Skip to main content
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่ 14
วันจันทร์ ที่  9 กันยายน 2556
โรงแรมตันหยง จังหวัดนราธิวาส
 
ผู้ร่วมสานเสวนา:นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคดำรงไทยพรรคภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาและเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สรุปข้อเสนอแนะจากการสานเสวนาได้ดังนี้
 
ตามที่เลขาธิการ สมช. ได้แถลงว่า บีอาร์เอ็นได้ส่งเอกสารความยาว 30 หน้า ที่อธิบายข้อเรียกร้อง 5ข้อว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และจะมีการพูดคุยรอบใหม่ในเดือนตุลาคมที่คาดว่าจะมีกลุ่มบีไอพีพี และพูโลเข้าร่วมนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าเป็นความคืบหน้าของการพูดคุยที่น่าจะดำเนินต่อไปได้ในบรรยากาศที่ดีเพราะมีการเริ่มพูดคุยกันในประเด็นที่เป็นเนื้อหามากขึ้นและเป็นการขยายการมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นด้วย ในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการพูดคุยนั้นที่ประชุมมีความเห็นดังนี้
 
1)  ควรเปิดพื้นที่การพูดคุยทางการเมืองสำหรับผู้เห็นต่างทั้งที่สนับสนุนฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการฯ ทั้งในและนอกพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อให้การเมืองเป็นวิธีหลักในแก้ไขปัญหา
 
2)  ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญคือการกระจายอำนาจซึ่งสำนักปฏิรูปได้เสนอเอกสาร “ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”สรุปได้เป็น 6 ทางเลือกคือ (ก) การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ศอ.บต. (ข) การตั้งทบวงบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ค) สามนคร 1 (ง) สามนคร 2 (จ) มหานคร 1 และ(ช) มหานคร 2 นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า
 
2.1) ทางเลือก (ก) และ (ข) เป็นการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งควรเริ่มจากการเสริมสร้างความเข็มแข็งแก่ศอ.บต. ก่อน โดยอาจพิจารณาการจัดตั้งเป็นทบวงหรือไม่อย่างไรในลำดับต่อไป
 
2.2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ ศอ.บต. อาจทำได้โดยแก้ไขเพียงระเบียบปฏิบัติเช่น การมอบอำนาจหน้าที่ให้เลขาธิการ ศอ.บต.ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในส่วนของการกำกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมดยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงและศาล การปรับปรุงบริหารงานภายในศอ.บต.ให้เกิดความกระตือรือร้นและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
 
2.3) ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ของ ศอ.บต. มาตรา 3 ในส่วนของนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้”เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรง โดยมีนิยามใหม่ให้หมายความว่าจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และอำเภอจะนะ อำเภอเทพาอำเภอนาทวีอำเภอสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา และควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 ในเรื่องที่มาของเลขาธิการโดยให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนที่ผ่านการเสนอชื่อและการสรรหาส่วนรองเลขาธิการอาจเป็นข้าราชการพลเรือนหรือไม่ก็ได้ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการได้มาซึ่งเลขาธิการและรองเลขาธิการ
 
2.4) รูปแบบมหานคร 1 และ 2 นั้นอาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 78 ที่บัญญัติว่าจังหวัดที่มีความพร้อมสามารถจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มจังหวัดได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดไม่ใช่ในกลุ่มจังหวัด จึงควรรอการพิจารณาในเรื่องนี้ไว้ก่อน
 
2.5) ระหว่างรูปแบบ สามนคร 1 ที่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยคง อบต. และ เทศบาลไว้นั้น น่าจะมีความเหมาะสมและเป็นไปได้มากกว่ารูปแบบ สามนคร2 ที่ให้ยกเลิก อบต. และ เทศบาล ทางเลือกที่คล้าย สามนคร 1คือการมีแผนที่เดินทางเพื่อโอนย้ายอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไปสู่นายกอบจ. ยกเว้นในเรื่องความมั่นคง การต่างประเทศ การคลัง และการศาล เป็นต้นจนในที่สุด นายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ทำหน้าที่เหมือนผู้ว่าฯในปัจจุบันนั่นเอง
 
3) ในเรื่องข้อเรียกร้องของ บีอาร์เอ็น ที่ให้พิจารณาปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงนั้นทราบว่าทางราชการก็กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ในส่วนที่ไม่ขัดกับกฎหายและระเบียบที่มีอยู่แต่หากเรื่องนี้ไปติดขัดอยู่ที่หน่วยงานใดก็ขอให้หน่วยงานนั้นดำเนินการเป็นเรื่องที่รีบด่วนเพราะมีความสำคัญต่อสร้างความไว้วางใจในกระบวนการสันติภาพ
 
4)  ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพเปิดเผยข่าวสารข้อมูลในส่วนที่ผู้ที่พูดคุยอย่างเป็นทางการเห็นพ้องว่าควรเปิดเผยได้ภายใต้หลักการที่ว่าข้อเสนอต่าง ๆยังเป็นเพียงชั่วคราวและปรับเปลี่ยนได้โดยผู้เสนอเองเพราะ “ยังไม่ถือว่าอะไรเป็นข้อตกลงตราบใดที่ยังไม่ตกลงกันทุกอย่างหมด” การเปิดเผยข้อมูลและการเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นจะช่วยให้ข้อตกลงที่จะลงนามกันและได้รับสัตยาบันต่อไปนั้นมีโอกาสที่จะนำไปใช้และมีความยั่งยืนมากขึ้นนั่นเอง