Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

นับตั้งแต่ได้มีการริเริ่มกระบวนการสันติภาพด้วยการมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะพูดคุยอย่างเป็นทางการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ระหว่างคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทยกับคณะพูดคุยตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) โดยผ่านภาพการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกแทบทุกช่อง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

อารมณ์ร่วมของสังคมสาธารณะทั่วไปซึ่งไม่ใช่มวลชนจัดตั้งของทั้งรัฐไทยและ BRN มีความคาดหวังคล้อยตามการให้ข้อมูลของสื่อกระแสหลักซึ่งแน่นอนสื่อกระแสหลักนั้นไม่มีท่าทีสนับสนุนหรือแม้กระทั่งจะเปิดใจทำความเข้าใจกับการต่อสู้ของ BRN

ซึ่งจะรู้สึกได้เลยว่าสื่อกระแสหลักพยายามทำให้สังคมไทยและสังคมโลกมีปฏิกิริยากดดัน BRN ให้ยุติหรือลดความรุนแรงอย่างฉับพลันและปราศจากเงื่อนไขใดๆ ในการต่อรอง สอดรับกับการโหมกระพือสร้างกระแสความเข้าใจต่อสังคมสาธารณะของสื่อกระแสหลักมาโดยตลอดว่า BRN นั้นคือ“โจรก่อการร้าย” ซึ่งคำว่าความรุนแรงในทัศนะของ BRN นั่นคือ“การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยจากระบบการล่าอาณานิคม”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมสาธารณะทั่วไปจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมคล้อยตามกับการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก เพราะในจำนวนสามครั้งของการพูดคุยสำหรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขในฝั่งคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยมีเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือ “ขอให้ BRN ยุติหรือลดความรุนแรง”

แต่ทว่าทางฝั่งของ BRN นั้น มีการแถลงการณ์ผ่านยูทูบสี่ครั้งและแถลงการณ์ผ่านป้ายผ้าร้อยกว่าแห่งจำนวนสองครั้ง โดยความหมายที่มีนัยสำคัญของยูทูบและป้ายผ้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่คณะพูดคุยรัฐบาลไทยต้องการให้ยุติหรือลดแต่อย่างใด แต่หลายๆ คนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าบนโต๊ะการพูดคุยนั้นมีอะไรไปกดดันคณะพูดคุย BRN จนต้องออกมาชี้แจงข้างนอกโต๊ะหรือไม่  

หลักๆ โดยรวมแล้วนัยยะสำคัญของเนื้อหาในยูทูบและป้ายผ้านั้น เกี่ยวข้องกับการชี้แจงถึงสถานะทางการเมืองของ BRN ว่าไม่ใช่องค์กรก่อการร้าย แต่เป็นองค์กรต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย ต่อมาก็จะเกี่ยวข้องกับเจตจำนงทางการเมืองว่า BRN ต้องการสิทธิในความเป็นเจ้าของอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีกลับคืน และต่อมาก็จะเกี่ยวข้องกับทัศนะที่มีต่อกระบวนการสันติภาพว่า ต้องมีผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ต้องมีสักขีพยานจากประเทศใน ASEAN , OIC และ NGO ต้องเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลไทย ต้องผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภาไทยและต้องมีความมั่นคงในตำแหน่งของผู้นำคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย

และล่าสุดตอนเช้าของวันที่ 9 ก.ค. 2556 มีข้อความบนป้ายผ้าร้อยกว่าแห่งซึ่งมีข้อความแปลว่า “จอมก่อการร้าย+จอมทำลาย+จอมโกหก+จอมใส่ร้าย=นักล่าอาณานิคมสยาม” ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีปฏิกิริยาจากภาคประชาชนบางส่วนซึ่งมีสายสัมพันธ์หลักกับสถาบันทางศาสนา ผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยองค์กรของรัฐและการจุดประเด็นของผู้นำศาสนาที่มีบทบาททางการเมืองในพื้นที่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักของโลกโซเชียลมีเดียว่า “BRN ควรยุติหรือลดความรุนแรงโดยอาศัยฤกษ์ดีของเดือนรอมฎอนเป็นการเริ่มต้น”

หลังจากนั้นสื่อกระแสหลักก็ประโคมข่าวเสมือนว่าเดือนรอมฎอนเป็นเส้นตายสำหรับ BRN จะต้องทำให้สังคมไทยและสังคมโลกสมหวังให้ได้  “แบบฝันที่เป็นจริง ไชโย! สันติภาพเกิดขึ้นแล้ว” หลังจากที่ถูกทำให้มีความคาดหวังแบบ “นักจินตสันตินิยม” โดยสื่อกระแสหลักอีกนั่นแหละ “นักจินตสันตินิยม” คือ “คนที่เข้าใจว่าการป้องกันตัวคือการก่อการร้าย และความถูกต้อง ความจริงนั้น ไม่มีความหมายเลยในทัศนะของกลุ่มคนเหล่านี้”

ต่อมาวันที่ 12 ก.ค. 2556 ทางรัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยคือดาโต๊ะซัมซามิน ได้แถลงข่าวว่า BRN เห็นด้วยกับการยุติการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า BRN นั้นเห็นด้วยจริงหรือไม่ เพราะการแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีป้ายผ้าร้อยกว่าแห่งแค่เพียงสองวัน

ผู้เขียนเห็นด้วยกับสันติภาพที่ในทางรูปธรรมนั้นไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิด ผู้เขียนเองก็เบื่อเต็มทนกับการต้องปลอบใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้นเราไม่ควรเอาความรู้สึกนำหน้าหรือครอบงำความเป็นจริงไม่ใช่หรือ?

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ประเสริฐสุดในบรรดาเดือนของอิสลาม ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ที่มาเกี่ยวพ่วงกับวาทกรรมเดือนแห่งปราศจากความรุนแรงหรือในทัศนะผู้ถูกดขี่นั้นความรุนแรงคือการต่อสู้ ข้อนี้คงมีใครสงสัยแน่นอน อยู่ที่ว่าจะกล้าสงสัยกลายเป็นประเด็นสาธารณะหรือไม่

จริงๆ แล้วเดือนรอมฎอนในทัศนะอิสลามคือเดือนแห่งการต่อสู้ปกป้องความจริงและปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติทำเป็นแบบอย่างของการต่อสู้ในเดือนนี้ ก็คือท่านศาสดา นบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) และบรรดาซอฮาบัต ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์การต่อสู้อิสลาม ดังนี้

1. กรณีสงครามบาดัร เกิดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 17 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.2

2. กรณีสงครามฟัตฮูเมกกะฮ์ เกิดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 20 หรือ 21 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.8

3. กรณีสงครามตาบูร ปีที่ 9 ฮิจเราะห์ศักราช เป็นต้น  

เมื่อเป็นเช่นนี้ เดือนรอมฎอนก็เป็นเดือนแห่งสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในทัศนะอิสลาม ซึ่งก็ต้องถูกรองรับจากเหล่าผู้นำศาสนาทั้งหลายว่าประเด็นปัญหาความขัดแย้งเป็นประเด็นทางศาสนาด้วย

แต่ทว่ากรณีปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานี ยังไม่มีการสรุปหรือฟัตวาจากบรรดาผู้นำศาสนาว่าเป็นประเด็นปัญหาทางศาสนา

ฉะนั้นถ้าจะอ้างว่าจะยุติการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงไม่ได้ในเดือนรอมฎอน โดยที่ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการของบรรดาผู้นำศาสนา ก็ดูจะไม่ชอบธรรมแน่นอน

แต่ในทางกลับกันถ้าประเด็นปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานี ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการโดยบรรดาผู้นำศาสนาว่าไม่ใช่ประเด็นปัญหาทางศาสนา ก็สอดคล้องกับตัวอักษรตัวสุดท้ายของคำย่อของขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปาตานี (BRN) ที่ไม่ใช่ตัวอักษร “I” ที่มาจากคำว่า “ISLAM” แต่กลับเป็นตัวอักษร “N” ที่มาจากคำว่า “NATIONAL” ซึ่งแปลว่า “ชนชาติ” 

กล่าวคือถ้าปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีเป็นปัญหาทางศาสนา การไม่ยุติหรือไม่ลดความรุนแรง จะเป็นความชอบธรรมในมิติทางศาสนา

แต่ถ้าปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทยไม่เป็นปัญหาทางศาสนา การไม่ยุติหรือไม่ลดความรุนแรงในเดือนนี้ ก็จะเป็นความชอบธรรมเช่นกัน เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนทางศาสนาจะไปมีอิทธิพลกำกับการต่อสู้ที่ไม่ใช่ประเด็นปัญหาทางศาสนาได้อย่างไร?

แล้วที่เอะอะ โวยวาย ว่าต้องยุติหรือลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนให้ได้ ไม่ทราบว่าอิงกับหลักการและเหตุผลใด ใครก็ได้ช่วยตอบที ทำไมต้องรอมฎอนด้วย?