ที่มา www.prachatai.com
หากย้อนรอยถอยกลับไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 50 จะพบว่าในวันดังกล่าว เกิดเหตุสยองขวัญฆ่าตัดคอ นายจวน แก้วทองประคำ อายุ 72 ปี เจ้าของโรงสี ที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ส่งผลให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอย่างโหดเหี้ยมทารุณในครั้งนั้น แจกจ่ายไปยังมัสยิดในจังหวัดปัตตานีทั้ง 670 มัสยิด
วันที่ 3 มี.ค. 50 เจ้าหน้าที่จับกุม นายอัลปาตะห์ มูซอ อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 2 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จากการสอบสวน นายอัลปาตะห์ มูซอ ให้การรับสารภาพ
คำสารภาพของ นายอัลปาตะห์ มูซอ ระบุว่า นายอุมา กูยง อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลนาประดู่ เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ นายอัลปาตะห์ มูซอ ซึ่งมีอาวุธปืนลูกซองและมีดสปาต้า นั่งซ้อนท้าย
ขณะที่รถจักรยานยนต์อีกคัน มีนายการามูดิง มูซอ อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลนาประดู่ เป็นผู้ขับ โดยนายซาการียา สาเม็ง อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลนาประดู่ นั่งซ้อนท้าย ประกบตามไปด้วย
เมื่อถึงหน้าโรงสีข้าว ทั้งหมดคลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม จากนั้น นายอัลปาตะห์ มูซอ พร้อมกับนายซาการียา สาเม็ง เดินเข้าไปภายในโรงสี ใช้มีดสปาต้าฟันนายจวน แก้วทองประคำ ที่บริเวณคอจนขา จากนั้น นำศีรษะของนายจวน แก้วทองประคำ ใส่ถุงหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ นำไปทิ้งที่บ้านนาค้อ ตำบลป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์
ต่อมา วันที่ 3 เม.ย. 50 เจ้าหน้าที่จับกุมนายการามูดิง มูซอ พร้อมผู้ต้องสงสัยอีก 3 คน คือ นายอิบรอเฮง โต๊ะสะดี นายมูหามะ แวกาจิ และนายมะดือเล๊ะ มะแซ ในซอยตรงข้ามโรงเรียนบ้านนาประดู่ พร้อมทั้งตรวจค้นพบเครื่องแบบลายพรางทหารหลายชุด เป้สนาม กระติกน้ำ รองเท้าคอมแบท แท่งดัดเหล็กพร้อมตะปูเรือใบ และสายไฟยาวหลายขด
กระทั่ง วันที่ 11 เม.ย.50 เจ้าหน้าที่จับกุม นายสุกรี อาดำ อยู่บ้านเลขที่ 35/1 หมู่ที่ 3 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธ์ จังหวัดปัตตานี นำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ถูกควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ถึงวันนี้ คดีฆ่าตัดคอ นายจวน แก้วทองประคำ จึงมีผู้ถูกจับกุมตัวไปแล้ว 6 คน
ประเด็นที่เป็นปัญหาในการจับกุมคดีนี้ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้ต้องหา
ทว่า อยู่ตรงที่ผู้ถูกควบคุมตัวคนที่ 6 คือ นายสุกรี อาดำ ที่ออกมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อนุกรรมาธิการติดตามศึกษาปัญหาและผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และองค์กรมุสลิมต่างๆ ในพื้นที่
ล่าสุด นายมะรอเซะ อาดำ พ่อของนายสุกรี อาดำ ได้ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว โดยอ้างว่าถูกควบคุมโดยมิชอบ
นายมะรอเซะ อาดำ ระบุว่า หลังจากนายสุกรี อาดำ ถูกควบคุมตัว ตนและครอบครัวได้เดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อขอเข้าเยี่ยม แต่ไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากนั้น ยังคงพยายามติดต่อขอเข้าเยี่ยม แต่ได้รับแจ้งว่างดให้ญาติเยี่ยม เพราะเกรงว่า นายสุกรี อาดำ จะเปลี่ยนคำให้การทำให้เสียรูปคดี
นั่นคือ ปฐมบทของการร้องเรียนขอความเป็นธรรม ไปยังหน่วยงานต่างๆ
อันเป็นเหตุให้นายกมลศักดิ์ ลีวะเมาะ ประธานอนุกรรมาธิการติดตามศึกษาปัญหาและผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 50
นายกมลศักดิ์ ลีวะเมาะ เข้าไปพร้อมกับญาติผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนหลายคดี แน่นอน หนึ่งในจำนวนนั้น ย่อมมีญาติของนายสุกรี อาดำ รวมอยู่ด้วย
ช่วงแรกของการเข้าเยี่ยม ไม่มีการนำตัว นายสุกรี อาดำ ออกมาพบญาติ จนนายกมลศักดิ์ ลีวะเมาะ ร้องขอให้นำตัวนายสุกรี วาเมาะ ออกมาให้ญาติได้เห็นหน้า เพื่อจะได้มั่นใจว่ายังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่จึงนำนายสุกรี อาดำ นั่งรถกระบะออกมาให้ดู โดยไม่ยอมให้ลงมาจากรถ
เห็นแต่หน้า ไม่ได้พูดคุย ไม่ได้เห็นร่างกาย? เป็นคำบอกเล่าจากญาติของนายสุกรี อาดำ
ขณะที่นายอนุกูล อาแวปูเตะ ทนายความของนายสุกรี อาดำ ไม่ได้อยู่เยี่ยมลูกความ เพราะแยกเข้าไปฟังเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมบรรยายสรุป
จนวันที่ 26 เม.ย. 50 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายวสันต์ พานิช ได้เดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง
เจ้าหน้าที่อนุญาตให้นายวสันต์ พานิช เข้าพบนายสุกรี อาดำ คำบอกเล่าต่างๆ จึงพรั่งพรูออกจากปากของผู้ถูกควบคุมตัวรายนี้
นายสุกรี อาดำ ระบุว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่นำตัวเข้าไปในค่ายอิงคยุทธบริหาร วันที่ 11 เม.ย. 50 ซึ่งเป็นวันแรกที่ถูกควบคุม ก็ถูกนำตัวไปยังห้องซักถามที่ 7 มีชายรูปร่างใหญ่ ใส่เสื้อฟิต เข้ามาถีบ ซ้อม บีบคอ จนนายสุกรี อาดำ ชักดิ้นชักงอหมดสติอยู่ใกล้เท้าของผู้ซ้อม
เมื่อรู้สึกตัว ก็ถูกนำตัวไปที่ห้องซักถามที่ 3 ห้องนี้กว้างกว่าห้องที่ 7 คราวนี้ มีชายฉกรรจ์ประมาณ 7 ? 8 นาย บังคับให้นายสุกรี อาดำ ถอดกางเกง แล้วนำไปครอบหัว
จากนั้น ต่างคนต่างเข้ามารุมทำร้าย ทั้งเตะ ถีบ บีบไข่ ประมาณ 2?3 ชั่วโมง จนร่างกายระบมตลอดคืน
จากการตรวจร่างกายโดยนพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน แพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ยะลา พบว่านายสุกรี อาดำ มีบาดแผลที่ริมฝีปาก หลัง และหน้าแข้ง ขณะเดียวกับที่รู้สึกเจ็บตรงหน้าอกด้วย
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา นายมะรอเซะ อาดำ และญาติ ก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมนายสุกรี อาดำ อีกเลย
รายละเอียดทั้งหมดข้างต้น ถูกนายมะรอเซะ อาดำ นำใช้มาเป็นเหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวนายสุกรี อาดำ ความว่า...
...การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการนำตัวไปซักถามเพื่อหาข้อมูล จากผู้ที่ถูกต้องสงสัยตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่ได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมาย และละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 7 ซึ่งห้ามการทรมาน หรือกระทำการหรือลงโทษโหดร้ายไร้มนุษยธรรม โดยปฏิญญาสากลฉบับดังกล่าว สหประชาชาติได้ให้การรับรอง และประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญาสากลฉบับดังกล่าวด้วย อันเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐและเป็นหลักสากลที่รัฐต้องปฏิบัติ ไม่ว่ารัฐนั้น จะได้อำนาจมาด้วยวิธีใดก็ตาม...
...การควบคุมคุมขังนายสุกรี อาดำ บุตรของผู้ร้องจึงเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวต่อไป ขอศาลได้โปรดปล่อยบุตรของผู้ร้องจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี...
ศาลจังหวัดปัตตานี ได้พิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค.50 ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกควบคุมตัวแล้ว อำนาจการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ย่อมสิ้นสุดลง
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อันเป็นผลให้ นายสุกรี อาดำ พ้นจากการควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร มาอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และย้ายเข้าเรือนจำจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน