Skip to main content

ซอลาหุดดีน  กริยา

 จากประสบการณ์ของ ประชาชนไทยในที่อื่นๆ แม้แต่ในหมู่ประชาชนที่รัฐไม่มีอคติทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐก็ไม่ใช่สถาบันที่น่าไว้วางใจให้เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของผู้คนทุกกลุ่ม แต่ฝ่ายเดียว เพราะรัฐใดๆ ก็ตามไม่เคยเป็นกลางระหว่างผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคมจริงสักแห่งเดียว คนแต่ละกลุ่มจะสามารถต่อรอง, ต่อสู้ และผลักดันผลประโยชน์ของตนเองได้ ก็ต้องไต่เต้าขึ้นไปในโครงสร้างอำนาจที่จะทำให้เสียงของตนดังพอที่รัฐจะต้องรับฟัง

                     --นิธิ เอียวศรีวงศ์  

ในครั้งแรกๆ ที่มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนขบวนการปลดแอกปาตานี คำพูดหนึ่งที่โดนใจข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก คือ คำขอร้องจากฝ่ายตัวแทนขบวนการฯ ต่อตัวแทนของรัฐไทย ให้อดทนฟังในสิ่งที่พวกเขาจะพูด

จากนั้นก็เป็นการระบายความอัดอั้นในชะตากรรมที่คนปาตานีได้รับจากนโยบายของรัฐไทย ในรูปแบบของการตัดพ้อจนถึงขั้นการหลั่งน้ำตา

ตั้งแต่ได้ริเริ่ม “สันติเสวนา” ที่เป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่จะนำไปสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ ทำให้สังคมให้ความสนใจ เพราะต่างมีความหวังในสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะพื้นที่นี้เป็นที่รู้จักบนสื่อในนาม “ไฟใต้” เป็นเวลานาน

ความกล้าหาญของรัฐไทยในการเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะผลักดันความขัดแย้งในรูปของความรุนแรงให้มาอยู่บนโต๊ะเสวนา ถึงแม้จะเป็นลักษณะการเร่งเร้าให้เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงความพร้อมของคู่เสวนา กลับทำให้แนวทางสู่ขั้นต่อของกระบวนการสันติภาพอาจเขวไปบ้าง เพราะมีช่องโหว่มากมายให้กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการพูดคุยกันทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นความอดทนจึงจำเป็นมากต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐไทย

ข้าพเจ้า มองว่าหากเป็นไปได้ อยากให้ทางการของไทยมีความอดทนฟังเสียงของคนปาตานีไม่ใช่เฉพาะบนโต๊ะสันติเสวนาเท่านั้น หากต้องอดทนฟังเสียงประชาชนนอกโต๊ะอีกด้วย

การสะท้อนเสียงของประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องรับฟัง เพราะที่ผ่านมาภายใต้นโยบายความมั่นคงของรัฐไทย ทำให้คนปาตานีต้องเก็บเสียงส่วนหนึ่งไว้เป็นเวลานาน นานจนกระทั่งดูเสมือนว่ารัฐไทย จะลืมข้อเท็จจริงบางอย่างไป ภายใต้ข้อเท็จบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ข้อ(เท็จ)จริงเหล่านั้น

ดั่งในคำพูดของ ลีโอ ตอลสตอย ที่ว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุด

ดังนั้นการปฏิเสธที่จะพูดถึงความจริงเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่ง หากการแสวงหาแนวทางที่จะให้ความจริงนั้นคงอยู่ในสภาพปัจจุบันอย่างสอดคล้อง จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะการดำเนินนโยบายบิดเบือนความจริงยิ่งมากเท่าไร กลับทำให้ความจริงนั้นยิ่งทรงพลังยิ่งๆขึ้น

ในภาวะปัจจุบัน ภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารผนวกกับสถานการณ์ชายแดนใต้ที่เปลี่ยนรูปแบบไป บรรดาเสียงที่ถูกกดทับต่างผุดออกมาดั่งดอกเห็ด

แน่นอนว่าเสียงเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อรัฐไทยและสังคมไทยทั่วไป

แต่ในเมื่อมันผุดออกมาแล้ว การที่จะไปกดทับให้สิ่งนี้กลับไปอยู่ที่เดิมดั่งเช่นในอดีต มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยเสียแล้ว

นอกจากเปิดพื้นที่ให้มีการสนทนาและแลกเปลี่ยนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือ การเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่เห็นต่างจากรัฐหรือความเห็นกระแสหลัก ได้ออกมาโลดแล่นในสังคมบ้าง

ข้าพเจ้าเห็นว่า นั่นเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยโดยแท้จริง การแสดงออกความคิดเห็นโดยอิสระ ปราศจากการคุกคามโดยผู้มีอำนาจ

ตั้งแต่แรกจากการเฝ้าติดตามการเติบโตของอิสรภาพด้านการแสดงออกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจในความเป็นประชาธิปไตย ที่เริ่มเปิดกว้างขึ้น พอมีพื้นที่ให้กับความเห็นที่แตกต่างจากกระแสหลักบ้างแล้ว

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวการเชิญตัวบุคคลที่ทำการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการเชิญชวนให้ประชาชนกักตุนอาหารในโลกออนไลน์ รวมถึงบุคคลที่เข้าไปกดถูกใจ (like) ในเฟซบุ๊ก เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความกังวลแก่ข้าพเจ้าอยู่บ้าง

เหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงการยื้อไม่ให้กระแสสังคมก้าวไปข้างหน้า ย้ำให้เห็นว่า อิทธิพลของผู้มีอำนาจเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่าและสำคัญกว่าสิ่งใดๆ

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ชายแดนใต้ มีเรื่องราวมากมายที่จะต้องทำการสะสาง อันเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในอดีต ความอดทนในการรับฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการที่เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระลอกใหม่นี้