AwanBook ; Abdulloh WanAhmad
“ครูตาดีกา” ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย
นับวันยิ่งมีความชัดเจนขึ้นทุกขณะ เมื่อความปลอดภัยของครูตาดีกาและผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ตกเป็นเป้าของผู้ประสงค์ร้าย ที่ไม่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ ณ ดินแดนลังกาสุกะแห่งนี้ ที่เรียกว่า “ปาตานี”
จากกรณีที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องนานนับปี ที่ย่างก้าวสู่หนึ่งทศวรรษแห่งความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองรัฐไทยกับผู้ที่ถูกปกครองชาวมลายูปาตานี ที่มีรากเหง้ามาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของปาตานีในอดีต ที่เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะที่เป็นการปฏิรูประบอบการเมืองการปกครองของชนชาวมลายูที่เคยมีอยู่เดิมด้วยวิถีความรุนแรง(สงคราม:ยึดครอง) จนกระทั่งกลายเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยอย่างทุกวันนี้
หลายครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมมลายูมาโดยตลอด จนยากที่จะลืมเลือน ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ ท่ามกลางความหวาดกลัวจากอำนาจรัฐ และทุกครั้งที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับบุคคลที่มีบทบาททางสังคม มักจะถูกบันทึกลงในความทรงจำแห่งความขืนข่มและความเจ็บปวด และได้กลายมาเป็นฉนวนเหตุของความโกรธแค้นมาโดยตลอด
ชีวิตชาวมลายูปาตานีมักจะตกเป็นเป้าจับตามองของทางราชการมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นนักอาสาหรืออาสาสมัครที่ทำงานเพื่อสังคม ที่ทำงานทางด้านการปลูกฝั่งคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กๆ และหนุ่มสาวปัญญาชน บุคคลดังกล่าวมักจะถูกเพ่งมองจากมือที่มองไม่เห็น ทุกการเคลื่อนไหวมักจะอยู่ในสายตาของผู้ปกครองทุกฝีก้าว ไม่ว่าจะเป็นบาบอหรือโต๊ครู อุสตาซ แม้กระทั่งครูตาดีกาก็ไม่เว้น
ชีวิตของบุคคลเหล่านั้นมักจะมีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจเข้ามาเยือนตัวเองได้ทุกขณะ อย่างน้อยก็เป็นภัยทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์การลอบทำร้ายครูสอนศาสนา สังคมในพื้นที่มักจะเกิดคำถามโดยปริยาย ว่าฝ่ายที่กระทำนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปได้นอกจากเป็นฝีมือของผู้ประสงค์ร้ายเท่านั้น
จากกรณีที่ในช่วงหลังมานี้ ครูตาดีกามักจะตกเป็นเป้ากระสุนจากฝ่ายที่ไม่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ บุคคลที่อยู่ในหมายตามักจะถูกปลิดชีพอย่างเหี้ยมโหด และบางคนก็เคยข้องเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ที่ถูกศาลยกฟ้องอันเนื่องมาจากการขาดพยานหลักฐานที่เอาผิดได้ ซึ่งสังคมในพื้นที่เองก็ยังคงมีความศรัทธาต่อระบบความยุติธรรมของรัฐ จะเห็นได้จากการที่หลายๆ กรณีของคดีความมั่นคง กว่า 60-70 % จะถูกยกฟ้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าศาลนั้นยังมีความยุติธรรมอยู่ ว่าไปตามพยานหลักฐานที่มี
แต่สังคมยังไม่มั่นใจว่าจะมีหลักประกันในความปลอดภัยของตนหรือไม่ หลังจากที่กระบวนการยุติธรรมได้พิจารณาตัดสินไปตามขั้นตอนของกฏหมายแล้ว เพราะหลายกรณีบุคคลที่ศาลยกฟ้องมักจะถูกพิพากษาโดยศาลเตี้ยตามมาทีหลัง โดยยากที่จะทำการตรวจสอบได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในกรอบตามกระบวนการยุติธรรมของกฏหมาย
ล่าสุดจากกรณีที่ได้มีคนร้ายดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นครูสอนตาดีกาถึงแก่ความตาย ยิ่งได้ตอกย้ำถึงความอยุติธรรมที่แฝงอยู่เบื้องหลังของความยุติธรรม
หากยังคงเกิดเหตุเช่นนี้อยู่อีก สันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้คงยังอีกไกล ตราบใดที่ระบบความยุติธรรมไม่สามารถที่จะคุ้มครองชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้และศาลเตี้ยยังคงมีบทบาทเหนือกฏหมายของบ้านเมืองเช่นนี้ ตราบนั้นสันติสุขและสันติภาพที่ปาตานีจะยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แม้ว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะเดินหน้าไปในทางที่ดีก็ตาม