Skip to main content
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 13
วันจันทร์ ที่  15 กรกฏาคม 2556
โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดปัตตานี
 
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคดำรงไทย พรรคชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาและเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สรุปข้อเสนอแนะจากการสานเสวนาได้ดังนี้
 
1)    ที่ประชุมมีความยินดีและขอสนับสนุนการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นเวลา 40 วัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจริงได้ และจะส่งผลดีต่อการพูดคุยสันติภาพต่อไป
 
2)    อย่างไรก็ดี อาจมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและก่อเหตุรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงขอเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงความเข้าใจร่วมกันเรื่องความริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2013 ของตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 โดยมีองค์ประกอบเช่น
-           ตัวแทนภาครัฐ ได้แก่ ตัวแทน ศอ.บต. ตัวแทน กอ.รมน. ภาค 4 ตัวแทน ศชต. ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
-           ตัวแทนภาคปะชาสังคมได้แก่ ตัวแทนจุฬาราชมนตรี ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละหนึ่งคน ตัวแทนฝ่ายวิชาการ ตัวแทนสภาทนายความ ตัวแทนสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชาชนไว้วางใจ เป็นต้น
 
3)    เสนอให้สร้างบรรยากาศที่ดีและเอื้อต่อการพดคุยสันติภาพ ดังนี้
-           ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของจุฬาราชมนตรี พ.ศ. 2556 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอน ซึ่งขอยกตัวอย่างเช่น  การสนับสนุนอาหารในการละศีลอดแก่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง การผ่อนปรนเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มุสลิม ให้ปฏิบัติงานระหว่าง 08.30 – 15.00 น. เพื่อให้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีคุณค่า ในการนี้ ขอเสนอให้ ศอ.บต. กวดขัน และหากจำเป็นก็ลงโทษผู้ที่ไม่ถือปฏิบัติด้วย
-           ดำเนินการให้มีการอภัยโทษแก่นักโทษคดีความมั่นคง ในกรณีที่จะช่วยเสริมสร้างความผ่อนปรนซึ่งกันและกัน
-           พยายามลดความรุนแรงที่แฝงอยู่ในโครงสร้าง เช่น การให้ความยุติธรรมในคดีความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ การเพิ่มสัมฤทธิผลของการจัดการศึกษา เป็นค้น
 
4)    ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรริเริ่มในส่วนที่อาจปฏิบัติให้เห็นผลในเบื้องต้นก่อน เช่น การโอนย้ายอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไปให้นายก อบจ. ในส่วนของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ของ ศอ.บต. ในส่วนของบทนิยาม โดยให้ ศอ.บต. มีเขตอำนาจตรงกับเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง จากการครอบคลุม 5 จังหวัดเป็น 3 จังหวัดกับ 4 อำเภอของสงขลา