อารีด้า สาเม๊าะ
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี
บทความชิ้นนี้เป็นผลงาน ลงจดหมายข่าว ที่สนับสนุนโดยองค์กรมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สนับสนุนนงบประมาณโดย โครงการ STEP
กระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มมาแล้วระหว่างตัวแทนรัฐไทย ที่นำโดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะ กับ ตัวแทนฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐที่นำโดย บี อาร์ เอน ลงนามในข้อตกลงฉันทามติทั่วไป เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ถูกยกระดับจริงจังมากขึ้น เมื่อมีการเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐไทยรับข้อเสนอ 5 ข้อ ก่อนการพูดคุยครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ ประเทศมาเลเซีย
แต่กระบวนการสันติภาพไม่ได้เป็นเรื่องของคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐไทย กับกลุ่มต่อต้านรัฐ เพียงอย่างเดียว เมื่อความรุนแรงได้กระทบชีวิตผู้คนในสังคมจำนวนมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์ที่มุ่งเป้าเฉพาะ ลูกหลง รวมถึงเหตุการณ์ละเมิดสิทธิต่างๆที่เกิดขึ้นหลังกองกำลังทั้งสองฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรงต่อคู่ต่อสู้มากขึ้น ผลกระทบเหล่านั้น ได้
เมื่อย้อนดูข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมและสรุป สถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมาแล้ว 13,339 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5,713 ราย และได้รับบาดเจ็บ 10,115 ราย[1] มีผู้หญิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์แล้วกว่า 393 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 1539 ราย แต่ผู้หญิงไม่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตโดยตรงอย่างเดียว เนื่องจากครอบครัวผู้สูญทั้งหมด เกือบจะยกภาระอันหนักหน่วง ให้ผู้หญิงแบกไว้ เนื่องจากเธอคือ แม่ ภรรยา พี่สาว น้องสาวและลูกสาวของ ของผู้ชายที่เป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคง
ปัญหาซ้อนกว่านั้น คือ ในขณะที่มีความตึงเครียดกับการยกระดับการพูดคุยเป็นการเจรจาสันติภาพ ที่แน่นอนต้องมีข้อเสนอเพื่อข้อต่อรองประเด็นต่างๆบนโต๊ะเจรจา แต่ถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครพูดถึงข้อเสนอของผู้หญิงอย่างชัดเจน ว่า ในฐานะผู้ที่แบกรับความทุกข์ที่สุดและทุกรูปแบบท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงกว่า 10 ปีนี้ พวกเธอต้องประสบพบปัญหาใดบ้าง และต้องการอะไรจากการต่อรองเพื่อให้เกิดสันติภาพในครั้งนี้ สรุปหยาบๆคือ "เสียงผู้หญิง กำลังจะถูกลืม"
แต่วันนี้ ในขณะที่มีกระแสข้อเสนอ 5 ข้อจากบี อาร์ เอน ต่อรัฐไทยเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกันอยู่นั้น ภาคประชาสังคมที่เห็นความสำคัญของผู้หญิงเริ่มรวมตัวกัน เพื่อให้ประเด็นปัญหาของผู้หญิง ถูกพูดถึงอย่างจริงจังเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่เห็นฝ่ายใด จะให้ความสำคัญกับผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดของความรุนแรง อย่างผู้หญิงอย่างจริงจังสักครั้ง และตอนนี้ มีปัญหาหลากหลายที่ต้องให้ความสำคัญ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับกลุ่มด้วยใจ โดยการสนับสนุนงบประมาณ โดยSTEP ชวนองค์กรเครือข่ายและหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดชายแดนใต้ มาร่วมถกเถียงและหารือประเด็นสถานการณ์ผู้หญิง ถือเป็นวงคุยครั้งแรก ภายใต้โครงการ STEP Project เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ที่โรงแรม ซี เอส ปัตตานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ประธานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) ผู้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ ได้สะท้อนยืนยันอีกทางว่า ที่ผ่านมาสังคมให้ความสำคัญกับผู้หญิงน้อยมาก
"การทำงานประเด็นผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องลงมาหาความร่วมมือจากองค์ในท้องถิ่น แล้วเอาข้อมูลขึ้นไปขับเคลื่อนในกรุงเทพฯ ให้เข้าใจว่าปัญหาที่นี้ไม่ใช่ปัญหาท้องถิ่นแต่เป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ได้เกิดเฉพาะที่นี้ แต่เกิดทุกที่ในประเทศ...ถ้าแก้ปัญหาที่สามจังหวัดได้ ก็จะแก้ที่อื่นได้เช่นกัน และกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ก็ยังไม่ได้ผนวกประเด็นผู้หญิงเลย"
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและกลไกทางกฎหมาย ได้ผลักดันประเด็นปัญหาผู้หญิงในสังคม ว่าเกิดจากการละเมิดสิทธิเป็นหลัก ซึ่งผู้หญิงที่เข้าถึงกลไกด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายน้อยกว่าผู้ชายนั้น ต้องได้รับการเสริมศักยภาพและความมั่นใจ เพื่อให้พวกเธอได้เข้าถึงกลไกที่จะช่วยให้ปัญหาของเธอทุเลาลงได้ โครงการนี้ จึงมีเพื่อการขจัดปัญหาของผู้หญิงได้ส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญคือ องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐและภาคส่วนอื่นๆในสังคมต้องร่วมมือ ในการร่วมแก้ปัญหาและหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคต
หน่วยงานที่มาเสวนาครั้งแรกนี้ มีทั้งภาคประชาสังคมในพื้นที่ อาทิ กลุ่มด้วยใจ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักเยียวยา สำนักเครือข่ายประชาสังคม และสำนักประสานเครือข่ายภาคประชาสังคมและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสันติวิธี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์หลักประกันสุขภาพ จังหวัดปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ฝ่ายความมั่นคง อาทิ ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 นิติกรจาก หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดปัตตานี
ประเด็นเดวงถกเถียงในครั้งนี้ นำโดยนางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจที่มีประสบการณ์จากการเป็นตัวแทนผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนใต้ เข้าร่วมประชุมประเด็นผู้หญิง ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาผู้หญิงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับผู้หญิงมุสลิมที่ขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิงด้วยว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้าง ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งทำให้เข้าใจและสนใจปัญหาของผู้หญิงมากขึ้น
จากสถิติผู้หญิงเสียชีวิตและบาดเจ็บ เกือบ 2000 รายนั้น เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและเด็กเองก็เป็นเหยื่อเหตุการณ์เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ มีสถิติเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต 60 คนและบาดเจ็บ 359 คน ทางกลุ่มด้วยใจได้พยายามเรียกร้องให้ตัวเลขของเหยื่อความรุนแรงที่เป็นเด็ก เท่ากับศูนย์ โดยการร่วมมือกับเครือข่าย จัดตั้งกลุ่ม Children Voice for Peace เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ตัวเลขของเด็กที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอจากกลุ่มเพื่อให้มีการยุติการเจ็บ ตาย จากเหตุความรุนแรงคือ ทุกฝ่ายกำหนดมาตรการการทำงานของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดกลไกการป้องกัน ไม่ให้เด็กกลายเป็นเหยื่อเหตุการณ์อีก และต้องเพิ่มความตระหนักรู้ว่า ผู้หญิงและเด็ก เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการปกป้อง ไม่ใช่เหยื่อของเหตุการณ์
อาการตกค้างในจิตใจเด็กอันเนื่องจากความรุนแรงที่ปรากฏต่อหน้า อย่าง posttraumatic Stress disorder จะกระทบชีวิตเด็กในระยะยาวของชีวิตของเขา และยังมีประเด็นปัญหาสังคมที่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้ ต้องการศึกษาต้นตอของปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขปัญหา
ตัวแทนกอ.รมน. ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ทหารที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องผ่านการอบรมเบื้องต้นเกี่ยวกับ ทักษะวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กฎหมายพิเศษทั้ง สาม ฉบับคือ กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และมีการอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้ทหารใหม่ทั้งก่อนและระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่
หากสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ ที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติผิดวินัย ประชาชนสามารถร้องเรียนมาทางหน่วยงานทหารได้
..................................................................................................
แลกเปลี่ยนประเด็นสังคมของผู้หญิง
ปัญหาสังคมที่ผู้หญิงเผชิญอยู่บางเรื่องเป็นประเด็นอ่อนไหวทั้งต่อสังคมมลายูและศาสนาอิสลาม จึงไม่เคยได้รับการถกเถียงเพื่อการแก้ไขหรือเพื่อการป้องกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ถูกกระทำเท่านั้นที่ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ในฐานะเหยื่อที่ถูกกระทำ แต่ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเหล่านั้นเอง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนหมู่ใหญ่ในสังคมด้วยเช่นกัน และประกอบกับการใช้พฤติกรรมส่งเสริมทางศาสนา อย่างการอดกลั้น อดทน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่เรียกร้องเพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น กลายเป็นปมหลักที่ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข การเสวนาในครั้งนี้ จึงได้นำคุย ชวนถกเถียงดังนี้
โจทย์คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดกลไกที่ปกป้องผู้กระทำผิด ไม่ให้ถูกลงโทษ และการคุ้มครองผู้เสียหาย
"ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว" ที่ผู้หญิงมุสลิมไม่กล้าพูด
จากประสบการณ์สถานการณ์ผู้หญิง จากประเทศละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ที่ประชุมเวทีผู้หญิงในอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว อัญชนา เล่าให้ฟังว่า ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นประเด็นร้อนที่ถูกนำเสนอในเวที แม้แต่สังคมมุสลิมเอง ก็มีประเด็นเหล่านี้อยู่ จึงตั้งคำถามเพื่อชวนแลกเปลี่ยนกับบริบทปาตานี หรือจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากความรุนแรงมากกว่าปัญหาสังคมที่ไม่เคยได้รัยการแก้ไข เฉกเช่นที่ประเทศอื่นหรือไม่
ที่ผ่านมา ผู้ดูแลปัญหาทางสังคมของมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ เป็นหลักคือ คณะกรรมการอิสลาม ซึ่งเกือบจะทั้งหมดเป็นผู้ชาย ประเด็นอ่อนไหวอย่างการขมขืนจึงไม่เหมาะต่อการร้องเรียนต่อคณะกรรมอิสลาม ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ปัญหา ข้อเสนอคือ ให้มีคณะกรรมการอิสลามผู้หญิง เพื่อรองรับงานเฉพาะเกี่ยวกับผู้หญิงด้วย
เมื่อก่อน เคยมีกลไกหนึ่งของพมจ.คือ Hotline 1300 เพื่อร้องเรียนหรือให้คำปรึกษาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และยังมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ บ้านพักเด็กและครอบครัว หรือสำนักงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือศูนย์พัฒนาสังคม ระดับจังหวัด สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ และยังมีรถเคลื่อนที่ สีชมพู ที่สกรีนข้างรถ ว่า "1300" ของ พมจ. ก็สามารถขอความช่วยเหลือได้เลย
การให้คำปรึกษาเพื่อรับฟังปัญหาผู้หญิง ของกรมสุขภาพจิตที่ 15 สามารถโทรได้ 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ 1323 ซึ่งมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา
ข้อเสนอใหม่ที่เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อ "ผู้หญิงมลายูมุสลิมถูกข่มขืน"
1. กลไกรับเรื่องร้องเรียน
ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือการล่วงละเมิดทางเพศ จะถูกทำร้ายซ้ำ เมื่อเธอต้องไปร้องเรียนแล้วถูกบังคับให้เล่าเหตุการณ์ทุกอย่างโดยละเอียด ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผู้หญิงไม่ไปร้องเรียน และเลือกที่จะเก็บปัญหานี้ไว้ และส่วนใหญ่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนหลัก อย่างสถานีตำรวจ จะมีพนักงานผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งไม่เอื้อต่อการให้ข้อมูลที่เป็นประเด็นน่าอายของเธอ
การเสนอให้คณะกรรมการอิสลามที่มีหน้าที่หลักดูแลปัญหาสังคมของมุสลิมในพื้นที่ ควรจะเปิดพื้นที่เอื้อต่อประเด็นเหล่านี้ด้วย โดยการเปิดโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนประเด็นเฉพาะของผู้หญิง เพื่อรับเรื่องและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์
2. กลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง
เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ละเมิดทางเพศของผู้หญิง ต้องมีการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้ร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ โดยการตรวจสอบทางกายภาพของผู้หญิง ซึ่งต้องอาศัยวิธีการและเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และมีการสอบสวนอย่างชัดเจนก่อนส่งเรื่องเอาความผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้รับการลงโทษตามกฎหมาย
3. กลไกเอาผิดผู้กระทำการละเมิด
เสนอให้มีการพิจารณาความผิด เป็นสองกระบวนคือ พิจารณาว่าตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องเพิ่มในส่วนการคาดโทษ ตามหลักการอิสลามด้วย ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และต้องมีการกำหนดมาตราเป็นลายลักษณ์อักษร และมีผลในทางปฏิบัติได้จริง
4. กลไกการเยียวยา ผู้ถูกล่วงละเมิด
ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ตั้งท้อง ควรจะมีการกันพื้นที่เด็กออกจากสังคมเดิมที่เหยื่อพักอยู่ เนื่องจากจะเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจเหยื่อ
พมจ. มีกลไกนี้รองรับอยู่แล้ว แต่อยู่ที่เหยื่อเองจะต้องกล้าเข้ามาร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้วย
5. กลไกเชิงป้องกัน
โรงเรียน
ครูควรเป็นหลักพิงสำคัญในการรับฟังปัญหาของเด็กและให้คำปรึกษาในประเด็นอ่อนไหวของเด็ก
ต้องมีการปรับหลักสูตร "เพศศึกษา" ในโรงเรียน ให้สอดคล้องกับบริบททางศาสนา วัฒนธรรมที่อ่อนไหวต่อเรื่องนี้ด้วย
ครอบครัว
ต้องมีความเท่าทันปัญหาของเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันด้วย และให้คำปรึกษาแก่ลูกที่เป็นวัยรุ่น
แต่คณะทำงานในกลไกทั้งหมด ควรเป็นผู้หญิงเพื่อความสบายใจของเหยื่อที่จะเข้ามารับบริการ
ปัญหา การห้ามคลุมฮิญาบ ในการทำงาน
"ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง" ยังเป็นปัญหาอยู่แต่น้อยลงมาก ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องของทัศนะคติของผู้ว่าจ้างว่า ไม่เปิดใจและไม่เคารพความเป็นอัตลักษณ์ของผู้หญิงมลายู มุสลิมอยู่
แต่มีประเด็นใหม่ ที่ถูกนำเสนอในวงเสวนาครั้งนี้ ที่เกี่ยวกับการคลุมฮิญาบของไทยพุทธในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีความหวาดกลัว ที่ดูเป็นคนแปลกแยกท่ามกลางหมู่คนที่เป็นมุสลิม จึงคลุมผมพรางตัวเพื่อความปลอดภัย
ผลกระทบจากความปลอดภัยในการเดินทางเพื่อไปประกอบอาชีพของชาวพุทธ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้หลักอย่างการกรีดยาง ที่ต้องออกเดินทางแต่เช้า และสวนยางอยู่ไกลบ้าน ทำให้เกิดความหวาดกลัว ภาครัฐได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือบางส่วนแล้ว โดยการส่งเสริมอาชีพเสริมให้ผู้หญิงทำงานในพื้นที่ แต่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งผู้หญิงมุสลิมยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างชัดเจน
มีการตั้งคำถามกับวิธีการช่วยเหลือของรัฐ และภาคประชาสังคมว่าได้สร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิงจริงหรือเปล่า
1. การช่วยเหลือดังกล่าว ช่วยให้ปัญหาของชาวบ้านได้รับการแก้ไขในระยะยาวด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากการแก้ไขเฉพาะหน้าดังกล่าว
2. ผู้หญิงรู้จักหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในประเด็นปัญหาที่ตัวเองประสบอยู่ หรือไม่
3. ผู้หญิงรู้จักทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหาหรือไม่ ซึ่งบางประเด็นที่มีการอ้างบัญญัติทางศาสนามาแก้ไขปัญหา ชาวบ้านเต็มใจหรือไม่ เนื่องจากบางกรณี ผู้หญิงถูกบังคับให้ยอมรับคำตัดสินที่อ้างบัญญัติศาสนา เช่น การบังคับให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน แต่งงานกับผู้ชายที่ละเมิดทางเพศเธอ
4. ใครเป็นผู้ต้องให้ความรู้เรื่องสิทธิ ให้ผู้หญิง
ผู้หญิงกับกระบวนการสันติภาพ
ผู้หญิงที่เป็นครอบครัวของนักรบ 16 ศพ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ต้องการพื้นที่ในการระบายความอึดอัดของตัวเอง ต่อปมความขัดแย้งของตัวเองและรัฐไทย มีความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งผู้หญิงพร้อมที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แต่ผู้ชายในหมู่บ้าน ที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่คิดต่างจากรัฐเช่นกัน สั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ทำให้ผู้หญิงขาดโอกาส และพื้นที่ระบายสิ่งต้องการออกมาสู่สาธารณะ
ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ต้องรับมือกับการเข้ามาตรวจค้น ล้อมบ้านของทหารในยามวิกาล ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัย ประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่สีแดงดังกล่าว คือ พวกเธอต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับทหารที่บุกมายามวิกาล แต่สิ่งที่ต้องคุยมากกว่านั้นคือ จะปกป้องความปลอดภัยของเธออย่างไร
ในการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิง ที่เป็นภรรยาของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เป็นเป้าสายตาของรัฐมาตลอด และถูกสังคมมองว่า เป็นคนไม่ดีของสังคม จึงไม่เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งๆที่เสียงของคนเหล่านี้สำคัญในกระบวนการสันติภาพ แต่ก็ถูกทั้งรัฐและสังคมผลักให้อยู่ในพื้นที่แคบๆและความช่วยเหลือไปไม่ถึง ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกที่ "ต่าง" แก่พวกเขามากยิ่งขึ้น จึงเกิดคำถามคือ แล้วใครจะมาดูแลและรับผิดชอบชีวิตของพวกเขา
กลไกใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสันติภาพกำลังดำเนิน
ปลายปี 2555 มีการตั้งคณะอนุกรรมการสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว ของ พมจ. เป็นประธานคณะฯ และมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆของรัฐเข้ามานั่งเป็นกรรมการ
อนุฯชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษาข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือการคุ้มครอง และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิงในพื้นที่
อนุฯที่ถูกแต่งตั้งในพื้นที่ จะร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกสองชุด คือ กรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี และกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ อนุฯชุดนี้ จะส่งข้อคิดเห็นต่างๆเพื่อสร้างกลไกความปลอดภัยให้ผู้หญิงในพื้นที่ ต่อสองคณะใหญ่ได้พิจารณา
ขณะนี้ คณะกรรมการดังกล่าว ได้ร่วมโครงการกับ UNWOMEN กับสถาบันพระปกเกล้า ในการลงมารับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงในพื้นที่ต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายเวทีทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ รายงานจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการใหญ่สองคณะ และผลักดันในคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อเสนอถูกแปลงเป็นนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงกับสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย
ข้อท้วงติงจากพื้นที่ ต่อคณะกรรมการผู้หญิงที่ถูกแต่งตั้งจากข้างบน
คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคนข้างนอก ซึ่งไม่เชื่อว่าจะสามารถทำงานตอบสนองปัญหาในพื้นที่ได้ ซึ่งคณะกรรมการในระดับชาติกับพื้นที่ อาจจะไม่ได้ล้อกัน เป็นเรื่องยากที่ประเด็นจากข้างล่างจะถูกเข้าใจ หากไม่ใช่กลไกจากคนในพื้นที่มาสะท้อนปัญหาและเสนอทางแก้ปัญหาเอง ซึ่งจะได้คำตอบเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า ไม่อยากให้กลไกดังกล่าว ถูกแต่งตั้งมา แต่ไม่สามารถทำงานได้จริง
ผู้หญิงเชื้อสายมลายู ในรายงาน CERD ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย
"ข้อ 20 คณะกรรมการกังวลว่า ผู้หญิงมลายูถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน ทั้งในพื้นที่การเมืองและพื้นที่สังคม ...คำนึงความเลื่อมล้ำ ของชาติพันธุ์ศาสนาในบางสถานการณ์ เมื่อพิจารณาต่อข้อเสนอทั่วไปข้อที่ 25 (2543) ของคณะกรรมการ คณะกรรมการกระตุ้นรัฐภาคี ให้ดำเนินการที่จำเป็น รวมมาตรการทางกฎหมายเพื่อประกันให้มีการเกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่ให้ปฏิบัติอย่างแยกแยะต่อผู้หญิงเชื้อสายมลายู ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ"
รายงานของคณะกรรมการ CERD ที่ระบุข้อกังวลต่อประเด็นปัญหาประเทศไทย ต่อสัดส่วนประชากรในพื้นที่ที่มากที่สุดในพื้นที่ความขัดแย้ง นั้นคือผู้หญิงมลายู ซึ่งการระบุข้อกังวลดังกล่าว เป็นตัวกดดันให้รัฐออกออกมาตรการที่จำเป็นต่อการดูแลประเด็นผู้หญิงได้
แม้การจัดเวทีแรกของโครงการนี้ ที่เชิญทุกหน่วยงานหลายภาคส่วนของสังคมแลกเปลี่ยนประเด็นของผู้หญิง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการระดับชาติ หรือบางประเด็นที่ต้องพึ่งกลไกระดับโลกนั้น ได้ยืนยันว่า ประเด็นผู้หญิงในพื้นที่ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่มากนัก
การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักความสำคัญของผู้หญิงต้องได้รับการปกป้อง ไม่เหยื่อเพียงของความขัดแย้งรุนแรง กระบวนสันติภาพจะรับรองโดยใคร ว่า ประเด็นผู้หญิง จะได้รับการหยิบยกมาคุยในระหว่างการเจรจา เพื่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ไม่ตกหล่น และผู้หญิงจะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มต้น จนกว่าจะเกิดสันติภาพเชิงบวก......
[1] สถิติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึง พฤษภาคม 2556 และ แยกเฉพาะกรณีของผู้หญิง ตั้งแต่ วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึง วันที่ 30 เมษายน 2556 ข้อมูลจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ข้อมูลจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี