Skip to main content
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และความต่อเนื่องของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในยุทธการแย่งชิงประชาชน: 
สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 3 ปี



ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีบริบทและนัยที่จะต้องทำความเข้าใจความหมายและตีความด้วย ข้อสังเกตที่ควรพิจารณาประการแรกก็คือกลุ่มเป้าหมายของการก่อความรุนแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบ 35 เดือนมีเป้าหมายที่คนหลายกลุ่ม แต่เมื่อเทียบภูมิหลังทางด้านอาชีพของกลุ่มผู้เป็นเป้าหมายของการก่อเหตุความไม่สงบหรือผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวได้อย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมีเป้าหมายที่ราษฏรทั่วไปเป็นส่วนมากที่สุด กล่าวคือมีเหตุการณ์ซึ่งเป้าหมายการกระทำความรุนแรงที่ราษฏรจำนวน 1,646 ครั้ง รองลงมาก็คือเป้าหมายที่กลุ่มตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมประมาณ 530 ครั้ง เป้าหมายที่ทหาร 420 ครั้ง คนงานและลูกจ้างราชการ 270 ครั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 201 ครั้ง นอกนั้นเป็นกรณีอื่นๆ


แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แนวโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง มีเหตุการณ์หลายอย่างที่บ่งชี้ว่าคนไทยพุทธและชุมชนพุทธในพื้นที่อาจจะถูกคุกคามหรือเป็นเป้าหมายในการโจมตีมากขึ้น ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549


อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบดูภูมิหลังในด้านการนับถือศาสนา เหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเป็นทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมในจำนวนที่มากพอๆกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเหยื่อผู้เสียชีวิตที่ระบุได้ว่าเป็นคนมุสลิมจำนวน 979 คนหรือเป็นร้อยละ 51 ส่วนคนพุทธที่เสียชีวิตจำนวน 820 คนคิดเป็นร้อยละ 43 ที่เหลือระบุไม่ได้จำนวน 109 คนหรือร้อยละ 6 ในด้านผู้บาดเจ็บข้อมูลชี้ให้เห็นว่าคนพุทธได้รับบาดเจ็บมากกว่า กล่าวคือคนพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,712 คนหรือร้อยละ 61 ส่วนคนมุสลิมได้รับบาดเจ็บจำนวน 786 คนหรือร้อยละ 28 ที่เหลือไม่สามารถระบุได้


ข้อมูลเป้าหมายของความรุนแรงชี้ให้เห็นความหมายของเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ว่าประชาชนทั่วไปหรือราษฏรผู้บริสุทธิ์ยังคงตกเป็นเป้าหมายสำคัญของการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้เป็นแบบแผนการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเกิดการปะทุขึ้นในรอบใหม่ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา แม้ว่าการกระทำต่อรัฐหรือโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐน่าจะเป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของการต่อต้านอำนาจรัฐไทยในบริบทของการต่อสู้การเมืองเพื่ออัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป้าหมายที่เป็นจริงกลับเป็นประชาชนทั่วไป ในอีกด้านหนึ่งการที่คนพุทธและมุสลิมต่างก็เป็นเป้าหมายหรือเหยื่อความรุนแรงทำให้มองเห็นภาพว่าการก่อเหตุน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความหวาดกลัวทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้นแต่โดยรวมแล้ว คนมุสลิมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน   
   
 


 
ข้อสังเกตที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือลักษณะแบบแผนของการใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบ 35 เดือนที่ผ่านมามีจุดเน้นสำคัญที่การยิงหรือการไล่ล่าสังหารรายวัน ดังนั้นประเภทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือการยิง จำนวน 2,318 ครั้ง รองลงมาก็คือการวางเพลิงสถานที่ จำนวน 1,002 ครั้ง การวางระเบิดจำนวน 789 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีวิธีการก่อกวนด้วยวิธีอื่นๆเช่นการลอบวางตะปูเรือใบตามท้องถนน หรือการทำลายข้าวของทางราชการ จำนวน 732 ครั้ง ลักษณะพิเศษของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยจึงอยู่ที่การใช้วิธีการยิงหรือการฆ่ารายวันด้วยการยิงคนหรือชาวบ้านในชีวิตประจำวัน ความตายหรือความสูญเสียเกิดขึ้นมากที่สุดจากการใช้วิธีการยิง ส่วนการวางระเบิดเป็นวิธีที่นำมาใช้อยู่มากแต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของความสูญเสีย ดังนั้น ระดับของความรุนแรงหรือสถานการณ์การก่อการร้ายจึงขยายตัวไปทีละขั้น เหตุการณ์รุนแรงประเภทระเบิดพลีชีพหรือการระเบิดในที่สาธารณะเพื่อให้คนตายพร้อมกันจำนวนมากๆยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงนี้    


 

เมือดูที่ข้อมูลอนุกรมเวลาเป็นรายเดือน ในรอบ 35 เดือน ข้อสังเกตก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีการใช้วิธียิงเป็นจำนวนมากที่สุดของเหตุการณ์ในทุกๆเดือน สิ่งที่น่าสนใจก็คือการก่อเหตุด้วยการยิงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (2549) เกิดเหตุการณ์ประเภทการลอบยิงสังหารมากที่สุดถึง 115 ครั้ง นับเป็นเหตุการณ์ประเภทการยิงที่มากที่สุดในหนึ่งเดือนมากที่สุดในรอบสามปีที่ผ่านมา เหตุการณ์รายเดือนมากเป็นลำดับสองคือการวางระเบิด จำนวนมากเป็นลำดับสอง การใช้ระเบิดเกิดขึ้นมากขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2548 และมีระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2549 เป็นจำนวนมากถึง 88 ครั้ง นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 การใช้ยุทธวิธีวางระเบิดเกิดขึ้นมากเป็นลำดับสองรองจากวิธีการยิงสังหาร


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การวางระเบิดในระยะหลังมีแนวโน้มว่าน้ำหนักและขนาดมีมากขึ้นทำให้ความรุนแรงของผลกระทบมีมากขึ้นตามมา ดังจะเห็นได้จากยอดรวมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อเทียบเป็นรายเดือน เดือนพฤศจิกายนของปีนี้มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตค่อนข้างสูง ผู้เสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี 2549 มากถึง 81 ราย บาดเจ็บประมาณ 171 ราย เมื่อเทียบสถิติในรอบสามปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตจากการยิงมากที่สุดคือเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 อันดับสองคือเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 และอันดับสามเกิดในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2549 
   
 
 
กล่าวโดยภาพรวม ความรุนแรงที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสามปีหรือ 35 เดือน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดในปี พ.ศ. 2547 มีจำนวน 1,850 ครั้ง ปี พ.ศ. 2548 มีจำนวน 2,297 ครั้งและปี พ.ศ. 2549 (ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน) มีจำนวน 1,622 ครั้ง แม้ว่าในปี พ.ศ. 2549 จะยังขาดข้อมูลในเดือนธันวาคม แต่เราอาจจะเปรียบเทียบได้ว่า ปีที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือปี 2548 รองลงมาคือปี 2547 และปี พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในรอบสามปีที่ผ่านมา ปีพ.ศ. 2549 มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จำนวนมากกว่าสองปีที่ผ่านมา กล่าวคือโดยการประมาณการขั้นต้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมดในปี พ.ศ. 2549 ประมาณ 1,699 คน ในปี พ.ศ. 2548 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 1,643 คนและในปี 2547 ประมาณ 1,438 คน ถึงแม้ว่าการปฏิวัติยึดอำนาจในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ในแนวทางสมานฉันท์มากขึ้นโดยรัฐบาล แต่เหตุการณ์ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยในเดือนกันยายน และกลับสูงขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายน      



 

สันติภาพ ความรัก ความเมตตา ความสมานฉันท์ และการสร้างสรรค์อารยธรรมด้วยเหตุผลที่ดีงามเป็นสิ่งที่ส่งเสริมคุณค่าของชีวิตมนุษย์ แต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทุกสังคม นอกจากในบางห้วงเวลาที่มีความสงบสันติและความสามัคคีปรองดองแล้ว หลายครั้ง การต่อสู้ทางการเมืองและอำนาจก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การต่อสู้และความขัดแย้งเหล่านี้อาจจะมีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อน ทั้งปิดบังและเปิดเผย ในขั้นตอนที่แน่นอน ความเข้มข้นและแหลมคมของการต่อสู้อาจจะมีพัฒนาการในรูปแบบที่ต่างกัน นักปราชญ์บางคนจึงมองว่าการเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือดและสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด ความรุนแรงแห่งสงครามเป็นความต่อเนื่องของการเมืองในรูปแบบอื่น หากการต่อสู้และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราเป็นตัวสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองและสัญลักษณ์อะไรบางอย่างในเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา สัญลักษณ์และความหมายที่ส่งออกมาชัดเจนมากขึ้นจากระดับความรุนแรงและรหัส-สัญญาณที่ถูกส่งออกมาเป็นความรุนแรงและเป้าหมายของความรุนแรง แต่ปัจจัยชี้ขาดของการต่อสู้ยังอยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกใครในระยะยาว ทั้งรัฐและกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบยังต้องใช้เวลาและการปฏิบัติที่เป็นจริงพิสูจน์ว่าใครจะเป็นผู้ได้เปรียบและได้รับชัยชนะจากประชาชนในการต่อสู้ครั้งนี้ 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้


ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันผ่านพัฒนาการมาเป็นเวลาเกือบสามปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 35 เดือนกว่าแล้ว ถ้านับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรวมทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลาได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่รวมทั้งการฆ่ารายวัน การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,769 ครั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงทางทางเมืองดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 4,828 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 1,908 คน และผู้บาดเจ็บ 2,920 คน