Skip to main content

"เฮ้ย! มึงไปทะเลาะกับใครมาวะ" "เอ็งไปทะเลาะกับใครมา" "พี่ไปทะเลาะกับใครเขาอ่ะ" ฯลฯ เพื่อน พี่ น้อง หลายคนเจอตัวจึงถามไถ่กันซึ่งหน้าวันนี้ แต่บางคนก็โทรมาไถ่ถามด้วยความห่วงใย หลังจากผมโพสต์ข้อความและตัวอย่างประกอบในสเตตัสเฟซบุ๊คไปเมื่อคืน ผมบอกกับทุกคนเหมือนกันว่า "ผมไม่รู้เหมือนกันว่าใคร"



ก็ยอมรับไปตรงๆ แหละครับ ไม่รู้จักจริงๆ ไม่รู้ว่าคนที่ทำอวดเบ่ง ทำกร่าง ทำเทียบความใหญ่โตโอ่อ่าของนามสกุลใส่ผมนั้นเป็นใคร แต่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และผมเข้าไป "ชวน" ทะเลาะเบาะแว้งเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน



คือผมเป็นโรคจิตอยู่อย่าง เป็นพวกปากสุนัข ชอบกวนส้นเท้าเวลาคนเขาเออออห่อหมกอะไรสักอย่างที่ไม่เข้าท่าตามความคิดของตัวเอง ยิ่งเห็นไหลๆ กันไปเรื่อย ยิ่งชอบเอาเท้าไปกวนให้กระจาย ยิ่งรู้ว่ามีคนโกหกใส่ร้ายบิดเบือนใส่คนอื่นนี่ยิ่งรับไม่ได้



สำหรับคนที่ยังไม่รู้ที่มาที่ไป ผมสรุปสั้นๆ ว่า ตอนนี้ในสถานการณ์ภาคใต้ มันขยายพื้นที่สงครามเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเรียบร้อยแล้ว ทั้งฝั่งรัฐและแนวร่วมขบวนการใต้ดินใช้ช่องทางนี้ในการโจมตีใส่ร้ายซึ่งกันและกัน หวังดึงมวลชนให้เป็นแนวร่วมของตนเอง (ก็ปรับตัวไปตามยุคสมัยนั่นแหละครับ) แต่ตรงนั้นผมไม่ติดใจอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นไปตามธรรมชาติของการต่อสู้ แนวรบย่อมขยับขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ 



ส่วนที่ผมหงุดหงิดอย่างรุนแรง คือพวกกองเชียร์ที่ไม่ได้ร่วมรบอะไรด้วย ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่ส่งเสียงเชียร์อย่างออกนอกหน้า ถือหางตะโกนเฮ้วๆ แล้วแสดงตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีไปเสียทุกเรื่อง แค่นั้นยังไม่พอ ยังช่วยแนวร่วมฝั่งตนเองเล่นงานคนที่เขาคิดว่าเป็นศัตรู ตรงนี้แหละครับที่น่ากลัว เพราะเขาจะขีดเส้นใต้ให้คนที่เขาไม่ชอบให้เป็นศัตรูกันง่ายๆ เพียงแค่ทำในสิ่งที่เขาไม่พอใจ 



สื่อมวลชน ประชาสังคม ทนายความ เอ็นจีโอ โดนกันไปถ้วนหน้า เพียงเพราะทำหน้าที่ของตนเองตรงไปตรงมาเกินไป ซึ่งทำให้อีกฝั่งเสียประโยชน์ จึงถูก"แขวนป้าย" หาว่าเป็นแนวร่วมของอีกฝั่ง ยิ่งคนที่ถือหางฝั่งรัฐแบบ "คลั่งชาติ" ไม่มีมโนธรรมสำนึกด้านสิทธิมนุษยชน ก็ดำเนินการทำลายแบบขุดเหง้าลากกอมาบดขยี้ ประจานกันในสาธารณะ คนไม่รู้จักที่มีแนวคิดเดียวกันก็มายืนเชียร์เย้วๆ "ฆ่ามันๆ" ซึ่งตอนนี้พฤติกรรมลักษณะดังกล่าวลุกลามไปสู่วิชาชีพนักวิชาการมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว



"ไอ้ยุ่นเลว" "ไอ้ยุ่นโจร" "กลับบ้านไปแสดงหนัง X ไป๊!" กระทั่ง "ถ้าเจอกูจะตบกบาลมันคนละที ก็ตายแล้ว" "อย่าให้กูเจอนะ" ฯลฯ นี่เป็นข้อความการแสดงความเห็นแบบ "ร้อนอารมณ์" ถึงอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งจากภาควิชาภาษาตะวันออก มอ.ปัตตานีที่มีบทบาทในการช่วยแปล "สาร" จากขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ให้กับสังคมไทย และรัฐไทยได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในห้วงที่กำลังเผชิญกับความสับสนในท่าทีระหว่างการตั้งเวทีพูดคุย "สันติสนทนา" ของตัวแทนรัฐไทย และขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถูกบิดเบือนเฉือนข้อเท็จจริงจนเกิดอาการคุกรุ่นทางความคิดกันไปทั่วทั้งกรุงเทพ-ชายแดนใต้ 



พูดกันตรงไปตรงมา ก่อนหน้าที่อาจารย์ท่านนี้จะเข้ามาช่วยแปลแบบ "บริการสาธารณะ" สื่อไทย สังคมไทย และรัฐไทย รับรู้ความคิดของขบวนการก่อความรุนแรงในภาคใต้สักกี่มากน้อย ก็ย่อมตรองกันได้ไม่ยาก มิเช่นนั้น การข่าว การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเมืองไม่ตีรวนสะเปะสะปะเสียขนาดนั้น (พูดให้ตรงกว่านั้นอีก ขนาดอาจารย์ท่านนี้แปลอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดแล้ว เพื่อสื่อให้ชัดถึงแนวคิดของบีอาร์เอ็น ทั้งรัฐ ทั้งสื่อส่วนใหญ่ยังรับกันไม่ค่อยได้ ถึงขนาดต้องชูฉบับแปลของอีกท่านที่เนื้อหาบางคำบางเบาเพลาลงว่าเป็นฉบับแปลที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด นี่เป็นปัญหาใหญ่บางประการซึ่งฝังสนิทแน่นอยู่ในสังคมไทย เป็นจริตที่รับไม่ได้กับความตรงไปตรงมา สังคมเราจึงต้องพยายามอ้อมค้อมกันไปเสียทุกเรื่อง) 



การขยายฐานโจมตีสร้างความเกลียดชังเคียดแค้นไปยังนักวิชาการผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ และใหญ่มากๆ เพราะหน้าที่ของนักวิชาการคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่สาธารณะ เรียกว่าเป็นการให้ปัญญากับสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่อาจารย์ท่านนี้ทำ ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับแกเลยแม้แต่น้อย (แกเคยบ่นว่า หลังจากแสดงบทบาทการเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูออกไป นอกจากความเกลียดชังแล้ว สิ่งที่แกได้รับ คือข้อความมหาศาลที่ "คนไม่รู้จัก" ส่งงานมาให้แกแปลโดยไม่มีค่าตอบแทน) ยิ่งสังคมชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งสังคมไทยมืดบอดทางปัญญา พอใครสักคนมาจุดไฟส่องคบแล้วเผชิญกับการตีตราผลักไสไปอีกข้าง ผมไม่แปลกใจเลยที่นักวิชาการในพื้นที่จำนวนมากจึงเลือกเงียบ นั่งมองหมดอาลัยบนหอคอยงาช้าง ส่วนบางคนก็หาทุนทำวิจัยเงียบๆ ไม่แสดงออกในสาธารณะแต่อย่างใด เขาเลือกพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ข้างต้นแล้ว ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจนักวิชาการเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ 



แล้วคนที่กำลังเผชิญอยู่ เราจะดูแลเขาอย่างไร ? นี่คือปัญหาใหญ่มากกว่า 



อย่างที่รู้ ร้อยทั้งร้อย คนที่เล่นโซเชียลมีเดียแล้วก่นด่าคนอื่น ไม่มีใครรู้จักตัวตนคนที่ตัวเองด่าแม้แต่น้อย นอกจากเห็นบทบาทในที่สาธารณะแว่บๆ อ่านข่าวอ่านคำสัมภาษณ์มาบ้าง แต่ส่วนใหญ่อ่านเฉพาะป้ายที่แขวน แล้วก็ลงมือเล่นงาน 



ไม่มีใครคิดว่า คนที่ตัวเองกำลังเล่นงานสร้างความเกลียดชังนั้นจะรู้สึกหวาดกลัว สภาพจิตใจย่ำแย่อย่างไร ขอให้ตนเองได้แสดงศักดิ์ดาพิฆาตสมกับความคลั่งแค้นเป็นพอ ส่วนสังคมจะมืดบอดทางปัญญาต่อไปอย่างไรก็ไม่สนใจ!



แต่ไม่มีใครฉุกคิดสักนิดว่า หากคนที่ตนเองจับแขวนป้ายประจานให้คนอื่นรุมเล่นงานจะได้รับผลกระทบจากความจงเกลียดจงชังอย่างไร หากสักวันหนึ่งคนเหล่านี้นอนตายอยู่ข้างถนนด้วยสาเหตุเริ่มต้นจากน้ำคำหรือน้ำมือการเสียบประจานในโลกเสมือน ตนเองจะรับผิดชอบอะไรได้หรือไม่!?!



ถ้าค่าของคนที่ไม่รู้จักกันเท่ากับความตายอันย่อยยับให้สาสมกับความแค้น เพื่อปกป้องอุดมการณ์ชาตินิยมแบบไร้มโนธรรมสำนึกใดๆ ความหมายของความดีงามไม่ว่าจะตีความด้วยมุมมองศาสนาความเชื่อใดก็ป่นปี้แหลกสลายไม่ต่างกัน 



บางคนอาจคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็นไปเพื่อปกป้องหลายชีวิตในชายแดนใต้ แต่มีใครตระหนักไหมว่า เมื่อชีวิตของทหาร กลุ่มขบวนการแนวร่วม หรือชาวบ้านธรรมดาสามัญตายลงในทุกเช้าค่ำของทุกๆ วัน และเกิดมีใครตายเพิ่มอีกสักคนเพราะตนเองมีส่วนร่วม เขายอมรับมันได้กระนั้นหรือ...



วินาทีนี้ผมนึกถึงเก้าอี้ในมือของใครบางคนที่กำลังยกเงื้อเข้าฟาดบางชีวิตซึ่งห้อยโตงเตงอยู่จากกิ่งมะขามกลางท้องสนามหลวงเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ซึ่งเขาคงคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องทำลายให้สมกับความคลั่งแค้น เพื่อปกป้องอีกหลายชีวิตในชาติ 



แต่ประวัติศาสตร์สอนเราว่าชายคนนั้นคิดผิด เพราะเก้าอี้ของเขาปกป้องใครไม่ได้อย่างแท้จริง ส่วนคนยืนมุงและเด็กที่ยืนหัวเราะอยู่นั้น กลายเป็นคนที่ฝันร้ายไปชั่วชีวิต!

และชายที่ห้อยโตงเตงสิ้นลมหายใจคนนั้นกลับหลอกหลอนสังคมไทยด้วยคำว่า "คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากร" ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของคนที่ไม่รู้จักกัน --ไปตลอดกาล.