Skip to main content

ผมยังจำได้วันปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัยผม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ชานเมืองโตเกียว ชื่อ Keio University ผมสอบติดคณะบริหารนโยบาย (Policy Management) ซึ่งเป็นคณะที่ถูกตั้งสี่ปีก่อนหน้านั้นในวิทยาเขตใหม่ และรุ่นผมเป็นนักศึกษารุ่นที่สี่ ทุกคนดีใจกับการที่คณะเรามีนักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสีครับเป็นครั้งแรก 

ปฐมนิเทศในประเทศญี่ปุ่นไม่มีพิธีรีตองอะไร มีคำกล่าวของคณบดี (อธิการบดีอยู่วิทยาเขตอื่น) และคำอธิบายต่างๆ ที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมงก็เสร็จ 

ในปฐมนิเทศดังกล่าว สิ่งที่ผมยังจำได้จนถึงวันนี้คือเนื้อหาของคำกล่าวคณบดี ท่านกล่าวว่า ในห้องนี้ มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนอยู่หลายคน แต่จริงๆ แล้วพวกคุณทุกคนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งนั้นเมื่อได้ยินคำนี้ บรรดานักศึกษาก็งง ผมคิดว่า คณบดีคนนี้คงจะมีปัญหากับสติปัญญาแน่ ผมบอกในใจว่า กูเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่เคยไปต่างประเทศด้วยซ้ำ แล้วกูเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนได้อย่างไงวะแต่ท่านก็กล่าวต่อว่า เราได้รับมอบบรรดานักศึกษาเหล่านี้จากอนาคต เมื่อสำเร็จการศึกษา พวกคุณก็กลับไปสู่อนาคต ฉะนั้นพวกคุณเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากอนาคตความงงงันในห้องประชุมใหญ่ก็หายไป และบนใบหน้าของทุกคน (รวมถึงผม) ก็มีแต่รอยยิ้ม... 

นี่คือประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำให้ผมตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่มีต่ออนาคตเราไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อการอยู่รอด ความสุขและความสนุกสนานในวันนี้เท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเพื่ออนาคตด้วย ในบริบทนี้ อนาคตไม่ได้หมายถึงความสำเร็จส่วนตัวอย่างเดียว แต่อนาคตของสังคม อนาคตของประเทศ และอนาคตของโลกด้วย ซึ่งก็คือ อนาคตของส่วนรวม 

หนังสือเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมก็นำแนวคิดนี้เป็นหลัก เรียกร้องให้ทุกคนมีจิตสำนึกในการใช้ชีวิตในปัจจุบันเพื่อถ่ายทอดสิ่งแวดล้อมอันสมบูรณ์ให้แก่รุ่นต่อไป เพราะเราสืบทอดโลกใบนี้จากบรรพบุรุษของเรา บรรพบุรุษของเราก็ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่ากับเราในปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุนี้เราก็ต้องพยายามจะถ่ายทอดโลกใบนี้ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือปัญหาสารพัด บางปัญหามีแต่การขยายตัว บางปัญหามีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนแล้ว แต่มีฝ่ายที่ไม่ยอมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพราะมันแค่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนตัว คำถามก็คือ พวกที่สร้างปัญหาหรือต่อต้านแก้ไขปัญหานั้นเคยคิดเรื่องความรับผิดชอบของตนที่มีต่ออนาคตของสังคมและประเทศชาติหรือเปล่า

ถ้าเราสังเกตท่าทีของคนบางส่วน (ที่มีจำนวนไม่น้อย) ในการอภิปรายการโต้วาทีหรือการประท้วง มีแต่การยืนยันว่าฝ่ายของตัวเองอย่างเดียวที่ถูกต้อง และฝ่ายอื่นๆ ที่คิดต่างจากตัวเองเป็นฝ่ายที่ผิด เพราะฉะนั้น กิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้ก็ลงท้ายด้วยคำด่า การใส่ร้ายป้ายสีหรือการปิดปากของอีกฝ่ายหนึ่ง ตอนนี้การแลกเปลี่ยนความคิดกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่หายากในสังคมไทย... 

เมื่อผมแชร์ข้อสังเกตของคนในพื้นที่คนหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในเฟสบุ๊ก ขาประจำคนหนึ่งก็ลงคอมเมนต์มาว่า กลับไปญี่ปุ่น แต่งงาน เหมือน มิสุโอ เหอะขาประจำคนนี้ ลงคอมเมนต์เฉพาะในเมื่อผมโพสต์อะไรสักอย่างที่ไม่ถูกใจสำหรับเขา และคอมเมนต์ของเขาก็มีลักษณะ ปิดปากแบบนี้ทุกครั้ง 

ผมก็ค่อนข้างเคยชินกับคอนเมนต์ลักษณะนี้แล้ว เพราะเคยโดนมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่ไม่เคยชินนั้นคือ ความคิดที่อยู่เบื้องหลัง ขาประจำคนนั้น ถ้าดูจากภาพในเฟสบุ๊ก อายุน่าจะมากกว่าผมหลายปี (ไม่ต่ำกว่า 50 ปี) เป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็กวัยรุ่นที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และคนอื่นๆ ที่อุตสาห์ส่งคอมเมนต์ลักษณะนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ถ้าสลับคอมเมนต์กับพวกนี้ ทุกครั้งก็ลงท้ายด้วยคำแนะนำจากฝ่ายเขาให้ผมกลับไปญี่ปุ่น 

คนเหล่านี้ ถ้าโต้แย้งกับคนไทยด้วยกันก็กล่าวหาว่าคู่โต้แย้งเป็นพวกขายชาติ และเมื่อคนมลายูจากจังหวัดชายแดนใต้ก็เรียกว่าเป็นแนวร่วมของ BRN นี่คือสภาพจิตใจ (mindset) ที่ไม่พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิด เพราะยึดถือความเชื่อว่า ตัวเองถูกต้องตลอด 

ถ้าคนเหล่านี้มัวแต่ยืนยันว่าฝ่ายตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง และคนที่คิดต่างจากพวกเขาเป็นผู้ทำลายชาติที่ต้องขจัดออกจากแผ่นดิน ถึงเมื่อไรก็ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในสังคมจะไม่สิ้นสุด เพราะวิธีคิดเช่นนี้เป็นวิธีคิดของประชาชนที่ดีภายใต้ระบอบเผด็จการแบบ totalitarianism ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย 

ระบอบเผด็จการแบบ totalitarianism ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความคิดที่ ถูกต้องที่กำหนดโดยรัฐอย่างเด็กขาด ฉะนั้นมีตำรวจลับหรือตำรวจทางความคิดเพื่อป้องกันอาชญกรรมทางความคิด นอกจากนี้ยังมี ศูนย์บำบัดความคิดเพื่อปรับปรุงความคิดของเจ้าของความคิดที่ผิด (โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีการซ้อมทรมานที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต) หน้าที่ของสื่อก็แค่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ และมีการควบคุมเนื้อหาอย่างเต็มที จดหมายถูกฉบับถูกตรวจและสายโทรศัพท์ก็ดักฟังทุกสายคนต่างชาติที่ไม่สอดคล้องกับความคิดที่ถูกต้องก็ถูกห้ามเข้า ถ้าอยู่ในประเทศก็ถูกไล่ออกหรือถูกกักขัง 

ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่มีนิสัยที่ไม่ยอมรับความหลายหลายและความแตกต่างทางความคิด แน่นอนว่าคนเหล่านี้จะยิ่งกดดันรัฐบาลนำนโยบายที่ปราบปรามสิ่งเหล่านี้ (ความคิดที่แตกต่างไปจากพวกเขา) และในสุดท้าย ระบอบเผด็จการแบบ totalitarianism ก็เกิดขึ้นภายใต้ชื่อประชาธิปไตย อย่าลืมว่า ประเทศที่มีระบอบเผด็จการก็ยังใช้คำว่า ประชาธิปไตยในชื่อของประเทศตัวเอง เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนบางประเทศ ประเทศไทยนับวันก็ยิ่งมีลักษณะเป็น totalitarianism มากขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ไม่น่ายินดีเลย 

สิ่งที่ผมอยากถามจริงๆ คือ คนที่เอาแต่ปฏิเสธความคิดที่ต่างไปจากตัวเองเหล่านี้อยากจะมีอนาคตอย่างไร ถ้าคนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการกำจัดความคิดที่แตกต่างไป สังคมจะมีรูปแบบอย่างไร ผมนึกภาพไม่ออกนอกจากสังคมแบบ totalitarianism หรือสังคมที่เรียกว่า Orwellian World (ที่มาจากนวนิยาย “1984” ของนักเขียนชาวอังกฤษ George Orwell) 

ทุกปัญหาต้องมีการแก้ไข แต่การปฏิเสธและกำจัดความคิดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะของคนในประเทศเดียวกันหรือคนต่างประเทศก็ตาม ไม่ใช่แนวต่างแก้ไขปัญหาที่เอื้อต่ออนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน (ยกเว้นสำหรับพวก totalitarian หรือผู้ที่นับถือลัทธิ totalitarianism) 

ด้วยเหตุนี้ ไม่น่าแปลกที่ว่ายังมีหลายๆ คนที่ต่อต้านกระบวนการสันติภาพ เพราะจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพไม่ใช่อยู่ที่ปัจจุบัน แต่เริ่มต้นจากเจตนารมณ์ที่จะสร้างสันติภาพในอนาคต ฉะนั้นคนที่มีส่วนรวมก็ต้องพยายามมองปัจจุบันจากแง่มุมของอนาคต ในกระบวนการนี้มีภาพอนาคตอันชัดเจน ดังนั้นสำหรับคนที่มองแต่ปัจจุบันไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการสันติภาพกระบวนการสันติภาพคือความพยายามเพื่อมอบสันติภาพให้แก่อนาคต แต่คนที่มองแต่ปัจจุบันก็เห็นแต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยไม่เคยพยายามจะเข้าใจถึงลักษณะของกระบวนการดังกล่าว 

การต้อนรับ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยน่าจะมีความตื่นตัวมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก แต่มีการเตรียมตัวแบบผักชีโรยหน้าเป็นส่วนใหญ่ 

(เกี่ยวกับเรื่องการต้อนรับอาเซียน ผมเคยลงข้อสังเกตใน ประชาไท ท่านใดที่สนใจกรุณาดู: 
http://prachatai.com/journal/2013/04/46301 
หรือต้นฉบับ: 
http://www.facebook.com/notes/hara-shintaro/20130419-การต้อนรับประชาคมอาเซียนแบบปักธงชาติ/3196842815901)

ความตื่นตัวกับการเตรียมตัว ถ้าดูอย่างเผินๆ ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ความตื่นตัวเสมือนอาการช็อกที่เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าของเรา ฉะนั้นความตื่นตัวแค่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนการเตรียมตัวจำเป็นต้องมีโครงการระยะยาวเพื่อให้ตัวเราเองมีความพร้อมในอนาคต ไม่เกี่ยวข้องกับอาการช็อก แต่ผลที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ 

สังคมไทยที่มีการเตรียมตัวน้อย จะมีอาการช็อกอย่างไรเมื่อเปิดประชาคมเศรษกิจอาเซียนภายในเวลาอีกสองปีครึ่ง นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะในด้านหนึ่งการต้อนรับอาเซียนก็หมายถึงการเข้ามาของชาวอาเซียนจำนวนมากในประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพหรือได้รับการศึกษาพรมแดนก็ยิ่งมีความหมายน้อยลง ชาวอาเซียนเหล่านี้ย่อมมีอุดมการณ์และความคิดเห็นอันแตกต่างกัน (ลองคิดว่า ชาวพม่ามองประวัติศาสตร์อย่างไร) ถ้าเราเอาแต่ปฏิเสธความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนเองและปิดปากของเจ้าของความิคิดนั้น เรานี้จะวางตัวอย่างไรในประชาคมที่ความสำคัญของพรมแดนยิ่งน้อยลง...

ณ ตอนนี้ สังคมไทยก็ต้องเสียเวลากับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว แต่แทบจะไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่มองปัจจุบันจากอนาคต สถานการณ์เช่นนี้ก็เกิดเพราะคนในสังคมให้ความสำคัญแก่ปัจจุบันมากเกินไป โดยไม่นึกถึงอนาคตอันที่จะมาถึง ฉะนั้นปัญหาต่างๆ ก็มีแต่การขยายตัวโดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นปัญหา 

กระบวนการสันติภาพปาตานีและการต้อนรับประชาคมอาเซียนเป็นบทเรียนและบททดสอบอันยิ่งใหญ่สำหรับสังคมไทยความล้มเลวในอันใดอันหนึ่ง (หรือทั้งสอง) จะนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล สังคมจะไม่สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้โดยการมองปัจจุบันอย่างเดียว เพราะมันแค่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เราต้องพร้อมที่จะมองปัจจุบันจากอนาคตต่างหาก 

ขอให้ทุกท่านมองการกระทำของตัวเองในปัจจุบัน เสมือนนักประวัติศาสตร์มองเหตุการณ์อดีต เพราะในสุดท้ายปัจจุบันก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ในอนาคต ไม่มีใครกำหนดอนาคตได้ และไม่มีใครทราบว่า ในอนาคตจะเกิดขึ้นอะไร แต่อย่างน้อยการมองปัจจุบันจากอนาคตก็สามารถลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อไป แง่มุมนี้เรียกว่า วิสัยทัศน์ 

การปฏิเสธความคิดที่แตกต่างกันก็แค่นำไปสู่การมองปัจจุบันอย่างเดียว เพื่อจะถึงแง่มุมของอนาคต เราก็จำเป็นต้องมีการโต้วาที การอภิปรายและการแลกเปลี่ยนความคิด วิสัยทัศน์มิอาจเกิดขึ้นจากการยืนยันความถูกต้องในความคิดของตัวเองหรือการปฏิเสธความคิดของผู้อื่น

จาก Matichon Online

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372783130&grpid=01&catid&subcatid