ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี รายงานความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลา)ตลอดเกือบสามปี (35 เดือนกว่า) นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 -พฤศจิกายน 2549 ซึ่งถือเป็นการประทุความรุนแรงรอบใหม่ในพื้นที่นี้ แม้ว่าการกระทำต่อรัฐหรือโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐน่าจะเป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของการต่อต้านอำนาจรัฐไทยในบริบทของการต่อสู้การเมืองเพื่ออัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป้าหมายที่เป็นจริงกลับเป็นประชาชนทั่วไป ลักษณะพิเศษของการก่อเหตุการณ์คือการฆ่ารายวัน ด้วยการลอบสังหารชาวบ้านในชีวิตประจำวัน
มีการฆ่ารายวัน วางระเบิด วางเพลิง และการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,769 ครั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงทางทางเมืองดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 4,828 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 1,908 คน และผู้บาดเจ็บ 2,920 คน
เป้าหมายของการก่อเหตุอยู่ที่ราษฏรทั่วไปมากที่สุด จำนวน 1,646 ครั้ง รองลงมาคือกลุ่มตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมประมาณ 530 ครั้ง เป้าหมายถัดมาคือทหาร 420 ครั้ง คนงาน และลูกจ้างราชการ 270 ครั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 201 ครั้ง
แนวโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง มีหลายเหตุการณ์บ่งชี้ว่าคนไทยพุทธและชุมชนพุทธในพื้นที่อาจจะถูกคุกคามหรือเป็นเป้าหมายในการโจมตีมากขึ้น ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549
เหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเป็นทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมในจำนวนที่มากพอๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มเหยื่อผู้เสียชีวิตที่ระบุได้ว่าเป็นคนมุสลิมจำนวน 979 คน (51%) ส่วนคนพุทธที่เสียชีวิตจำนวน 820 คน ( 43 %) ทำให้มองเห็นภาพว่าเป็นการก่อเหตุที่มีจุดมุ่งหมายสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้นก็ตาม แต่โดยรวมแล้ว คนมุสลิมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน
ลักษณะแบบแผนของการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบ 35 เดือนนี้ มีจุดเน้นสำคัญที่การยิงหรือการไล่ล่าสังหารรายวัน มากถึงจำนวน 2,318 ครั้ง รองลงมาคือการวางเพลิงสถานที่ จำนวน 1,002 ครั้ง การวางระเบิดจำนวน 789 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีวิธีการก่อกวนด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการลอบวางตะปูเรือใบตามท้องถนน หรือการทำลายข้าวของทางราชการ จำนวน 732 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกต การวางระเบิดเป็นวิธีที่นำมาใช้อยู่มากแต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของความสูญเสีย ดังนั้น ระดับของความรุนแรงหรือสถานการณ์การก่อการร้ายจึงขยายตัวไปทีละขั้น เหตุการณ์รุนแรงประเภทระเบิดพลีชีพหรือการระเบิดในที่สาธารณะเพื่อให้คนตายพร้อมกันจำนวนมากๆยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงนี้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการลอบยิงสังหารในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (2549) มากที่สุดถึง 115 ครั้ง นับเป็นการยิงที่มากที่สุดในหนึ่งเดือน และมากที่สุดในรอบสามปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การใช้ระเบิดก่อเหตุก็มากขึ้นรองจากการลอบยิง นับตั้งแต่กลางปี 2548 และมีระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2549 เป็นจำนวนมากถึง 88 ครั้ง และมีแนวโน้มว่าน้ำหนักและขนาดมีมากขึ้นทำให้ความรุนแรงของผลกระทบมีมากขึ้นตามมา ดังจะเห็นได้จากยอดรวมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ (หลังการรัฐประหาร) มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตค่อนข้างสูง ผู้เสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี 2549 มากถึง 81 ราย บาดเจ็บประมาณ 171 ราย เมื่อเทียบสถิติในรอบสามปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตจากการยิงมากที่สุดคือเดือนเมษายน 2547 อันดับสองคือเดือนตุลาคม 2547 และอันดับสามเกิดในเดือนพฤศจิกายนปี 2549
กล่าวโดยภาพรวม ความรุนแรงที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสามปีหรือ 35 เดือน เหตุการณ์ที่เกิดในปี 2547 มีจำนวน 1,850 ครั้ง ปี พ.ศ. 2548 มีจำนวน 2,297 ครั้งและปี พ.ศ. 2549 (ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน) มีจำนวน 1,622 ครั้ง แม้ว่าในปี พ.ศ. 2549 จะยังขาดข้อมูลในเดือนธันวาคม แต่เราอาจจะเปรียบเทียบได้ว่า ปีที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือปี 2548 รองลงมาคือปี 2547 และปี 2549 แต่กลายเป็นว่าปี2549 มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จำนวนมากกว่าสองปีที่ผ่านมา ประหนึ่ง "ความรุนแรงที่ยืดเยื้อยิ่งมีเหยื่อทบทวี"
ถึงแม้ว่าการปฏิวัติยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ในแนวทางสมานฉันท์มากขึ้น แต่เหตุการณ์ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยในเดือนกันยายน และกลับสูงขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายน
หากการต่อสู้และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราเป็นตัวสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองและสัญลักษณ์อะไรบางอย่างในเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา สัญลักษณ์และความหมายที่ส่งออกมาชัดเจนมากขึ้นจากระดับความรุนแรงและรหัส-สัญญาณที่ถูกส่งออกมาเป็นความรุนแรงและเป้าหมายของความรุนแรง แต่ปัจจัยชี้ขาดของการต่อสู้ยังอยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกใครในระยะยาว ทั้งรัฐและกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบยังต้องใช้เวลาและการปฏิบัติที่เป็นจริงพิสูจน์ว่าใครจะเป็นผู้ได้เปรียบและได้รับชัยชนะจากประชาชนในการต่อสู้ครั้งนี้