Skip to main content

เสวนา “ตานี มีแชร์”

20 กันยายน 2556 ณ ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี

 

วิทยากร:
อาจารย์ Hara Shintaro คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

อาจารย์ บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

คุณนวลน้อย ธรรมเสถียร FT Media

คุณอันธิฌา แสงชัย ร้านหนังสือบูคู ดำเนินรายการ
(การถอดเทปเสวนานี้จะแบ่งเป็นสามส่วน)

 

อันธิฌา: สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเพจ “มานี มีแชร์” ซึ่งมีชื่อเสียงมากในโลกออนไลน์ในปัจจุบัน มานีมีแชร์ มาจากหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6

[รูปแบบเรียนภาษาไทย] เข้าใจว่าเริ่มใช้หนังสือชุดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ซึ่งเพจมานีมีแชร์ได้หยิบเอา Character ของตัวละครในหนังสือนี้มาใช้ ผู้ที่เขียนหนังสือเรียนชุดนี้คือคุณรัชนี ศรีไพรวรรณ ส่วนผู้วาดภาพประกอบมีสามท่านคือ คุณเตรียม ชาชุมพร คุณโอม รัชเวช และคุณปฐม พัวพิมล ส่วนมานีนี่เขาก็มีนามสกุลด้วยนะคะ มานี รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น, ชูใจ เลิศล้ำ, และวีระ ประสงค์สุข แล้วก็มีตัวละครที่เป็นสัตว์เช่นเจ้าโต เจ้าจ๋อ เจ้าแก่ และสีเทา เพจมานีมีแชร์นำเสนอภาพที่ล้อเลียนการเมืองและวัฒนธรรมซึ่งแตกตัวออกมาจากเพจ “ทวงคืนเทือกเขาอัลไต” มานีมีแชร์ เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2556 แค่ไม่กี่วันก็มียอด like เป็นหมื่น และในปัจจุบัน (เมื่อเช้านี้เอง) มียอด like สูงถึงหนึ่งแสนกว่าๆ ข้อมูลบทสัมภาษณ์แอดมินจากประชาไททราบว่ามีผู้วาดภาพ 1 คน และผู้ดูแลเพจ 2 คน เข้าใจว่ามีทีมงานที่คอยปรึกษากันเกี่ยวกับประเด็นที่นำเสนอในภาพด้วยนะคะ แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนักเพราะเก้าอี้ในมือของแอดมินสั่นเสียก่อน ถ้าสัมภาษณ์ต่อก็อาจจะถูกฟาดด้วยเก้าอี้ได้นะคะ นอกจากนั้นก็มีการพูดถึงเพจมานีมีแชร์ในรายการดีว่าส์ฯ ใน Voice TV ซึ่งคุณแขก คำ ผกา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามานีมีแชร์เป็นแบบเรียนทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์การเมืองยุคหลังรัฐประหาร 2549

 

          นอกจากนั้นยังมีเพจอื่นๆที่ล้อเลียนในมุมกลับ [มานีฯบทที่ ๕๒] เช่น มานีมีเงิน มานีมีเพชร มานีมีงง และก็มานีมีนม อันนี้เน้นภาพซึ่งเป็นเพจโปรดของ อ.ชินทาโร่ รูปนี่คัดมาอย่างดี รับประกันต้องมีนมทุกรูป และ มานีมีหม้อ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เปิดให้บริการจริงๆ ขายอาหารคล้ายๆสุกี้นะคะ

 

ส่วนรูปนี้ [Chair (1977), Neal Ulevich] เอามาให้ดูเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของ “เก้าอี้” ซึ่งเป็นสัญญะที่ใช้ในมานีมีแชร์ เป็นภาพถ่ายของ Neal Ulevich ซึ่งได้รับรางวัลพูลิเซอร์ในปี 1977 หรือ 2520 เป็นภาพในเหตุการณ์เดือนตุลา 2519 ซึ่งมีการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นรูปศพของนักศึกษาท่านหนึ่งถูกแขวนไว้บนต้นไม้และถูกฟาดด้วยเก้าอี้ค่ะ ต่อไปขอเชิญอาจารย์บัณฑิตช่วยวิเคราะห์เพจมานีมีแชร์ค่ะ

 

บัณฑิต: ผมอ่านงานของ Hutcheon ซึ่งพูดถึงศิลปะ Postmodern เกี่ยวกับศิลปะ Parody หรือ Irony ในบทหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับวรรณกรรม Postmodern เขาบอกว่ามันเป็นศิลปะแบบชั่วคราว การทำซ้ำ การเลียนแบบ สิ่งที่มันมีอยู่แล้ว นำมาบิดมาปรับให้มันบิดเบี้ยว ทำเพื่อการขาย อันนี้เรายังไม่ได้เข้าเรื่องมานีมีแชร์นะ พูดทั่วๆไปก่อนมันมีงานหลายประเภทเช่นนิยายเรื่องคู่กรรม หรือนิยายต่างๆที่ไปเอา gag ของวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่แล้วเอามาขยายเปลี่ยนตัวละครใหม่ ซึ่งคนอ่านมาเยอะ ดูมาเยอะก็ได้ประโยชน์

          พอมาดู มานีมีแชร์ เราไม่ได้พิจารณาว่าเป็นศิลปะหรือไม่เป็น สูงส่งหรือไม่ แต่เรากำลังดูการทำงานของมันและมันเกิดขึ้นมาได้ยังไงเป็นประเด็น Discursive Communities: How irony “happens”? การเกิดขึ้นมาของมานีมีแชร์ในสังคมสื่อสาร คำพวกนี้เป็นคำใหม่ๆอาจารย์ภาษาไทยบอกผมว่า irony น่าจะแปลว่าแย้งย้อน ส่วน parody น่าจะแปลว่ายั่วหัว คือมันเดินเรื่องไปอย่างนี้แล้วมันแย้งกลับมา มันตีกลับ หรืออาจจะหมายถึงการเสียดสี ล้อเล่น ประเด็นคือเรามักรู้สึกว่ามันไม่ค่อยจริง เรื่องมันไม่ตรงกับความจริงเท่าไหร่ มันเหนือจริง ลดทอนความจริง ดูเป็นเรื่องตลก เราถามว่ามันมีความจริงอยู่ไหม? ก็ต้องยอมรับว่ามันมีการสื่อสารออกมาจริงๆ ที่ผมพูดประเด็นนี้เพราะจะมีบางคนมองว่าเรื่องนี้มันไร้สาระ แต่ถ้าเกิดมันมีการสื่อสารออกมาจริงๆแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องโกหก หลอกลวง จินตนาการ เรื่องแต่ง เรื่องเพ้อฝันทั้งหมด ถามว่ามันมีความจริงในระดับไหน? มันมีความจริงในแง่ของการสื่อสาร แล้วคนอ่านมัน คนดูมัน เราต้องพิจารณาในฐานะที่มันเป็นความจริงในแง่นั้นไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ คนกด like รวมกันเป็นล้านนี่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

          ดังนั้นการเข้าไปดูภาพหรือศิลปะพวกนี้ เข้าไปถอดความหมายออกมาตรงๆไม่ได้ เพราะมันทำงานอีกแบบหนึ่งไม่ใช่การสื่อสารตรงๆ เป็นเรื่องของการ (re)learn การกลับด้าน การเรียนรู้ใหม่ การทำความเข้าใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นความหมายของมันไม่ได้หยุดนิ่ง พอดูรูปในครั้งแรกคุณจะเกิดสภาวะหนึ่ง เฮ้ย เขากำลังบอกอะไร อย่างรูปเจ้าโตโหนต้นยาง

[มานีฯบทที่ ๖๒] คนที่ไม่พอใจมากๆอย่างชาวสวนยางก็จะรู้สึกอย่างหนึ่ง อีกคนอาจมองว่ามันมีการเมืองอะไรมาเกี่ยวข้อง จะเกิดการคาดการณ์ คาดเดา จินตนาการ แล้วพยายามจะหาความหมายที่เขาส่งสารออกมา แต่ในที่สุดคนที่รับสารแล้วแปลความก็เป็นการแปลความของแต่ละคนเอง เมื่อส่งข้อมูลออกสู่สังคมผ่านสื่อกลางหรือ media คำพูด ข้อเขียน ภาพที่มากับสื่อ ได้ลอยตัวออกไปจากความหมายที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ สิ่งที่สื่อออกมาแล้วก็จบแล้วและมันลอยหายไปสิ่งที่เหลืออยู่คือความหมายที่เราคิด เมื่อเวลาผ่านไปคุณอาจจะลืมและสิ่งที่คุณคิดก็จะไม่สามารถซ้อนกันสนิทกับสิ่งที่คุณคิดในครั้งแรก การรับสารของผู้ชมจึงมีลักษณะสุ่มแบบตามอำเภอใจ และแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกันอย่างมากของ “ภาษา” (มุข มุม แก็ก ภาษาแทน) ที่จะถูกนำมาใช้ ซึ่งไม่ใช่ตามอำเภอใจแบบไร้ทิศทางนะฮะ พอเราดูภาพความหมายมันเกิดขึ้นแบบ random ไม่สามารถเจาะจงอะไรได้ว่าคืออะไรแน่ๆแล้วมันมาสอดคล้องกับจินตนาการกับประสบการณ์ของเรา ตัวภาพและจินตนาการของเรามาซ้อนทับกัน เสร็จแล้วก็เกิดความหมายที่หลุดออกมาในช่วงหนึ่งในความเข้าใจของเรา ซึ่งเป็นของแต่ละคน และทำงานผ่านภาษา และตัวภาษานี่มันมี community of language ชุมชนของการใช้ภาษา

          ลักษณะของ irony และ parody จึงแตกต่างกันออกไป เช่นการเบี่ยงเบนโดยใช้การยั่วหัว เยาะเย้ย ถากถาง ทั้งวรรณคดี การ์ตูน

[มานีฯบทที่ ๕๔] ในชุมชนหนึ่งเห็นภาพนี้เป็น irony แต่อีกชุมชนหนึ่ง “มันไม่ตลกเลย” โตไม่พอใจ โตไม่พอใจ พวกเหยียบย่ำธงชาติไทย โตนี่เครื่องบินกองทัพอากาศ จะให้มานีบอกมั้ยว่าใครนั่งเครื่องนี้ แล้วก็ทุบหัวโต เหมือนกับภาพโหนต้นยางคือมีทั้งคนที่ไม่พึงพอใจ มันไม่ดี มันเลว ไม่น่ามาพูดเรื่องนี้เลย แต่คนที่ไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้มองว่าเป็นเรื่องตลก สนุกดี แสบ แรง อีกกลุ่มก็ว่ามานีขายชาติอะไรอย่างนี้ ก็มองต่างกัน

อีกภาพหนึ่ง [มานีฯบทที่ ๕๖] โตวิ่งเป็นวงกลม มีเทวดาที่เหมือนหุ่นกระบอกแบบที่ต้องถูกชักใย ซึ่งนั่งขี่หลังโตตัวแรก ถ้าจำสถานการณ์ได้ช่วงนั้นจะมีหน้ากากขาว มันยั่วหัวตรงที่ไม่มีทางหรอกที่พวกนี้จะไล่กัดทักกี้ได้ วิ่งเป็นวงกลมอย่างนี้ ทักกี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องด้วยซ้ำถ้าดูความหมายในภาพ เทวดาที่นั่งอยู่เอาทักกี้มาไว้ตรงหน้าเจ้าโตตัวแรกให้เจ้าโตตัวอื่นๆวิ่งตาม อาจจะใช่ทักกี้หรือไม่ใช่เราไม่รู้ มันเป็นของหลอก และภาพนี้ [มานีฯบทที่ ๖๐]

 

อันธิฌา: ต้องเป็นคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ Back to the Future มาแล้ว ถึงจะเข้าใจนะคะ

 

บัณฑิต: มันมี community of language มีประสบการณ์ร่วมในการรับรู้เรื่องพวกนี้ ถ้าอยู่ๆเราไปเปิดให้ชาวบ้านดูเขาอาจไม่เข้าใจ ส่วนภาพต่อไปเจ้าโตโมบาย [มานีฯบทที่ ๕๙] มานีงงว่าจะตัดตรงไหนดี แล้วก็มีเจ้าโตใส่หน้ากากขาวถูกแขวนไว้ รูปที่ดูทั้งหมดไม่ใช่เป็น parody บางรูปก็บอกเราตรงๆเลย อย่างรูปตีกระจกรถมันมาพร้อมข่าวการชุมนุมของชาวสวนยาง

          Hatcheon เรียกว่าวาทกรรมแย้งย้อน (ironic discourse) ไม่ใช่แค่ศิลปะการเปลี่ยนกลายร่างหรือบิดรูปเปลี่ยนร่าง (altered/ distorted) ให้นึกถึงตอนที่ไอ้มดแดงกำลังกลายร่าง (หัวเราะ) การดูรูปแล้วมันไม่นิ่งดูอีกทีมันก็เปลี่ยนไปแล้วอย่างนี้นะฮะ และที่สำคัญคือการเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีความแตกต่างกัน คนสร้างงานก็เป็นคนที่อยู่ในสังคม ในแต่ละสังคมก็ไม่เหมือนกัน ในสังคมที่ใหญ่ก็จะมีสังคมย่อยๆซ้อนกันอยู่เต็มไปหมดเลย บางเรื่องชาวบ้านในชนบทเขาไม่เข้าใจแต่บางเรื่องเขาก็เข้าใจ สังคมนี้ก็หมายถึงการสื่อสาร สื่อต่างๆ ภาษา gag หรือมุขตลก แต่ละสังคมก็มีแบบเฉพาะของตัวเองไม่เหมือนกัน ในสังคมมลายูก็มีมุขตลกเกี่ยวกับซีแย ในสังคมซีแยก็มีมุขตลกเกี่ยวกับมลายู มีลักษณะที่คุณค่าหรือ norm บรรทัดฐานต่างๆมันปะทะกันอยู่ตลอดเวลา

          คนที่ทำงานเหล่านี้เขาก็อยู่ในสังคมนั้นแหละแต่สิ่งที่เขาทำคืออะไร? ก็คือการถอดตัวเองหลุดออกมาจากสังคมแล้วมองมันอีกที เล่นกับมัน เราจึงไม่สามารถเข้าใจมันแบบพื้นๆได้ ต้องเข้าใจจากความหมายที่ประกอบขึ้นด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน คนสร้างงานกับคนดูหรือคนถอดความหมายจริงๆแล้วมีความเชื่อมโยงกันอยู่ คนสร้างงานดึงตัวเองออกมาจากสังคมแต่ขณะเดียวกันเขาก็พยายามสร้างสะพานเชื่อมไปสู่คนที่ดูงาน แล้วมันก็เกิดคนดูที่ทั้งพอใจและไม่พอใจ เจ็บปวด โมโห โกรธก็ได้ ภาพที่สร้างขึ้นมันมีทั้งเรื่องที่พูดและไม่พูด แต่มันรวมเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่พูดอาจจะไม่ได้หมายถึงหรือไม่ได้ให้ความสำคัญแต่สิ่งที่หลีกเลี่ยง ข้าม หรือไม่พูดถึงต่างหากที่เขาต้องการสื่อสาร

          ถ้าเราไม่เข้าใจบรรทัดฐานหรือเนื้อหาต่างๆในสังคมนั้น เราก็จะไม่เข้าใจภาพที่สื่อออกมา ดังนั้นชุมชนหรือสังคมนั้นเองที่เป็นแหล่งสร้าง irony ชุมชนคือบริบทของสังคม คือตัวแปรสำคัญว่าเราจะสื่อสารกันอย่างไร ซึ่งมีโครงสร้างของบรรทัดฐานที่ไม่ได้เป็นอิสระจากสังคม การสร้างศิลปะมาจากวาทะกรรม และวาทกรรมมาจากการปฏิบัติทางสังคม จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมกับสถานการณ์เฉพาะ วาทกรรทก่อตัวเครื่องหมายจากบริบทโดยกว้างของเครือข่ายสถาบัน การผลิตวาทกรรมคือการเข้าไปควบคุมอีกครั้งหนึ่ง จากสิ่งที่เคยถูกควบคุม โดยเข้าไปเลือก จัดระบบ และแพร่กระจายมันใหม่ ก็คือการเลือก การทำซ้ำ บางครั้งเหตุการณ์ที่อยู่ในสังคมก็ถูกควบคุมการสื่อสารข่าวสารไปแล้วชั้นหนึ่ง ศิลปินเอาสิ่งเหล่านั้นมาเขย่ามันใหม่แล้วแพร่กระจายมันอีกครั้งหนึ่ง

[มานีฯบทที่ ๖๔] อันนี้ก็เป็นข่าวที่สัมภาษณ์คนภาคใต้ที่บอกว่าคนอีสานกินข้าวกับน้ำปลาก็พอแล้วแต่ที่นี่มีอาหารหลากหลาย คือมานีเป็นอะไรก็ได้ อันนี้เป็นคนอีสาน ข่าวที่เสนอก็พยายามสะท้อนให้เห็นความคิดของคนประท้วง ซึ่งเขาก็ยั่วหัวไปที่คนอีสานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการประท้วงของตัวเอง มานีมีแชร์ก็จับตรงนี้แล้วโยนมันกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

          [มานีฯบทที่ ๔๕] “เจ้าโตขอบอกมานีต้องลอง แล้วจะรู้มันฟินขนาดไหน” รูปนี้ดูข้างล่างคือมันเป็นจินตนาการล้วนๆ แต่ว่าจำเป็นต้องเป็นจริงไหม อย่างที่เราพูดตอนแรกว่ามันเป็นจริงเมื่อมันคือการสื่อสาร มันมีการกดขี่ การส่งเสริม สนับสนุน การเรียกเข้า การกันออก ถ้าไม่ยอมรับก็ต้องออกไปอย่าอยู่ประเทศไทยสิ มันจะมีคำประเภทนี้ตลอดเวลา ภาพด้านบนคือสิ่งที่เห็นเป็นปกติ แต่จินตนาการที่ซ้อนอยู่คือภาพด้านล่าง ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดได้ มันไม่ใช่ความเป็นจริงเชิงวัตถุวิสัยที่ใช้ได้ในโลกความเป็นจริงแต่คนก็ยังจินตนาการถึง แล้วโลกจินตนาการกับโลกความเป็นจริงมันก็ไม่ได้แยกออกจากกัน มันปนกันอยู่

          [มานีฯบทที่ ๕๑] “ใครบอกโตว่ามานีใจดี” คนที่ไม่ชอบให้มานีตีโตก็เห็นใจสงสารสุนัข ผมก็มีเพื่อนที่เขาทำงานต่อต้านการจับสุนัขไปกินแต่เขาก็ไม่รู้สึกอะไรกับรถขนวัว หมู ไก่ ซึ่งมันก็ทรมาน

 

ตูแวดานียา ตูแวแมแง (สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา): รถขนคนตอนตากใบด้วย...

 

บัณฑิต: ใช่ๆ อันนั้นก็ใช่ คือไม่รู้สึกอะไรกับประเด็นที่มันซีเรียสมากๆแต่รู้สึกกับสุนัข ตอนนี้ก็มีกลุ่มรักควายพยายามซื้อควายจากโรงฆ่าสัตว์ จริงๆผมก็โตมากับการเลี้ยงควายที่เมืองกาญจนฯ คือเราใจดีเพราะเราอนุรักษ์ควายแต่เราสามารถเมินเฉยได้กับสิ่งอื่นๆ เราอาจจะไม่ได้สนใจมันเลย หรือมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องกันก็ได้ แต่บางคนก็อาจจะยังยืนยันว่ายังไงก็ตามไม่น่าให้มานีใจร้ายถึงแม้จะเป็นการสื่อสาร นี่ก็อีกรูปหนึ่ง [มานีฯบทที่ ๔๐] ก็พยายามจะบอกว่าบ้านมันมีปัญหา แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแบบเจ้าโตคือทำลายบ้านทิ้งซะก็คือการรัฐประหาร หลังการรัฐประหารก็มีการต่อสู้ของประชาชน อันนี้มานีก็กลายเป็นตัวแทนของการต่อสู้นั่นเอง

(จบส่วนที่ 1 / โปรดติดตามส่วนที่ 2 เป็นการบรรยายของคุณนวลน้อย ธรรมเสถียร และส่วนที่ 3 เป็นการบรรยายของ อ.ชินทาโร่ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเสวนา)