Skip to main content

 วันที่ 1 สิงหาคม 2556

 
คดีตากใบ
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ (ไม่รับคดี)
 
วันนี้ (1 สิงหาคม 2556)  เวลา 10.00 น. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีตากใบ  ในคดีหมายเลขดำที่ ษ.43/2552  หมายเลขแดงที่ ษ.42/2552  โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของนางสาวมัสตะ เจะอูมา กับพวกว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ คดีนี้นางสาวมัสตะกับพวกยื่นคำร้องอ้างว่า การพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสงขลาไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150  โดยมิได้มีคำสั่งถึงพฤติการณ์ที่ตายในการขนย้ายของเจ้าหน้าที่โดยการมัดมือไขว้หลัง นอนคว่ำหน้าและทับซ้อนกัน ซึ่งเป็นพฤติการณ์แห่งการตายที่แท้จริง อีกทั้งมิได้มีคำสั่งถึงคนทำร้ายให้ตาย และการเคลื่อนย้ายศพโดยไม่มีเหตุที่อ้างตามกฎหมาย และมีคำขอให้ศาลอาญาทำคำสั่งใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนความ   เห็นว่า ตามคำร้องของนางสาวมัสตะกับพวก เป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่าศาลจังหวัดสงขลาดำเนินการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาพยานหลักฐาน อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27  ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15  ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นหรือสั่งแก้ไขเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว  ดังนี้ นางสาวมัสตะกับพวก จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะมายื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ที่ศาลอาญาหาได้ไม่  นางสาวมัสตะกับพวก จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ที่ศาลอาญา  ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องนางสาวมัสตะกับพวกไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาฟังไม่ขึ้น    พิพากษายืน”
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2552 นางสาวมัสตะ เจะอูมา กับพวกรวม 34 คน ญาติของผู้ตายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาซึ่งมีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพระบุเพียงสาเหตุการตายว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่  และคำร้องดังกล่าวของญาติผู้ตายได้ขอให้ศาลอาญาพิจารณาทำคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่แท้จริงที่นำมาซึ่งความตาย ทั้งไม่ระบุว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย  ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม โดยบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลังและให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ หลายชั้น มีการทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าเมื่อศาลจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญารับคดีไว้และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น และผู้ร้องได้ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555