บทนำ
กลุ่มงานความมั่นคงจังหวัดปัตตานีโดยป้องกันจังหวัดปัตตานีได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทเรียนและทางออกจากสถานการณ์ความรุนแรงสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคง” กับ 4 เสาหลักของการปกครองท้องถิ่นอันได้แก่ ปลัดอำเภอ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติในเขตพื้นที่สีแดง อันประกอบด้วย อำเภอสายบุรี, ทุ่งยางแดง, ปานาเระ, ยะหริ่ง, อำเภอเมืองปัตตานี และอำเภอโคกโพธิ์ ที่ห้องนำพราว 2 โรงแรมซีเอส ปัตตานี ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นที่มีต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ของทางฝ่ายปกครองในการดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีช่วงเดือนรอมฎอนที่จะถึงอันใกล้นี้ พร้อมกับเป็นการเตรียมพร้อม4เสาหลักในกระบวนการสันติภาพปาตานีที่ได้มีการพูดคุยไปแล้วในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
การอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะวิทยากรจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำเนินการอบรม โดยแบ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จะเป็นการบรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง ผศ.ดร. ศรีสมภพได้นำเสนอเรื่องสถิติความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่มีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ (คลิกอ่าน “เปิดผลโพลล์ชายแดนใต้รอบสอง หนุนการพูดคุยสันติภาพเพิ่มขึ้น” ) และสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกันการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต และวิเคราะห์ความแตกต่างของเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ (คลิกอ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้) หลังจากที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพได้ให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ในเบื้องต้นแล้ว จะเข้าสู่ช่วงการอบรมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นเป็นอันดับต่อไป
บทความนี้จะประกอบด้วยบทบาทของ 4 เสาหลักในกระบวนการสันติภาพที่ได้ดำเนินอยู่ขณะนี้ พร้อมกับอรรถาธิบายถึงกระบวนการในการจัดทำการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้และเสียงสะท้อนของ 4 เสาหลักในคำถามหลักที่ใช้ในการอบรม รวมถึงข้อสังเกตเกิดขึ้นในระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ และบทสรุปของบทความฉบับนี้ ซึ่งบทความฉบับนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ 4 เสาหลักในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องอาศัย 4 เสาหลักและประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่สามารถมีเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นเจ้าของในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ และกระบวนการสันติภาพจะต้องนำความคิดเห็นจากประชาชนฐานราก (Trackที่ 3) ในพื้นที่ความขัดแย้งมาเป็นข้อเสนอหรือข้อแนะนำในการพูดคุยสันติภาพ พร้อมกับช่วยกันโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety net) (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) สร้างความแข็งแรงให้กับกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืนและไม่พังลงไปเมื่อการพูดคุยใน Trackที่ 1 ถึงทางตัน ข้อเสนอจากประชาชนเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ร่วมตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพราะถือว่ากลุ่มที่สูญเสียมากที่สุดในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนยืดเยื้อเรื้อรังจนมาถึงปัจจุบัน
บทบาทของ4เสาหลักในกระบวนการสันติภาพ
การฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นการให้ความรู้แก่ 4 เสาหลักในพื้นที่สีแดงของจังหวัดปัตตานีให้ตระหนักจุดยืน (Position) ของตนเองในการบวนการสันติภาพ และบทบาทของ 4 เสาหลักที่สามารถจะหนุนเสริม (Support) กระบวนการสันติภาพได้อย่างไร เพราะว่า 4 เสาหลักมีความสำคัญอย่างมากในการบวนการสันติภาพในฐานะที่เป็นตัวแสดง (Actor) ที่สามารถสร้างการพูดคุยสันติภาพภายในประชาชนรากหญ้าใน Track 3 ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนใต้พร้อมกับเชื่อมต่อ หรือ ประสานกับองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่ใน Track 2 และ เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเอง อย่างเช่น ปลัดอำเภอ หรือ นายอำเภอ ไปสู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และ ศอ.บต. เพื่อส่งต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ไปสู่พื้นที่การพูดคุยใน Track 1 ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และ ตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาล ที่ดำเนินการพูดคุยสันติภาพ กับ ตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ไปแล้วในครั้งแรกวันที่ 28 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
บทบาทของ 4 เสาหลักเป็นบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพใน Track 3 ที่สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบล ความสำคัญของ 4 เสาหลัก จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการพูดคุยถูกยกระดับไปสู่ขั้นเจรจา (Negotiation) อย่างเช่น ถ้าทางตัวแทนฝ่ายรัฐไทยเจรจาหยุดยิงหรือกำหนดพื้นที่ปลอดภัยกับตัวแทน BRN ในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันในจังหวัดชายแดนใต้ 4 เสาหลักในพื้นที่นั้นอาจต้องเป็นคณะกรรมการในการเฝ้าระวังในข้อตกลงการหยุดยิงหรือพื้นที่ปลอดภัยด้วยเพื่อเป็นสักขีพยานในข้อตกลงดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้
แผนภาพที่ 1 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน
ที่มา : ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ
4 เสาหลักจะเป็นตัวแสดง ที่สำคัญมากในเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ เพราะในตัวตนของ 4 เสาหลักเองก็เป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐไทยในการใช้ปกครองพื้นที่ มีสายการบังคับบัญชามาจากกระทรวงมหาดไทยตามการปกครองแบบรวมศูนย์ของรัฐไทย ในทางกลับกัน 4 เสาหลักก็เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนที่มาจากการเลือกตั้งภายในชุมชนยกเว้นปลัดอำเภอที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง บทบาทของ 4 เสาหลักจึงมีบทบาทสำคัญในการถึง 3 Track ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ 4 เสาหลักเป็นทั้งคนคอยประสานภายนอก {ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ (Trackที่1) และภาคประชาสังคมที่มาทำกิจกรรมในพื้นที่ (Track ที่ 2 ) กับประชาชนในพื้นที่ตน} และประสานภายในระหว่างประชาชนทุกคนในชุมชนตนเอง (Trackที่ 3 )
เสียงสะท้อนของ 4 เสาหลัก
หลังจากจบการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ก็เข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และ คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ การอบรบเชิงปฏิบัติการณ์นี้ได้แบ่งผู้เข้าร่วม 4 เสาหลักเป็นกลุ่มย่อยคละทุกอำเภอที่เข้าร่วมในการอบรมเพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างกันในกลุ่มภายใต้ประเด็นคำถามดังนี้
1. ความกังวลของท่านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ
2. 4 เสาหลักจะมีบทบาทเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร
3. กรณี BRN อยากให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ในเดือนรอมฎอน ขณะที่รัฐไทยขอให้BRN ลดความรุนแรงก่อนเช่นกัน อยากถาม4เสาหลักว่า “เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร?” มีจุดประนีประนอมจากข้อเสนอ 2 ข้อนี้หรือไม่
ประเด็นคำถามนี้ได้นำ 4 เสาหลักเข้าสู่การระดมความคิดเห็นกันภายในกลุ่มตนเองพร้อมกับการนำเสนอและอภิปรายความคิดเห็นของกลุ่มตนเองให้ทุกกลุ่มฟัง
ความกังวลของท่านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ
ประเด็นคำถามแรก“ความกังวลของท่านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ”จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น 4 เสาหลัก ได้ความคิดเห็นดังนี้
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา BRN สามารถสั่งการ RKK ได้หรือไม่ ทุกครั้งที่มีการเจรจาเพราะเหตุใดจะมีเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นเสมอ ทำให้พวกเรา4เสาหลักไม่มั่นใจในกระบวนการสันติภาพ
- ไม่มั่นใจในการเจรจาเพื่อสันติภาพ
- ไม่มั่นใจในขบวนการข้อตกลงเพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำตามข้อตกลงได้หรือไม่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจา
- กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
- ไม่แน่ว่าการเจรจาระหว่างรัฐ + BRN จะสามารถเชื่อมต่อกับชุดปฏิบัติการเข้าใจหรือเกิดการยอมรับได้
- ต้องการสันติภาพ แต่กังวลว่าไม่มีการดำเนินอย่างจริง กลัวพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง
- ผู้นำ BRN เป็นผู้นำตัวจริงหรือไม่ , การเจรจาหัวข้อการเจรจามาจากความต้องการของคนในพื้นที่หรือไม่
- เกาถูกที่หรือเปล่า
บทบาทเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพ
ประเด็นคำถามที่ 2 “ 4 เสาหลักจะมีบทบาทเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร” จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น 4 เสาหลัก ได้ความคิดเห็นดังนี้
- สร้างความรู้ความเข้าใจให้ 4 เสาหลักเรื่องสันติภาพก่อนไปบอกชาวบ้าน
- บอกชาวบ้านฟังหูไว้หู
- ให้มีเวทีพูดคุยระดับหมู่บ้านภายใต้การนำของ 4 เสาหลัก เพื่อจะได้มี มิติหลากหลายในระดับหมู่บ้าน เพื่อจะได้สะท้อนความเป็นจริง และมาคัดกรองไปเสนอกับฝ่ายรัฐบาล
- สร้างความเป็นเอกภาพให้กับกลุ่มผู้นำ, สี่เสาหลักต้องวางตัวเป็นที่พึ่งของประชาชนและมีการจัดประชุมบ่อยๆพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- 4 เสาหลักต้องสร้างความมั่นใจ เชื่อใจ ลดอคติต่อกันกับสร้างความสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชน
- ในการเจรจาแต่ละครั้งให้มีระดับรากหญ้าเข้าร่วมฟังในการเจรจาด้วยเช่น อิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
- เห็นควรให้ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดไปร่วมเจรจาด้วยเพื่อให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงและประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นในการเจรจา เพราะกรรมการอิสลามสามารถรับรู้ปัญหาต่างๆจากอิหม่ามได้
- เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชน
การประนีประนอมจากข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่าย
ประเด็นคำถามที่ 3 “กรณี BRN อยากให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ในเดือนรอมฎอน ขณะที่รัฐไทยขอให้BRN ลดความรุนแรงก่อนเช่นกัน อยากถาม4เสาหลักว่า “เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร?” มีจุดประนีประนอมจากข้อเสนอ 2 ข้อนี้หรือไม่” จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น 4 เสาหลัก ได้ความคิดเห็นดังนี้
- ไม่เห็นด้วยที่จะถอนทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมด แต่ให้มีทหารในพื้นที่เหมือนเดิมปี 46 เพราะเป้าหมายในการก่อเหตุความรุนแรงคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ถ้าลดทหาร ตำรวจ เป็นไปได้ไม่มากก็น้อยที่จะลดเหตุการณ์ , EMS ฝากข้อเสนอถึง BRN ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงสักครั้งใน 1 เดือน ถือว่าเป็นการทดสอบว่าท่านสามารถสั่งการได้จริง
- กรณี BRN ให้ถอนทหาร ทางBRN รับรองได้ไหมว่าเหตุการณ์จะยุติได้ / ถ้าหาก BRN รับรองได้ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่สงบลงได้น่าพิจารณา
- ไม่แน่ใจ, ต้องการทราบปัญหา สาเหตุ และให้โอกาสทั้ง 2 ฝ่ายจัดการกับกลุ่มของตนเอง
- อยากให้ BRN และทหารออกจากพื้นที่ให้หมด เพราะเราไม่รู้ว่า BRN เป็นใคร แล้วจะให้เราเชื่อได้อย่างไร ไม่มั่นใจ
- อาจเป็นไปได้ เพราะการถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นข้อเสนอและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
- มีความเห็นด้วยที่จะให้ถอนทหารออกจากพื้นที่
- อยากให้ทหารออกจากพื้นที่ก่อนช่วงรอมฎอน ถ้าเกิดเหตุการณ์ช่วงรอมฎอนหทารก็มาดำเนินตามเดิมได้ ลองดูก่อน
- ไม่ออกความคิดเห็น
จากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม ทางคณะวิทยากรกระบวนการได้ทำการจัดหมวดหมู่และทำรวมกลุ่มความคิดเห็นที่คล้ายกันจากการนำเสนอของทุกกลุ่มในแต่ละประเด็นคำถามข้างต้น เป็นหัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถาม เพื่อนำสู่กระบวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ลงความเห็น ร่วมกันว่า หัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถามอย่าง ความกังวล, บทบาทเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพ และประนีประนอมจากข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่ายในหัวข้อย่อยใดควรจะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผลการลงคะแนนมีดังนี้
ความกังวลของท่านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ
1 |
ไม่มั่นใจต่อการพูดคุยสันติภาพว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาได้จริง |
40 |
2 |
แกนนำ BRN สามารถควบคุมความรุนแรงได้จริงหรือไม่ |
16 |
3 |
การเจรจาเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่หรือไม่ |
4 |
การลงคะแนนให้ “ไม่มั่นใจต่อการพูดคุยสันติภาพว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาได้จริง” เป็นความกังวลข้อที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสันติภาพ เป็นการสะท้อนจาก 4 เสาหลักว่า 4 เสาหลักไม่มีความมั่นใจว่าการพูดคุยจะยุติปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาเกือบ 10 ปีได้อย่างไร มีการแลกเปลี่ยนในวงใหญ่ว่า “ไม่เชื่อมั่นเพราะ ยังกังวลที่มีการพูดคุยแต่ก็ยังมีเหตุรุนแรง แต่เห็นด้วยกับข้อประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้” อาจจะเป็นไปได้ว่า 4 เสาหลักได้เห็นว่าการพูดคุยสันติภาพที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ยังไม่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา แต่วิทยากรชวนพูดคุยถึงข้อประนีประนอมที่เป็นรูปธรรมในการลดความรุนแรงเลยเป็นสิ่งที่ 4เสาหลักเห็นด้วยเพราะการทดลองถอนทหารทั้งคู่ตามการลงคะแนนในข้อการประนีประนอมเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าในการแก้ปัญหา
“แกนนำ BRN สามารถควบคุมความรุนแรงได้จริงหรือไม่” เป็นอันดับที่ 2 เป็นการสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในการพูดคุยกับ BRN รัฐคุยกับตัวจริงหรือไม่ ข้อกังวลนี้เป็นข้อกังวลเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสันติภาพไม่ใช่การที่มากังวลว่าการพูดคุยทำตัวจริงหรือไม่ หรือ ตัวแทน BRN สามารถคุมคนได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการเปิดพื้นที่ในทางการสื่อสารสาธารณะขึ้นมาทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่และคนภายนอก เพื่อหาเจตจำนงทั่วไปของประชาชนทั้งหมด โดยที่กระบวนการพูดคุยต้องฟังเสียประชาชนด้วยกระบวนการสันติภาพจึงจะดำเนินต่อไปได้อย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งกระบวนการทำให้เสียงจากประชาชนในพื้น “นูน” ขึ้นมาเป็นหน้าที่สำคัญ 4 เสาหลักที่ทำกับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง และการทำให้ เสียงของประชาชน“นูน” ขึ้นมาจะเป็นตาข่ายนิรภัยที่คอยพยุงกระบวนการสันติภาพของ Trackที่1 ไม่ให้ล้มไปเมื่อถึงข้อตกลงที่ไม่สามารถตกลงกันได้
บทบาทเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพ
1 |
ให้ความรู้-ความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องกระบวนการสันติภาพ |
33 |
2 |
ส่งตัวแทนจากรากหญ้าเข้าร่วมในเวทีพูดคุยสันติภาพ |
11 |
2 |
เป็นตัวกลาง-เวทีกลางในการสะท้อนความจริง, ความคิดเห็นจากชาวบ้านไปสู่ระดับนโยบาย |
11 |
3 |
ฟังหู-ไว้หู (ไม่เชื่อ) |
2 |
“ให้ความรู้-ความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องกระบวนการสันติภาพ”ที่ 4เสาหลักได้ลงคะแนนเป็นอันดับ 1 เป็นสิ่งสะท้อนออกมาว่า พวกเขาต้องการ “ความรู้ความเข้าใจ” ในเรื่องกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ กล่าวคือ เพียงแค่ข้อมูลที่นำเสนอต่อสื่อกระแสหลักไม่เพียงพอที่ 4เสาหลักจะใช้ในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นการให้ 4เสาหลักทำงานได้อย่างเต็มที่ จะต้องทำการเสริมสร้างศักยภาพของ 4เสาหลักในเรื่องกระบวนการสันติภาพให้มากกว่านี้ตามความต้องการที่เขาสะท้อมออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลในการพูดคุยครั้งที่ผ่านๆมา หรือ เป็นความรู้ที่จะทำให้ 4 เสาหลักรู้เท่าทันในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจัดทำโดนรัฐ หรือ ภาคประชาสังคม เพื่อทำให้พวกเขาอยู่ในขบวนของกระบวนการสันติภาพ และคอยเฝ้าระวังตัวป่วนในขบวนการสันติภาพในพื้นที่ของตนเอง ที่คอยจะทำให้กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นล้มเหลวหรือสิ้นสุดลง
“ส่งตัวแทนจากรากหญ้าเข้าร่วมในเวทีพูดคุยสันติภาพ” และ “เป็นตัวกลาง-เวทีกลางในการสะท้อนความจริง, ความคิดเห็นจากชาวบ้านไปสู่ระดับนโยบาย” ที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 2 เป็นบทบาทที่สำคัญของ 4 เสาหลักในกระบวนการสันติภาพที่จะคอยพยุงกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นให้เติบโตพลิดอกออกผล เป็นสันติภาพชายแดนใต้ที่แข็งแรงและยั่งยืน ดังนั้นการที่ทำให้ 4 เสาหลักและประชาชนดำเนินบทบาทดังนี้ จะเป็นผลมาจากการได้รับความรู้-ความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพอย่างกระจ่างแจ้ง และการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้นที่จะทำให้ เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อเรื้อรังเกือบ 10 ปีนี้สงบลงได้
การประนีประนอมจากข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่าย
1 |
มีความเป็นไปได้โดยทดลองถอนทหารทั้งหมดตามข้อเสนอจากทั้ง 2 ฝ่าย (ทหาร และ BRN) |
38 |
2 |
มีความเป็นไปได้โดยถอนทหารกลับกรมกองใกล้พื้นที่ในเดือนรอมฏอน |
20 |
3 |
ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ |
5 |
4 |
งดแสดงความคิดเห็น |
2 |
อันดับที่ 1 ที่ 4เสาหลักเลือกด้วยคะแนนมากที่สุดในหัวข้อการประนีประนอมก็คือ “มีความเป็นไปได้โดยทดลองถอนทหารทั้งหมดตามข้อเสนอจากทั้ง 2 ฝ่าย (ทหาร และ BRN)” นี่เป็นเสียงสะท้อนของ 4 เสาหลักที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่สีแดงว่า “เราไม่เอาความรุนแรง โดยเฉพาะเดือนรอมฎอนอันประเสริฐยิ่ง เพราะฉะนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าวที่จะถอนกำลังที่ปะทะกันในพื้นที่ออก เพื่อลดเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเสียงสะท้อนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ในมุมมองของ 4เสาหลักในพื้นที่ได้มองเห็นว่า ทั้งรัฐและ BRN เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในมุมมองของ4เสาหลักในพื้นที่สะท้อนออกมา คือทดลองถอนกำลังทั้ง 2 ฝ่ายดูก่อน เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการสันติภาพ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือนก็ตาม
“มีความเป็นไปได้โดยถอนทหารกลับกรมกองใกล้พื้นที่ในเดือนรอมฏอน” กล่าวคือ ทหารที่อยู่ในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ค่ายใดให้กลับเข้าสู้ค่ายที่ตั้งของตนก่อนในช่วงรอมฎอน พอจบรอมฏอนแล้วจะกลับมาประจำการเหมือนเดินก็ได้ เพราะว่าทหารเป็น Hard Target ที่ BRN จะโจมตี เพราะฉะนั้น การที่ทหารกลับที่ตั้งในช่วงเดือนรอมฎอนนี้จะเป็นการลดการสูญเสียของทางทหารด้วยและเป็นการทำตามหนึ่งในข้อตกลงของ BRN ที่มี 7 ข้อด้วย ดังนั้นการริเริ่มที่รัฐไทยถอนทหารไปก่อน หรือ ทดลองถอนทหารก่อน นอกจากจะเป็นการทำตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการทำตามข้อตกลงของ BRN ด้วย แถมทางฝ่ายทหารยังลดจำนวนการสูญเสียกำลังฝั่งของตนเองด้วย และทหารที่เป็นมุสลิมจะได้ปฎิบัติศาสนกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่ด้วย เป็นข้อเสนอที่ Win-Win ทั้งฝ่ายรัฐและ BRN ในช่วงเดือนรอมฎอนนี้
ข้อสังเกตในระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ
4 เสาหลักที่ได้มาเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ทั้งหมดมาจากพื้นที่สีแดง กล่าวคือ เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุดในจังหวัดปัตตานี 6 อันดับแรก ดังนั้นการเตรียมพร้อมให้กับ 4 เสาหลักในกระบวนการสันติภาพจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้น 4 เสาหลักการปกครองท้องถิ่นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจะตกขบวนรถไฟสันติภาพ และสับสนในตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของตนเองในกระบวนการสันติภาพ จนอาจจะกระทำตัวเป็นตัวป่วน (Spoiler) ในกระบวนการสันติภาพเสียเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ตนเองจะต้องเป็นกลุ่มตัวแสดงที่สำคัญในการจะต้องหนุนเสริมและช่วยโอบอุ้มเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety net) ในกระบวนการสันติภาพ
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ได้มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันน้อยมาก ปัญหานี้อาจจะเกิดจากการไม่เชื่อมั่นในพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น และการที่ 4 เสาหลักทั้งหมดมาจากพื้นที่สีแดงที่มีจำนวนของเหตุการณ์ความไม่สงบสูงที่สุดในจังหวัด ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ 4 เสาหลักส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็น เพื่อสงวนไว้ซึ่งความปลอดภัยของชีวิตตนเอง
4 เสาหลักส่วนใหญ่ยังกังขาในกระบวนการพูดคุยที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้ มีความกังวลมากมายเกี่ยวกับการพูดคุยที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมากพอที่จะดำเนินการตัดสินใจในการเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น แต่ทุกคนได้มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าจะ BRN หรือ รัฐไทย ถ้ามีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาจริงๆแล้ว “การทดลองถอนทหารออกจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงรอมฏอน” ถ้าข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่ายทำแล้ว ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ลดลง ทั้ง 2 ฝ่ายควรจะทดลองทำพร้อมกัน ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 1 เดือนในเดือนรอมฏอนนี้ก็ตาม
บทสรุป
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการฝึกอบรมที่เป็นการเตรียม 4 เสาหลักให้พร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การเตรียมพร้อมนี้ทำ 4 เสาหลักให้ตระหนักถึงบทบาทของ และตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 4 เสาหลักบ้านตัวแสดงความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่และต่อไปในอนาคต 4 เสาหลักจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยภายในประชาชนระดับรากหญ้า (Track 3) ในพื้นที่ และยังเชือมต่อกับ Track ที่ 2 (องค์กรภาคประชาสังคม) โดยการประสานงานระหว่างกัน พร้อมกับมีบทบาทเชื่อมต่อกับ Track ที่ 1 โดยตำแหน่งหน้าที่ของปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา หรือผู้นำตามธรรมชาติตามระเบียบการบริหารราชการท้องถิ่นของกรมการปกครอง ซึ่งการทำกระบวนการสันติภาพของ 4 เสาหลักจะเป็นดั่งตาข่ายนิรภัย ที่ช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track 1 (ตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนBRN) โดยทำการพูดคุยคู่ขนานใน Track 2 กับ 3 ควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีการพูดคุยล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ ในกรณีประสบปัญหาเช่นนั้น กระบวนการสันติภาพใน Track 1 สามารถนำข้อเสนอที่ Track 2-3 ที่ได้ทำกระบวนการคู่ขนานมาใช้หรือนำมาประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) เพราะฉะนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็ง 4 เสาหลักให้ทราบถึงกระบวนการสันติภาพจึงสิ่งที่จำเป็นและได้รับการหนุนเสริมทั้งจากทางรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวมที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้