Skip to main content

 

 

 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าคำตัดสินศาลฎีกาของไทยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 แสดงให้เห็นว่า ทางการไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต 85 ศพที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่อำเภอตากใบได้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงอาวุธปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเจ็ดคน และอีก 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจหรือเพราะถูกกดทับเป็นเวลานานในรถทหาร ระหว่างการส่งตัวไปยังค่ายทหารเพื่อควบคุมตัว ทั้งยังมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมอีกประมาณ 1,200 คนในค่ายทหารเป็นเวลาหลายวัน โดยไม่ให้การรักษาพยาบาล ทั้ง ๆ ที่หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น โดยระบุว่า แม้จะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นแต่ก็ไม่อาจตำหนิเจ้าพนักงานได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ

 

อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคำสั่งศาลไม่กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน 85 คน ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปในลักษณะที่จงใจหรือโดยประมาท และด้วยเหตุดังกล่าวพวกเขาควรถูกนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของศาล ซึ่งครอบครัวของเหยื่อต้องรอคอยความยุติธรรมมา กว่าแปดปีแล้ว

 

 “การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นทั่วไปในไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ คำตัดสินของศาลในวันนี้ไม่ได้เป็นการประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทางการไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบ และจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ และต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ” อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว

 

ทางการไทยประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2548 และคณะรัฐมนตรีมีมติขยายการประกาศใช้อีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 พระราชกำหนดดังกล่าวป้องกันไม่ให้มีการนำตัวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ

 

“ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป การสร้างสันติสุขในพื้นที่ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาลงโทษ และต้องประกันว่าผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลไทยควรยกเลิกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก” อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ในปี 2552 ภายหลังจากศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งในการไต่สวนการตายกรณีการเสียชีวิตของบุคคล 78 คนที่อำเภอตากใบทางภาคใต้ ศาลระบุว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุรายละเอียดของพฤติการณ์การตายตามที่กฎหมายกำหนด ญาติของผู้เสียชีวิตจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตาย ต่อมาได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ

 

คำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ระบุว่า ญาติของผู้เสียหายควรส่งคำคัดค้านยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น  ไม่ใช่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ผลจากคำสั่งดังกล่าวคือการพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งระบุว่า การเสียชีวิตของบุคคล 78 คนเป็นผลมาจากการขาดอากาศหายใจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ