abdulloh wanahmad: AwanBook
อะฮ์หมัดฟัตฮีย์ อัลฟาฎอนีย์ กับข้อกังวลต่อการสูญหายของภาษามลายูในดินแดนปาตานี
อะฮ์หมัดฟัตฮีย์ อัลฟาฎอนีย์ กับข้อห่วงใยต่อวิกฤติและการดำรงอยู่ของภาษามลายูในปาตานี
ในโอกาสที่ได้ไปแวะเยี่ยมท่านอะฮ์หมัดฟัตฮีย์ อัลฟาฎอนีย์ นักเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี ณ บ้านพักที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อไม่นานมานี้(14/09/2013) และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงประวัติศาสตร์ความรุ่งเรื่องของภาษามลายูในอดีต ความท้าทาย และการคงอยู่ในอนาคต ซึ่งได้สรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้
ความรุ่งเรืองของภาษามลายูในอดีต
ในอดีตภาษามลายูค่อนข้างมีอิทธิพลบนแหลมมลายูอย่างมาก รวมทั้งที่ปาตานี ซึ่งในอดีตภาษามลายูถือเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนตำราศาสนาล้วนจะใช้ภาษามลายูตัวเขียนยาวีในการถ่ายทอดเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น จะเห็นได้จากเมื่อช่วงราวศตวรรษที่ 16 ได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า ได้มีนักเผยแพร่คริสเตียนชาวฮอลแลนด์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในบันทึกของเขาว่า “ถ้าจะเรียนภาษามลายูต้องไปศึกษาที่สงขลา เพราะที่นั่นเขาใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง” วัตถุประสงค์ที่เขาศึกษาภาษามลายูก็เพื่อที่จะแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นภาษามลายูยาวี เพื่อใช้ในการเผยแพร่คำสอนในหมู่ชาวมลายู ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เมืองมลายูยังมีความอิสระ ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติของสยาม
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์ก็คือ ในช่วงที่เมืองสงขลาเรื่องอำนาจ สุลต่านสงขลาได้ทำการล่อปืนใหญ่ประจำเมืองไว้ป้องกันข้าศึก โดยส่วนท้ายกระบอกปืนใหญ่นั้น ได้มีการแกะสลักบทกลอน(กวี)ด้วยภาษามลายูตัวเขียนยาวี ซึ่งปัจจุบันนี้ปืนใหญ่ดังกล่าวตั้งอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลเชลซี ณ กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ
การเดินทางของปืนใหญ่จากเมืองสงขลาสู่อังกฤษ
จากการค้นพบหลักฐานตำราทางประวัติศาสตร์พบว่า ปืนใหญ่ดังกล่าวถือเป็นป้องปราการหลักของเมืองสงขลาซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองมลายูในขณะนั้น ครั้นได้พ่ายแพ้สงครามต่ออยุธยา ปืนใหญ่ดังกล่าวก็ได้ตกไปอยู่ในความครอบครองของอยุธยา ครั้นเมื่อพม่าตีเมืองอยุธยาแตก พม่าก็ได้นำปืนใหญ่นั้นกลับไปยังพม่า แต่ยังไปจบแค่นั้น เมื่อพม่าโดนอังกฤษเข้าไปล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา อังกฤษก็ได้นำปืนใหญ่กระบอกดังกล่าวกลับไปยังอังกฤษจวบกระทั่งปัจจุบัน
พบตำราศาสนาที่เขียนโดยชาวสงขลา
การค้นพบตำราศาสนาที่เขียนโดยชาวสงขลาที่ลงเอยด้วย อัล-ซังโกรี(สงขลา) ยิ่งตอกย้ำถึงความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของภาษามลายูในขณะนั้น เพราะโดยปกติเราจะค้นพบแต่ตำราศาสนาที่เขียนโดยชาวปาตานี ที่ลงเอยด้วย อัล-ฟอฎอนีย์ ซึ่งจากการได้ไปเสาะหาแหล่งที่มาของผู้เขียนตำราดังกล่าวนั้น พบว่าปัจจุบันอยู่แถวบ้านปริ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และยิ่งไปกว่านั้นในตำราฟิกฮ์ เกี่ยวกับถามตอบศาสนา ของท่านเชควันอะฮ์หมัด เป็นตำราที่รวบรวมคำถามทางศาสนา ซึ่งปรากฏว่าส่วนใหญ่ของคำถามนั้น มาจากเขตพื้นที่ของสงขลาอยู่ไม่น้อย ซึ่งจากหลักฐานที่พบดังกล่าวพอจะกล่าวได้ว่า บริเวณสงขลาในอดีตนั้นเคยเป็นที่ตั้งและความเจริญรุ่งเรืองของภาษามลายู และภาษามลายูจะมีความรุ่งเรืองทุกที่ ที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่
ความสัมพันธ์ปาตานี-อาเจะฮ์
ตามประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ปาตานีกับอาเจะฮ์ มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันในเชิงปัจเจกชนหรือการถ่ายทอดความรู้ แต่ไม่ค่อยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ท่านเชคดาวูด อัล-ฟาฎอนีย์ ก็เคยไปศึกษาที่อาเจะฮ์เป็นเวลาสองปีก่อนที่ท่านจะไปศึกษาต่อที่เมืองเมกกะฮ์
ภาษามลายูก่อนศตวรรษที่18
ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ภาษามลายู มีความรุ่งเรืองในแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าแหลมมลายู เพราะจากการค้นพบแผ่นที่โบราณของฝรั่งเศส จะพบว่าหมู่เกาะต่างๆ ล้วนมีชื่อเรียกและพื้นเพมาจากภาษามลายู เช่นเกาะสองที่แปลว่าปูเลาดูวา เป็นต้น ยังไม่รวมถึงชื่อสถานที่ต่างๆ ในบริเวณทางภาคใต้ของไทย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ว่า เมื่อก่อนนั้นภาษามลายูได้กลายเป็นภาษาหนึ่งที่ถูกใช้ในการสื่อสาร ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนจนเพี้ยนไปจากเดิมอย่างปัจจุบัน
ภาษามลายูหลังจากที่ปาตานีตกอยู่ภายใต้การปกครองสยาม
ถือเป็นจุดเปลี่ยนของภาษามลายูสำหรับปาตานีครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว ภายหลังจากที่ได้สิ้นอิสรภาพ ภาษามลายูได้กลับถูกลดบทบาทลง มิสามารถแผ่ขยายได้อย่างอิสระอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากจะใช้ในเรื่องของการเขียนตำราศาสนาเป็นการเฉพาะ ประกอบกับความหวาดกลัวในยุคนั้น ที่มิค่อยมีคนกล้าออกมาใช้ได้อย่างเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะอาจถูกเพ่งเล็งด้วยเหตุผลทางการเมือง
ยิ่งนับวันแรงปะทะระหว่างรัฐกับสังคมมลายูยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งเมื่อเกิดการบังคับผ่านนโยบายก็ยิ่งทำให้บทบาทของภาษามลายูกลับถอยหลังอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนไร้ที่ยืนในสังคม
เมื่อภาษามลายูไม่มีโอกาสในการเติบโต บวกกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ก็ยิ่งทำให้นับวันภาษามลายูในรูปแบบตัวเขียน เอกสาร กลับไม่ได้รับความสนใจที่จะต้องค้ำจุน ที่ถือเป็นอัติลักษณ์ของสังคมปาตานีมาตั้งแต่อดีต
ความจำเป็นที่ต้องรักษาตัวเขียนยาวี
ตัวเขียนยาวีได้กลายเป็นอัติลักษณ์สำหรับสังคมปาตานีโดยปริยายไปแล้ว นับตั้งแต่ที่ได้มีการใช้อักษรอาหรับมาใช้ในการเขียน ด้วยเหตุนี้ชนรุ่นหลังต้องรับหน้าที่ในการรักษาเรื่องนี้ มิเช่นนั้นลูกหลานในอนาคตอาจไม่รู้จักอัติลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว
ปาตานีต้องมีวารสารเป็นของตัวเอง
เรื่องนี้ผมเองก็ได้เสนอแนะมาหลายครั้งแล้ว ให้กับคนที่รู้จัก เพื่อให้ทำวารสารเพื่อสังคมปาตานี เพราะมันจำเป็นต้องมี อย่างน้อยสามเดือนครั้งก็น่าจะดี เพื่อให้อัติลักษณ์ทางภาษาจักไม่สูญหายไปในวันหนึ่งข้างหน้า
ความท้าทายสำหรับสังคมปาตานี
เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับว่า ความท้าทายนั้นย่อมมีมากกว่าสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่เป็นสิ่งท้าทายใหม่ ยังไม่รวมถึงระบบการปกครองของรัฐที่ทำให้อัติลักษณ์ทางภาษาต้องจ่มปลักดิ้นรนอย่างทุลักทุเล ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
การทำวารสารเพื่อธุรกิจ
เป็นไปไม่ได้ที่สังคมปาตานี จะยืนหยัดได้ ด้วยการทำวารสารยาวีเพื่อให้อยู่รอดในระบบธุรกิจ มีแต่จะล้มเหลว เพราะสังคมปาตานีเป็นสังคมที่ไม่ชอบการอ่าน นอกจากว่าต้องทำในรูปแบบการขอผู้สนับสนุนเพื่อใช้ในการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้พิมพ์ ผู้เขียน หรือทีมงาน หนทางนี้หนทางเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถดำเนินไปได้ในระยะยาวและถาวร แต่ถึงอย่างไรสังคมปาตานีจะต้องมีวารสารให้อยู่คู่กับสังคมให้ได้
การใช้ภาษามลายูที่ปาตานีในอนาคต
ปาตานีก็ไม่ต่างมากนักกับสังคมอื่น ที่ไม่สามารถใช้ภาษามลายูได้เหมือนในอดีต เพียงแต่รอโอกาสเท่านั้นเอง! แต่อาจไม่ใช่ในยุคของเรา อาจประสบในยุคอีกสามสี่ชั่วอายุคน จะเห็นได้จากปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวมลายูปัจจุบัน กลับใช้ภาษาอื่นมากกว่าภาษาแม่ของตนเองเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นภาษาแม่กลับไม่ได้รับความสนใจและห่วงใยอย่างที่ควรจะเป็น
ปาตานีรอวันแห่งการสูญสลายของภาษามลายูเหมือนอย่างที่ได้ประสบกับพื้นที่อื่น แต่ยังไม่ใช่ยุคเรา แต่อาจประสบในยุคของลูกหลานเราในอนาคตอีกสามสี่ช่วงอายุคนข้างหน้า!