ในทุกๆความขัดแย้ง บทบาทของผู้หญิงที่แสดงออกมีหลากหลาย จากเอกสารผู้หญิงและความขัดแย้ง (Women and Conflict) (USAID,2007) ได้ระบุว่าบทบาทของผู้หญิงในภาวะขัดแย้งที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ความขัดแย้งสามารถแสดงออกได้ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Agents of changes) เนื่องด้วยผลจากสงคราม ผู้ได้รับผลกระทบส่วนมาก คือ ผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงจึงแสดงออกด้วยการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพโดยปริยาย ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็มักจะมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อสันติภาพ ซึ่งต้องเป็นตัวแทนที่สามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นได้อย่างรอบด้าน และในทุกๆระดับของการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น กรณีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้มีพรรคการเมืองชื่อ “ชนะด้วยผู้หญิง” (Win with Women) ได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นในกระบวนการทางการเมืองด้วย หรือกรณีของความพยายามเพื่อสันติภาพของผู้หญิงในเครือข่ายผู้หญิงมาโนริเวอร์เพื่อสันติภาพ (Mano River Women’s Peace Network) ซึ่งผู้หญิงจาก 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก (ประเทศไลบิเรีย ประเทศเซียร์ราลีโอนและประเทศกินี) ได้มีส่วนร่วมและส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ออกมาจากกระบวนการสันติภาพได้ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามในหลายๆกรณี ผู้หญิงก็มักจะถูกลืมและกีดกันออกจากการเจรจา อีกทั้งการทำงานของผู้หญิงเพื่อสังคมก็มักจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ได้มีการบันทึกและการรายงานใดๆ
2. เป็นผู้ต่อสู้ที่แข็งขัน บางครั้งผู้หญิงจะมีส่วนในกองกำลังต่อสู้ ผู้หญิงจะถือว่าเป็นผู้ตามเหล่าผู้ต่อสู้ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือแต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ถืออาวุธ เป็นเสมือนเกราะป้องกันของผู้ต่อสู้ หรือกระทั่งเป็นผู้ต่อสู้ที่แข็งขัน ผู้หญิงอาจแสดงบทบาทอื่นในการสนับสนุนไปพร้อมๆกับการต่อสู้ เช่น การทำอาหาร ดูแลรักษาความสะอาด คนแบกของ ผู้รักษาความปลอดภัย หรือแม้แต่การเป็นคู่นอน ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็น เช่น กรณีความขัดแย้งในอิริเทรีย โมซัมบิค ซิมบับเว เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา เนปาล เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย อูกันดาและรวันดา
3. กลายเป็นเหยื่อจากสงคราม ซึ่งต้องการการให้ความช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพ นอกจากนั้น คือเรื่องของอาหารและที่พัก รวมไปถึงความต้องการในเรื่องอาชีพและรายได้ โดยเฉพาะหญิงหม้ายที่แต่เดิมไม่สามารถเลี้ยงดูและมีรายได้เองในบางสังคมที่วัฒนธรรมเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงในการทำงาน เช่นในประเทศอัฟกานิสถาน ในขณะเดียวกันด้วยการศึกษาที่ต่ำ รวมถึงภาระในการดูแลลูก ทำให้ผู้หญิงมักจะไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ทางการงานที่มั่นคง
4. กลายเป็นผู้ที่ทีภาระรับผิดชอบและจำต้องพัฒนาตนเอง เช่น เมื่อความรับผิดชอบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิงเพิ่มขึ้น ผู้หญิงก็มักจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเพื่อเสริมสร้างอาชีพของตัวเอง ในแง่นี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองของผู้หญิงและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงการแบ่งงานบนฐานของเพศในระยะยาว
5. เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้หญิง ในหลายประเทศผู้หญิงที่ขับเคลื่อนโดยปัจเจกอาจไม่มีผลมากพอต่อการเปลี่ยนแปลง เครือข่ายผู้หญิงอาจเริ่มจากกลุ่มผู้หญิงเล็กๆไม่กี่คนที่รวมตัวกัน บางครั้งเป้าหมายเดียวอาจเป็นความพยายามในการหนทางที่ดีขึ้นเพื่อมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่เวลาผ่านไปอาจกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลจริงต่อกระบวนการสันติภาพ เครือข่ายอาจมีการขยายไปนอกเหนือจากขอบเขตด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมากแล้วผู้นำมักจะเกิดจากเครือข่ายและจะกลายเป็นต้นแบบสำหรับผู้หญิงคนอื่นต่อไป องค์กรด้านผู้หญิงสามารถมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นจนถึงกลุ่มทางศาสนาหรือกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มชาวนาผู้หญิง กลุ่มองค์กรเหล่านี้จะคอยช่วยเหลือผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก การอบรมทักษะ การเรียนการสอนและการอ่านเขียน และกิจกรรมที่เสริมสร้างรายได้ เป็นต้น เครือข่ายลักษณะนี้เป็นวิธีการที่สำคัญในการค้นหาผลประโยชน์และความต้องการของผู้หญิง และพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้
นอกจากนั้น กลุ่มผู้หญิงที่เข้มแข็งยังสามารถมีบทบาทในการกดดันให้เกิดการพูดคุยสันติภาพได้ เช่น ในประเทศโคลัมเบีย ช่วงปี 1980 และ 1990 กลุ่มผู้หญิงมีบทบาทในการกดดันรัฐบาลโคลัมเบียและกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติของโคลัมเบีย (the Revolutionary Armed Forces of Columbia- FARC) ให้เข้ามามีส่วน ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพในปี 1992 แม้ว่าการพูดคุยจะล่มในปี 2002 แต่กลุ่มผู้หญิงยังคงพยายามที่จะสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ เช่น การประท้วงอย่างสันติเพื่อความยุติธรรมต่อผู้สูญหายและเหยื่อจากความขัดแย้ง และการชี้ให้ประชาชนตระหนักถึงผลของสงคราม นอกจากนั้นยังส่งเสริมสันติภาพด้วยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการเป็นเสมือนผู้ไกล่เกลี่ยในการแก้ไขความขัดแย้งระดับท้องถิ่น และมีความพยายามในการสร้าง “เขตสันติภาพ” (Peace Zones) เพื่อให้สมาชิกในชุมชนสามารถทำงานและอยู่ได้อย่างปลอดภัย
ในประเทศเนปาล กลุ่มผู้หญิงชันติมาลิกา (Shantimalika) เป็นกลุ่มที่ให้เสียงทางเลือก ต่อการชุมนุมอย่างรุนแรงที่ปรากฏช่วงต้นปี 2006 โดยการจัดการประท้วง อย่างสันติเพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธี โดยมองว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะแสดงความเห็นออกมาให้ได้ยิน หรือในประเทศศรีลังกา เมื่อผู้หญิงก็เป็นผู้ทำงานในการส่งสารจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (the Liberation Tigers of Tamil Eelam- LTTE) ไปยังรัฐบาลศรีลังกาในขณะการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เมื่อกลุ่ม LTTE ปฏิเสธที่จะพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาล และได้เกิดกลุ่ม “การเคลื่อนไหวของแม่เพื่อสันติภาพ” (Mobilizing Mothers for Peace) เพื่อเรียกร้องให้ทั้งรัฐและกลุ่ม LTTE ยุติ ความรุนแรงและดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างสันติภาพแทน
อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศ ก็ย่อมมีวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะ ซึ่งมองบทบาทของผู้หญิงในลักษณะที่ต่างกันออกไป รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สถานะทางกฎหมายของผู้หญิง เป็นต้น ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ กิจกรรมที่ผู้หญิงจะสามารถปฏิบัติได้ต่อความพยายามในการสร้างสันติภาพต้องอยู่บนฐานคิดข้างต้น
นอกจากนั้น บทบาทของผู้หญิงยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสันติภาพ ซึ่งองค์การสหประชาชาติเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง หรือ UN Women (UN Women, 2012) ได้ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่มี อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women) เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ตลอดจนให้สิทธิแก่สตรีที่จะได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐเสมอกับบุรุษ และประกาศสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ (the UN General Assembly’s Declaration on the Participation of Women in Promoting International Peace and Cooperation) รวมไปถึงมติสมัชชาความมั่นคง 1325 ของสหประชาชาติว่าด้วย สตรี สันติภาพ และความมั่นคง (UN Security Council Resolution 1325 on Women, Peace and Security) ซึ่งระบุและสนับสนุนให้ ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพและความมั่นคง โดยมองว่า การที่ผู้หญิงมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจระหว่างกระบวนการสร้างสันติภาพก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเด็นการปกป้องผู้หญิงและเด็กซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรงอยู่บ่อยครั้งได้เข้าสู่การร่วมหาทางออกในการลดระดับของความรุนแรงเหล่านั้นลง ตลอดจนร่วมหาแนวทางที่ให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและหาข้อตกลงในการป้องกันการเหยียดหยามในความเป็นผู้หญิงที่อาจจะยังคงเกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งนั้นๆ (Hunts Alternatives Fund, 2004) อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของผู้หญิงต่อกระบวนการสันติภาพในระดับการเจรจาหลักยังปรากฏให้เห็นน้อย โดยจะเห็นได้จากงานศึกษาของ Escola de Cultura de Pau ในปี 2008 ที่ได้ศึกษาการเจรจาเพื่อสันติภาพจำนวน 33 ครั้ง พบเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งมีเพียง 11 คนจาก 280 คนที่เป็นผู้หญิง และพบว่าตัวแทนผู้เจรจาจากฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้หญิงมีประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าจำนวนตัวแทนจากกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ ในขณะที่งานศึกษาของ UN Women ซึ่งได้ศึกษา กระบวนการสันติภาพ 31 ครั้งที่สำคัญ ในช่วงปี 1992 ถึง 2011 พบว่า มีจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้ลงนาม 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้นำการไกล่เกลี่ย 2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นพยาน 3.7 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้เจรจาอีก 9 เปอร์เซ็นต์ ในการเจรจาที่ออสโลเรื่องของฟิลิปปินส์ในปี 2011 ถือว่าเป็นครั้งที่มีจำนวนผู้หญิงโดยประมาณที่มีส่วนในการเจรจามากที่สุด คือ มีผู้ลงนาม 33 เปอร์เซ็นต์ และผู้แทนที่เป็นผู้หญิง 35 เปอร์เซ็นต์
จากเอกสารของ UN Women ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่าในระหว่างกระบวนการเจรจา บทบาทของผู้หญิงที่สามารถกระทำได้ มีดังนี้คือ
- เป็นตัวแทนการเจรจาเพื่อเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง
- เป็นผู้ลงนาม
- เป็นพยาน
- เป็นตัวแทนของผู้หญิงจากภาคประชาสังคมในฐานะผู้สังเกตการณ์
- เคลื่อนไหวหรือจัดวงอภิปรายควบคู่ไป
- เป็นที่ปรึกษาในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้แก่ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้อำนวยการประชุม หรือตัวแทนผู้เข้าเจรจา
- เป็นสมาชิกของคณะกรรมการเฉพาะ หรือโต๊ะเจรจาที่แยกออกมา หรือกลุ่มทำงานในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้ว่าบทบาทของผู้หญิงจะไม่ใช่ส่วนที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามีส่วนต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การดำเนินบทบาทโดยธรรมชาติที่เป็นไปของผู้หญิง คือ แรงขับสำคัญที่เรียกร้องสู่สันติภาพ และจะเป็นตัวหนุนเสริมสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพต่อไป อย่างไรก็ดี สำหรับบทบาทของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้เองนั้น คงจะต้องหันมาวิเคราะห์และประเมินว่ามีแรงผลักมากน้อยเพียงใด และจะมีแนวทางใดที่ "ผู้หญิง" สามารถลุกขึ้นมาแล้วร่วมกันทลายกำแพงและม่านหมอกของความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่
เอกสารอ้างอิง:
Pablo Castillo Diaz (ed.). (2012). Women’s Participation in Peace Negotiations: Connections between Presence and Influence. (online) New York: UN Women. Available URL:http://www.unwomen.org/wp-content/uploads/2012/10/03A-Women-Peace-Neg.pdf
U.S. Agency for International Devolpment (USAID). (2007). Women&Conflict. (online) Available URL: http://pdf.usaid.gov/pdf_docs/PNADJ133.pdf
Jeanne Vickers. (1993). Women and War. New Jersey: Zed Books Ltd.