การพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีเป็นความตั้งใจของรัฐไทยจริงฤา?
Abdulloh WanAhmad: AwanBook
นับจากที่ได้มีการลงนามตกลงที่จะร่วมกันพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี ระหว่างตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นที่นำโดยท่านฮาซัน ตอยิบ กับ ตัวแทนของรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.ท ภราดร พัฒนถาบุตร เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีฝ่ายมาเลเซียในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยในครั้งนี้ ที่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการต่อสู้ของกลุ่มที่มีอุดมการณ์ในทางการเมืองเพื่อปลดแอกปาตานี ให้หลุดพ้นจากอาณัติของสยาม
หลายครั้งที่ประเด็นการพูดคุย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตจากสังคมโลก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ภาคใต้เอง ถึงกับงงไปตามๆ กัน เหมือนเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะตลอดระยะเวลาก่อนหน้านี้ ความหยิ่งยโสของความเป็นรัฐนิยมสยาม ดูถูกดูแคลนต่อคนมลายูมาโดยตลอด อย่าว่าแต่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนที่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้เลย ตรงกันข้าม รัฐเองได้ให้นิยามบุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐนั้น เป็นโจรกระจอกบ้าง เป็นอาชญากรรมบ้าง แม้กระทั่งพวกสุดโต่งและก่อการร้ายที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกดินแดน
ถึงแม้ความเป็นมาของการริเริ่มการพูดคุยครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะมีที่มาอย่างไร อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในครั้งนี้ ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของคนไทยทั้งประเทศ ยิ่งประชาชนในพื้นที่ ยิ่งไม่นึกไม่ฝันแม้แต่น้อยว่า อยู่ๆ เหตุใดจึงมีการลงนามกันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเอิกเกริก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่อยู่ในจินตนาการของคนในพื้นที่ด้วยซ้ำ
ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมามากมายจากคนในพื้นที่และประชาชนส่วนใหญ่คือ ความจริงใจที่มีต่อกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้ นอกจากตัวผู้เกี่ยวข้องเอง เพราะถึงอย่างไรทุกอย่างมันจะค่อยๆ เปิดเผยด้วยตัวของมันเองในที่สุด
ทว่าถ้าดูจากบริบทแห่งปฐมภูมิที่เป็นปัจจัยในการลงนามในวันที่ 28/02/2013 นั้น ความจริงใจนั้นแทบจะไม่มีเลยแม้แต่น้อย เพราะมันเป็นการบีบบังคับในทางอ้อม เพื่อให้บรรลุตามคำร้องขอของฝ่ายไทยมากกว่าเกิดจากความยินยอมของบีอาร์เอ็นโดยสมัครใจ โดยที่มาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการทั้งหมด
ความจริงใจกลายเป็นประเด็นในการตั้งคำถามของสังคมโดยรวม เพราะถึงแม้จะมีการลงนามกันแล้วโดยมีสักขีพยานจากทั่วโลกต่างรับรู้โดยทั่วกัน ทว่าปฐมภูมิของการได้มีเวทีนี้ขึ้นในวันนั้น มันน่าขื่นขมมากกว่าน่าชื่นชม
แต่ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยว่า ฝ่ายใดที่มีความจริงใจมากกว่ากันนั้น เห็นจะเป็นฝ่ายบีอาร์เอ็นมากกว่าไทยด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้นก่อนหน้านี้ก็ออกมาคุยกับรัฐไทยมาโดยตลอด ถึงแม้จะเป็นในทางลับก็ตาม ผิดกับรัฐไทยที่พยายามปกปิดมีให้ใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีการพูดคุยกันที่นั่นที่นี่ เพราะกลัวจะเสียหายในทางการเมือง ทว่าถึงกระนั้นเหตุใดกัน ที่อยู่ๆ ก็ออกมาจัดฉากอย่างหรูหราอลังการงานสร้าง อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า จะออกมาในรูปแบบนี้ นั่นแสดงว่ารัฐไทยย่อมมีอะไรซ่อนเร้นบางอย่าง เพราะการเกิดขึ้นของเรื่องพรรค์นี้มันเป็นการผิดวิสัย ของคู่ขัดแย้งที่จะต้องผ่านขั้นตอนอย่างที่ควรจะเป็น
ถึงแม้หลายฝ่ายจะออกมาวิพากษ์ต่างๆ นานาว่า นี่เป็นช่วงของการวัดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เหมาะสมที่จะดำเนินการในทางลับมากกว่า เพราะจะปราศจากแรงกดดัน ซึ่งต้องอาศัยความจริงใจของทั้งสองฝ่ายอย่างเดียวเป็นหลัก หากมีความจริงใจที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองได้บรรลุตามที่ได้ตกลงกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะออกมาสู่สาธารณชนอย่างเปิดเผยและเป็นการต่อรองเจรจาอย่างเป็นทางการ
นับวันดูเหมือนเกมหมากระหว่างฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐไทย จะค่อยๆ เด่นชัดขึ้นไปอีก เมื่อฝ่ายไทยเองพยายามออกมาให้ข้อมูลอยู่เนื่องนิจ ในทางที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักสำหรับการพูดคุยที่กำลังอยู่ในช่วงของการป่วยการอย่างนี้
อย่างล่าสุดที่ได้มีกระแสบางรายได้รายงานว่า บีอาร์เอ็นเกิดความแตกแยกภายในอันเนื่องมาจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องการพูดคุย ที่เป็นการเดินตามลูกหมากที่ทางรัฐไทยเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว
หรือว่าการแตกแยกภายในของบีอาร์เอ็น อันเนื่องมาจากการพูดคุยที่ถูกบีบบังคับนี้ เป็นความประสงค์ของรัฐไทยอย่างหนึ่ง? เพื่อให้ขบวนการต่อสู้เกิดความเพลี่ยงพล้ำ ไร้อำนาจต่อรอง ไร้เสถียรภาพอีกต่อไป!
ถ้าหากว่าลึกๆ ของรัฐไทยมีความตั้งใจอย่างที่กล่าวไว้ นั่นหมายความว่ารัฐไทยกำลังคิดผิด! และความสูญเสียของประชาชนและกำลังพลของประเทศก็จะไม่มีวันจบสิ้น