แถลงการณ์เนื่องในวันรำลึกผู้สูญหายสากล
กรุงเทพฯ : วันที่ 30- 31 สิงหาคมของทุกปีทั่วโลกถือเป็นวันแห่งการรำลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหาย (International day of the victims of Enforced Disappearance) ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วโลกมาร่วมกันเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากภาวะสงคราม หรือจากการปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ละปีมีจำนวนผู้หายสาบสูญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมที่แท้จริงของ ผู้สูญหายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้สูญหายจะมิได้กลับมาอีก หรือการกลับมาของผู้สูญหายบางคนปรากฏในสภาพไร้ชีวิต การบังคับบุคลสูญหายจึงถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ของสหประชาชาติ ( UN- Convention for Protection of all Persons from Enforced Disappearance)ซึ่งถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ความล่าช้าในการดำเนินการในการให้สัตยาบัน และการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศทำให้เหยื่อและครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงความจริงและความยุติธรรมได้
ทั้งนี้ อนุสัญญาฯได้กำหนดด้วยให้รัฐภาคีต้องกำหนดให้ การบังคับสูญหาย (Enforced Disappearance) เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องกำหนดมาตราการการสอบสวนโดยพลัน เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังถือว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง (Continuous Crime) ความต่อเนื่องจะสิ้นสุดเมื่อทราบชะตากรรม และที่อยู่ของเหยื่อ ดังนั้นอายุความจึงจะนับได้ต่อเมื่อทราบชะตากรรมของเหยื่อ หรือเมื่อพบศพของเหยื่อ อนุสัญญาฯยังกำหนดให้การขัดขวางหรือการทำให้การสืบสวน สอบสวนคดีล่าช้าเป็นความผิดทางอาญาด้วย อีกทั้งยังเน้นย้ำในเรื่องการให้ความคุ้มครองแก่พยานซึ่งรวมถึงบรรดาญาติของผู้สูญหายด้วย
ในปี 2554 มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เก็บรวบรวมข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย พบว่านโยบายของรัฐบาลรัฐบาลสองประการ คือ สงครามยาเสพติดในปี 2546 และนโยบายตอบโต้การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2544 มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดการสูญหายโดยถูกบังคับ รายงานยังพบว่ามีกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหาย เช่น นักกิจกรรม พยานในคดี แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ซึ่งมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ รายงานยังแสดงถึงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายมักจะเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย
“ความล่าช้าในการให้สัตยาบันและปรับปรุงกฎหมายภายใน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เหยื่อไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่เกิดขึ้นต่อชะตากรรมของผู้สูญหายได้ นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่การไม่รู้ชะตากรรมของผู้สูญหายก่อให้เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัสต่อครอบครัวของเหยื่อ” “ความไม่เต็มใจในการให้ความเป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล (Impunity) ยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย” นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว
ในโอกาสวันผู้สูญหายสากล มูลนิธิฯ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทย โดยซึ่งหากได้รับการปฏิบัติตามจะมีส่วนทำให้ยุติการบังคับสูญหาย และบรรดาญาติของเหยื่อจะได้รับการเยียวยา ข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้แก่
1. รัฐบาลควรให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้มีการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศโดยทันที
2. รัฐบาลควรกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา กำหนดกลไกสืบสวนสอบสวนที่เหมาะสม และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ
3. ควรมีการปรับปรุงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดี รวมทั้งขั้นตอนการแจ้งความ การสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้นที่เป็นอิสระ การส่งต่อคดีอย่างรวดเร็วให้กับหน่วยงานอิสระ กำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน และการเคารพสิทธิของญาติ
4. ควรมีการกำหนดกลไกชดเชยระดับประเทศว่าด้วยการชดเชยแก่ญาติ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อให้ครอบครัวสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ
หมายเหตุ : ความหมายของ การบังคับให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance- UN ) หมายถึงการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่งได้รับการสนับสนุนหรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหายภายใต้คำจำกัดความนี้บุคคลทั้งหมดนี้ได้กระทำการหรือสั่งให้มีการปิดบังหรือไม่เปิดเผยถิ่นพำนักของบุคคลที่หายตัวไป ก็จัดว่าเป็นการกระทำภายใต้การทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ด้วย