รอฮานี จือนารา
เช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 เวลา 09.00 น. ศาลนราธิวาสได้นัดกับญาติผู้เสียชีวิต 16 คน ที่บุกโจมตีฐานปฏิบัติการณ์ ร้อยปืนเล็กที่ 2 ชุดเฉพาะกิจ นราธิวาส 32 ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 บ้านยือลอ ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อไต่สวนการตาย โดยอัยการได้เบิกพยานฝ่ายโจทก์สองคน ด้านญาติไม่ติดใจคัดค้านการเสียชีวิตแต่อย่างใด
เวลาเกือบสิบโมงเช้าญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าวรวมทั้งหมดประมาณ 40 กว่าคนได้มาร่วมรับฟังไต่สวนการตาย ทั้งนี้ชาวบ้านหลายคนบอกว่า เนื่องจากหนังสือจากศาลได้ระบุให้ญาติเข้ามารับฟังโดยมีเงื่อนไขว่า หากไม่ไปร่วมรับฟังด้วยแล้ว อาจจะถูกปรับ 1,000 บาท ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกลัวว่าจะมีปัญหาภายหลัง เกือบทุกครอบครัวมาร่วมรับฟังครั้งนี้
ทั้งนี้ทางผู้พิพากษาได้ชี้แจงว่าเหตุที่ระบุดังกล่าวก็เพื่อให้ชาวบ้านเข้ามารับฟังและเข้าถึงสิทธิในการรับรู้ ซึ่งหากชาวบ้านติดใจหรือคัดค้านการเสียชีวิตในภายหลังก็สามารถฟ้องร้องตามกฎหมายแพ่งเรียกค่าเสียหายหรืออาญาได้
ทั้งนี้นายทหารคนแรกได้เป็นพยานการเสียชีวิตสองคนที่นอกค่าย ส่วนนายตำรวจได้เป็นพยานการเสียชีวิตทั้ง14 คนในค่ายดังกล่าว โดยศาลได้ประกาศให้ญาติมาคัดสำเนาได้ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตสองคนที่ไม่ได้เสียชีวิตที่ค่ายดังกล่าว และไม่ได้ใส่ชุดเลียนแบบทหาร คือ นายซุลกีฟลี ดะอาลี หรือ ฮาแว อายุ 19 ปี และ ปรือกิฮ หรือ บัลกิฮ นิมา อายุ 28 ปี แต่เสียชีวิตถนนใหญ่ สี่แลนต้นไทร เส้นทางปัตตานี - นราธิวาส และทั้งสองใส่เสื้อยืด ผ้าโสร่งและร้องเท้าแต่ ซึ่งความจริงทั้งสองครอบครัวรู้สึกติดใจ ไม่แน่ใจว่าทั้งสองคนไปก่อเหตุอะไรหรือเปล่า
ซาการียา ดะอาลี พ่อของซุลกิฟลี เล่าว่า “มีรูปของลูกชายขณะที่เสียชีวิต มีปืนสั้นอยู่ในมือของลูกชาย แต่ข้อสังเกตคือ เหตุใดปืนถึงอยู่ข้างขวาทั้งที่ลูกชายถนัดซ้าย”
ทั้งนี้พ่อและแม่ของซุลกิฟลีเล่าว่า “พวกเราไม่คาดคิดว่า ลูกชายจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ เพราะที่ผ่านมาลูกชายอยู่ที่บ้านตลอด คืนเกิดเหตุลูกชายไปช่วยสร้างมัสยิดในหมู่บ้าน พวกเราทั้งสองอยู่ที่โรงพยาบาลไปเฝ้าลูกสาวไม่สบาย
เมื่อกลับมาก็ไม่เห็นลูกชาย วันรุ่งได้ข่าวว่า มอเตอร์ไซค์ของลูกชายอยู่บนรถของตำรวจกำลังลำเลียงไปที่ สภอ.บาเจาะ เมื่อได้ข่าวก็ไปดูศพ แต่ปรากฏไม่เจอ รู้ตอนหลังศพก็ถูกฝังโดยชาวบ้านอีกคนหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นลูกชายของเขา เพราะหายจากบ้านมาหลายปี”
ส่วนพ่อของปรือกิฮ บอกความในใจว่า “หากจะติดใจก็คงติดใจ เพราะการเสียชีวิตของลูกครั้งนี้ไม่มีหลักฐานใด ๆ เพราะลูกชายไม่ได้ใส่ชุดทหาร และไม่ได้เสียชีวิตในค่ายดังกล่าว แต่หากจะสู้คดีคงไม่คุ้มเพราะคิดว่า คดีน่าจะไม่ชนะ อีกทั้งต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายอีก”
พ่อของปรือกิฮเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ลูกชายเคยอยู่ในเหตุการณ์ตากใบ และเมื่อกลับมาบ้านก็มีอาการผิดปรกติมีอาการหวาดกลัว ต้องรักษาตัวนานถึงสองเดือนกว่าจะหาย เมื่อครั้งต้องไปทำบัตรประชาชนลูกก็ปฏิเสธไม่อยากไปที่ว่าการอำเภอเพราะกลัว และเมื่อถึงเวลาไปรับบัตรก็ไม่ยอมไปอีก”
ทั้งนี้ นายยา นิมะ ก็เห็นว่า การทำบัตรประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวก แต่ก็โชคดีที่ผู้ใหญ่บ้านไปรับให้ แต่ไม่นานทหารก็มาที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง นายยาบอกว่า เกือบร้อยครั้ง และประกาศว่าลูกชายเป็นหัวหน้า อาร์ เค เค เมื่อเป็นเช่นนั้นลูกก็ต้องออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัย
ต่อมาก็มาทราบว่าลูกชายเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้!
ทั้งนี้จากคำให้การของทหารในชั้นศาลวันนี้ว่า
“คาดว่าทั้งสองคนมีความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนี้”
อย่างไรก็ตามมีญาติคนหนึ่งยืนถามผู้พิพากษาว่า “ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตที่เจ้าหน้าที่เอาไปเป็นหลักฐานนั้น สามารถให้คืนได้หรือไม่ ทางตำรวจร้อยเวร สภอ.บาเจาะ ยืนยันว่า หากคดีสิ้นสุดก็จะคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้ญาติ โดยจะโทรตามให้ทุกคนมารับที่ สภอ.บาเจาะ”
อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 และนางสาวนารี เจริญผลพิริยะ อดีตคณะกรรมการเยียวยาฯ และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งทางแพทย์หญิงเพชรดาวได้ให้ข้อสังเกตว่า
“รู้สึกเห็นใจญาติที่เข้ามาฟังแล้วก็ไม่เข้าใจกับการว่าความไต่สวนการตายเพราะเป็นภาษาไทยและภาษากฎหมายอีกด้วย ซึ่งหากต่างประเทศเขาจะมีหูฟังแปลให้ทันทีในศาล เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและเข้าถึงสิทธิ์ของประชาชาจริง ๆ”
ด้านนารี เจริญผลพิริยะ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ควรจะมีหน่วยงานด้านกฎหมายไปให้ความรู้กับชาวบ้านถึงที่ เพราะสังเกตได้ว่าชาวบ้านไม่มีความกล้า เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เธอได้เคยไปเยี่ยมครอบครัวทั้ง 16 ศพ และแจ้งให้ญาติทราบว่าหลังจากนี้จะมีจดหมายจากศาลเพื่อไปรับฟังการไต่สวนการตาย และหากใครติดใจก็สามารถแต่งตั้งทนายเพื่อว่าความให้ ซึ่งเข้าใจว่าแต่ละครอบครัวก็ไม่เข้าใจขั้นตอน
“และที่สำคัญไม่มีนักกฎหมายไปเยี่ยมพวกเขาเพื่อทำความใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ แม้ว่าชาวบ้านไม่คัดค้านก็ตาม แต่หากประชาชนไม่เข้าใจกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมก็คงพิกลพิการต่อไป”