เสวนา: สื่อกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ
นวลน้อย ธรรมเสถียร
เมื่อรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงกับบีอาร์เอ็นว่าจะเริ่มพบปะพูดคุยเพื่อเดินหน้าไปสู่กระบวนการแสวงหาสันติภาพเมื่อ 23 กพ.2556 ที่ผ่านมา โลกของการรายงานข่าวสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เพราะการนั่งโต๊ะเจรจากับบีอาร์เอ็นหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานะของขบวนการที่ต่อต้านรัฐบาลและเท่ากับยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องของการเมือง
ในขณะที่ภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรต่างๆต่างตื่นตัวแสวงหาข่าวสารและหาทางเข้าไปมีส่วนร่วม เสียงบ่นเรื่องสื่อกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพก็เริ่มดังขึ้นพร้อมๆกับที่มีการทำข้อตกลงที่จะพบปะพูดคุยระหว่างคู่ความขัดแย้ง เสียงบ่นที่ว่า มีตั้งแต่เรื่องว่าการรายงานข่าวเรื่องการพบปะพูดคุยเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง บ้างก็ว่าสื่อไม่มีความรู้ ไม่อาจตอบสนองโจทก์จากสถานการณ์ใหม่นี้ได้
การเสวนาเรื่องสื่อกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพเมื่อ 17 มิ.ย. เป็นความพยายามของคนในวงการสื่อในพื้นที่ที่จะมองหาและทำความเข้าใจกับข้อบกพร่องในการทำงานของตนเองพร้อมทั้งหาวิธีการปรับตัวร่วมกันเพื่อขานรับภารกิจใหม่ที่เป็นความท้าทายอย่างสำคัญของพวกเขา
กลุ่มมีเดียอินไซท์เอ้าท์ จับมือกับกลุ่มเอฟทีมีเดียพร้อมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ร่วมกันจัดวงเสวนาวงเล็กๆ ผู้เข้าร่วมวงพูดคุยวันนั้นประกอบด้วย ติชิลา พุทธสาระพันธ์ จากทีวีสาธารณะไทยพีบีเอสซึ่งเกาะติดการรายงานข่าวภาคใต้มาหลายปีนับตั้งแต่ที่เหตุการณ์รุนแรงเริ่มปะทุขึ้นมาระลอกใหม่เมื่อปี 2547 รายที่สองคือมูฮำมัดอายุบ ปาทาน จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้หรือ Deep South Watch ในอดีตเขาเป็นบรรณาธิการข่าวให้กับศูนย์ข่าวอิศราสมัยที่ยังมีแต่โต๊ะข่าวภาคใต้ และมีบทบาทในเรื่องการผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพมาโดยตลอด ถัดมาคือแวหามะ แวกือจิก หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันมีเดียสลาตัน สื่อในพื้นที่ที่เริ่มมีบทบาทน่าจับตามองในฐานะที่นำเสนอเรื่องราวของการเคลื่อนไหวบนโต๊ะเจรจาอย่างเข้มข้นผ่านรายการ “โลกวันนี้” ที่เป็นการเปิดสายโฟนอินสัปดาห์ละห้าวัน รายสุดท้ายคือผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของผลงานการวิจัยดีเด่นในเรื่องของบทบาทสื่อกับสันติภาพ
การเสวนาวงเล็กที่ดำเนินไปท่ามกลางผู้ฟังประมาณสามสิบคนได้รับการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุร่วมด้วยช่วยกันมีเดียสลาตันที่ออกอากาศพร้อมกันในสามจังหวัดคือปัตตานี ยะลาและนราธิวาสเช่นเดียวกันกับทางอินเตอร์เนท
เป็นที่รู้กันว่า หลังการพูดคุยหนสุดท้าย ฮัสซัน ตอยิบได้พบปะกับนักข่าวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในนั้นไม่มีนักข่าวไทยอยู่ด้วย
นอกเหนือจากการที่บีอาร์เอ็นเลือกที่จะสื่อสารผ่านยูทูป ติชิลาชี้ว่านี่เป็นผลของการที่คู่ความขัดแย้งไม่ไว้ใจสื่อ
นอกจากนี้ติชิลาตั้งข้อสังเกตว่า หากจะมีองค์กรใดจัดอบรมหรือให้ความรู้หรือแม้แต่จัดทำหนังสือคู่มือขึ้นมาก็จะเป็นเรื่องดี แต่จะมีอีกปัญหาหนึ่งคือ อาจจะยากที่สื่อจะแสวงหาความรู้นั้น เพราะส่วนใหญ่สื่อจะเกรงว่าการทำข่าวของตนจะกลายเป็นการ “อวย” หรือประชาสัมพันธ์ให้กับกระบวนการสันติภาพ ทำให้ความคิดที่ว่าสื่อควรจะช่วยทำหน้าที่อุดรอยรั่วที่จะทำให้กระบวนการล่มนั้นเป็นเรื่องที่เกิดยาก
อายุบให้ความเห็นว่าการนำเสนอข่าวที่ผู้สื่อข่าวหรือสื่อเองไม่เข้าใจบริบทจะทำให้ตัวเองกลายเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ และได้หยิบยกรายละเอียดบางส่วนจากข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่มีต่อสื่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่หรือ road mapที่นำเสนอต่อทุกฝ่ายทั้งรัฐ บีอาร์เอ็น และภาคประชาสังคมเอง ในโรดแมปนั้นมีข้อเสนอให้สื่อต้องแสวงหาองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เช่นในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อันเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็น เพื่อพัฒนาทักษะในการให้ความรู้ต่อสาธารณะและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ประการถัดมาคือให้สื่อรายงานข่าวให้สอดรับกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งอายุบชี้ว่าเรื่องนี้อาจจะดึงนักวิชาการหรือผู้รู้ช่วยสนับสนุนเช่นทำคู่มือหรืออย่างอื่นๆที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ข้อเสนอประการที่สามคือให้สื่อเป็นพื้นที่ของการพูดคุยของทุกฝ่ายและอย่างหลากหลาย กล่าวคือนำเสนอข้อเสนอจากคนทุกกลุ่มไม่ใช่แค่ระหว่างรัฐกับบีอาร์เอ็น ดึงเนื้อหาของการพูดคุยออกสู่สาธารณะและกระตุ้นให้เกิดการสนทนาในสังคมของคนทุกฝ่ายรวมทั้งคนที่เห็นต่าง และต้อง “ทะลวงข้อจำกัดบางเรื่อง” ออกไป
อายุบยังหยิบยกเรื่องของการให้ความสำคัญกับความเป็น “มนุษย์” ของฝ่ายต่างๆในความขัดแย้งมานำเสนอบ้างไม่ใช่เน้นเฉพาะด้านการทหารหรือการใช้กำลังประการเดียว ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น “ถ้าถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ออกมาจะได้ไม่เกิดการเหมารวม เพื่อจะได้ขยับเรื่องความคิดสุดโต่ง”
อายุบย้ำในเรื่องของการทบทวนเจตนาของการทำรายงานของสื่อว่าจะต้องเน้นที่ “เพื่อให้อยู่ได้” การรายงานข่าวสันติภาพต้องใช้การสื่อสารสร้างพื้นที่ทางการเมือง หากสร้างเวทีให้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายเขาเชื่อว่าในที่สุดข้อเสนอจะปรากฏออกมาเอง ที่สำคัญคือข้อเสนอนั้นจะต้องเป็นผลิตผลของการสนทนาที่หลากหลายจึงจะได้รับการยอมรับ
“เราอาจหาญยังไงถึงได้ทำ” แวหามะพูดถึงการจัดรายการของตัวเองว่า อันที่จริงแล้วเขาก็กลัวไม่แพ้คนอื่นๆเพราะรู้ว่าสื่อในพื้นที่ถูกจับตามองทุกฝีก้าวและจากทั้งสองฝ่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะไม่พอใจหากนำเสนออย่างที่พวกเขามองว่าล้ำเส้น แต่ฝ่ายขบวนการก็จะไม่ชอบใจเช่นเดียวกัน “เพราะในพื้นที่นี้มีกฎหมายพิเศษสองฉบับ ฉบับหนึ่งคือพรก.ฉุกเฉินของรัฐบาลไทย อีกฉบับคือของบีอาร์เอ็น”
แวหามะระบุว่า สองครั้งแรกที่จัดในเรื่องหัวข้อเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวพูดคุยของรัฐบาลและบีอาร์เอ็น ชาวบ้านที่โทรศัพท์เข้าไปในรายการค่อนข้างใช้คำพูดในการแสดงออกที่ถือว่า “แรง” แต่ในความเห็นของเขาที่เป็นผู้จัดมองว่า ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมองว่าการพูดคุยกันของสองฝ่ายมีเพียงเนื้อหาเรื่องเดียวคือในเรื่องของ “เอกราช” ขณะที่รายการก็พยายามที่จะสร้างความเข้าใจ ด้วยการนำผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพเข้าไปร่วมวงพูดคุยหรือตอบคำถามต่างๆ
อาจารย์ วลักษณ์กมลชี้ว่าการทำงานของสื่อที่ไปเน้นการรายงานที่เหตุการณ์ เช่นการพบปะพูดคุยv ทำให้เกิดอาการเร่งรัด และที่สำคัญทำให้ความสนใจเน้นไปที่เหตุการณ์ย่อยๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่มีธรรมชาติอันซับซ้อนและต้องใช้เวลา ทำให้เกิดการเน้นที่ผิดจุดและประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของกระบวนการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสั้นๆและเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆในตัวกระบวนการที่ยาวนาน
นอกจากนั้นการที่สื่อเน้นคุณค่าข่าวแบบดั้งเดิมที่เน้นการรายงานจุดที่เป็นปัญหา ความขัดแย้ง หรือแม้แต่การเน้นในเรื่องความเร้าอารมณ์ การมองคู่เจรจาในนัยแบบเก่าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย รวมทั้งการพยายามเปิดเรื่องราวเบื้องหลังการต่อรองที่ทำให้เห็นว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังเพลี่ยงพล้ำทำให้ผู้สนับสนุนไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าฝ่ายตนอาจแพ้ได้ ทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพจนอาจทำให้สื่อไม่สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้สนับสนุนได้
คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานีเสนอว่า สื่อควรจะมีระบบจัดการกับข่าวกระบวนการสันติภาพโดยมองอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ แต่ละขั้นตอนของกระบวนการสื่อต้องมีแผนว่าในการนำเสนอรายงาน เช่นก่อนหน้าที่จะเกิดกระบวนการสันติภาพก็ควรจะมีวิธีการจัดการการนำเสนอข่าวความรุนแรงว่าควรเสนออย่างไรเป็นต้น
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเวบไซท์ของ Media Inside Out ที่นี่