Skip to main content

 

อัยการสูงสุดสั่งให้มีการไต่สวนการตายกรณีนายอัสฮารี สะมะแอ หลังเกิดเหตุกว่าสองปี

เนื่องจากพิเคราะห์ว่าเสียชีวิตในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

 

ในวันจันทร์ที่  28 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดยะลาได้นัดพร้อมฝ่ายอัยการ ผู้ร้อง และทนายความฝ่ายผู้คัดค้าน (นางแบเดาะ สะมาแอมารดานายอัสฮารี สะมาแอ) เพื่อพิจารณาคดีไต่สวนการตาย หรือไต่สวนชันสูตรพลิกศพ  ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นับเป็นเวลากว่าสองปีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้มีการไต่สวนการตายกรณีนายอัสฮารี สะมาแอ       โดยก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนได้ส่งสรุปสำนวนคดีนี้ไปยังพนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นคดี ช. 0998 แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550  แต่อัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ร้องเป็นคดีไต่สวนการตาย โดยให้เหตุผลว่าผู้ตายเสียชีวิตในโรงพยาบาลไม่ใช่การเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

 

โดยนางแบเดาะ สะมาแอ  มารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ อายุ 26 ปี  ผู้ตาย  ได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยระบุว่านายอัสฮารี สะมาแอถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวเมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ.2550 ที่เขตอำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา  และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่  นายอัสฮารี สะมาแอได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธิบริหาร  โรงพยาบาลปัตตานี  และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ.2550 ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา  ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมกรณีการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สะมาแอ   เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  ผลการสอบอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าให้มีการไต่สวนการตาย ตามมาตรา 150 นับเป็นเวลากว่าสองปีที่การร้องขอความเป็นธรรมตามกฎหมายของมารดาได้รับตอบสนองโดยกลไกของรัฐภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย

 

อย่างไรก็ดีนางแบเดาะ สะมาแอและครอบครัวของนายอัสฮารี สะมาแอ ยังไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหาย  โดยกลุ่มงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ  ศอ.บต.  ได้มีหนังสือลงวันที่  16 พฤษภาคม  2551 ถึงนางแบเดาะ  สะมาแอ  ว่าการเสียชีวิตของนายอัสฮารี  สะมาแอ  เกิดจากการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ จึงให้ขอความช่วยเหลือกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา  ต่อมาศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาฯจังหวัดยะลาได้มีหนังสือปฏิเสธการร้องขอรับค่าช่วยเหลือเยียวยาฯ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม  2551 ว่าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยเหลือเฉพาะบุคคลซึ่งถูกกระทำจากผู้ก่อความไม่สงบ  แต่กรณีนายอัสฮารี  สะมาแอ  ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ  ในการนี้เมื่อวันที่  16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นางแบเดาะ สะมาแอ ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งข้อหาละเมิดต่อศาลแพ่งกรุงเทพในการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบกกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคดีดำที่ 4039/2551 ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพ