1 สิงหาคม 2556, 11.30 น.
4 เครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้มาเลเซียช่วยตรวจสอบและเร่งหามาตรการป้องกันการลอบสังหารพลเรือน ก่อนที่จะกระทบบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ตัวแทนของ 4 เครือข่ายในกลุ่มภาคประชาสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ของสถานกงศุลมาเลเซียในจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการลอบสังหารพลเรือนและกลุ่มผู้นำศาสนาหลายคนในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าการคลี่คลายความกังวลอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์เหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซียจะช่วยสร้างบรรยากาศของสันติภาพได้
4 กลุ่มจากภาคประชาสังคมที่ยื่นหนังสือในวันนี้ ประกอบไปด้วยเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ เครือข่ายครูตาดีกา เครือข่ายโต๊ะอีหม่าม และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
ตัวแทนของทั้งสี่กลุ่มขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาพลเรือนซึ่งเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการโจมตี และพลเรือนที่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมในพื้นที่ เช่น ครูตาดีกา และผู้นำศาสนา รวมไปถึงสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายหลายต่อหลายคน ได้ถูกลอบสังหารถี่ขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานีหรือกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่ 28กุมภาพันธุ์ 2556
กรณีตัวอย่างของการลอบสังหารก็คือ เหตุการณ์ลอบยิง อีหม่าม อิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 เหตุการณ์ลอบยิงนาย มะรอเซะ กะยียุ จนเสียขีวิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 และ กรณี ลอบยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ซึ่งทั้งคู่เป็นอดีตจำเลย และสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ครูตาดีกาถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตอีกสองรายคือ นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี ถูกลอบสังหารพร้อมลูกในครรภ์อายุ7เดือน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 และ นายมะยาฮารี อาลี ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556
ด้วยประสบการณ์ของการรับรู้ผ่านเหตุการณ์ในอดีต และ เหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้เกิดประวัติศาสตร์บาดแผลต่อประชาชนมลายูปาตานีเช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอปาแยร์ เหตุการณ์ปูโละปูโย เหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาในหลายๆที่ เหตุการณ์ลอบยิงผู้นำศาสนา เหตุการณ์ลอบยิงกลุ่มอดีตจำเลย และเหตุการณ์ลอบยิงครูตาดีกา ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนทั้งสี่กลุ่มมีความสงสัยและเคลือบแคลงใจต่อรัฐไทยและแนวร่วมแห่งชาติปาตานีในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม บุคคลกลุ่มหนึ่งที่ถูกลอบสังหาร คือกลุ่มอดีตจำเลยที่ได้ต่อสู้กับข้อกล่าวหาในระบบยุติธรรมจนศาลพิพากษายกฟ้อง หรือหลายรายที่กำลังอยู่ระหว่างการประกันตัว กรณีหลังนี้ได้ทำให้เกิดความกังขากันอย่างมากด้วยว่า การลอบสังหารหลายรายดังกล่าว จะเป็นผลของการตัดสินนอกระบบหรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่าระบบ “ศาลเตี้ย”
แม้ว่าที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายฯได้พยายามหลายครั้งเพื่อเรียกร้องต่อทางการไทยให้ตรวจสอบกรณีเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังถูกหวาดระแวง และเป็นที่จับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ เครือข่ายครูตาดีกา เครือข่ายโต๊ะอีหม่าม และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี ได้ “จัดตั้งกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพลเรือนถูกลอบสังหารท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ” ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยคลี่คลายความวิตกกังวลของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งของสาธารณชนทั่วไป เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้มีมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกว่ามีความปลอดภัยในพื้นที่ อันจะเป็นผลดีต่อการเจรจาดังกล่าว
รอชมคลิปได้ที่ youtube.com/WARTANImedia
จดหมายเปิดผนึกถึงกงสุลมาเลย์ ดาวน์โหลด
Open Letter to Malay Gov. Download