ตูแวดานียา ตูแวแมแง
หลังจากการออกมาประกาศจุดยืนต่อการพูดคุยสันติภาพผ่านยูทูบของบุคคลสวมเครื่องแบบทหารและปิดบังใบหน้าภายใต้การอ่านแถลงการณ์ BRN เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ถือได้ว่าสถานการณ์ของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN อยู่ในภาวะเงียบหงอยและสับสนกับกระแสข่าวลือต่อเงื่อนไข 5 ข้อของ BRN
บ้างก็ว่าโต๊ะการพูดคุยได้ล้มลงแบบไม่เป็นท่าแล้วเพราะ ผบ.ทบ. ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง บ้างก็ว่าสมช.ไทยสามารถประคองโต๊ะการพูดคุยได้ ด้วยการตอบรับเงื่อนไขของ BRN แต่ยกเว้นข้อ4ข้อเดียวซึ่งทางสมช.ไทยยังตอบรับไม่ได้เพราะอ้างว่าความหมายของคำว่า “สิทธิความเป็นเจ้าของ” ยังไม่ชัดเจน บ้างก็ว่าจะมีการพูดคุยกันต่ออย่างเป็นทางการหลังเทศกาลรายอฮัจญี
ล่าสุดหลังจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีแผ่ข้อมูลความเคลื่อนไหวของคณะพูดคุย BRN ได้ส่งเอกสารว่าด้วยเนื้อหารายละเอียด 5 ข้อเงื่อนไขไปยังคณะพูดคุยรัฐไทยโดยผ่านตัวกลางทางรัฐบาลมาเลเซียซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยสะดวก ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 38 หน้า แต่ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์นั้นเป็นเพียงบทสรุปเท่านั้น รายละเอียดทั้งหมดทางสมช.ขอสงวนสิทธิในการเผยแพร่ไว้ก่อน
แต่มีกระแสข่าวลือต่อเอกสาร 38 หน้าดังกล่าวเหมือนกันว่าไม่ได้มาจาก BRN แต่มาจากทางผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเองเป็นคนร่าง
ถึงแม้ว่าสถานะของกระแสข่าวลือนั้นไม่สามารถที่จะให้การยอมรับและเชื่อถือได้ แต่กระนั้นก็ตามไม่มีใครปฏิเสธได้เหมือนกันว่าทุกกระแสข่าวลือนั้นมีมูลข้อเท็จจริงอยู่ แค่เพียงว่าเนื้อหาของข่าวลือนั้นจะได้รับการนำเสนอโดยสื่อกระแสหลักหรือไม่
ทั้งนี้เนื้อหาโดยสรุปของเอกสาร 38 หน้า ที่สื่อกระแสหลักนำเสนอว่าเป็นเอกสารของ BRN นั้น เป็นการแสดงจุดยืนต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพในมิติการต่อรองแบบประนีประนอม ชนะ-ชนะ หรือ แพ้-แพ้ โดยมีใจความดังนี้
ข้อที่ 1 เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับบีอาร์เอ็นเป็นผู้แทนของประชาชนปัตตานี ซึ่งเป็นองค์กรปลดปล่อย ไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญไทย และระบุคำว่าปลดปล่อยหมายถึงสิทธิ และเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ วิถีชีวิตของชาวมลายูที่จะไม่ถูกกดขี่ และทำร้ายจากผู้มีอำนาจ มีเสรีภาพในการศึกษาและทำธุรกิจ
ข้อที่ 2 ให้มาเลเซียเปลี่ยนสถานะจากผู้อำนวยการความสะดวกการพูดคุยมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของการพูดคุย และเพื่อให้เกิดการยอมรับจากชุมชนนานาชาติ หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะยุติโจมตีหน่วยรักษาความปลอดภัยครู
ข้อที่ 3 ให้มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เป็นพยาน หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการพูดคุยสันติภาพในอนาคต
ข้อที่ 4 ให้รัฐบาลรับรองปัตตานีเป็นชาติบ้านเกิดและเป็นอธิปไตยของชาวมลายูปัตตานี ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐสยามเข้ามาครอบครองปัตตานีและละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้โอกาสแก่ชุมชนมลายูได้บริหารพื้นที่ โดยการตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย เช่น กรุงเทพฯ และพัทยา โดยให้รัฐสภาพิจารณา เอกสารของบีอาร์เอ็น ยังระบุด้วยว่าหากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทั้งปวงในปี 2557 ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้ พื้นที่ จ.สงขลา เริ่มเดือนม.ค. พื้นที่ จ.ยะลา เริ่มเดือนเม.ย. พื้นที่ จ.นราธิวาส เริ่มเดือนก.ค. และพื้นที่ จ.ปัตตานี เริ่มเดือนต.ค.
ส่วนข้อที่ 5 ให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง และยกเลิกหมายจับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยบีอาร์เอ็นจะเป็นฝ่ายแจ้งชื่อและให้ฝ่ายไทยช่วยตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะวางอาวุธอย่างเป็นทางการ และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในทุกมิติ (อ้างอิงจากข่าวสดรายวันวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8325)
หากว่าเนื้อหาเงื่อนไขห้าข้อที่ได้ขยายความข้างต้นเป็นความประสงค์ของทาง BRN จริง และทางรัฐไทยก็รับได้ เสียงปืนเสียงระเบิดที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีก็จะสิ้นสุดลงในปี 2557 ก่อนประชาคมอาเซียนจะมาถึง 1ปีแน่นอน แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมทาง BRN ถึงยอมยุติการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์การปลดปล่อยชาติจากการล่าอาณานิคมหรือเพื่อเอกราชปาตานี ด้วยการเรียกร้องออโตโนมีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
ทั้งๆท่าทีของรัฐไทย (Thai State) เองยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยอมรับสถานะของ BRN นั้นเป็นคู่เจรจาตามวาระแห่งชาติซึ่งต้องมีมติเห็นชอบจากรัฐสภาที่แสดงถึงความจริงใจว่าพร้อมที่ปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับข้อตกลงบนโต๊ะเจรจา ประกอบกับสภาพโดยรวมของประสิทธิภาพของปีกกองกำลังติดอาวุธแบบจรยุทธ์และปีกการเมืองที่มีหัวใจสำคัญคือการหนุนเสริมจากขบวนมวลชนจัดตั้งยังถือได้ว่าไม่ได้เสียเปรียบ
ในทางกลับกันสภาพปัจจุบันนั้นพร้อมที่จะพลิกเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยยุทธศาสตร์สงครามประชาชนและสามัคคีสากลด้วยซ้ำ อีกห้าปีหรือสิบปีข้างหน้าเชื่อว่าทาง BRN ยังสามารถยืนระยะในการต่อสู้ได้ และที่น่าแปลกใจต่อการตัดสินใจกำหนดจังหวะก้าวเพื่อรุกทางการเมืองของ BRN ด้วยการเรียกร้องออโตโนมีภายใต้รัฐธรรมนูญไทยในภาวะที่สภาพโดยรวมของความมั่นคงของรัฐไทยยังมีเสถียรภาพ
ถ้าเปรียบเทียบกับการต่อสู้ในที่อื่นๆเช่นติมอร์-ติมอร์ หรืออาเจะห์ จะเห็นได้ว่าการรุกทางการเมืองของขบวนการปลดปล่อยชาติจากการล่าอาณานิคมของทั้งสองที่นั้น ได้เลือกช่วงเวลาภาวะทางการเมืองของคู่ต่อสู้อยู่ในภาวะสูญญากาศทางการเมือง กล่าวคือ การเรียกร้องประชามติจนเป็นที่มาของเอกราชติมอร์-ติมอร์ปี1998 และการเรียกร้องประชามติของประชาชนอาเจะห์เรือนล้านปี 1999 จนสถานะของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ (GAM) ยกระดับเป็นคู่เจรจาโดยมีองค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งสองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีซูฮาโตถูกโค่นลงจากอำนาจโดยประชาชน
แต่ทว่าเอกสาร 38 หน้าดังกล่าว เนื้อหาข้างในนั้นหากไม่ได้เป็นความประสงค์ของ BRN แต่มาจากความประสงค์ของมาเลเซียกับรัฐบาลไทยร่วมมือกันเพื่อวาระของผลประโยชน์ร่วมต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ปาตานีและเพื่อวาระผลประโยชน์ของอาเซียน แน่นอนว่าจากทิศทางที่หวังให้เกิดการยุติการต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบปฏิรูปการปกครองใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ย่อมกลับกลายเป็นการยิ่งเพิ่มเงื่อนไขให้เกิดภาวะการณ์บีบทาง BRN ต้องเพิ่มระดับการโจมตีทางกองกำลังและระดับการดำเนินการยุทธศาสตร์สงครามประชาชนพร้อมๆกับยุทธศาสตร์สามัคคีสากลโดยปริยาย
และเมื่อประชาคมอาเซียนมาถึงสภาพของแหล่งอาหารโลกแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งที่ปาตานีหรือชายแดนใต้ของประเทศไทยก็ยังคงสภาพความเป็นวัตถุดิบอันบริสุทธิ์จากความเร่าร้อนของโลกทุนนิยมเสรีอิงรัฐนิยมในความเป็นอาเซียน แต่การทำธุรกิจค้าขายต่างๆแบบทุนนิยมเสรีในภาวะที่ประชาคมอาเซียนมาถึง ก็คงต้องคอยหลบหลีกกระสุนปืนและระเบิดพลางๆ ค้าขายพลางๆ กระมัง
ถึงเวลาแล้วที่ทั้ง BRN และรัฐไทย ต้องยอมรับความจริงว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ประชาชนปาตานีโดยรวมยังไม่รู้สึกร่วมว่าเป็นสันติภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าตราบใดที่ตามท้องถนน ตามป้ายริมถนน ตามหัวสะพาน ตามเสาไฟฟ้า และตามต้นไม้ ยังเป็นพื้นที่การสื่อสารของเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนปาตานี
แล้วกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ทราบว่าเพื่อสันติภาพของใคร...?