สื่อทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เวลาจับเข่าแลกเปลี่ยนปัญหาหลายคนพบว่าวิทยุและอินเตอร์เนทครองพื้นที่สำคัญในการถกเถียงทางการเมือง เป็นสื่อของคนต่างกลุ่มแต่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้ดีกว่าสื่อส่วนกลาง สรุปบทเรียนว่าการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายต้องยึดโยงข้อเท็จจริง ไม่ตีความเกินข้อมูล เสนอความเห็นที่ยึดหลักสามัญสำนึกไม่ใช้อารมณ์เกินเหตุ ปัญหาใหญ่ที่แก้ยากคือการเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐเจอแรงกดดันหนักจากการคุกคามการแสดงออกในโลกโซเชี่ยลมีเดีย
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะเป็นที่ยอมรับกันไปแล้วว่าสื่อกระแสหลักที่ต้องสนองตอบความสนใจของสังคมใหญ่นั้นไม่อาจแสดงศักยภาพตอบสนองคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่สนใจปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ไม่น้อยจึงหันไปฝากความหวังไว้กับสื่อในสามจังหวัดแทนเพื่อจะให้เป็นผู้ตอบโจทก์ของชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สื่อในพื้นที่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง จากการที่เป็นสื่อที่เกิดใหม่ รายเล็กและอยู่ในระยะประชิดกับความขัดแย้งจึงถูกจับตาจากคู่ความขัดแย้งที่เกรงว่าพวกเขาจะเอื้อประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม ในภาวะเช่นนี้สื่อที่ต้องการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพรายเล็กที่เพิ่งจะสะสมประสบการณ์จึงพบกับความท้าทายอย่างยิ่งยวด
สื่อรายเล็กและสื่อทางเลือกนัดพบกันในงานเสวนาเรื่อง “สื่อชายขอบในศูนย์กลางสันติภาพ”เมื่อ 29 สค. 2556 มีผู้เข้าร่วมการเสวนาคือโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้และรายการทีวีรอมฎอนไนท์ อัสโตรา โด๊ะราแม ผู้สื่อข่าวอิสสระและผู้ดำเนินรายการร่วมในรายการโลกวันนี้ของสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน และซาฮารี เจ๊ะหลง ผู้ผลิตรายการวิทยุและสมาชิกกลุ่มสื่อ Wartani โดยมีนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่มผู้ผลิตสารคดี FT Media ดำเนินรายการ
ประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่เน้นเมื่อกล่าวถึงแนวทางการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง ก็คือเรื่องของวิธีการนำเสนอข่าวสารที่จะทำให้ได้รับความเชื่อถือและเพื่อที่จะทำหน้าที่เป็นเวทีให้กับทุกฝ่ายได้ อัสโตรา โด๊ะราแม พิธีกรร่วมจากรายการโลกวันนี้ของวิทยุมีเดียสลาตันกล่าวถึงการทำรายการโลกวันนี้ของเขาว่า ในระยะหลังนับตั้งแต่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็น รายการก็นำรายงานและบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องกระบวนการสันติภาพมานำเสนออย่างต่อเนื่องและกลายเป็นรายการวิทยุที่มีผู้ติดตามพร้อมทั้งเข้าร่วมรายการด้วยการโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ผู้ดำเนินรายการและสถานีวิทยุพยายามทำก็คือเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ความขัดแย้งหลัก และก็ได้รับการตอบสนองจากทั้งสองฝ่ายกล่าวคือได้สัมภาษณ์ทีมพูดคุยของทั้งคู่ทั้งฮัสซัน ตอยิบ ของฝ่ายบีอาร์เอ็นและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตรรวมทั้งพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้แทนเจรจาของไทย
แต่การสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบก็ทำให้สถานีถูกจับตาและส่งผลให้พิธีกรในรายการรู้สึกมีแรงกดดันมากเป็นพิเศษ การที่สถานีออกบทสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบในขณะที่สื่ออื่นๆโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักเข้าไม่ถึงฝ่ายบีอาร์เอ็นจึงทำให้มีเสียงโจมตีว่า วิทยุมีเดียสลาตันเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายบีอาร์เอ็น อัสโตรากล่าวว่าหลังจากที่มีบทสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบออกไปปรากฏว่ามีผู้สนใจมีเดียสลาตันเพิ่มขึ้นถึงขั้นออกทีวีและมีสื่อมาทำข่าว ซึ่งก็ยิ่งทำให้รู้สึกวิตกเพราะดูว่าจะล้ำหน้าคนอื่นๆ แม้ว่าจะเชื่อว่าตนเองทำหน้าที่อย่างไม่มีอะไรแอบแฝงและการให้พื้นที่กับฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีเพียงการสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบเท่านั้นในขณะที่ทางสถานีสัมภาษณ์ฝ่ายไทยไปหลายรายด้วยกัน นอกจากนี้ผู้ดำเนินรายการก็ได้พยายามจัดการกับบทสัมภาษณ์ต่างๆอย่างมีบรรทัดฐาน เช่นไม่ตีความข้อมูลให้เกินไปเป็นต้น แต่กระนั้นก็ยังรู้สึกได้ถึงแรงกดดันที่มีเข้ามา
“ที่ผมกลัวเพราะเป็นผู้สื่อข่าวคนแรกที่ไปสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบ ทางทหารบอกว่าไม่เป็นไรอัสโตรา เราดูแลคุณ ผมเชื่อได้นิดๆ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อมั่นในอัลเลาะห์ และพยายามไม่อยู่ในที่แคบๆมากกว่า”
อัสโตรากล่าวว่า เขาเชื่อว่าแม้จะแสดงความเป็นกลางเพียงใดก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่คนบางส่วนจะคล้อยตาม เพราะคนตัดสินไปแล้วและมีอคติ “อัสโตราจะเป็นเหมือนนวลน้อยไม่ได้ นวลน้อยมีพื้นที่มากกว่าผม เพราะผมเป็นมุสลิมและมลายู แต่นวลน้อยเป็นไทยพุทธ” ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้กับฮัสซัน ตอยิบทำให้เขาและสถานีถูกตำหนิจากคนบางซีกบางส่วนแม้ว่าในความเป็นจริงสถานีจะให้พื้นที่จนท.อาจจะมากกว่าทางขบวนการด้วยซ้ำไป
ในขณะที่ทางด้านโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานด้านการเยียวยาและก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตรายการวิทยุ ระบุว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มทำหน้าที่สื่อรวมถึงทำงานอื่นๆที่ค่อนข้างจะเกี่ยวพันกับสถานการณ์ได้ส่วนหนึ่งคือการยึดหลักการการทำงานอย่างมีองค์ความรู้ โดยพยายามแสวงหาทักษะการสื่อสารในความขัดแย้งด้วยเอาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงออกมา เพราะเชื่อว่าหลายเรื่องไม่อยู่ในประเด็นที่สื่อกระแสหลักจะนำมารายงาน นอกจากนี้ก็คือการที่ต้องได้รับการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังจากกลุ่มหรือองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ เช่นในการทำงานของกลุ่มผู้หญิงนั้น มีสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุนอยู่ แต่แม้จะใช้ทั้งองค์ความรู้ในการนำเสนอข้อมูลภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง และการมีผู้สนับสนุนที่ดีแล้วก็ตาม ตนก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเข้าถึงและนำเสนอความจริงได้อย่างเต็มที่จริงๆเป็นเรื่องเป็นไปได้ยากมาก เพราะนอกจากตัวสื่อเองจะยังอ่อนประสบการณ์แล้ว ในพื้นที่นี้การค้นหาความจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากและอันตรายเพราะเต็มไปด้วยข่าวลือ การโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นไปท่ามกลางความขัดแย้งที่ถึงชีวิต บางเรื่องอาจจะไม่สามารถนำเอาความจริงออกมาได้เลยแม้ว่าจะเป็นไทยพุทธ “อย่างนวลน้อย” ก็ตาม
โซรยาชี้ว่างานสื่อของกลุ่มผู้หญิงที่ผลิตออกมานั้น มีลักษณะพิเศษที่ทำให้ได้รับการยอมรับเพราะผู้ที่มาผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจึงมีความชอบธรรมในสายตาคนทั่วไป นอกจากนั้นกลุ่มเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งพุทธและมุสลิมได้แสดงออกไม่ได้นำเสนอด้านใดด้านเดียว รวมทั้งการที่มีฐานเดิมที่มาจากการทำงานด้านการเยียวยาทำให้มีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ต่อต้านการใช้ความรุนแรง
“อาจเป็นเพราะว่าเนื้อหาเราเป็นเรื่องผู้ได้รับผลกระทบอาจจะถือว่ายังไม่แหลมคมมากนักก็เลยยังปลอดภัยอยู่ และเราเป็นสื่อสมัครเล่นพยายามพัฒนาทักษะ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและเป็นผู้ได้รับผลกระทบ”
“เรามักจะรู้สึกว่าสันติภาพเป็นเรื่องเชิงบวก น่าจะมีแต่คนต้องการ แต่ในความเป็นจริงมีคนจำนวนหนึ่งกลัวสันติภาพมาก ไม่ยุ่งกับเรื่องสถานการณ์ คนกลุ่มนี้มีมากด้วย เช่นรายการเราที่เอาไปออกอากาศตามสถานีต่างๆ มีบางสถานีไม่กล้ารับ เขาบอกว่ารายการเขาไม่เกี่ยวเป็นเรื่องศาสนา กลัวว่าเดี๋ยวจะมีใครโทรมาว่าโน่นว่านี่ ดังนั้นหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงไม่กล้าพูด ไม่กล้าเผชิญหน้า เหมือนไม่มีเรื่องนี้อยู่ในโลกในคลื่นฉันหรือพื้นที่ฉัน”
โซรยาเห็นว่า การจะนำเสนอข้อมูลเรื่องในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ครบถ้วนมากขึ้นจะต้องมีการประสานงานกันระหว่างสื่อในและนอกพื้นที่เพราะสื่อส่วนกลางเป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนหรือมีการ”หนุนหลัง” ที่เข้มแข็งกว่าในขณะที่สื่อในพื้นที่ขาดส่วนนี้ นอกจากนั้นสื่อส่วนกลางที่อยู่นอกพื้นที่จะมองเห็นบริบทมากกว่าคนในที่มองเห็นแต่รายละเอียด “คนอยู่ไกลมีโอกาสเห็นป่า ในขณะที่เราเห็นแต่ต้นไม้”
ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุและสมาชิกสำนักสื่อ Wartani กล่าวถึงการทำงานของสื่อในพื้นที่กลุ่มใหญ่ว่าเป็นสื่อของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนรู้เพื่อจะเติบโต เขาเชื่อว่าในฐานะนักสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งนั้น การเปิดเผยความจริงที่ไม่ถูกจังหวะจะทำให้ความจริงอันนั้นสูญเปล่า สังเกตได้จากข้อเท็จจริงบางเรื่องบางประการที่ถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง
”ขณะที่เราเปิดเผยนั้น สังคมโดยรวมยังไม่พร้อมที่จะยอมรับทำให้เราจะต้องระมัดระวังรอบคอบและรัดกุม”
ซาฮารีมองว่าช่องทางวิทยุเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ฟังได้โดยตรง เป็นการสื่อสารโดยตรงที่ไม่อ้อมค้อม และเข้าถึงได้ทุกที่แม้แต่ในเวลาที่ผู้รับสารทำกิจกรรมใดๆ แต่เขาเห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นมีน้อยมากที่จะเลือกทำวิทยุ เพราะไม่เพียงแต่ใช้งบมากและอุปกรณ์ราคาแพงแล้ว สถานีวิทยุที่สังกัดมักมีข้อจำกัดค่อนข้างมากที่จะให้นักจัดรายการวิทยุเสนอในสิ่งที่ต้องการอย่างเต็มที่ไม่ได้ ซาฮารีเชื่อว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำสื่อคือต้องพยายามหาช่องทางเชื่อมทั้งกับคนที่ทำงานในสื่อประเภทเดียวกัน สร้างเนื้อหาและรูปแบบให้สอดคล้องและเชื่อมกัน และเชื่อมต่อกับการทำสื่อในโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งแม้จะข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงคือเข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ก็จะช่วยขยายช่องทางการสื่อสารได้มากขึ้นซึ่งในเรื่องนี้เห็นตัวอย่างได้จากการทำงานของวิทยุมีเดียสลาตันที่นอกจากออกอากาศสดและผ่านทางเวบไซท์แล้วยังโพสต์ข้อความของตนในช่องทางทางอินเตอร์เนทด้วย
“ส่วนเรื่องความกลัวนั้นผมก็เจอกับตัวเองมาแล้ว ในส่วนของคนรุ่นใหม่ไม่ซีเรียสมาก เราทำใจมาแล้วจะเจออะไร ก็คิดว่าจะทำหน้าที่ของเราต่อไป”
ทางด้านแวหามะ แวกือจิก จากสถานีวิทยุมีเดียสลาตันและเป็นผู้ร่วมจัดรายการโลกวันนี้ด้วยได้อธิบายว่าสิ่งที่สถานีวิทยุกำลังทำในเวลานี้คือการพยายามเติมข่าวสารให้กับสังคมในพื้นที่ในอีกหลายส่วนที่เชื่อว่าสื่ออื่นๆยังไม่ได้ตอบโจทย์ เช่นในระหว่างช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอดมีความรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆทั้งๆที่มีข่าวว่าทั้งสองฝ่ายคู่ความขัดแย้งจะพยายามลดความรุนแรงลง ทำให้สถานีต้องพยายามมองหาคำตอบ และเมื่อได้สัมภาษณ์ทุกฝ่ายก็พบว่า ข่าวที่ออกมาว่าไทยและบีอาร์เอ็นตกลงจะลดความรุนแรงนั้นอันที่จริงแล้วเป็นความพยายามของมาเลเซียเป็นหลักและฝ่ายเดียวก็ว่าได้
นอกจากนี้แวหามะเปิดเผยด้วยว่า ประเด็นหนึ่งที่สถานีต้องการสอบถามกับฮัสซัน ตอยิบในช่วงที่ไปสัมภาษณ์นั้นก็คือเรื่องจุดยืนของบีอาร์เอ็นต่อคนไทยพุทธและจีนที่เป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ “เราถือว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน ถ้าปฎิบัติต่ออย่างไม่ดีถือว่าไม่ถูกต้อง และเรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึงมากนักในสื่อทั่วไป เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องทำด้วย” แต่แวหามะเชื่อว่า ความพยายามของเขาถึงอย่างไรก็คงจะไม่สามารถทะลายกำแพงอคติได้ “ผมอยากจะพูดว่าเปิดพื้นที่ความจริงมากกว่า ไม่ใช่ว่าเป็นกลาง เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่เชื่อ ในเมื่อชื่อของผมคือ แวหามะ แวกือจิก ขณะที่บีอาร์เอ็นชื่อฮัสซัน ตอยิบ”
ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการพูดคุยตูแว ดานี ยา มือรีงิง จากสำนักข่าวอามาน ชี้ประเด็นว่าช่วงนี้คนที่ใช้สื่อประเภทโซเชี่ยลมีเดียไม่ค่อยสบายใจที่มีการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งนอกจากทำลายบรรยากาศแล้วยังละเมิดสิทธิความคิดเห็นของประชาชนด้วย “อันที่จริงฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหาร สันติบาลหรือคนที่เกี่ยวข้องควรจะขอบคุณสื่ออย่างมีเดียสลาตัน หรืออาจารย์ ฮารา ชินทาโร เพราะในอดีตก่อนจะมีคนเหล่านี้ พวกเขาหาข่าวยากมาก และการออกแถลงข่าว(ของขบวนการ)เขาใช้ภาษามลายู กว่าจะหาคนแปลก็ยาก และหากแปลก็แปลผิด ทำให้สื่อสารรายงานไม่ได้ผล อยากฝากคนที่ทำงานด้านข่าวกรองน่าจะขอบคุณแทนที่จะไปโจมตีว่าเป็นล่ามให้ขบวนการหรือมีเดียสลาตันเป็นสื่อให้ขบวนการ”
“ พวกเขาอยู่ในที่แจ้ง แต่คนที่ใส่ร้ายอยู่ในที่มืด ไม่กล้าออกมาก็ไม่ใช่ลูกผู้ชายพอ เชื่อว่าสื่อเล็กๆอีกหลายๆสื่อก็อยากนำเสนอแต่แบค (ผู้สนับสนุน) ของเขาอาจจะไม่ดีพอ อามานเองก็ไม่มี ผมมีแต่ว่าต้องเชื่อมั่นในอัลเลาะห์เท่านั้น”
Media café ปัตตานี โดย Media Inside Out, FT Media, Patani Forum, สถานีวิทยุ Media Selatan, เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ณ ร้านหนังสือบูกู 29 สค.2556
อ่านเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน สื่อกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ link