Skip to main content

คำแถลงโดย Dato’ Sri Ahmad Zamzami bin Hashim ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับสันติสนทนา (การพูดคุยสันติภาพ) ระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กร BRN เกี่ยวกับความเข้าใจว่าด้วยการริเิริ่มเดือนรอมฎอนอันสันติสุขแห่งปี 2013 (Common Understanding Ramadan Peace Initiative 2013) ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ในสังคมไทย 

สิ่งแรกที่เราควรเข้าใจคือ คำแถลงครั้งนี้ไม่ใช่คำแถลงของ BRN ฝ่ายเดียว เพราะคนที่ออกคำแถลงคือ Dato’ Sri Zamzami ในนามของผู้อำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย และในสถานที่แถลงการณ์ ไม่มีสมาชิกของ BRN ด้วย 

คำแถลงครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อประกาศความเข้าใจรวมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN ที่พยายามจะลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน (ไม่ใช่ยุติความรุนแรง) พร้อมด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่แต่และฝ่ายต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ คำแถลงครั้งนี้ก็แสดงถึงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะดำเนินกระบวนการสันติภาพโดยใช้เวทีสันติสนทนา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า นี่คือวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้มีสันติภาพอันยั่งยืนในดินแดนปาตานี ในคำแถลงครั้งนี้ยังมีการประณามพร้อมจากทั้งสองฝ่ายต่อฝ่ายใดที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในช่วงเวลาที่ตกลงกัน (ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556) เป็นผู้ที่ไม่รักสันติภาพด้วย (peace spoiler ผู้ทำลายกระบวนการสันติภาพ)

ตั้งแต่มีการลงนำเพื่อริเ่ริ่มการพูดคุยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นี่คือครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่าย BRN แสดงความเข้าใจกันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ 

น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า สื่อต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาษาไทย สื่อภาษาอังกฤษ หรือสื่อนอกก็ตาม ยังรายงานว่าคำแถลงครั้งนี้เป็นคำแถลงของ BRN นอกจากนี้ยังใช้คำว่า “ยุติ” ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ในคำแถลงครั้งนี้ไม่มีคำนั้น ไม่ทราบว่าสื่อต่างๆ เอาข้อมูลมาจากไหน หรือว่าใช้จินตนาการมากไปหรือเปล่า 

การรายงานเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดในหมู่ผู้อ่าน/ผู้ชม/สังคมทั่วไป และในสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตัวสื่อเอง เป็นหน้าที่ของสื่อที่วิเคราะห์เนื้อหาของคำแถลงก่อนที่จะทำรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้น 

มีบางคนแสดงความเป็นห่วงว่า เอกสารความเข้าใจรวมกันครั้งนี้ไม่มีการลงนามของผู้ใด แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะ Dato’ Sri Zamzami เองประกาศต่อหน้าสื่อนานาชาติ ซึ่งหมายความว่าท่านเป็นผู้ประกาศในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในสันติสนทนา ท่านเป็นคนที่สามารถติดต่อกับทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด ถ้าหากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของคำแถลงครั้งนี้ ท่านก็ไม่น่าจะดำเนินการแถลงการณ์เช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เองผมเห็นว่า คำแถลงครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือพอสมควร 

ผมหวังว่า ข้อตกลงครั้งจะนำไปสู่เดือนรอมฎอนอันปราศจากความรุนแรง (เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่ผ่านมา) และสร้างบรรยากาศใหม่ในพื้นที่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องมีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 

เราก็ต้องเข้าใจว่า เป้าหมายของกระบวนการสันติภาพไม่ใช่แค่ลดหรือยุติความรุนแรงชั่วคราวอย่างเดียว ในคำแถลงครั้งนี้ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายพยายามจะสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการะบวนการสันติภาพ ข้อตกลงครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ แต่ไม่ใช่จุดจบของกระบวนกาัรสันติภาพ 

เมื่อพูดถึงกระบวนการสันติภาพ สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะ “ใจร้อน” และเรียกร้องให้ได้ผลโดยด่วน แต่กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอันยาวนาน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีส่วนรวมจำเป็นต้องมีความอดทน ผมไม่เคยเห็นผู้เชียวชาญสันติศึกษาที่บอกว่า กระบวนการสันติภาพจะเสร็จสิ้นหลังจากมีการพูดคุยสักสี่ห้าครั้งเอง 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดินแดนปาตานีก็แค่ส่วนหนึ่งของปัญหา ยังมีปัญหาต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอำนาจมืด การละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหหมายพิเศษ การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย การยอมรับศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาที่แตกต่าง ความปลอดภัยของชาวบ้าน รวมไปถึงรูปแบบการปกครองในอนาคตด้วย กระบวนการสันติภาพก็จะปรากฎตัวหลังจากปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข 

ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก แต่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ตราบใดที่ทุกฝ่ายให้ความรวมมือและปฏิบัติหน้าที่อย่า่งจริงจัง หวังว่าข้อตกลงครั้งนี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง (model case) ของความรวมมือเพื่อนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริง 

หวังว่าเดือนรอมฎอนปีนี้ ไม่มีเสียงระเบิดกับเสียงกระสุน (และถ้าเป็นไปได้ เสียงประทัดด้วย) อีก