โคทม อารียา
คนเราอยู่ได้ด้วยความหวัง คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความหวัง แต่เกือบสิบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความกลัวและความหวาดระแวงมากดทับความหวัง จนถือว่าการสร้างสันติภาพเป็นเรื่องของผู้เป็นอื่น มิใช่เรื่องของเราสักเท่าไร แต่เมื่อกระบวนการสานเสวนาสันติภาพได้เริ่มขึ้นโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ดูเหมือนว่าความหวังจะเริ่มหวนคืนมา แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวยังอ่อนแอนัก ผู้ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าเพราะยังยืนยันในอุดมการณ์เมอร์เดกาหรือเพราะเกรงจะต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนไปไม่มากก็น้อย ย่อมหาทางให้กระบวนการสันติภาพมีอันเป็นไป จึงชอบที่ผู้มีใจรักในเพื่อนมนุษย์ จะได้ริเริ่มทำอะไรร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการนี้มีชีวิตชีวา เป็นกระแสธารที่มีพลัง และเป็นกระบวนการที่มีความชอบธรรม ในที่นี้ ขอเสนอแนวทางกว้าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจและเสริมสร้างความเข้มแข้งแก่กระบวนการสันติภาพ ดังนี้
ประเด็นทางเลือกแรกที่ขอเสนอให้พิจารณาคือ เราจะเริ่มต้นตรงไหนดี ระหว่าง
(1) เริ่มที่ข้อขัดแย้งที่เป็นใจกลางของปัญหา หมายถึงเริ่มที่ภาคีความขัดแย้งหลัก
(2) เริ่มที่ข้อขัดแย้งรองที่อาจคลี่คลายได้ง่ายกว่า กล่าวคือเริ่มที่ภาคีความขัดแย้งที่อาจสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า
(3) เริ่มพร้อม ๆ กัน พิจารณาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคีความขัดแย้งต่าง ๆ ไป พร้อมกัน
ผู้ที่ชอบทางเลือกที่หนึ่ง อาจจะชอบเพราะว่าตนจะได้มีบทบาทหลัก หรือเพราะเชื่อว่าถ้าคลี่คลายความขัดแย้งที่เป็นใจกลางได้ เรื่องอื่น ๆ ก็จะคลี่คลายตาม ๆ กันไป ผู้ที่ชอบทางเลือกที่สองอาจคิดว่าถ้ามีความสำเร็จในเรื่องที่ง่ายกว่าก่อน ก็จะสร้างบรรยากาศให้สามารถคลี่คลายเรื่องที่ยากได้ในภายหลัง แต่ในที่นี้ ขอเสนอให้พิจารณาทางเลือกที่สามก่อน อาจด้วยเหตุผลแบบกำปั้นทุบดินว่า เราอาจตกลงกันไม่ได้ว่าอะไรคือข้อขัดแย้งที่เป็นใจกลางหรือเรื่องอะไรที่ง่ายต่อการคลี่คลาย รวมทั้งไม่แน่ใจว่า ภาคีใดเต็มใจ/พร้อมใจช่วย หรือภาคีใดหวังสร้างภาพลวงหรือความปั่นป่วน แต่ที่สำคัญคือโจฮัน กาลตุงนักทฤษฎีสันติภาพให้ข้อเสนอในเชิงทฤษฎีไว้ว่า การลดทอนจำนวนข้อขัดแย้งให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองก็ดี หรือจำนวนภาคีให้เหลือเพียงสองก็ดี จะทำให้การสานเสวนากลายเป็นการยึดมั่นในจุดยืนของแต่ละฝ่ายจนเกินไป เราต้องระวังเรื่องการทำให้ง่ายจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการแยกขั้วเป็นเขาเป็นเรา และเกิดการกีดกันภาคีอื่นออกไป ขณะเดียวกันก็ต้องระวังเรื่องการทำให้ซับซ้อนจนเกินไป เพราะเข้าใจได้ยากมากขึ้นด้วย กาลตุงจึงเสนอว่า น่าจะพิจารณาตัวเลข (จำนวนข้อขัดแย้ง/ภาคี) ที่มากกว่า 2 เช่น 3 หรือ 4 ในที่นี้ขอเสนอตัวอย่างแต่เพียงตัวเลข 3
ขอยกตัวอย่างข้อขัดแย้งที่อาจนำขึ้นมาพิจารณาดังนี้
(1) ความมั่นคง ซึ่งรวมถึงประเด็นความยุติธรรม การรักษาความสงบ และการใช้กำลัง
(2) การเมืองการปกครอง ซึ่งรวมถึงประเด็นความชอบธรรม การคุ้มครองเสียงข้างน้อย (ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น) การถ่ายโอนอำนาจ
(3) นโยบายชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงประเด็นบูรณาการ การเคารพความแตกต่างหลากหลาย การฟื้นฟูอัตลักษณ์ที่ถูกละเลย
ขอยกตัวอย่างภาคีที่มีส่วนในการคลี่คลายความขัดแย้งได้แก่ (1) ตัวแทนรัฐบาลไทย (2) ตัวแทนขบวนการที่ใช้กำลังอาวุธ ในขณะนี้มีบีอาร์เอ็นเป็นภาคีหลัก ต่อไปถ้าบีอาร์เอ็นได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนกลุ่มอื่น ๆ บีอาร์เอ็นก็เป็นตัวแทนขบวนการฯ มิฉะนั้น ก็อาจจะมีตัวแทนที่เป็นคณะบุคคลที่มาจากหลายกลุ่ม (3) ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่บีอาร์เอ็นเสนอให้ทำหน้าที่เป็นคนกลาง แต่คงไม่ใช่ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยที่ทรงอิทธิพล หากเป็นคนกลางที่เข้ามาร่วมสานเสวนากับภาคีแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่แทรกแซงการตัดสินใจของภาคี
การสานเสวนาระหว่างภาคีทั้งสามจะเป็นทั้ง (1) การสานเสวนาภายในภาคีนั้น ๆ (intra-party dialogue) เพื่อศึกษาประเด็นข้อขัดแย้งให้กระจ่างชัด และกำหนดยุทธศาสตร์การสานเสวนาอันจะนำไปสู่การเจรจาเพื่อการถกแถลงหาทางเลือก การตัดสินใจ และการทำข้อตกลงต่อไป และ (2) การสานเสวนาระหว่างภาคี (inter-party dialogue) (ระหว่างฝ่ายรัฐบาลทั้งสอง ระหว่างตัวแทนแต่ละรัฐบาลกับตัวแทนขบวนการฯ) เพื่อร่วมกันทำประเด็นข้อขัดแย้งให้กระจ่างชัด และกำหนดยุทธศาสตร์การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งร่วมกัน
กระบวนการสานเสวนาข้างต้นนี้มีชื่อเรียกว่าเส้นทางที่หนึ่ง (track I) ซึ่งอยู่ในระดับผู้นำหรือระดับที่มีความเป็นทางการ ส่วนเส้นทางที่สอง (track II) เพื่อให้กระบวนการมีความสมบูรณ์นั้น จะเกี่ยวข้องกับภาคีที่ไม่ใช่ราชการหรือทางการ นั่นคือภาคประชาสังคม เช่นกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มสื่อ กลุ่มศิลปิน กลุ่มนักธุรกิจ เป็นต้น ภาคประชาสังคมเป็นภาคีความขัดแย้งอย่างอ่อน จึงอาจทำให้สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งสร้างจินตนาการและความหวังได้ดีกว่าภาคีในเส้นทางที่หนึ่ง ที่สำคัญคือ ภาคประชาสังคมอาจถ่วงดุล กระตุ้น เรียกร้องให้เกิดความคืบหน้าในเส้นทางที่หนึ่ง จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้ข้อตกลงใด ๆ ที่ได้จากเส้นทางที่หนึ่งเป็นที่ยอมรับและมีความยั่งยืนได้มากขึ้น อีกทั้งยังหนุนช่วยและนำข้อตกลงไปปฏิบัติด้วย
ตัวอย่างภาคีประชาสังคมที่น่าจะมีส่วนช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้แก่ (1) ประชาสังคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมลายูในพื้นที่ (2) ประชาสังคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายไทยหรือจีนในพื้นที่ (3) ประชาสังคมนอกพื้นที่
เช่นเดียวกับเส้นทางที่หนึ่ง การสานเสวนาในเส้นทางที่สองน่าจะประกอบด้วยการสานเสวนาภายในและระหว่างภาคี และถ้าหากเลือกข้อขัดแย้งและประเด็นการสานเสวนาให้ตรงกับเส้นทางที่หนึ่ง (เช่นความมั่นคง การเมืองการปกครอง และนโยบายชาติพันธุ์) ก็จะเป็นการเสริมแรง และสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นที่เห็นต่างอย่างรอบด้านมากขึ้น
ที่สำคัญคือ การสานเสวนาในทั้งสองเส้นทางน่าจะหยิบยกเรื่องวิสัยทัศน์ขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันด้วย การสร้างวิสัยทัศน์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เกิดความสำเร็จในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งนอกจากจะตอบคำถามหลักเช่น ‘เราเป็นใคร’ ‘เราทนกันได้ในความแตกต่างหรือไม่’ แล้ว ยังต้องจะพยายามตอบคำถามด้วยว่า ‘เราจะไปทางไหน’ ‘เราจะไปด้วยกันใช่ไหม’ และ ‘สังคมที่เราและลูกหลานของเราจะอยู่ร่วมกันในดินแดนแห่งนี้ควรจะมีหน้าตาอย่างไร’ ด้วย
ภาคีฝ่ายรัฐบาลไทยก็ดี ฝ่ายขบวนการฯก็ดี น่าจะมีคณะทำงานวิชาการหนึ่งหรือหลายคณะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลตลอดจนศึกษาข้อขัดแย้งและประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ภาคีในระหว่างการสานเสวนาและต่อไปในระหว่างการเจรจาด้วย ในระยะแรก รัฐบาลมาเลเซียอาจให้ความสนับสนุนด้านทรัพยากรตามที่ฝ่ายขบวนการฯร้องขอ ในระยะต่อไป รัฐบาลไทยอาจอำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะทำงานของขบวนการฯในพื้นที่ของไทยด้วย ข้อดีข้อหนึ่งในการมีคณะทำงานคือ (1) น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในระหว่างภาคีมากขึ้น (2) คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายน่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูล/รายงานทางวิชาการ และมีการพบปะกันบ้าง ซึ่งหมายถึงการสร้างเสริมความสัมพันธ์ในอีกมิติหนึ่ง (3) เป็นการเพิ่มพื้นที่การใช้ความรู้และเหตุผลในการหาข้อตกลงร่วมกัน
โดยสรุปแล้ว ทุกฝ่ายที่มีความหวังในกระบวนการสันติภาพ ต้องช่วยกันทำให้กระบวนการนี้มีการเคลื่อนไหว โดย (1) การถักทอความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มหลาย ๆ กลุ่ม ในหลายระดับพร้อมกันไป (2) การเชื่อมประสานกันให้ดี เพื่อที่จะทวีความพยายามเอาชนะความไม่มั่นใจ ความไม่ไว้วางใจ การด่วนตัดสิน ความอหังการ และคุณลักษณะอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมฤทธิผล และ (3) การสร้างสันติภาพเชิงลบ ซึ่งหมายถึงการลด/ยุติความรุนแรง และการสร้างสันติภาพเชิงบวก ซึ่งหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ การเคารพอัตลักษณ์ของกันและกัน ความเป็นธรรม รวมถึงการกินดีอยู่ดี นั่นคือการร่วมกันสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขที่ยั่งยืนนั่นเอง