Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

 

แถลงการณ์ร่วม
มูลนิธผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิม
การสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นหนทางแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ
กรณีแถลงข่าวเรื่องมอบตัวและการออกหมายจับพรก.ฉุกเฉิน

                กรณีมีการเผยแพร่ภาพข่าวทางโทรทัศน์ รวมทั้งตัวอักษรวิ่งบนหน้าจอ และข่าวเผยแพร่ทางอินเตอร์เนท เกี่ยวกับการมอบตัวของผู้ต้องหาตามหมายจับพรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ 2552 เกี่ยวกับนายมุสะตอปากามา สาและ  ซึ่งปรากฎว่ามีข้อมูลที่บิดเบือนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ อันสร้างความเสียหายเสื่อมเสียให้กับผู้ถูกกล่าวหา และสร้างความเสียหายให้กับความเชื่อมั่นในนโยบายนำการเมืองนำการทหารของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่   อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับองค์กรภาคประชาชนที่พยายามจะสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างรัฐกับประชาชน   โดยเฉพาะกับเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจับกุม ฟ้องร้อง ดำเนินคดีต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดอันเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงฯ

                ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิมขอชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกรณีนายมุสะตอปากามา สาและเพิ่มเติมดังนี้

                1. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากนายมุสตอปากามา  สาและในการประสานงานเข้ามอบตัวเมื่อได้รับหนังสือเรื่อง “ให้มามอบตัวสู้คดี” ออกโดยสถานีตำรวจภูธร โคกโพธิ์  จังหวัดปัตตานี ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

                2. วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552  ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิมได้ขอนำนายมุสตอปากามา  สาและเข้าพบเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจฉก. 24 ค่ายวัดช้างไห้  โดยได้ข้อสรุปจากการพูดคุยร่วมกันว่าขอให้นายมุสะตอปากามา  สาและมาให้ข้อมูลในค่ายทหารแห่งหนึ่งเป็นเวลา   7 วัน และจะดำเนินการประสานเรื่องให้มีการประกันตัวที่สภ.โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

                3. วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552 ทางญาติได้ประสานว่านายมุสะตอปากามา สาและจะได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์  โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความได้ขอความร่วมมือมิให้ดำเนินการแถลงข่าวฯ เพราะเกรงว่าข้อมูลที่ปรากฎในสื่อจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและอาจเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง  และทำให้การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อการมอบตัวดังกล่าวไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป  ซึ่งได้รับคำยืนยันจากผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจฉก. 24 ค่ายวัดช้างไห้

                4. วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552 มีข่าวปรากฎผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง บางฉบับระบุว่า “แกนนำโจรใต้ถูกกดดันอย่างหนัก  โร่ออกมามอบตัวที่ปัตตานี”  ข้อเท็จจริงพบว่านายมุสะตอปากามา สาและไม่เคยได้รับทราบว่าตนเองมีหมายจับพรก.ฉุกเฉิน จนกระทั่งวันที่ 26 สิงหาคมพ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มีการออกหมายจับตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2551 และได้ประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาตลอดมา ไม่เคยหลบหนีการจับกุม และพบว่าข้อมูลในการออกหมายจับเป็นเพียงคำซัดทอดของผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่งเท่านั้น

                ด้วยเหตุนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเห็นว่า แม้ว่าการกระทำการแถลงข่าวในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก   แต่การกระทำครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นจริงว่า “นโยบายการเมืองนำการทหาร” ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ    การกระทำดังกล่าวของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงที่อาศัยสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงในการสร้างผลงานรายวันท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงรายวันที่อำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมได้  อาจเป็นการสร้างความเชื่อมั่นรายวันให้กับสังคมไทยที่ห่างไกลกับข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่    แต่ในทางกลับกันเป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนในพื้นที่กับรัฐให้มากยิ่งขึ้น 

                ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิมมีข้อเสนอแนะในการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นหนทางแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ดังนี้

                1. ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากพรก.ฉุกเฉินฉบับนี้มีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องการออกหมายจับ การควบคุมตัว  การซักถาม ที่ขัดต่อหลักนิติธรรม  เช่น มีคำสั่งศาลฉบับหนึ่ง ระบุว่า “เรื่องศูนย์ซักถามของทหารและตำรวจภายใต้กฎหมายพิเศษ   ในระบบของศูนย์ซักถามนั้น เป็นการสอบข้อเท็จจริงในระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับจำเลย  จำเลยไม่มีโอกาสที่จะแต่งตั้งทนายความเข้ามาดำเนินคดี ไม่มีสิทธิให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน ฉะนั้น ระบบการสอบสวนที่ยังขาดความโปร่งใส ไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยอย่างหลักสากล จึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โจทก์จึงต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ”  อีกทั้งตลอดระยะเวลา 4 ปี ฝ่ายความมั่นคงพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้สร้างความเป็นธรรมและช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงรายวันได้

                2. ขอให้มีการยุติการใช้และยกเลิกหมายจับพรก.ฉุกเฉินที่ออกโดยหน่วยงานความมั่นคงในอดีตทั้งหมดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548-เดือนกันยายน พ.ศ. 2552   เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมคืนกลับมา และทบทวนระเบียบ กฎเกณฑ์การออกหมายจับพรก. ฉุกเฉิน  ถ้ายังมีผลบังคับใช้

                3. ขอให้หน่วยงานความมั่นคงเคารพต่อการตัดสินใจของผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงฯ ที่ประสงค์จะมอบตัวเพื่อสู้คดี   โดยให้ความมั่นใจว่าเจ้าพนักงานของรัฐในทุกภาคส่วนจะให้ความเป็นธรรม อำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด    ไม่เอารัดเอาเปรียบกันในเชิงการให้ข่าวสารและการกล่าวหาสร้างความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่บุคคลหรือชุมชนโดยทางสื่อมวลชนใดๆ   ทั้งนี้เพื่อให้แนวทางสันติวิธีและแนวทางกฎหมายยังคงเป็นทางเลือกระดับแรกของผู้ถูกกล่าวหาคดีความมั่นคง  แทนการหลบหนี  การปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม  หรือการถูกชักจูงไปสู่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ