Skip to main content

ชวนคิดกับคำเหล่านี้ "แยกปลาออกจากน้ำ   ประชาชนเต็มขั้น  ความยุติธรรมที่เนิ่นนานคือความไม่ยุติธรรม  การรู้ว่าใครเป็นคนทำคือความต้องการมากกว่าการเยีวยา...และอีกประโยคที่ไม่ ควรเล็ดลอดออกมาจากคนในเครื่องแบบ คือ โง่จนเจ็บ"

 
      เมื่อวานมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนาระดมความเห็นเรื่อง "สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของรัฐในสถานการณ์ความขัดแย้งกับแนวทางการใช้กฎหมายความมั่นคงภายในฯในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" จัดโดยสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิ Konrad Adenauer Stiftung ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี  ผมได้รับเชิญจากคุณอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมงานในครั้งนี้  โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน คือ ศ.วิทิต มันตราภรณ์ (จุฬาลงกรณ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาตฺฯ)  นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  (กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)  คุณสมชายหอมละออ  (ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม)  ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมศรี  (ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) คุณสามารถ  วราดิศัย (ปลัดจังหวัดปัตตานี)  พ.อ.เลอชัย มาลีเลิศ เสนาธิการกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร)  คุณวีรยุทธ  สุขเจิญ (รอง ผอ.ศอบต.) ทนายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ (ศูนย์ทนายมุสลิม) นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กะแยนะ (ผู้ต่อสู้คดีตากใบ)...และอีกหลายท่านร่วมเกือบร้อยชีิวต
       ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ...ความจริงงานวันนี้ควรจะมีชาวบ้านร่วมรับฟังมากกว่า นี้และเป็นเวทีเปิดมากกว่าเวทีปิด เพราะมีหลายเรื่องครับที่ทั้งภาครัฐและประชาชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรรับรู้และได้รับฟัง  เพราะบางเรื่องราวที่สะท้อนออกมา กรณีที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการเล็ดลอดออกมาของเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบกับคำบางคำ ผมเองในฐานะตัวแทนนักวิชาการที่ได้ร่วมรับฟังฟังแล้วแทบสะดุ้งว่ามันจะสร้าง ความสมานฉันท์ ความจริงใจได้อย่างไรในเมื่อผู้ใหญ่ระดับสูงยังใช้คำพูดที่ส่อให้เห็นความ คิดได้เยี่ยงนี้
      สรุปประเด็นที่น่าชวนคิดบางประการที่ได้เอ่ยไปข้างต้น ลองพิจารณากันดูนะครับว่าช่องโหว่ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมาย ต่างๆในพื้นที่มันจะก่อให้เกิดเรื่องราวความคลางแคลงใจได้ไหม๊ต่อประชาชนใน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
      ศ.วิทิต  มันตราภรณ์ (ผู้แทนสหประชาชาติ) ได้ตั้งขอสังเกตชวนคิดครับว่า "กฎอัยการศึกสามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยได้ ๗ วันตลอดระยะเวลาดังกล่าวนี่แหละที่จะสร้างปมเงื่อนไขขึ้นมามากมายต่อผู้ตก เป็นจำเลย ทั้งๆที่ความจริงหลักสากลโดยทั่วไปไม่น่าจะเกิน ๔๘ ชั่วโมง  และท่านยังพูดถึงอีกมากมายที่เป็นช่องโหว่ของไทยกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ เราเป็นภาคีร่วมกับหลายประเทศ
       นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ (ท่านอดีต สว. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ท่านพูดได้ชัดเจนในหลายเรื่องจนได้ใจจากชาวบ้าน (ประเมินจากเสียงปรบมือเพราะบางท่านพูดแล้วไม่เคลียร์เลยไม่ได้ยินเสียงปรบ มือใดๆ อิอิ) ท่านมองอย่างนี้ครับ ประชาชนอยู่ระหว่างรัฐกับผู้ก่อการ เพราะฉะนั้น กฎหมาย พ.ร.บ. ต่างๆที่ประกาศใช้ออกมาต่อคนในพื้นที่มันสร้างปมมากมาย สิ่งที่ชวนให้คิด คือ การรู้ว่าใครเป็นคนทำในคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือ ความต้องการมากกว่าการเยียวยา  ความยุติธรรมที่เนิ่นนาน คือ ความไม่ยุติธรรม  หลายต่อหลายเรื่องราวสถานการณืที่เกิดขึ้นเป็นการ ปล่อยปลาลงน้ำ ทั้งๆที่ควรแยกปลาออกจากน้ำ อันนี้น่าคิดนะครับผมว่า
        และสิ่งที่ไม่ควรจะเล็ดลอดออกมา คือ คำว่า "คนในพื้นที่โง่จนเจ็บ" ผมว่าคำนี้มันสะท้อนวิถีคิดกับการทำหน้าที่ของคนในเครื่องแบบ(สีกากี)ที่ ค่อนข้างกระทบความรู้สึกของชาวบ้านประชาชนเต็มขั้น โดยเฉพาะ คำว่า "โง่" ที่อธิบายออกมาอย่างไม่คิดถึงจิตใจของผู้ฟังและอธิบายไม่หยุดทั้งๆที่ผู้ฟัง ก็มีปฏิกิริยาส่งเสียงสะท้อนถึงความไม่พอใจ อันนี้มองสถานการณ์แล้วท่านพลาดเอามากๆ เพราะสื่อสะท้อนให้เห็นความคิดที่อยู่ข้างในว่านอกจากมันจะไม่ช่วยสร้างความ สมานฉันท์แล้วแต่มันกลับยิ่งทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในพื้นที่เข้าไป อีก...ผมฟังแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าความเข้าใจของประชาชนกับคนของรัฐ(บาง หน่วยงาน) จะเป็นอย่างไร
         สำหรับ ทนายอนุกูล (ศูนย์ทนายมุสลิม) ได้สะท้อนมุมคิดออกมาได้อย่างน่าคิดครับว่า ยังมองไม่เห็นเลยว่าประชาชนในพื้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมต่อข้อกฎหมายที่ส่ง ผลกระทบต่อเขาอย่างไร...
           และที่น่าสนใจคือประเด็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหลากหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่สะบ้าย้อย คดีที่ตากใบ ตลอดจนล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นกับสถานศึกษาที่บาเจาะกับปัญหาของเครื่องจีที ที่หลายคนมอง...ผมฟังแล้วหลายเรื่องราวมันมีอะไรชวนขบคิดอีกมากมายถึงความ เป็นจริง และที่สำคัญหากยังปล่อยให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยและตอบคำถามประชาชนไม่ได้อะไร จะเกิดขึ้นตามมา เพราะสิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงบางเรื่องราวประชาชนสามารถสวนกลับจนแม้ กระทั่งผู้บริหารระดับสูงก็หน้าซีด คล้ายๆกับว่า "ฉันจะตอบยังไง และฉันพูดผิดไปแล้ว อันเนื่องมาจากฐษนคิดที่ว่า ชาวบ้านไม่รู้ข้อกฎหมายกระมัง"
            ยอมรับเลยครับว่า...งานวันนี้มันสะท้อนให้ผมเห็นอะไรบางอย่างซึ่งเป็นมิติ ที่ดีของประชาชนในพื้นที่คือการเข้าใจข้อกฎหมายมากขึ้นที่ส่งผลโดยตรงต่อคน ในพื้นที่  หลายเรื่องราวที่ผมมองว่าผู้บริหารระดับสูงให้ข้อมูลผิดพลาดโดยเฉพาะเรื่อง ราวทุนการศึกษา ตลอดจนการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ เพราะข้อมูลที่พยายามสื่อสะท้อนให้ชาวบ้านเห็นเป็นข้อมูลเก่าเอามากๆๆ ในเมื่อระบบการศึกษามันเปลี่ยนไปแล้ว
 

             พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว...แต่กว่ามันจะเช้าของคนในพื้นที่แห่งนี้...วัลลอฮฺอะลัม