Skip to main content
โคทม อารียา      
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
 

บทนำ

การพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ได้เริ่มในรูปแบบที่เป็นทางการหลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น โดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียเป็นสักขีพยาน ข้อตกลงดังกล่าวใช้คำว่ากระบวนการสานเสวนาสันติภาพภายในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งหมายรวมถึงมาตรา 1 ที่บัญญํติว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้’ หมายความว่าการพูดคุยสันติภาพทางการจะเคารพในบูรณภาพของดินแดน การจัดตั้งให้บางส่วนของดินแดนเป็นรัฐเอกราช (ซึ่งขอเรียกว่าทางออกแบบเอกราชหรือmerdekaในภาษามลายู) ที่แยกตัวออกไปจากราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ แต่หากจะดำเนินการตามมาตรา 281 ความว่า ‘ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น...’ ย่อมกระทำได้ (ซึ่งขอเรียกว่าทางออกแบบให้ความเป็นอิสระในการปกครองตนเองหรือ autonomy) อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตีความข้างต้นนี้อาจอธิบายว่า ตัวแทนบีอาร์เอนจำยอมลงนามในข้อตกลงด้วยไม่อยากขัดแย้งกับรัฐบาลมาเลเซีย หรือผู้ที่ช่างสงสัยและมีความคิดกว้างอาจตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 1 ดังกล่าวมิได้หมายความว่าประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดี่ยวอาจเป็นสหพันธรัฐก็ย่อมได้

การมีกรอบใหญ่สำหรับการสานเสวนาหรือการพูดคุยสันติภาพน่าจะช่วยให้กระบวนการดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิผล จึงขอเสนอให้พูดคุยกันในกรอบของ autonomy หรือความเป็นอิสระของการปกครองตนเองของท้องถิ่น โดยไม่ยกเรื่องเมอร์เดกาหรือสหพันธ์รัฐขึ้นมาเป็นเหตุผลโต้แย้งกันในขั้นนี้ เมื่อมีกรอบที่ชัดเจนแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะมีส่วนร่วมและพูดคุย/สานเสวนา/เจรจากันไปในทิศทางนี้

บทความนี้มุ่งหวังเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ทั้งในแง่การแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในเรื่องของข้อขัดแย้ง (contradiction) และทางออก การมีทัศนคติ (attitude)

และพฤติกรรม (behavior) ที่เอื้อต่อการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง[1]1 เนื้อหาของบทความเป็นการทดลองเสนอในเรื่องภาคีหลักของความขัดแย้งและเป้าหมาย (goal) ของพวกเขา การกล่าวถึงภาคีที่สำคัญอื่น ๆ ของความขัดแย้ง แนวทาง 4 ค ในการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง การประคับประคองกระบวนการสันติภาพ และการขยายวงการพูดคุยหรือพื้นที่การมีส่วนร่วม

ภาคีหลักน่าจะต้องการอะไร

ภาคีหลัก (main parties) ได้แก่ขบวนการและภาครัฐ แน่นอนว่าภาคีทั้งสองยังแบ่งเป็นภาคส่วนต่าง ๆ อีก แม้บีอาร์เอ็นจะเสนอว่าตนสามารถพูดแทนคนส่วนใหญ่ใน จชต. ได้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่ายังมีองค์กรอื่นอีกที่อยู่ในขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐ เช่น PULO (Patani United Liberation Organisation) GMIP (Gerakan Mujahidin Islam Patani) Bersatu (United Front for the Independence of Pattani)[2] ส่วนภาครัฐประกอบด้วยภาคการเมือง (ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) ข้าราชการประจำ (ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน) และพนักงานของรัฐ เป็นเรื่องที่ธรรมดาภาคส่วนต่าง ๆ ภายในขบวนการและภายในรัฐจะมีความเห็นที่ต่างกันไปได้ แต่จะขอสมมุติว่าในแง่เป้าหมายแล้ว ภาคีทั้งสองมีจุดยืนหรือเป้าหมายหลักที่เป็นหนึ่งเดียวกันในฝ่ายของตน

เป้าหมายของขบวนการ

ขอทดลองเสนอว่าวาทกรรมของขบวนการสามารถสรุปได้ดังนี้ ในอดีต เคยมีรัฐปาตานีที่เจริญรุ่งเรืองทั้งในทางการเมืองการปกครอง การค้า การศาสนา และวัฒนธรรม ต่อมาถูกรัฐสยามเข้า ครอบครองเป็นเมืองขึ้น แต่เดิมขบวนการได้ทำการต่อสู้ โดยเน้นประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์มากกว่าศาสนา แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนเกือบจะสลายตัวไป ต่อมาขบวนการได้ก่อรูปอุดมการณ์ขึ้นใหม่ โดยใช้ฐานขององค์กรเดิม หากแต่ได้ผนวกปัจจัยทางศาสนาที่อ้างว่าผูกติดอยู่กับชาติพันธุ์มลายูอย่างแยกไม่ออก ประวัติศาสตร์ของการมีรัฐปาตานี จึงถูกตีความว่าหมายรวมถึงการมีรัฐอิสลามด้วย  เมื่อตีความว่าปาตานีซึ่งหมายถึงรัฐอิสระของชาวมลายูที่เป็นรัฐอิสลาม ได้ตกเป็นอาณานิคมของรัฐสยามที่ไม่ใช่อิสลาม (รัฐกาฟิร) เช่นนี้แล้วก็ย่อมชอบธรรมที่ชาวมลายูแห่งปาตานีจะลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อทวงดินแดนคืน ปลดปล่อยดินแดนนี้ และสถาปนารัฐปาตานีที่เป็นรัฐอิสลามขึ้น[3]

วาทกรรมหนึ่งที่น่าสนใจมาจากเอกสารที่ทางการยึดได้ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘เหตุการณ์กรือเซะ’ เอกสารชิ้นนี้มีคนนำไปตั้งชื่อว่า ‘คัมภีร์มรณะ’ แต่ชื่อตามภาษามลายูคือ ‘Berjihad di Patani’ (การต่อสู้ที่ปาตานี)[4] ในข้อความตอนหนึ่ง ผู้เขียนเอกสารเรียกร้องให้ผู้กล้าสามัคคีกันและลุกขึ้นยึดครองปาตานีอันเป็นที่รัก นำความภาคภูมิใจและความเข้มแข็งคืนสู่ศาสนาที่ได้ถูกทำให้มัวหมองปกป้องลูกหลาน ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และความมั่งคั่งของประเทศ โดยอ้างถึงฮาดิษ 113 (Hadith Saheeh Muslim, book 1, page 65) ที่กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลมาแย่งชิงทรพย์สมบัติเราไป ซึ่งเป็นกรณีต้องปกป้องด้วยชีวิต ถ้าเจ้าของถูกฆ่าก็จะไปสวรรค์ (เป็นชาฮีด) ถ้าผู้ที่มาขโมยทรัพย์สมบัติถูกฆ่าก็จะไปนรก

ขอทดลองสรุปว่า เป้าหมายการต่อสู้ของฝ่ายขบวนการคือการปลดปล่อยดินแดนจากการยึดครองของรัฐสยาม (แม้ว่ารัฐสยามจะเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐไทย แต่ในแง่วาทกรรมแล้ว ขบวนการยังคงใช้คำว่าสยามเพื่อเน้นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนับร้อยปีมาแล้ว) เพื่อสถาปนารัฐปาตานี ที่เป็นอิสระ และ (อย่างน้อยสำหรับขยายแนวร่วมการต่อสู้) เป็นรัฐอิสลาม

เป้าหมายของฝ่ายรัฐ

ฝ่ายรัฐจะต้องทำตามกฎหมายโดยทั่วไป และตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ (แม้ว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้) รัฐมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคนของทุกคนที่อยู่ในประเทศ รักษาบูรณภาพของดินแดน จัดให้มีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิผลในการยังความยุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเสมอเหมือนกัน ส่งเสริมความสมบูรณ์พูนสุขและคุณภาพชีวิต ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย ฯลฯ อย่างไรก็ดี ใน จชต. มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายรัฐเน้นหน้าที่ในด้านความมั่นคง และไม่สามารถทำหน้าที่ในด้านอื่น ๆ ได้ดีนัก

ขอจินตนาการว่าฝ่ายที่เข้าข้างรัฐอาจจะวิจารณ์วาทกรรมของขบวนการว่าอย่างไร การผนวกดินแดนของ ‘หัวเมือง’ ต่าง ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามนั้น เป็นกระบวนการสร้างรัฐ-ชาติตามปกติ ที่เกือบทุกรัฐ-ชาติทั่วโลกต่างก็ได้กระทำการเช่นนี้ หาใช่การล่าอาณานิคมเพื่อครอบงำและขูดรีดประชาชาติที่อยู่ไกลออกไปไม่ (ไม่ได้อยู่ติดกับพรมแดนของรัฐ)

ถ้าพิจารณารัฐ-ชาติที่อยู่ประมาณ 200 รัฐ จะพบว่าในรัฐเหล่านี้มีประชาชาติอาศัยอยู่ประมาณ 2000 ชาติ แต่มีเพียง 20 ‘รัฐ-ชาติ’ ที่ถือได้ว่าอยู่อาศัยโดยประชาชาติเพียงชาติเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรามีประชาชาติ 1980 ชาติ อาศัยอยู่ใน 180 รัฐที่มีศักยภาพที่จะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ประเทศไทยก็เช่นกัน มีประชาชาติอยู่มากหลายดังจะเห็นได้จากภาษาพูดที่พูดกันอยู่กว่า 60 ภาษา นอกจากภาษาตระกูลไทยแล้ว ยังมีภาษาหลัก ๆ อีก เช่นภาษามลายู ภาษาเขมร ภาษาไทยใหญ่ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลที่ง่ายมากว่า ดูเหมือนว่ามนุษย์เราชอบที่จะถูกปกครองโดยผู้คนชนิดเดียวกับตน[5] ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการสร้างรัฐชาติเช่นนี้จึงจะไม่เป็นความขัดแย้งที่รุนแรง มิฉะนั้น เราอาจมีความขัดแย้งที่รุนแรงในอีกหลายสิบหรืออาจถึงร้อยรัฐ-ชาติก็เป็นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้จะเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้งเช่นนี้ได้ แต่จะต้องหาทางก้าวข้ามความขัดแย้งเช่นนี้ไป เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยทุกฝ่ายต่างมีความสุข

ข้อวิจารณ์อีกประการหนึ่งต่อวาทกรรมของฝ่ายขบวนการก็คือ การตั้งข้อสงสัยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่ว่า เคยมีรัฐปาตานีที่มีอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับ จชต. ปัจจุบัน หรือเคยมีแต่นครรัฐหลายนครที่ปกครองพื้นที่ต่าง ๆ กันไปแล้วแต่ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ และถ้ามีรัฐปาตานีดังกล่าว รัฐเช่นนั้นเป็นรัฐอิสลามในความหมายที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด[6]ถ้าความเป็นดินแดนในอดีตอาจไม่ชัดเจนในความหมายของดินแดนแห่งรัฐเดี่ยว การให้ความหมายเชิงประวัติศาสตร์ว่าเป็นการเข้ายึดครองดินแดนแบบอาณานิคม เพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนที่มีเอกภาพในการปกครองก็พลอยจะคลุมเครือไปด้วย และการสร้างรัฐอิสลามก็อาจเป็นเพียงข้อเสนอใหม่ที่อาจพิจารณาได้ด้วยคุณค่าปัจจุบันโดยไม่มีความขลังของอดีตมาเป็นปัจจัย

ขอทดลองสรุปว่า ฝ่ายรัฐมีเป้าหมายในการรักษาบูรณภาพของดินแดนและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนทุกคน โดยยอมรับว่าการกระทำที่ผ่านมาเคยสร้างบาดแผลไว้ในเชิงประวัติศาสตร์ และเคยใช้นโยบายบังคับกลมกลืน (assimilation) ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างรัฐชาติ และยอมรับที่จะทำการแปลงเปลี่ยนทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยมุ่งหวังให้เกิดการอยู่ร่วมกันที่ตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของทุกฝ่าย

 


[1] Galtung. Johan 1996: Peace by Peaceful Means: Peace and Conflict, Development and Civilization. London: Sage, p. 72.

[2] คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) 2506: เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์. กรุงเทพฯ, หน้า 13-14; Gunaratna, Rohan et Al. 2505: Conflict and Terrorism in Southern Thailand. Singapore: Marshall Cavendish International, pp. 32-45 and pp. 157-194.

[3] บะห์รูน 2548: ญิฮาดสีเทา ใครสร้าง ใครเลี้ยงไฟใต้. กรุงเทพฯ สาริกา หน้า 115-6; ธงชัย วินิจจะกุล 2548: ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14 ตุลา ปาฐกถา 14 ตุลา 2548. กรุงเทพฯ:มูลนิธิ 14 ตุลา หน้า 67-78.

[4] Gunaratna, Rohan at Al. ibid pp. 118-145.

[5] Galtung, Johan 2004: Transcend and Transform: An Introduction to Conflict Work, London: Pluto, p. 7.

[6] บะห์รูน บะห์รูน 2548: ญิฮาดสีเทา ใครสร้าง ใครเลี้ยงไฟใต้. กรุงเทพฯ สาริกา หน้า 162.