ซอลาหุดดีน กริยา
หลังจากนั่งรอในสำนักงานของเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีประมาณยี่สิบนาที เพื่อรอการเตรียมการจากภายในเรือนจำที่จะจัดเวที Bicara Patani ครั้งที่ 41 ผมมั่นใจว่าแต่ละคนล้วนมีจินตนาการต่างๆนานา เกี่ยวกับสถานที่เราจะไป แต่ก็มีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คงหนีไม่พ้นที่จะมองเป็นสถานที่แออัด อึมครึม และทึบมัว
ในคณะประกอบด้วยตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสถาบันปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา และอาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ อาจารย์ภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้มาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ และผมที่ตูแวดานียาพกมาร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์การเสวนาในครั้งนี้
เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ประสานบอกว่าข้างในพร้อมแล้ว พวกเราผู้มาเยือนจึงเดินตามมายืนรอที่หน้าประตูชั้นที่สอง เป็นประตูที่จะนำเราสู่ดินแดนลี้ลับตามจินตนาการของเรา หลังจากทำตามขั้นตอนของเรือนจำ เราจึงหลุดเข้าในดินแดนที่เป็นเสมือนดินแดนที่ไกลออกจากการรับรู้ทางสมอง ทำให้เกิดปฏิกิริยาเก้ๆกังๆ เงอะงะ เหมือนคนดอยหลงเข้าอยู่ในเมืองกรุง
ทันทีที่ประตูปิดไล่หลังพวกเรา ภาพตรงหน้ากลายเสมือนฆ้อนแห่งความจริงที่เราไม่เคยคาดคิด ฟาดกระหน่ำบนจินตนาการที่ฝังอยู่ในหัวของเราเสียสิ้น จนรู้สึกมึนงง
กลายเป็นว่าเรือนจำกลายเป็นอีกภาพที่เราไม่เคยคาดคิด ด้วยพื้นที่สนามที่โล่งกว้าง ปรอดโปร่ง เป็นสัดส่วนที่แบ่งพื้นที่ต่างๆ ด้วยรั้วตาข่ายเหล็กที่สูงท่วมหัว รอบๆ สนามก็มีอาคารอยู่รายรอบ มีต้นไม้ใหญ่ประดับไว้ประปราย เพียงพอต่อการสร้างความร่มรื่นและสบายตา
ผมเดินตามเจ้าหน้าที่เรือนจำและทีมวิทยากร Bicara Patani ด้วยความเงอะงะเพราะมัวแต่เก็บบรรยากาศภายในเรือนจำไว้เท่าที่จะทำได้ อันเนื่องมาจากเป็นกฎทางเรือนจำห้ามมิให้พกพาอุปกรณ์ใดๆ เข้าสู่ภายในเรือนจำ จนมาถึงอาคารสีขาวหลังใหญ่ ที่ด้านหน้ามีป้ายสีแดง ตัวอักษรสีขาว เขียนว่า “เรือนนอนสีขาว”
เรือนนอนสีขาว เป็นอาคารทรงสูงสีขาว ชั้นบนยกพื้นสูงเป็นที่พักของเหล่านักโทษ ส่วนใต้ถุนอาคารปล่อยโล่งไร้ฝากั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า ชั้นล่างเป็นสถานที่ที่เหล่าผู้ต้องขังความมั่นคงใช้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่จัดโดยเรือนจำ และกิจกรรมที่จัดกันเอง เช่น การเรียนการสอนวิชาการศาสนา
นักโทษความมั่นคง จะแตกต่างจากนักโทษประเภทอื่นๆ จึงได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันออกไป ในช่วงเวลากลางวัน จึงค่อนข้างมีความอิสระในการดำเนินกิจกรรมเท่าที่พื้นที่อันจำกัดจะเอื้อให้ภายในบริเวณรั้วตาข่ายที่ล้อมรอบอาคารสีขาวหลังนี้
♦ มูฮาหมัดอัณวัรหวนคืนเวที
ทันทีที่เราเดินสู่ภายใต้อาคาร มีผู้ต้องขังคนหนึ่งเดินเข้ามาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม โชว์ฟันเขี้ยวอย่างแจ่มใส - มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้เป็นเจ้าของรอยยิ้มนั่นเอง ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมขับเคลื่อนงานทางสังคม ก่อนที่เขาจะโดนพิพากษาด้วยข้อหาเป็นสมาชิกของขบวนการ BRN ในชั้นศาลฎีกา นานสิบสองปี และเป็นบุคคลในชุดการรณรงค์ Free Anwar
หลังจากได้ทักทายและโอบกอดกัน มูฮำหมัดอัณวัร และผู้ต้องขังอื่นๆ ที่เข้ามาทักทายอย่างถ้วนทั่วแล้ว ทั้งหมดจึงเข้าประจำที่ที่ทางเรือนจำจัดไว้สำหรับการเสวนาต่อไป
เวที Bicara Patani มีมูฮาหมัดอัณวัร เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเปิดเวทีด้วยการอ้างถึงโครงการอบรบนักโทษความมั่นคง ภายใต้โครงการ “ยุติธรรมนำสันติสุข” ที่เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และด้วยการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างสรรค์สังคมสู่ความสันติสุข
ทางผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล็งเห็นว่าเวที Bicara Patani ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและด้วยสันติวิธี พร้อมกับนำเสนอข้อเท็จจริงสู่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากในภาวะปกติ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึงแหล่งของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ จึงคิดว่า การได้จัดเวทีนี้ในสถานที่ที่พิเศษแห่งนี้ เป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง
♦ ความเป็นมาของ Bicara Patani
ท่ามกลางผู้ต้องขังคดีความมั่นคงประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25-30 ปี อยู่ในชุดลำลองมีทั้งนุ่งโสร่งและกางเกงวอร์ม สวมเสื้อหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อโปโลสีขาว สกรีนคำว่า “ยุติธรรมนำสันติสุข” ตัวใหญ่ไว้กลางหลัง
หลังจากผู้ดำเนินรายการเปิดโอกาส ตูแวดานียา ตูแวแมแง ก็เริ่มด้วยการเล่าที่มาของเวที Bicara Patani โดยสังเขป
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ปี พ.ศ. 2547-48 ถือว่าเป็นช่วงที่มีความร้อนแรงด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ ทำให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามรัฐอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “สูญเสียสติ” ก็ว่าได้ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย
แต่ด้วยความพิเศษของความขัดแย้งในพื้นที่นี้ก็คือ เป็นสงครามจรยุทธ์ที่ไม่มีกองกำลังที่ชัดเจน จนสร้างความยุ่งยากให้แก่รัฐในการแยกแยะว่าผู้ใดเป็นผู้อยู่ในขบวนการฯ หรือไม่ใช่ จนนำไปสู่การปราบปรามและการจับกุมครั้งใหญ่ แน่นอนว่า ในนั้นย่อมมีผู้บริสุทธิ์ติดร่างแหไปด้วย เช่น กรณีตากใบ
แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ต่อท่าทีของรัฐไทยในช่วงนั้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รัฐไทยไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้การปฏิบัติการย่อมมีความบกพร่อง อันเนื่องจากความร้อนรนจะสลายปัญหาที่รุมเร้าตรงหน้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในส่วนของประชาชนเอง ช่วงเวลานั้นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาวะที่ไร้พื้นที่ทางการเมือง แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปราบปรามของรัฐจำต้องหันหลังให้กระบวนการของรัฐ หันไปร่วมอยู่ในขบวนการของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐ จึงอาจกล่าวได้ว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐ กลับกลายเป็นนโยบายที่ทวีปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนรัฐเองเป็นตัวช่วยสร้างมวลชนให้กับกลุ่มขบวนการฯ
นั่นเป็นที่มาของเวที Bicara Patani ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง ท่ามกลางความรุนแรงและความสูญเสีย ด้วยความหวังว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยหลักสันติวิธี
ด้วยกระบวนการในรูปแบบของโรงเรียนประชาธิปไตย ที่บอกเล่าข้อเท็จจริงและความรู้ที่เกี่ยวกับหลักพื้นฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงรู้ ซึ่งทางทีมงานเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นั่นคือ การพัฒนาบุคลากร มุ่งสร้างสันติภาพด้วยสันติวิธีและด้วยวิธีทางการเมือง เรียกได้ว่าเป็นนักสร้างสันติภาพ (Peace Maker) ที่หมายรวมถึงนักปกป้องสิทธิในตัวเอง แล้วก็สามารถไปปฏิบัติในพื้นที่ได้จริง
♦ เมื่อประวัติศาสตร์พลิกโฉมหน้าใหม่
ตูแวดานียายังกล่าวถึงการจัดเวทีในเรือนจำกลางปัตตานีครั้งนี้ว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ เสมือนสองสิ่งที่ตรงข้ามกัน มาเจอกันในสถานที่และเวลาเดียวกัน
เวทีเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ได้จัดมาแล้วสี่สิบครั้ง แต่กว่าจะมาถึงครั้งนี้ก็ได้ผ่านข้อครหามากมายจากหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคมด้วยกันเอง โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นเวทีที่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มตรงข้ามรัฐที่มุ่งหวังปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ
ในขณะเดียวกัน เรือนจำก็มีความหมายต่อทัศนคติของประชาชนทั่วไป ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมจากอำนาจรัฐ เพราะว่ามีประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายที่ติดร่างแหของการปราบปรามโดยรัฐ จนต้องมาอาศัยอยู่ในเรือนจำ อีกทั้งเป็นที่พำนักสุดท้ายหลังจากได้พิพากษาให้จำคุกตามความผิด จนญาติของผู้ถูกคุมขังรู้สึกไม่ดีต่อเรือนจำ เนื่องจากต้องมาติดต่อเป็นประจำ ประกอบกับความรู้สึกเคลือบแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นเมื่อทางราชการเปิดโอกาสให้จัดเวทีเสวนาปาตานีในเรือนจำครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสลายข้อสงสัยต่อกัน เป็นนิมิตหมายที่แสดงถึงการเริ่มต้นที่รัฐเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเวทีทางการเมือง จนเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์สถานการณ์ชายแดนใต้แห่งนี้
♦ ฮาร่า ชินทาโร่: กว่าจะมาเป็น “กระบอกเสียง BRN”
อ.ฮาร่า ชินทาโร่ ได้เรียกความสนใจจากกลุ่มผู้ฟังได้เป็นอย่างดี บางคนอาจไม่เคยรู้จัก อ.ชินทาโร่ มาก่อน เพราะต้องมาอยู่หลังกำแพง ก่อนที่ อ.ชินทาโร่ จะออกตัวผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีเสวนา โทรทัศน์ หรือในโลกออนไลน์
ด้วยลักษณะเฉพาะของ อ.ชินทาโร่ ที่เป็นคนญี่ปุ่นแต่ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยในการสื่อสาร ทำให้ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ฟังและผู้พูดได้เป็นอย่างดี และคนฟังต้องตั้งใจฟังเนื่องจากสำเนียงที่พูดรัวเร็วของอาจารย์ หากไม่ตั้งใจฟัง ก็จะพลาดประเด็นที่เขาตั้งใจนำเสนอได้
อ.ชินทาโร่ จึงเริ่มการเสวนาด้วยการบอกที่มาที่ไปว่าทำไมอาจารย์จึงสนใจเรื่องราวความขัดแย้งที่ปาตานี และดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับวิถีคิดแบบคนปาตานีมาก ถึงขนาดว่ามีกลุ่มคนที่ไม่พอใจต่อท่าที่ของ อ.ชินทาโร่ ให้ฉายาว่า “กระบอกเสียง BRN”
หลังจากเหตุการณ์ถล่มค่ายนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013 ก็ได้รับการทาบทามให้แปลบทสัมภาษณ์จากสื่อต่างชาติ ในการสัมภาษณ์ภรรยาของนายมะรอโซ จันทราวดี หนึ่งในผู้ปฏิบัติการที่เสียชีวิตจากการโจมตีดังกล่าว แล้วได้ร่วมการสัมภาษณ์ครอบครัวของครูชลธี เจริญชล ผู้ที่โดนลอบยิงในโรงเรียนบ้านตันหยง ขณะที่นำนักเรียนอ่านดุอาอ์ก่อนจะกินข้าวมื้อเที่ยงในโรงอาหาร
สองเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าได้ฉุดกระชากความสนใจของท่านให้โฟกัสต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นเวลาเก้าปี ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ท่านจะวางตัวเองเป็นคนนอกมาโดยตลอด
อาจารย์ยอมรับว่า ก่อนหน้าที่จะได้รับบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ท่านมีแผนที่จะเปลี่ยนที่ทำงานในต่างประเทศ เพราะรู้สึกอิ่มแล้วกับประสบการณ์ในประเทศไทย พร้อมกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ความรุนแรง ที่ท่านมองว่า เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน ส่วนเขาเป็นเพียงคนญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นอาจารย์สอนภาษามลายูในรั้วมหาวิทยาลัย
จุดพลิกผันที่กลายเป็นแรงขับให้อาจารย์ต้องกระโจนเข้าสู่ใจกลางของความขัดแย้ง คือ การได้รับรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านคำพูดของนางรุสนีย์ ภรรยานายมะรอโซ กับภาพของลูกชายวัยสิบหกปีของครูชลธี ผู้นั่งก้มหน้าพลางยกมือป้ายเช็ดน้ำตาอยู่เนืองๆ ตลอดช่วงที่มีการสัมภาษณ์คุณแม่ของเขา โดยมิได้กล่าวอะไรเลยตั้งแต่ต้นจนจบ
เมื่อก่อน อ.ชินทาโร่ มองเหตุการณ์ว่าเป็นเรื่องระหว่างคนไทยกับคนปาตานี แต่เขาเป็นคนญี่ปุ่น เมื่อผ่านเหตุการณ์นั้น เขากลับมองเห็น ความเป็นมนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางความรุนแรง และเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องมารับรู้ความสูญเสียจากความรุนแรง นั่นคือ หญิงหม้ายและเด็กกำพร้า ซึ่งเป็นผลผลิตของความไม่สงบ ณ ชายแดนใต้ ที่เขาเคยกันตัวเองเป็นเพียงคนนอกมาโดยตลอด
“เราต้องทำงานเพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง เพื่อให้เราได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่สันติภาพที่มีการแบ่งชนชั้นแต่อย่างใด”
♦ ตูแวดานียา กับบทวิจารณ์ “หลัง 28 กุมภาฯ”
มูฮาหมัดอัณวัร ผู้ดำเนินรายการได้เปิดโอกาสให้ตูแวดานียาพูดถึงเหตุการณ์หลังจากการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างตัวแทนของรัฐไทยและขบวนการฯ ที่กรุงกัวลาลุมโปร์ ประเทศมาเลเซีย
ตูแวดานียายอมรับว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กรุงกัวลาลุมโปร์นั้น เป็นที่ยอมรับว่า ฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทนของขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวกลุ่มขบวนการ BRN อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าจะมีข่าวจากบางกระแสว่า ฮัสซัน ตอยิบ ในโต๊ะพูดคุยนั้น อยู่ในภาวะจำยอมหรือถูกบีบจากรัฐบาลมาเลเซียร่วมมือกับรัฐบาลไทยให้ร่วมโต๊ะพูดคุยก็ตาม จนเป็นที่วิจารณ์ในหมู่ชาวบ้านว่า โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการฯ นั้นอาจไม่ตอบโจทย์วาระของประชาชน เป็นการมองแบบเคลือบแคลง ระแวง และสงสัย เพราะไม่มีการชี้แจงใดๆ จากฝ่าย BRN
ตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับ BRN มีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “ป้ายผ้า” ที่เกิดขึ้นทั่วสามจังหวัดและสามอำเภอในจังหวัดสงขลา ล้อกับโต๊ะพูดคุยจนเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม เช่น คำว่า “Hak Pertuanan” ซึ่งแปลว่าสิทธิความเป็นเจ้าของ
ปรากฏการณ์ป้ายผ้าดังกล่าว ถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนของ BRN ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ที่ต้องการแสดงจุดยืนของขบวนการที่คู่ขนานกับโต๊ะเจรจาที่นำโดย ฮัสซันตอยิบ
จุดนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า คำ “Hak Pertuanan” ในเงื่อนไข 5 ข้อที่ปรากฏในคลิปวีดีโอที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Youtube เป็นการย้ำความเป็นเจ้าของ ซึ่งหากมีการพูดคุยบนพื้นฐานของการยอมรับความเป็นเจ้าของ ก็จะนำไปสู่ความพึงพอใจในผลของการพูดคุยหรือเจรจาต่อไป ซึ่งบทสรุปของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและขบวนการฯ จะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ย่อมสร้างความพึงพอใจกันในตอนท้ายได้ หากแต่การย้ำ Hak Pertuanan ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือการเจรจาที่ล๊อกสเป็กโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ส่วนเงื่อนไข 5 ข้อเป็นการแสดงเจตจำนงต่อรัฐไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยมีความจริงใจต่อคนปาตานีแค่ไหน เพราะคนกลาง (ตัวแทนของประเทศมาเลเซีย) อยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก แต่ไร้อำนาจใดๆ ที่จะกำกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ทำตามข้อตกลงไว้
เพราะจากประสบการณ์ของอาเจะห์ คนกลางไม่สามารถไปกำหนดให้คู่เจรจาทำตามข้อตกลงได้ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเจรจา ทางอินโดนีเซียก็สามารถบิดพลิ้วข้อตกลงด้วยลูกเล่นทางกฎหมาย เช่น ข้อตกลงการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างอินโดนีเซียและอาเจะห์ เนื่องจากคนกลางในการเจรจาระหว่าง GAM กับอินโดนีเซีย เป็นองค์กรเอ็นจีโอของอดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์
สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ต่อสายตาโลกในปัจจุบัน ก็เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นแล้ว แต่อยู่ในขั้นของการเข้ามารับรู้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยผลักให้รัฐไทยหันมาพูดคุยกับขบวนการฯ ทั้งที่ในตอนแรกตั้งธงว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ กับฝ่ายขบวนการฯ เพราะจะเป็นการยอมรับสถานะของกลุ่มขบวนการในเวทีโลก ถ้ารัฐไทยไม่เปิดให้มีการพูดคุยก่อน ไม่แน่อาจจะถูกเวทีโลกบีบให้พูดคุยก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นคงไม่เป็นผลดีแก่รัฐไทยอย่างแน่นอน
ถึงอย่างไร ณ ปัจจุบัน ท่าทีของต่างประเทศยังคงมองเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศไทย ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงแต่อย่างใด แต่จะให้ความสนใจในแง่มนุษยธรรม เพราะเป็นความขัดแย้งในรูปของความรุนแรง เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธและระเบิดจนทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากมาย
สำหรับฝ่ายขบวนการฯ เอง จำต้องเข้าสู่โต๊ะพูดคุย ส่วนหนึ่งเป็นแรงขับจากอารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ของความขัดแย้ง อันเนื่องจากการอยู่ท่ามกลางสมรภูมิการต่อสู้แบบกองโจร ที่เป็นการต่อสู้กันยืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งอารมณ์ของประชาชนสุกงอมด้วยความทุกข์เข็ญและความสูญเสีย
ซึ่งทั้งฝ่ายรัฐไทยและขบวนการฯ ต้องรีบเร่งในการทำข้อตกลงกัน หากไม่แล้ว อารมณ์ของประชาชนจะหันเหไปสู่การต่อต้านความรุนแรงโดยอัตโนมัติโดยไม่เลือกฝ่าย เป็นปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งที่ต่อต้านทั้งรัฐและขบวนการฯ จนนำไปสู่วิกฤติในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม จนเรามิอาจคาดเดาได้ นั่นเป็นที่มาของการพูดคุย 28 กุมภาฯ ถือว่าเป็นการเปิดเกมการต่อสู้รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า การต่อสู้ทางการเมือง
การต่อสู้แบบกองโจร สามารถต่อสู้ได้เรื่อยๆ จนถึงวันสิ้นโลก แต่จะต่อสู้เพื่ออะไร สู้เพื่อให้ได้สู้หรือสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ แล้วที่สำคัญใครจะทนสู้จนถึงวันนั้นจริง และสงครามเวียดนามถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการสงครามแบบกองโจร แต่ปัจจัยที่นำไปสู่ชัยชนะไม่ใช่เพราะกองกำลังอาวุธเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองอีกด้วย
♦ แนวรบด้านภาษาและวัฒนธรรม
อ.ฮาร่า ชินทาโร่ ได้กล่าวถึงประโยคของ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ “ความจริงใจไม่สำคัญ แต่ว่าอยู่ผลที่จะได้”
การพูดคุยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนของขบวนการปลดปล่อยปาตานี ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ การลงนามในวันนั้น ฮัสซันตอยิบ ลงนามในฐานะตัวแทนของ BRN แต่ก็เป็นตัวแทนของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ (Party B)
ในอดีตรูปแบบของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐมักมีบทลงเอยที่ไม่แตกต่างนัก ไม่ว่าจะเป็นหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ซึ่งเป็นตัวแทนของการต่อสู้ทางการเมือง นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นทนายความให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทั้งสองท่านล้วนทำให้สาบสูญโดยไร้ร่องรอยให้ตามสืบ แต่ส่วนใหญ่มั่นใจว่าเป็นฝีมือของทางรัฐ
นายมูฮาหมัดอัณวาร์ หะยีเต๊ะ ผู้เคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมที่อยู่เคียงข้างประชาชน ก็โดนพิพากษาจำคุกสิบสองปีในฐานะเป็นสมาชิกของขบวนการ BRN ส่วนนายมะรอโซ จันทราวดี ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 16 ศพ ที่ฐานปฏิบัติการฯ อ.บาเจาะ ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ จนตัดสินใจจับอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐในรูปของความรุนแรง
ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นตัวอย่างของรูปแบบผู้ที่รัฐเห็นว่า เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งจะมีรูปแบบลงเอยที่ค่อนข้างชัดเจนว่า จะมีไม่กี่รูปแบบเอง กลายเป็นว่าในอดีตนั่น เพราะนโยบายของรัฐเสียเองที่เป็นการผลักดันให้ผู้เห็นต่างส่วนหนึ่งหันจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านรัฐ ด้วยความหมดหวังต่อการเรียกร้องสิทธิอันควรจะได้ ภายใต้ระบบเปิด
“Berjuang untuk hak-hak kita” อ.ชินทาโร่กล่าวไว้ ก่อนที่จะขยายความต่อว่า
Berjuang มีความหมายกว้าง มันมีความหมายมากกว่าการจับอาวุธมาต่อสู้กัน ยังมี Berjuangan ในทางภาษาและวัฒนธรรม เพราะสิทธิทางภาษานั้นเป็นของเรา เราไม่จำเป็นต้องขอ หากแต่เป็นการเรียกคืน ในภาษามลายูจะใช้คำว่า Menuntut
ปัจจุบันเริ่มเห็นความหวังที่จะเดินสู่สันติภาพ ความรุนแรงเริ่มถูกต่อต้านจากสังคม โดยเฉพาะการโจมตีเป้าหมายอ่อน เช่น ประชาชนที่ไม่มีส่วนของโครงสร้างคู่ความขัดแย้ง ต่อเด็กและสตรี ครู หรือบุคลากรทางศาสนา
ระหว่าง BRN กับรัฐไทยจะต้องร่วมกันสร้างพื้นที่สันติภาพเสียก่อน สร้าง Peace Zone ให้ได้ ประชาชนจึงจะพูดความต้องการอันแท้จริงที่แฝงอยู่ในใจของพวกเขา หากอยู่ในภาวะความรุนแรงดังเช่นปัจจุบัน สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
♦ ข้อสงสัยของผู้อยู่หลังกำแพง
เมื่อเปิดช่วงของการซักถาม ก็มีการถามถึงสถานการณ์การพูดคุยและกระบวนการสันติภาพ หลังจากวันรายออีดิ้ลฟิตรีย์ ดูเงียบๆ ไป ทาง อ.ฮาร่า ชินทาโร่ ตอบว่า การเจรจาครั้งล่าสุดมีการยกเลิก ต่อไปอาจใช้รูปแบบการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการดั่งที่ผ่านๆ มา คือจะไม่นั่งโต๊ะร่วมกัน แต่จะพูดคุยผ่านผู้อำนวยความสะดวก (ตัวแทนมาเลเซีย) แทน
หลังจากมีการยื่นเงื่อนไขห้าข้อ ก็ไม่มีการตอบรับเงื่อนไขดังกล่าวที่ชัดเจน จะมีแต่ทางกองทัพอย่างเดียวที่ออกมาผลักเงื่อนไขนั้น แต่ส่วนของสภาความมั่นคงหรือนายกรัฐมนตรีเอง ยังคงสงวนท่าที
ต่อคำถามว่าประชาชนจะได้อะไรจากการพูดคุยดังกล่าวนั่น ต้องเข้าใจว่ากระบวนการสันติภาพต้องสร้างขึ้นจากสามฝ่าย คือรัฐไทย ขบวนการฯ และประชาชน เราจะได้อะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่า เราได้มีส่วนร่วมแค่ไหน หากเราอยู่เฉยๆ เราก็เป็นได้แค่เหยื่อของสถานการณ์เท่านั้นเอง
แล้วมีคำถามท่าทีขององค์กรต่างประเทศเช่น OIC, ASEAN ว่ามีการให้ความสำคัญต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการฯ แค่ไหน ซึ่งทางตูแวดานียา ได้ตอบข้อสงสัยว่า องค์กรดังกล่าวอาจมีอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ในฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น การกดดันต่อรัฐบาลไทยต่อเหตุการณ์ในบ้านเรา เป็นเพียงพิธีการมากกว่า โดยเฉพาะ ASEAN ในกลุ่มประเทศสมาชิกของอาเซียนล้วนมีปัญหาที่ใกล้ๆ เคียงกัน จึงเข้าทำนอง ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ จึงจะไปคาดหวังอะไรมากไม่ได้
จากนั้นมีการฝากเสียงมายังโลกภายนอก โดยนักโทษผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นยืนมาพูดว่า อยากให้ประชาชนมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง และจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อที่ประชาชนได้ลืมตา มีความกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ตนเองต้องการ ที่สำคัญเป็นองค์กรที่ประกันความปลอดภัยของประชาชนด้วย
♦ บทส่งท้าย
จากการได้ติดตามเวทีเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ผมได้เห็นธรรมชาติของการเคลื่อนไหวขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลพ่วงจากการพูดคุยสันติภาพโดยรัฐไทยและขบวนการฯ ที่มุ่งสร้างแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงฟ้าเปิดแก่การขับเคลื่อนภาคการเมืองในพื้นที่
แต่เวทีเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ยังคงแบกข้อครหาต่างๆ นานา จากผู้ที่เฝ้ามองด้วยความอคติทั้งฝ่ายความมั่นคงหรือภาคประชาสังคมเอง ที่ไม่เข้าใจเจตนาของผู้จัด ด้วยข้อหาว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ
แต่ภารกิจที่ผมได้ฟังจากการถ่ายทอดของตูแวดานียา ว่า ประชาชนสองล้านคน ที่ถูกกล่าวอ้างทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการฯ จะต้องตื่นตัวและตื่นรู้ได้แล้วภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะได้เข้าใจสถานการณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นภาวการณ์ที่พวกเขาจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่อยู่นอกวงของกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยหรือเรื่องทางการเมือง ด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อปากท้องของตนเอง จึงกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ มากไปกว่าการเลือกตั้งเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดรุก เพื่อให้ความรู้แก่พวกเขา เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน บีบบังคับให้พวกเขาต้องการที่จะรู้เรื่องการเมืองและข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งพวกเขาเองตกเป็นฝ่ายถูกกล่าวอ้างมาโดยตลอด
หากการจัดเวทีเสวนาปาตานี ส่วนใหญ่จะจัดในพื้นที่หมู่บ้าน ในเขตชุมชนที่ล่อแหลม เลยถูกทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการปลุกระดม ทั้งๆ ที่ผู้จัดเองก็พยายามเผยแพร่ว่า เนื้อหาที่พูดคุยในวงเสวนา ไม่มีวาระแอบแฝงแต่อย่างใด และเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
ดังนั้นในการจัดเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ในเรือนจำ เป็นการยืนยันเจตนาของผู้จัดว่า ประเด็นของเสวนาปาตานี เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ว่าจะจัดที่ไหนๆ ไม่ว่าในหมู่บ้านสีแดง หรือในเมือง ในมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งในเรือนจำ ก็จะเป็นการพูดคุยในระดับเดียวกัน
ผมจึงหยอดว่า หากมีจดหมายจากค่ายอิงคยุทธบริหาร เชิญทีมเวทีเสวนาปาตานี ไปจัดในค่ายอิงคยุทธฯ จะไปหรือเปล่า ตูแวดานียายิ้มพลางตอบว่า “ต้องไปอยู่แล้ว” ♦