อิสมาอีล มูฮำหมัด ฮายีแวจิ
สำนักสื่อ Wartani
เครือข่ายคนทำงานเคียงข้างประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี ร้องเรียนมาเลเซียช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงและสร้างกลไกเพื่อป้องกันการถูกลอบสังหารให้กับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่ร้องเรียนกลไกรัฐไทยหลายครั้งแต่ล้มเหลว สรุปหลังการพูดคุยระหว่างไทย-บีอาร์เอ็น สมาชิกเครือข่ายอดีตจำเลยตกเป็นเหยื่อห้าราย ครูตาดีกาแจ้งครูชายไม่กล้าสอนแล้ว วันนี้ครูหญิงตกเป็นเหยื่ออีก สักวันคงไม่มีครูสอนศาสนาให้กับเด็กในพื้นที่
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมาทางเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) เครือข่ายครูตาดีกาชายแดนใต้เครือข่ายโต๊ะอีหม่ามชายแดนใต้ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และเครือข่ายนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ในนาม PERMAS ร่วมเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อกงสุลใหญ่ สถานกงสุลมาเลเซีย ณ จังหวัดสงขลา ประจำประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเดินทางมายื่นหนังสือกว่า 300 คน
การเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลมาเลเซียผ่านสถานกงสุลในครั้งนี้ คือเพื่อขอความช่วยเหลือให้ทางมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกและคนกลางในการพูดคุยสันติภาพระหว่าง “สภาความมั่นคงแห่งชาติของประเทศไทย (สมช.) และ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN)” ช่วยตรวจสอบและเร่งหามาตรการป้องกันการลอบสังหารพลเรือนภายใต้สภาวะการพูดคุยเพื่อสันติภาพและข้อตกลงลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนของทั้งสองฝ่าย
โดยเริ่มด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการมาในครั้งนี้ ต่อด้วยการร้องเพลงประสานเสียง อ่านจดหมายเปิดผนึกต่อหน้าสื่อสารมวลชน ตัวแทนทั้ง 5 เครือข่ายเข้าไปพูดคุยกับกงสุลใหญ่ในสำนักงาน และยื่นหนังสือให้กับกงสุลใหญ่หน้าสถานกงสุลมาเลเซียฯ พร้อมด้วยร้องตะโกนอย่างพร้อมเพรียงกันหลายๆครั้งด้วยคำว่า “Malaysia Tolong Kami !!!” แปลว่า “มาเลเซีย ช่วยเราด้วย !!!”
นายธรรมรัฐ อาลีลาเต๊ะ ตัวแทนเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) กล่าวว่า “เนื่องจากมาเลเซียเองเป็นถึงผู้อำนวยความสะดวก (Fasilitator) และเป็นคนกลางในครั้งนี้ เราจึงอยากขอความช่วยเหลือจากมาเลเซีย เพื่อกดดันและเรียนให้ผู้นำประเทศไทยทราบถึงชะตากรรมของพวกเราในพื้นที่วันนี้ว่าเป็นอย่างไร เพราะหลังจากมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อนของเราที่เป็นคณะกรรมการเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติถูกลอบสังหารไปแล้ว 2 คน”
นายธรรมรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความจริงทางเครือข่ายฯเคยยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับตัวแทนของรัฐบาลไทย ผ่าน ศอ.บต. ไปแล้ว แต่หลังจากที่ยื่นไปอาทิตย์หนึ่ง ผมกลับถูกจับไปขังในเรือนจำเป็นเวลา 1 อาทิตย์ โดยวันนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผมทำอะไรผิด การยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองของเรา หรือผู้ที่จะดูแลความสงบสุขให้กับพวกเรากลับถูกจับไปขังคุก อย่างนี้จะให้เราเชื่อใจและไว้ใจต่อไปได้อย่างไร ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ที่เราได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หากพวกเรายื่นหนังสือร้องเรียนอีก ต่อไปเราจะเป็นอย่างไร จะถูกจับอีกหรือไม่ก็ไม่สามารถบอกได้”
นายธรรมรัฐ กล่าวต่อว่า “หลังจากที่เรารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายฯมานั้น มีจำนวนคณะกรรมการเครือข่ายฯที่ถูกลอบสังหารไปแล้วทั้งหมด 5 คน ล่าสุดหรือคนที่ห้า คือ นายตอเหล็บ สะแปอิง ถูกลอบสังหารจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกัน พวกเรามาขอความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด กลับถูกคุกคามและลอบสังหารเพิ่มเติมอีก” นายธรรมรัฐ กล่าว
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาพลเรือนซึ่งเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการโจมตี และพลเรือนที่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมในพื้นที่ เช่น ครูตาดีกา และผู้นำศาสนา รวมไปถึงสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายหลายต่อหลายคนถูกลอบสังหารถี่ขึ้นหลังจากที่ทางรัฐบาลไทยและกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556” นายตูแวดานียา กล่าว
นางสาวอาซียะห์ อับดุลลอฮฺ ตัวแทนเครือข่ายครูตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า “ดิฉันคนหนึ่งที่เป็นครูอาสาสอนในโรงเรียนตาดีกา แต่วันนี้ครูตาดีกากลับถูกลอบสังหารไปทีละคน-ทีละคน เราในฐานะคนหนึ่งที่มีสถานะปัจจุบันเป็นครูสอนโรงเรียนตาดีกา จึงมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดระแวง อย่างเคสหนึ่งที่ดิฉันรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนที่มีสถานะเดียวกันกับเรานั้นคือ ครูสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุเพียง 24 ปี ถูกลอบสังหารพร้อมลูกในครรภ์อายุเพียง 7 เดือน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 อีกทั้งยังถูกขีดขวนที่หน้าด้วย และต่อมาครูมะยาฮารี อาลี ก็ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
หากเราสังเกตดูดีๆว่าวันนี้ครูตาดีกาชายไม่ค่อยมีให้เห็นในพื้นที่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาถูกทางการฝ่ายความมั่นคง เพ่งเล็ง คุกคาม จับกุม และอีกหลายๆวิธีการเพื่อเป็นกดดันให้พวกเขาต้องออกจากพื้นที่ เหมือนเป็นการห้ามไม่ให้พวกเขาเป็นครูตาดีกา ปัจจุบันจึงเหลือแต่ครูตาดีกาที่เป็นผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ แต่วันนี้ครูตาดีกาหญิงกลับถูกคุกคาม จับกุม และลอบสังหารอีก แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ต่อไปใครจะสอนศาสนาให้กับเด็กๆในพื้นที่อีก มอมยาก็แล้ว ไล่ครูก็แล้ว แล้วยังใช้ศาลเตี้ยในการลอบสังหารพวกเราอีก ดิฉันขอพูดตรงๆว่าวันนี้เราหมดความหวังต่อทางการไทยแล้ว” นางสาวอาซียะห์ กล่าว
นางสาวอาซียะห์ กล่าวต่อว่า “สำหรับการรวมตัวและการมาของพวกเราในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการขอความช่วยจากรัฐบาลมาเลเซียในฐานะคนกลางในเวทีการพูดคุยสันติภาพให้ช่วยตรวจสอบ ตั้งกลไก สอดส่องดูว่าใครกันที่ทำเรื่องเลวร้ายเยี่ยงนี้”
นางสาวอาซียะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความจริงก่อนหน้านี้ไม่ใช่ว่าเราไม่ไว้ใจทางการไทย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ผ่านๆมา ทำให้เราสรุปง่ายขึ้นว่าใครเป็นมิตรและใครเป็นศัตรูที่แท้จริงกับเรา”
ส่วนด้านนายสุไฮมี ดูละสะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา หรือประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PERMAS) กล่าวว่า “การคุกคามโดยใช้วิธีการต่างๆตั้งแต่เบาถึงหนักนั้นในพื้นที่มันมีอยู่ให้เห็นและได้ยินอยู่ตลอดระยะเวลาการทำสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย สำหรับวันนี้กลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอก็จะง่ายในการถูกโจมตีและคุกคาม วันนี้เป็นคุณ พรุ่งนี้อาจจะเป็นเราก็ได้
พวกเราในฐานะนักศึกษา ก็ถูกคุกคามอยู่บ่อยครั้ง แต่อาจจะไม่หนักเท่ากับกลุ่มประชาชนและเครือข่ายกลุ่มองค์กรอื่นๆ ถามว่าเคยถูกคุกคามจากทางการไทยไหม ขอตอบว่าก็มีบ้าง อย่างผมเองวันนี้มีมือมืดในโลกโซเชียลมีเดีย คอยจับผิดและดิสเครดิตผมอยู่ตลอดเวลา ผ่านการออกแบบโพสเตอร์ต่างๆ มีการลักลอบเอารูปภาพผมมาตัดต่อ โดยเขาใช้ชื่อเฟสบุ๊คว่า “South Dark - เปิดโปงความจริง ในเงามืด” ซึ่งถ้าไม่บอกเด็ก ป.1 ก็รู้ว่าเป็นเฟสของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย” นายสุไฮมี กล่าว
คลิ๊กดูเฟสบุ๊ค "South Dark - เปิดโปงความจริงในเงามืด"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เครือข่ายนักเคลือไหว ผู้นำชุมชน ครู และเหยื่อผู้ต้องขัง ร่วมเตือนเฝ้าระวังภัยคุกคามด้วยการลอบยิงโดยศาลเตี้ย
- สรุปงานเสวนาเวที "พลังเครือข่ายประชาชน ป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิต ท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ ครั้งที่ ๒"
- 4 เครือข่ายยื่นหนังสือเรียกร้องมาเลย์ ช่วยตรวจสอบและเร่งหามาตรการป้องกันการลอบสังหารพลเรือน
- 4 Jaringan NGOs Patani, Hulur surat rayuan kepada Malaysia, Supaya melindungi rakyat patani yang sering dibunuh.
- JOP BERSAMA NGOs PATANI | 010813