Skip to main content

คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของสินค้าเกษตร จะเข้าใจได้ยากหน่อยว่า แค่ผลต่างของราคาขายสินค้าขึ้นลงเพียง 1-2 บาท มันส่งผลต่อโครงสร้างของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับมันอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ราคายางพารามันลดต่ำลงมาเกือบสองเท่าของที่มันเคยขึ้น ช่วงที่ยางพาราเคยสูงทะลุตัวเลข 146 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อต้นปี 2554 หลายคนเคยทุ่มสุดตัวขายทุกอย่างทิ้งเพื่อซื้อที่ดินปลูกยางเพิ่ม บางคนเอาที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้เงินธนาคาร ราคาที่ดินเชิงเขาในป่าลึกยังแตะไร่ละหลายแสน ไม่นับราคาของที่ราบใกล้ถนนใหญ่ ในภาคใต้ค่าครองชีพไหลตามราคายางพาราและปาล์ม แต่มันไม่เคยลงตามราคาสินค้าเกษตร ไหนจะระบบห่วงโซ่การพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ สวนยางส่วนใหญ่ของคนใต้ใช้แรงงานต่างถิ่นที่ไปเกณฑ์มาจ้างกรีด บ้างปันผลทุกเช้า 50-50 บ้างแบ่งรายเดือน 60-40 ถึงตอนนี้หลังหักแบ่งแล้วเหลือกันคนละไม่กี่สิบบาทต่อกิโลกรัม 


ตอนปลายปี 2553ถึงต้นปี 2554 แรงงานจากภาคอีสานไหลลงไปทำงานที่ภาคใต้มากเป็นประวัติการณ์ เพราะเชื่อว่าหลังเลือกตั้ง รัฐบาลที่ชูนโยบาย "ยางพาราไม่มีวันต่ำกว่า 120 ต่อกิโล" จะทำได้อย่างที่พูด(แม้ว่าไม่ชนะเลือกตั้งในพื้นที่ แต่ดูตัวเลขการเลือกตั้ง คนเลือกเพื่อไทยก็ไม่น้อยอยู่เช่นกัน ซึ่งเสียงเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่ออกมาประท้วงครั้งนี้) และต้นปี 2554 ราคายางแผ่นดิบ 146 บาทต่อกิโลกรัมก็สูงสุดในรอบร้อยปี ดูกระแสช่วงนั้นคนใต้กับรัฐบาลเพื่อไทยชื่นมื่นอยู่ไม่น้อย ตอนผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ คนใต้รับตำแหน่งก็ตอกย้ำนโยบายนี้อีกครั้งเพื่อกลับเสียงต้าน "ไพร่ขึ้นเป็นอำมาตย์" แต่ทุกอย่างก็พังครืนหลังจากทำไม่ได้อย่างที่พูด 

พังนี่พังจริงๆ นะครับ เสียงก่นด่าขุดโคตรณัฐวุฒิ ไสยเกื้อดังลั่นป่ายางมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่ท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ชูมาตรการ "โค่นต้นยางทิ้ง" เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อ เพราะให้เหตุผลว่าผลผลิตยางแผ่นดินมากล้นเกินความต้องการในตลาดโลก ทั้งที่เมื่อย้อนไปต้นปี 2554 ตอนนั้นเรายังปลาบปลื้มกับตัวเลขที่เราสามารถผลิตยางพาราส่งออกได้มากสุดในโลก ในปริมาณปีละ 3.2 ล้านตัน แต่ยังมียางพาราไม่เพียงพอต่อการส่งออก เนื่องจากปี 2553 ไทยต้องสูญเสียผลผลิตไปกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ แต่พอย่างสู่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลถึงกับต้องประกาศโค่นต้นยางทิ้ง 6 แสนไร่เพราะผลผลิตมันล้นตลาด ทั้งที่ก่อนหน้านี้สองปี รัฐบาลเดียวกันเคยประกาศแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั่วทุกภูมิภาคหลายล้านไร่ 

ความผิดตรงนี้อยู่ที่ใคร เกษตรกร หรือนโยบายที่ไม่รัดกุมของรัฐ หรือจะ"โยนขี้" ไปให้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา (ซึ่งนามธรรมเกินไปจนชาวสวนยางเขาหยิบจับไม่ได้)

ไม่มีใครในรัฐบาลนี้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของโลกได้อย่างชัดเจนแม่นยำเพียงพอหรือ? ไม่มีใครมองอนาคตของยางพาราในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดมาตรการ "ควบคุม"พื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมกับผลผลิตและการกำหนดราคาของตลาดกลางเลยละหรือ?

พูดกันให้ชัด ปัจจุบันนโยบายด้านยางพารา(ของประเทศผู้ผลิตยางพาราสูงที่สุดในโลก)เป็นอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะประกันราคาที่ตัวเลขเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม 

ตอนนี้กล้ายางของพี่น้องชาวเหนือและอีสานหลายแสนไร่เพิ่งแตกใบอ่อน แต่กลับต้องเห็นภาพพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ออกมาประท้วงและถูกสลายการชุมนุมจนบาดเจ็บไปจำนวนมากแล้วพวกเขารู้สึกอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ถูกต้องและชัดเจน คิดว่าพี่น้องชาวสวนยางใหม่จะมองเห็นอนาคตได้อย่างไร

ไม่มีใครเห็นด้วยกับการปิดถนนและยึดครองพื้นที่ของระบบขนส่งสาธารณะ แต่ถ้าเข้าใจภาพผลกระทบและความเจ็บปวด จะเข้าใจว่าทำไมคนเหล่านี้จึงต้องยึดครองพื้นที่สาธารณะให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เดือดร้อน ถ้าเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหว จะรู้ว่าต้องขับเคลื่อนยุทธวิธีแบบไหนให้รัฐบาล "ฟัง" มากที่สุด

ทางออกสำคัญคือการเจรจา หลีกเลี่ยงความรุนแรงโดยอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด และรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่านกลไกของสภา เพื่อหาทางออกให้เกษตรกรชาวสวนยางเหล่านั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.