งโปรดปรานยิ่งของผม กรรมวิธีก็คล้ายกับการขดแป้งแล้วตบให้แบนนั่นแหละ แต่แป้งดังกล่าวมักผ่านกระบวนการกึ่งหมักมาแล้ว ยิ่งตอนทอดคนขายโรตีมักจะใส่เนยลงไปด้วย แป้งโรตีจึงยิ่งหอมติดจมูก โรตีชนิดนี้มักกรอบนอก นุ่มใน จะโรยนมน้ำตาล หรือ จิ้มแกงก็ตามแต่ผู้กิน แต่ถ้าจะให้ดีคงต้องดื่ม แตออ (ชา) หรือ แตซูซู (ชานม) ด้วย ความร้อน และรสขม เฝื่อน เจือรสหวานของชา จะช่วยให้ไม่เลี่ยนและบริโภคจนลืมอิ่ม โรตีจาไนที่ผมคุ้นเคยคือ ร้านตรงข้ามมัสยิดตากใบ ผมเคยสอบถามคนขาย ทำให้ทราบว่าเค้าเรียนวิชาโรตีนี้จากแขกปาทานหรือ “ออแฆกาโบ” (น่าจะมาจากคำว่า คาบูล ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลัก ของประเทศปากีสถาน เมื่อก่อนคนมลายูเรียก ออแฆตอและ แต่คล้ายเป็นคำที่ไม่สุภาพจึงมีการเปลี่ยนในภายหลัง) ซึ่งเดินทางค้าขายไปมาระหว่างโลกเอเชียกลางกับโลกมลายูมาอย่างยาวนาน พ่อค้ามุสลิมจากคาบูลนี้ จำนวนหนึ่ง นิยมเดินทางด้วยเท้า ลัดเลาะภูเขาสูงแถบตะวันตกจากภาคเหนือมาสู่ดินแดนคาบสมุทรมลายู ขณะที่ส่วนมากนิยมโดยสารมากับเรือ บ้างมาขึ้นฝั่งที่ปีนัง บางส่วนก็ขึ้นบกที่สิงค์โปร์ ออแฆกาโบนี้มิได้เป็นแขกปาทานผิวขาว หากมีผิวสีน้ำตาลอ่อนใกล้เคียงกับคนมลายูท้องถิ่น พวกเค้ามี ดวงตาโต คมเข้ม และรูปร่างสูงใหญ่เป็นเอกลักษณ์
 
แรกๆ ผมไม่เคยยอมรับเรื่องเล่าเบื้องหลังของโรตีจาไนในทำนองนี้เท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องจนมุมเพราะคนขายโรตีจาไนเจ้าอร่อยทุกคน หากไม่อ้างตนเองว่าเคยเรียนกับกาโบมาก็ต้องสืบเชื้อสายกาโบมาทุกราย ประเภทเรียนมากับพ่อตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อทำทุกวัน บางบ้านขายโรตีอย่างเดียวสามารถเลี้ยงลูกครึ่งโหลได้เรียนหนังสือทุกคน โรตีจาไนมักถูกเปรียบเทียบเชิงสูงชั้นกว่า รสดีกว่า โรตีธรรมดาที่ปรุงจากรสมือของ “ออแฆมามะ” หรือกลุ่มมุสลิมที่เดินทางมาจากพม่าและบางส่วนของบังคลาเทศ ออแฆตอและน่าจะเป็นชื่อที่คนมลายูเรียกคนกลุ่มเดียวกับโรฮิงญา โรตีของพวกเค้าเป็นเหมือนโรตีที่คนทั่วไปคุ้นเคย คือกรอบๆ บางๆ ในแง่ของประชาชาติมุสลิม คนในสามจังหวัดให้เกียรติคนกลุ่มนี้สูงทัดเทียมกับตนเอง แต่ในแง่มุมของวัฒนธรรมมลายู ออแฆมามะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรทางทะเล ในฐานะลูกเรือประมงอวนลากและอวนรุน หรือกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายในบริเวณ แหลมนก จ.ปัตตานี ความต่างของออแฆมามะกับกลุ่มคนอื่นๆที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ คือ ออแฆมามะเดินทางเข้ามาอย่างมากในยุคที่รัฐสมัยใหม่มีความเข้มงวดมากขึ้นเท่านั้น พวกเค้าจึงคล้ายเป็น “คนนอก” และ “คนแปลกหน้าในมาตุภูมิของคนอื่น” ในทัศนะของคนมลายูสามจังหวัด ผมอดคิดไม่ได้ว่า คนมลายูที่ชิงชังมุสลิมจากพม่าด้วยเหตุผลที่กล่าวในข้างต้นนั้น มีสำนึกชาตินิยมแบบไทยมาก นึกตลกไม่ได้ว่านักวิชาการไทยและท้องถิ่นในปัจจุบันจำนวนมาก มักนำเสนอว่า สำนึกชาตินิยมไทยเป็นสิ่งที่ขัดกับสำนึกมลายู แต่มองจากแง่มุมนี้แล้ว ความเป็นมลายูก็บรรจุความเป็นไทยไว้อย่างเปี่ยมล้น เปี่ยมล้นขนาดที่ว่า ออแฆมามะก็ยังจำเป็นต้องหัดทำโรตีจาไนเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและความต้องการเปิดพื้นที่ทางสังคม (จากการสัมภาษณ์เมื่อสี่ปีที่แล้ว) ควบคู่ไปกับการหัดภาษามลายู
 
กลับเข้าเรื่องโรตีดีกว่า เท่าที่ผมสังเกต ตำนานโรตีเจ้าอร่อยมีอยู่ทุกชุมชนหรือทุกกำปง โรตี ในความหมายของ รสชาติของแป้ง ความหวาน ความหอม และการหยิบฉีกด้วยมือ จึงถูกฝังอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและชีวิตประจำวันของคนมลายูอย่างแนบแน่น โรตีได้กลายเป็นอาหารเช้าและอาหารตบท้ายหลังจากละหมาดรอบค่ำ วงคุยในร้านน้ำชาจะขาดโรตีเป็นจานหลักไม่ได้ โรตียิ่งอร่อย ประเด็นถกเถียงทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงในชุมชนยิ่งเข้มข้น งานมาแกแตหรืองานเลี้ยงน้ำชาในภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็น “งานการเมือง” ชั้นเยี่ยมก็ขาดโรตีเจ้าอร่อยไม่ได้ ในทางกลับกัน คนทำโรตีและน้ำชาชื่อดังมักเป็นบุคคลสำคัญที่รวบรวมและปล่อยข้อมูล ข่าวสารทุกประเภท เจ้าของร้านน้ำชาโรตีจึงมิได้มีดีแค่ฝีมือ หากต้องมีความเจนจัดทางการเมืองชนิดหาตัวจับยาก
 
สังคมใดมีความเป็นพหุโรตี สังคมนั้นจึงยิ่งมีพลวัต เป็นสังคมที่มีความเคลื่อนไหวทางรสชาติ ความเป็นการเมือง และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อน...สังคมที่มีพลวัตแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐไทยปฏิเสธอย่างแข็งขัน เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อการสร้างจิตสำนึกชาตินิยมไทย (เรื่องความเคลื่อนไหวในด้านรสชาติคงต้องกล่าวในบทความอื่นๆ โดยตรง ต่อไป)
 
ในทัศนะของผม รูปการณ์จิตสำนึกของความเป็นไทยวางบนพื้นฐานสำคัญสองประการคือ การสร้างพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สมมติขึ้นมาควบคู่ ไปกับปลูกฝังและควบคุมจินตนาการถึงการมี “ดินแดนร่วมกัน” ของผู้คน ในแง่นี้ มันจึงไม่แปลกที่คนไทยหลายคนจึงสามารถหวงแหนดินแดนที่มิเคยไปเห็นอย่างปราสาทเขาพระวิหาร หรือรู้สึกเกลียดชัง หวาดกลัวคนพม่าทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าได้ ประการที่สองคือการผูกตรึงสรรพชีวิตให้ติดกับพื้นที่ของรัฐ ผ่านกระบวนการ “การสร้างอาณาบริเวณภายในเขตอำนาจของรัฐ” (territorialization) ซึ่งไม่อนุญาติให้ผู้คนเคลื่อนย้ายออกนอกเขตแดนที่ถูกกำหนดโดยมิได้รับการยินยอมจากตัวแทนแห่งรัฐ (state agency) เสียก่อน ในแง่นี้เอง ท่ามกลางเส้นแบ่งเขตแดนทางการเมืองที่แสนพร่าเลือนและไม่ชัดเจน ผู้คนจำนวนมากมักสยบยอมต่อการควบคุมเข้าออกของรัฐในบริเวณชายแดนไม่มากก็น้อย แน่นอน การยอมดังกล่าวอาจเป็นทั้งยุทธวิธีและการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองมากมาย ทว่าใครจะปฏิเสธว่า ภูมิศาสตร์การเมืองที่ถูกวาดขึ้นเป็นแผนที่ในจิตสำนึกนั้นจะไม่ปรากฏอยู่
 
ท่ามกลางการสร้างชาตินิยมผ่านภูมิศาสตร์ในจินตนาการของรัฐไทย ภูมิศาสตร์ทางวัฒนธรรมของในโลกมลายูได้เดินทางอย่างเงียบๆ มายาวนาน การถือกำเนิดของโรตี รวมไปถึงการแตกหน่อของโรตีประเภทต่างๆ ในภาคใต้คือประจักษ์พยานที่ดีในการทำให้เห็นถึงจินตนาการถึงพื้นที่ซึ่งครอบคลุมภูมิศาสตร์ในส่วนต่างๆ ให้มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นการนึกย้อนไปถึงอดีตในลักษณะข้ามพรมแดนทางการเมืองสู่จินตนาการร่วมทางวัฒนธรรม พิจารณาให้มากกว่านั้น มโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของคนมลายูนับเป็นสิ่งสำคัญต่อการพิจารณาความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมและเป็นสิ่งทับซ้อนกับมโนทัศน์ว่าด้วยการเดินทางในโลกอิสลาม
 
คนมลายูมักเปรยยามออกเดินทางเที่ยวเล่นว่า “ยาลัน ยาลัน” เป็นการเดินทางสั้น ขณะที่การใช้คำว่า “เมอลันเตา” สามารถเปรียบได้กับการเดินทางแสวงหาความรู้เพื่อผลัดเปลี่ยนสถานะภาพตนเอง เมอลันเตาพบมากกับกลุ่มคนที่ไปทำงานยังซาอุดิอาราเบียจำพวกเย็บผ้าและการไปออกเรือประมงที่สามจังหวัดภาคใต้ ขณะที่การไปขายต้มยำกุ้งของวัยรุ่นในกำปงมักถูกเรียกว่า “ยาลัน ยาลัน” (หรือ ยาแล ยาแล ในภาษาถิ่น) การเดินทางในสองลักษณะนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรดานักเดินทางชาวมลายูรับเอาสรรพวิชาจากต่างแดนและประยุกต์ให้สอดคล้องกับท้องถิ่น การเดินทางสำคัญทางศาสนา อาทิ การแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ก็เป็นการเดินทางแบบหนึ่งซึ่งแม้จะเป็นไปตามพันธะกิจชีวิตของมุสลิม หากก้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางโลกย์มาไม่น้อย ไม่งั้นผมคงไม่ได้ทานโรตีสูตรซาอุดี้ หรือโรตีโอ่งหรอกครับ
 
กล่าวให้ถึงที่สุด ในโลกอิสลามมีคำว่า “ฮิจเราะห์” อันหมายถึงการเดินทางครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลาม เป็นการเดินทางลี้ภัยของศาสดาด้วยคำสั่งของพระเจ้าจากนครเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ ทว่าฮิจเราะห์ก็สามารถถูกนำมาใช้งานได้ในความหมายของการเดินทางกว้างๆ ได้เช่นกัน จากการสัมภาษณ์ลูกหลานของกลุ่มมุสลิมที่เดินทางจากอินเดียด้วยเหตุผลของการบังคับจากอาณานิคมอังกฤษยังเล่าขานถึงการถูกบังคับอพยพดังกล่าวในฐานะฮิจเราะห์ นอกจากนี้ ในโลกอิสลามยังมีคำว่า “เซียะเราะห์” หรือการเดินทางเยี่ยนเยียนญาติพี่น้องซึ่งอาจอยู่ในที่ห่างไกลหรือกำลังเจ็บป่วย ดังนั้นในโลกของมลายูจึงเป็นพื้นที่ของการเยี่ยมญาติจากแดนไกล ทั้งจากมาเลย์และซาอุดี้ ญาติของออแฆกาโบก็เดินทางมาเยี่ยมจากปากีสถาน ญาติของออแฆมามะก็เดินทางมาเยี่ยมจากพม่าและบังคลาเทศ ขณะเดียวกัน คนมลายูในสามจังหวัดต่างเคยชินกับการเดินทางไปเกี่ยวข้าวที่กลันตัน เคดะห์ หรือกรีดยางที่เปอริส โดยใช้คำว่า ยาลัน ยาลัน ควบคู่ไปกับเมอลันเตา ไปทั้งเที่ยวและทำงาน
 
ปาตานีจึงมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและมีพลวัตยิ่งเมื่อ พิจารณาผ่านแง่มุมของการเดินทาง เรื่องราวของการเดินทางจึงไม่ใช่สิ่งที่ประวัติศาสตร์รัฐจะสามารถควบคุมได้โดยง่าย แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ปาตานีกระแสหลักเองก็แทบไม่ได้ระบุถึงประวัติศาสตร์การเดินทางของกลุ่มคนต่างๆ ในฐานะโครงเรื่องหลักซึ่งมีส่วนสร้างสังคมมลายูให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผลของการเดินทางคือการรับเอาสิ่งใหม่ทั้งภูมิปัญญา ข้าวของ รวมไปถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่อาจจะก่อประโยชน์หรือสร้างปัญหาขึ้นได้ในอนาคต แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการยืนยันได้ว่าคนในโลกมลายูไม่เคยหยุดนิ่งหรือสยบยอมต่อภูมิศาสตร์ของรัฐ ในทางตรงข้าม รัฐไทยกลับมีต้องการควบคุมความเคลื่อนไหวทุกอย่างภายใต้ภูมิศาสตร์สมมติผ่านข้ออ้างเรื่องอำนาจอธิปไตยหรือความเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างสำคัญต่อการพรากทรัพยากรจากท้องถิ่นต่างๆเข้าสู่ส่วนกลาง ลักษณะของอำนาจรัฐในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางและหยุดความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมของมลายู และอาจจะรวมไปถึงในภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
 
ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดในระยะหลังจึงมีการใช้คำว่า “ล้าหลังคลั่งชาติ” กันหนาหูมากขึ้น นั่นเป็นเพราะ ความเป็นชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาจากศูนย์กลางที่ว่างเปล่านั้นย่อมขัดต่อฉากและชีวิตของผู้คนที่เคลื่อนไหวสืบเนื่องมาแต่อดีต ในทางกลับกันการคลั่งความเป็นไทย กระทั่งสามารถประนามหรือสร้าง “คนอื่น” ให้กลายเป็นศัตรูได้นั้น นับเป็นโศกนาฏกรรมและความรุนแรงแบบหนึ่ง อุดมการณ์ที่สร้างจากความว่างเปล่ากลับสามารถกลับทับและกลืนกินประสบการณ์ของผู้คน กระทั่งสามารถนำไปสู่การประหัตประหารคนอื่นอย่างชอบธรรมได้
 
ทุกครั้งที่กินโรตี พวกคุณนึกถึงอะไร? สำหรับผมมันมิใช่ความหวานหอม ความกรอบ หรือเหนียวนุ่มของโรตี เรื่องเหล่านี้ คนไทยทั่วไปชื่นชอบ ยิ่งคนที่ “ไท้ไทย” แล้ว เวลากินโรตีก็ประหนึ่งกับการเสพอาหารประเภทหนึ่งที่สามารถจัดประเภทได้ว่าควรอยู่ตรงไหนของชีวิตและสังคมไทย เช่น อยากกินโรตีก็ไปกินที่ร้าน “อาบัง” คนนั้นคนนี้ ร้านมะตะบะอร่อยต้องปากซอยนี้บนถนนเส้นนั้น โรตีในสังคมไทยจึงถูกทำให้กลายเป็นไทยทั้งสำนึกคิดและรูปแบบการบริโภคที่หลากหลาย ผมจึงรำคาญ (ใช่ รำคาญ !) ยามที่นักวิชาการ ชาวบ้าน เอ็นจีโอ และเจ้าหน้าที่รัฐพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ผ่านความหลากหลายของอาหาร เพราะแท้จริงแล้ว มันคือการพิจารณาความหลากหลายแบบปราศจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจและตรึงอยู่กับอุดมการณ์ครอบงำ
 
ทุกครั้งที่ผมกินโรตี...ผมไม่ได้เครียดและจริงจัง แต่ทุกครั้งที่กัดและเคี้ยวมันรู้สึกสะใจเล็กๆ สะใจถึงการพยายามเสาะค้นหาประวัติศาสตร์และการเดินทางของผู้คน เรื่องราวที่รัฐและรัฐปาตานีไม่เล่า เรื่องราวที่สามารถจินตนาการออกไปนอกพรมแดนในจินตนากรรมของรัฐ รวมไปถึง เรื่องราวที่รัฐพยายามควบคุมเราให้เชื่องเหมือนสัตว์เลี้ยงในกรงแคบๆ เลี้ยงเราด้วยความหอมหวานแห่งชีวิต