Skip to main content
 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
แอนเดอร์ส เองวอลล์
ผู้เชี่ยวชาญวิจัยประจำศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักเศรษฐศาสตร์แห่งสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
 
 
หมายเหตุ:รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมมือการวิจัยระหว่างศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักเศรษฐศาสตร์แห่งสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
 
  • For the English version click here!
  • ดาวน์โหลดรายงานเป็นไฟล์พีดีเอฟ ที่นี่
  • ภาพประกอบหน้าหลักโดย Soray Deng
 
 
 
แม้ว่าการหยุดยิง 40 วัน ตามข้อตกลงระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกับบีอาร์เอ็นจะไม่ถึงกับประสบความสำเร็จทั้งหมดในการยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็มีความสำเร็จบางอย่างที่น่าสังเกตด้วย เพราะเดือนรอมฎอนในปี 2556 นี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบต่ำที่สุดถ้านับตั้งแต่การเกิดความไม่สงบในปี 2547 เป็นต้นมา การหยุดยิงนั้นดูจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกเพราะมีเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยมากในห้วงเดือนกรกฏาคมแต่กลับถูกละเมิดเมื่อทั้งสองฝ่ายดูเหมือนว่าจะถอนตัวจากข้อตกลงซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของความรุนแรงในระหว่างเดือนสิงหาคม นัยสำคัญก็คือ การพูดคุยสันติภาพและการหยุดยิงประสบความสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น การขาดผู้เฝ้าระวังติดตามผลจากภายนอกและการไม่มีกระบวนการจัดการข้อพิพาทโต้แย้งคือสาเหตุสำคัญที่สุดของความล้มเหลวในการยุติความรุนแรง
 
ในวันที่ 28 กุมพาพันธ์ 2556 รัฐบาลไทยโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติตกลงที่จะริเริ่มการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนในภาคใต้ การพูดคุยได้รับการอำนวยความสะดวกจากมาเลเซียซึ่งในตอนแรกแสดงให้เห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อยก่อนที่จะประกาศการหยุดยิง 40 วันในช่วงเดือนรอมฎอนข้อตกลงครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ สงขลา ระหว่างวันที่ 10 กรกฏาคมถึง 18 สิงหาคม 2556
 
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการร์ภาคใต้ (DSW) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลาก หลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ช่วงเวลาในเดือนรอมฎอนปี 2556 ถือว่าเป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการปะทุขึ้นของความรุนแรงในรอบเก้าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ข้อตกลงก็ประสบความล้มเหลวที่จะหยุดความรุนแรงในเมื่อยังมีการเสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ105 ราย และมีความไม่สงบเกิดขึ้น 86 เหตุการณ์  
 
 
ความรุนแรงส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงหลังของช่วงเวลา 40 วัน เพราะบีอาร์เอ็นประกาศถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิงในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ข้ออ้างเหตุผลที่ฝ่ายนักรบจะกลับมาปฏิบัติการใหม่นี้มาจากการอ้างว่ามีการปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อสมาชิกของบีอาร์เอ็นโดยฝ่ายความมั่นคง ในขณะที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แยกส่วนกันก่อนหน้าที่บีอาร์เอ็นจะถอนตัวนั้น การเร่งขยายตัวของความรุนแรงก็บังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคม ทั้งในแง่จำนวนครั้งและความเข้มข้นของเหตุการณ์ เรื่องที่โด่งดังมากก็คือคดีสังหารอิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี ซึ่งเป็นอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในที่ชุมชนกลางตลาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะเขาเป็นผู้ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของพวกนักรบอย่างเปิดเผย
 
 
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยว่าการหยุดยิงประสบความสำเร็จในบางส่วนด้วยนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะโต้แย้งได้เช่นกันสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนกรกฏาคมซึ่งรวมไปถึงสัปดาห์แรกๆ ของ การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนก็พิสูจน์ยืนยันให้เห็นว่าเดือนดังกล่าวนี้เป็นเดือนที่เกิดความรุนแรงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ด้วยสถิติที่เกิดเหตุการณ์เพียงแค่ 42 ครั้ง ดังนั้น จะพบว่าเดือนธันวาคม 2550 และเดือนกรกฏาคม 2556 จึงเป็น เพียงสองเดือนเท่านั้นที่เหตุการณ์ความรุนแรงต่ำที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา
 
 
เมื่อพิจารณาจากสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมดและการบาดเจ็บล้มตายในระหว่างเดือนรอมฎอนตั้งแต่ปี 2547-2556 เราสามารถจะกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนปี 2556 นั้นลดต่ำลงจากปีก่อนหน้านี้ กล่าวคือจาก 99 เหตุการณ์ในปี 2555 จนถึง 86 ครั้งในปี 2556 ระดับของการบาดเจ็บสูญเสียก็ยังต่ำลงด้วยจาก 150 ครั้ง ในปี 2555 มาเป็น 134 ครั้ง ในปี 2556 แม้ว่าจะเกิดการเร่งขยายตัวของการก่อเหตุความรุนแรงในเดือนสิงหาคม รายงานความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียระหว่างเดือนรอมฎอนในปีนี้ก็ยังคงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
 
 
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการหยุดยิงจะเดินต่อไปไม่ได้หากไม่มีการติดตามประเมินผลโดยฝ่ายที่เป็นกลางและไม่มีกลไกในการจัดการความขัดแย้งในสภาพที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่เชื่อมั่นไว้วางใจกัน บีอาร์เอ็นอ้างว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรง 11 ครั้ง ที่กระทำโดยฝ่ายความมั่นคงของไทยในระหว่างช่วงแรกของการหยุดยิง ซึ่งข้อกล่าวอ้างนี้ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างหนักแน่นจากฝ่ายไทย ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีข้อมูลสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน ข้อตกลงหยุดยิงขาดกลไกการติดตามประเมินผลการปฏิบัติที่มาจากภายนอกและปราศจากอคติ ในเมื่อไม่สามารถสืบสาวตรวจสอบและหาข้อยุติที่ลงตัวได้ภายในกรอบของข้อตกลง ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็เลือกที่จะถอนตัวออก
 
ในระหว่างทางของความขัดแย้งก่อนหน้านี้ ความรุนแรงมักเกิดขึ้นในจุดที่ร้อนแรง ซึ่งส่วนมากเป็นบริเวณตอนกลางของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เขตอำเภอเมืองยะลา บางอำเภอในจังหวัดนราธิวาส และหลายแห่งที่เริ่มถี่มากขึ้นในจังหวัดปัตตานี การเกิดเหตุความรุนแรงในช่วงเริ่มต้นของการหยุดยิงกลับมีแบบแผนที่แตกต่างไปจากเดิม (ดูภาพประกอบแผนที่สัปดาห์ที่ 1 และ 2 ข้างล่าง) การเกิดเหตุไม่กี่ครั้งในช่วงก่อนที่บีอาร์เอ็นจะถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ ชายขอบหรือบริเวณชายแดนมาเลเซียและเขตอำเภอที่เป็นป่าเขา ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์เกิดในเขตอำเภอเมืองยะลาและปัตตานีเลยเห็นได้ชัดว่าบีอาร์เอ็นสามารถที่จะควบคุมปฏิบัติการความรุนแรงได้ในเซลล์ย่อยๆ ภายในเขตพื้นที่ที่ตัวเองมีความเข้มแข็ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผลกระทบในบริเวณรอบนอกในพื้นที่ซึ่งกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นมีช่องทางที่สามารถที่จะก่อเหตุได้ จวบจนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฏาคมหรือสัปดาห์ที่ 3 ของการหยุดยิง
 
 
 
 
 
 
พลันที่บีอาร์เอ็นประกาศถอนตัวจากการหยุดยิง ความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นในจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ทั้งที่จังหวัดปัตตานีและยะลา นี่เป็นการเน้นให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นสามารถควบคุมในพื้นที่ใจกลางได้มากกว่า พื้นที่ชายขอบซึ่งกลุ่มก่อการย่อยกลุ่มอื่นๆ สามารถปฏิบัติการได้โดยอยู่ภายนอกขอบเขตการควบคุมของตนเอง
 
 
 
 
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
 
การประเมินในระยะเฉพาะหน้านี้ชี้ให้เห็นจุดเด่นของความสำเร็จและความล้มเหลวของการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอน การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของความรุนแรงที่มีผลต่อการเสียชีวิตถือเป็นความสำเร็จเบื้องแรก เพราะจำนวนของผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบไม่เคยต่ำกว่านี้ ตั้งแต่การเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2547 กระนั้นก็ตาม รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นไม่ประสบความสำเร็จในการดำรงรักษาสภาพการหยุดยิงตลอดห้วงเวลา 40 วันตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก
 
ความล้มเหลวบางส่วนเกิดจากสภาพแวดล้อมของข้อตกลงหยุดยิงซึ่งมีจุดบกพร่อง เนื่องจากยังไม่ผ่านกระบวนการเจรจาตกลงกันอย่างเต็มที่ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างมีทั้งได้และเสีย ในทางกันตรงข้ามทั้งสองฝ่ายปฏิบัติการโดยผ่านการแถลงการณ์สาธารณะซึ่งกลับบั่นทอนฐานะของฝ่ายตรงกันข้าม ในขณะที่ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียทำได้เพียงแค่ขยับมืออยู่เบื้องหลังฉาก เป็นไปได้ว่าผู้นำคณะแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นเต็มใจที่จะสนับสนุนข้อตกลงสุภาพบุรุษแบบนี้ แต่มีบางกลุ่มในบีอาร์เอ็นก็มีความไม่พอใจ เพราะพวกเขาได้รับสิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนน้อยมาก น่าเสียดายที่ว่าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันด้วยเช่นกัน
 
ดังนั้น ความล้มเหลวดังกล่าวนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขาดกลไกเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาการละเมิดข้อตกลงที่มี การกล่าวหากัน ผู้เขียนขอเสนอแนะว่าควรจะมีผู้ติดตามประเมินผลภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในอนาคตระหว่างสองฝ่าย สิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญมากในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน
 
รายงานวิเคราะห์นี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้นในพื้นที่นอกจุดปะทุที่ร้อนแรงซึ่งเป็นบริเวณศูนย์กลางกลางเดิม อันเป็นหลักฐานว่าบีอาร์เอ็นประสบความสำเร็จในการควบคุมเซลล์หน่วยย่อยของนักรบในเขตใจกลางของพื้นที่ ทันทีที่บีอาร์เอ็นถอนตัวจากการหยุดยิง ความรุนแรงก็ปะทุขึ้นอีกครั้งในพื้นที่แย่งชิงเหล่านี้ที่อยู่รอบเขตเมืองของยะลาและปัตตานี
 
นัยสำคัญของการวิเคราะห์ครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าข้อมูลสถิตินั้นมีความหมาย ถ้าถูกนำมาใช้และตีความได้อย่างสมเหตุสมผล สถิติจึงมิใช่การโกหกหลอกลวง หากแต่เป็นตัวส่งข่าวสารอันหลากหลายให้ผู้วิเคราะห์ที่มีเหตุผลเพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์ที่มีความพลวัตและซับซ้อน ฟรานซิส เบคอน อธิบายว่า ความจริงนั้นได้มาจากการเข้าใจความคลาดเคลื่อน (error) มิใช่ได้มาจากความสับสน (confusion)” เราจึงต้องเปิดสายตาของเราเพื่อยอมรับความ เป็นจริงที่ต่างกันและปรับแก้ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการวิเคราะห์เชิงประจักษ์เพื่อจะอยู่ในโลกที่ดีกว่านี้ได้ ดังนั้น เมื่อมองจากประโยชน์ของกระบวนการสันติภาพในระยะยาวแล้ว การหยุดยิงครั้งนี้จึงมีความหมายอย่างไม่มีข้อสงสัย  
 
 
File attachment
Attachment Size
dsw_analysis_-_a_meaningful_peace_thai.pdf (998.01 KB) 998.01 KB