Skip to main content

ฟารีดา ขจัดมาร

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘วารสารประวัติศาสตร์’ ฉบับปี 2556 ข้อเขียนนี้เป็นตอนสุดท้ายจากทั้งหมดสองตอนจบ คลิกอ่านตอนแรก ที่นี่

 

 

3. ปัญญาชนมุสลิมอินโดนีเซียร่วมสมัยกับการผสานคุณค่าอิสลามกับรัฐ

 พัฒนาการของแนวทางอิสลามการเมืองใหม่ที่แตกต่างจากในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ปัญญาชนมุสลิมรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรมต่างก็มีความสนใจเรื่องของศาสนาและการฟื้นฟูศาสนาอิสลามในบริบทของสังคมอินโดนีเซีย พวกเขาเชื่อว่าคุณค่าของอิสลามไม่จำเป็นต้องมีการผสานกันเข้ากับรัฐ องค์กรทางการเมืองหรือแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีการแยกกันระหว่างศาสนากับการเมืองอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ในความเป็นจริงการนำรัฐและศาสนามาเทียบเคียงอย่างเท่าเทียมกัน นำไปสู่ความสับสนในเชิงโครงสร้างของรัฐและคุณค่าของอิสลาม[1]

แนวความคิดดังกล่าวเป็นการปฏิรูปอิสลามในยุคร่วมสมัยของกลุ่มปัญญาชนมุสลิมซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970  พวกเขาตระหนักรู้ความเป็นจริงของสังคมการเมืองและให้คุณค่ากับหลักการปัญจศีล พวกเขามีทัศนะว่าในความเป็นจริงแล้วอิสลามเน้นบทบาททางสังคมมากกว่าบทบาทที่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองหรือสถาบันทางการเมือง ดังนั้นไม่ว่าใครจะนำหลักการต่างๆ ไปใช้ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ทางศาสนา (อูลามา) หรือ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง การนำหลักการต่างๆของศาสนาอิสลามมาใช้ ต้องมีการไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน[2] 

กล่าวได้ว่าการก่อตัวของปัญญาชนมุสลิมสมัยใหม่นั้นเป็นการตรวจสอบการฟื้นฟูของศาสนาอิสลามและกฎหมายอิสลามใหม่จากหลักฐานทางคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษ[3] [วัจนะของนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.)] โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองว่าจริงหรือไม่ที่อิสลามมีการวางแนวทางชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือระบอบของการปกครอง เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอิสลามเผชิญหน้ากับประเด็นนี้มามากแล้วในประเทศโลกมุสลิม พวกเขาตอบโต้ข้อท้าทายในเรื่องนี้ว่าในความเป็นจริงแล้ว แนวความคิดของการมีรัฐอิสลาม (Dawlah Islamiyah) ไม่ได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นผลผลิตของโลกมุสลิมที่เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะต่อต้านการครอบงำของอาณานิคมตะวันตก[4] 

อย่างไรก็ตามอิสลามมีหลักการสำคัญบางประการที่เข้ามามีส่วนช่วยการบริหารงานของรัฐและแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องของการปกครอง เช่น การปรึกษาหารือ (Shura) หลักของความยุติธรรม (Adl) และ หลักความเท่าเทียมกัน (Musawah) ทั้งหมดสะท้อนแนวทางการบริหารบ้านเมืองในช่วงต้นของศาสนาอิสลามหรือในเวลาที่ท่านศาสดามีชีวิตอยู่ เรียกว่าเป็นรูปแบบการปกครองมะดีนะฮ์ (Mitsaq al Madinah) นั่นคือ การปกครองซึ่งมีกฎเกณฑ์ในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองในชุมชนความเชื่อที่หลากหลายอันประกอบไปด้วยชาวยิว มุสลิม และชนเผ่าต่างๆ เป็นชุมชนแห่งความเชื่อที่อยู่ร่วมกัน (อุมมะห์-Ummah)[5]

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาของอิสลามการเมืองในช่วงเวลานับจากการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการด้วยกัน ทั้งการแข่งขันภายในกลุ่มอิสลามการเมืองเองหรือการต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันทางการเมืองกับฝ่ายอุดมการณ์ทางการเมืองอื่นๆ เห็นได้จากการสถิติการเลือกตั้ง ค.ศ.1999 ที่ชาวอินโดนีเซียเลือกพรรคการเมืองอิสลามน้อยลงไปและการที่กลุ่มอิสลามการเมืองไม่ประสบความสำเร็จในการใช้อิสลามในเชิงสัญลักษณ์เพื่อที่จะดึงการสนับสนุนจากชาวมุสลิมอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามการที่ชาวมุสลิมในประเทศยังให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามก็ยังเป็นโอกาสให้กลุ่มอิสลามการเมืองต่างๆผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ

แม้การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่จะเป็นโอกาสให้ชาวอินโดนีเซียก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น กระนั้น การดำรงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธมุสลิม (Muslim Militia) บางส่วนยังคงท้าทายการดำรงอยู่ของอินโดนีเซียภายใต้หลักการปัญจศีล พวกเขาอ้างว่าระบบการปกครองในปัจจุบันมีความไม่เป็นธรรม ดังนั้นต้องการให้นำเอากฎหมายอิสลามมาใช้ปกครองประเทศ กลุ่มที่โดดเด่น คือ (กลุ่มลัสการ์ ญิฮาด(Laskar Jihad)พวกเขาได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ในช่วงเกิดความขัดแย้งระหว่างพลเรือนชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมในโมลุกกะ พวกเขาจึงระดมกำลังในการสู้รบเพื่อปกป้องชาวมุสลิมในนามของศาสนาโดยอ้างว่าเมื่อรัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องชาวมุสลิมที่นั่น  ความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ยังคงเป็นความท้าทายของอินโดนีเซียในการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย

 

4. ความท้าทายของกองกำลังมุสลิมนอกแบบ (Paramilitaries) ต่อหลักปัญจศีล

แม้การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่จะเป็นโอกาสให้ชาวอินโดนีเซียก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มีกลุ่มกองกำลังมุสลิมนอกแบบและกลุ่มมุสลิมนิยมแนวทางแบบฐานรากบางส่วนยังคงท้าทายการดำรงอยู่ของอินโดนีเซียภายใต้หลักการปัญจศีล พวกเขาเรียกร้องการใช้กฎหมายอิสลามที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษของการฟื้นฟูอิสลามทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1970  โดยมีการผลักดันให้มีการใช้กฎบัตรจาการ์ตา[6]เข้ามาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 1945[7] กลุ่มที่มีความโดดเด่น ได้แก่กลุ่ม FPI (Front Pembela Islam) กลุ่ม MMI (Majelis Mujahideen Indonesia) และ HTI (Hizbut Tahrir Indonesia) ที่ต่างเรียกร้องให้ชาวมุสลิมสนับสนุนการใช้กฎหมายอิสลามเพื่อที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียในปัจจุบัน นอกจากนี้พวกเขาตีความศาสนาเพื่อรับรองการใช้มาตรการที่รุนแรงในการโจมตีสถานบันเทิงต่างๆ ที่พวกเขาอ้างว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายและเป็นศัตรูของอิสลาม อาทิ คาเฟ่ ดิสโกเทค คาสิโนและสถานบริการทางเพศต่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอิสลามในฐานะเป็นธรรมนูญสูงสุดเนื่องจากพวกเขามองว่าระบบการปกครองในรูปแบบปัจจุบันเป็นรูปแบบที่ไม่ชอบธรรม และเต็มไปด้วยการทุจริต พวกเขาจึงปฏิเสธการประนีประนอมกับรัฐบาลและการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง กระนั้นแนวทางของกลุ่มกองกำลังนอกแบบก็ค่อนข้างมีความแตกต่างกันไป[8]

 

5.การฟื้นฟูการใช้กฎหมายอิสลามในระดับท้องถิ่น

กระแสของการปฏิรูปประเทศ (Reformasi) ก็เป็นโอกาสให้ประเด็นกฎหมายอิสลามถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้งหนึ่ง โดยกลุ่มเคลื่อนไหวมุสลิมต่างๆ มีความต้องการในการนำกฎหมายอิสลามมาใช้ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นจากการที่พรรคการเมืองอิสลามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PPP, PBB ,PNU (Partai Nahdlatul Ummat) ในช่วงประธานาธิบดี บาชารุดดีน ยูซุฟ ฮาร์บีบี (1998-1999) ต่างก็เห็นด้วยในการฟื้นกฎบัตรจาการ์ตาที่ประกอบไปด้วยถ้อยคำเจ็ดคำ คือ Dengan kewajiban menjalankan syari’at Islam bagi pemeluk pemeluknya (แปลความได้ว่า “การบังคับให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามปฏิบัติตามกฎหมายชารีอะฮ์”) แทนที่รัฐธรรมนูญมาตราที่ 29 ซึ่งมีข้อความว่า “ รัฐควรจะต้องมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว” ขณะที่พรรคการเมือง PAN และ PKB ที่สังกัดองค์กรมุสลิมใหญ่ทั้งสององค์กร ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมด้วยรูปแบบดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงและนำไปสู่ความล้มเหลวในการบรรจุข้อบังคับของการใช้กฎหมายอิสลามเข้ามาไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ[9]

อย่างไรก็ตามแรงบันดาลใจของการนำชารีอะฮ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัดหรือตำบล ควบคู่ไปกับความต้องการรูปแบบการปกครองตนเองและระบบการเลือกตั้งคณะผู้บริหารส่วนภูมิภาคทางตรง (Pilkada) ซึ่งนำมาสู่การออกกฎเกณฑ์บังคับใช้ชารีอะฮ์ในส่วนภูมิภาค (Perda-syari’ah) ในหลายจังหวัดของอินโดนีเซียอาทิ อาเจะห์ สุมาตราตะวันตก เรียว บันเตน ชวาตะวันตก ชวาตะวันออก กะลิมันตันใต้ สุลาเวสีใต้ โมลุกกะเหนือ เป็นต้น กล่าวได้ว่าการบังคับใช้ชารีอะฮ์ในส่วนภูมิภาคถือว่าเป็นทิศทางใหม่ของการเมืองอิสลามในอินโดนีเซียที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์[10]

 

สรุป

โดยสรุป หลังจากการล่มสลายหลังยุคระเบียบใหม่ กล่าวได้ว่าบทบาทกลุ่มอิสลามการเมืองต่างๆเต็มไปด้วยพลวัตและการแข่งขันในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคประชาธิปไตย การปรากฏขึ้นของกลุ่มอิสลามการเมืองหลังการล่มสลายของซูฮาร์โตมีความหลากหลายมากและสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มคือกลุ่มที่ 1กลุ่มอิสลามการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองซึ่งมีความหลากหลายและผสมผสานทางอุดมการณ์ระหว่างอุดมการณ์อิสลาม ชาตินิยมและโลกวิสัย  กลุ่มที่ 2 กลุ่มองค์กรมุสลิมสายกลางและกลุ่มปัญญาชนมุสลิมและที่ทำงานในระดับมวลชน กลุ่มที่ 3 กลุ่มกองกำลังมุสลิมนอกแบบที่ยึดเอาอุดมการณ์อิสลามเป็นหลัก เมื่อกล่าวถึงพลวัตของกลุ่มอิสลามการเมือง ความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มอิสลามการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดการทบทวนกระแสของการปฏิรูปอิสลามการเมืองโดยกลุ่มปัญญาชนมุสลิมที่มีการวิจารณ์การรับเอาแนวทางอิสลามเข้ามาใช้ในการเมือง นอกจากนี้ การปรากฏตัวของกลุ่มกองกำลังมุสลิมนอกแบบต่างๆ ก็เป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลในการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่ขึ้นมาท้าทายหลักการปัญจศีล โดยเรียกร้องการนำกฎหมายอิสลามในฐานะกฎหมายสูงสุดมาใช้ กระนั้นการนำกฎหมายอิสลามเข้ามาใช้ภายใต้การควบคุมของรัฐในระดับท้องถิ่นก็ยังคงเป็นสิ่งที่กลุ่มการเมืองมุสลิมในระดับชาติและระดับท้องถิ่นปรารถนามากกว่าความต้องการเปลี่ยนแปลงอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลาม

 

 

บรรณานุกรม

 

Ayoob, M. The many faces of political Islam: Religious and politics in the Muslim world. Singapore :                 NUS Press, 2008.

Effendy, B. Islam and the state in Indonesia.1. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies,     2003.

Hefner,W.R. Civil Islam: Muslim and democratization in Indonesia. New Jersey : Princeton University Press, 2000.

Huxley, T. Disintegrating Indonesia?: Implication for regional security. New York : Oxford University Press, 2002.

Mandaville ,P. Global political Islam. New York: Routledge, 2007.

Mietzner ,M. Military politics, Islam and the state in Indonesia: From turbulent transition to  democratic consolidation. 1. Singapore : ISEAS Publication, 2009.

Tanuwidjaja ,S. Political Islam and Islamic Parties in Indonesia critically assessing the evidence of Islam's political decline. Contemporary Southeast Asia: A journal of International and Srategic Affairs  32 (April 2010): pp.29-49.

 

 


[1]Bahtiar Effendy,  Islam and the state in Indonesia, pp.103-104.

[2] Ibid.,pp.104-105.

[3] กฎหมายอิสลามมีรากฐานมาจากตัวบทของคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของศาสดา มูฮัมหมัด (ซ.ล.)ที่มีเนื้อหา 2 ประเภท หนึ่งคือเนื้อหาที่เป็นรากฐานหรือหลักใหญ่ สองคือเนื้อหาที่มีความหมายหลายนัย ซึ่งส่วนนี้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับมีการการตีความหรือวินิจฉัย นำมาสู่การเกิดสำนักกฎหมายอิสลามหลายสำนักที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ที่แตกต่างกันเพื่อสนองตอบต่อสถานการณ์ที่มีปัจจัยแตกต่างกันออกไป นักปราชญ์อิสลาม ได้แบ่งเป็นนักคิดใหญ่ ๆ ทางกฎหมายอิสลาม 2 แนวทาง คือ ตามแนวทางซุนนีย์ และชีอะฮ์ สำหรับแนวทางซุนนีย์ที่ชาวมุสลิมส่วนมากนับถือ แบ่งออกเป็น  4 สำนักกฎหมายคือ หะนะฟีย์ มาลีกีย์ ชาฟีอีย์ และ ฮัมบาลีย์

[4] Ibid.                                                                                                                                       

[5] Ibid.,p.107.

[6] ถ้อยคำส่วนหนึ่งที่กำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ 1945 โดยให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามสำนึกถึงความเป็นมุสลิมและปฏิบัติตามกฎหมายชาริอะห์

[7] Tim Huxley,  Disintegrating Indonesia?: Implication for regional security, (New York: Oxford University Press, 2002), p.66.

[8]  Hoorhaidi Hasan , Islamic militancy ,sharia, and democratic consolidation in post-Suharto Indonesia.[On line], 23 October 2007. Available  from http://hdl/handle.net/10220/4399

[9] Ibid.

[10] Ibid.