Skip to main content

 

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
เนื่องในวาระวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล10 ตุลาคม 2556
 
 
AI ชี้รื้อฟื้นการประหารชีวิตถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
 

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้นักการเมืองต้องหยุดการนำเสนอนนโยบายว่าโทษประหารชีวิต สามารถลดอัตราการเกิดอาชญากรรมลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ควรหันมาแก้ปัญหาในระบบยุติธรรมทางอาญามากกว่า    

            ออเดรย์ โกห์ราน (Audrey Gaughran) ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลประเด็นระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยเนื่องในวาระวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ว่ารายงานฉบับใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่อง “ไม่ได้ทำให้ชีวิตปลอดภัยมากขึ้น” (“Not Making Us Safer”) เน้นย้ำว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนข้ออ้างว่าโทษประหารชีวิตสามารถช่วยลดอาชญากรรมร้ายแรงได้ และประเทศส่วนน้อยในโลกเท่านั้นที่ได้รื้อฟื้นหรือวางแผนจะรื้อฟื้นการประหารชีวิต โดยมักเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงหรือเพิ่มมากขึ้น หรือหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารอย่างโหดเหี้ยม

             “นักการเมืองต้องหยุดแสดงละครเพื่อเรียกคะแนน และต้องแสดงความเป็นผู้นำเพื่อสนับสนุนความปลอดภัยของสาธารณะ เพราะไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้เลยว่าโทษประหารชีวิตมีผลในเชิงป้องปรามอาชญากรรมอย่างชัดเจน นักการเมืองควรให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมอย่างจริงจังมากกว่า”    

            ในปี 2555 มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในแกมเบีย อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต ไนจีเรีย ปากีสถาน และล่าสุดในเวียดนาม ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงประหารชีวิตอยู่ก็เป็นเพียงแค่ประเทศส่วนน้อย เพราะ 140 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าการรื้อฟื้นการประหารชีวิตจะสามารถควบคุมหรือลดการเกิดอาชญากรรมลงได้

  • ในอินเดีย อัตราการฆาตกรรมลดลง 23% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยไม่มีการประหารชีวิตบุคคลเลยระหว่างปี 2547-2554 

  • ในแคนาดา อัตราการฆาตกรรมลดลงเมื่อปีที่แล้ว หลังจากยกเลิกโทษประหารชีวิตไปตั้งแต่ปี 2519

  • งานวิจัยที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ตรินิแดดและโตเบโก ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการประหารชีวิตกับอัตราการจำคุกและอัตราการเกิดอาชญากรรมเลย

            “การที่นักการเมืองเสแสร้งว่าต้องมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิต เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากการแก้ปัญหาในระยะยาว นั่นคือการแก้ปัญหาระบบยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง” ออเดรย์ โกห์รานกล่าว

            การทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมทางอาญาที่ให้ความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงการศึกษาและการจ้างงาน ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมขึ้นในสังคม

            นักการเมืองมักอ้างว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้โทษประหารชีวิต เพื่อหาข้อสนับสนุนบทลงโทษนี้ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเห็นโดยทั่วไปมักให้ผลลัพธ์ที่ผสมผสานกัน  เพราะเมื่อคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ความเสี่ยงจากการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ และการพิจารณาคดีที่ขาดความเป็นธรรม มักทำให้แรงสนับสนุนของสาธารณะต่อโทษประหารชีวิตลดลง

            “เหยื่อของอาชญากรรมควรได้รับความยุติธรรม แต่โทษประหารชีวิตไม่ได้เป็นคำตอบ และการรื้อฟื้นการประหารชีวิตเพื่อแสดงว่าต้องการปราบปรามอย่างจริงต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น กลับทำให้ชีวิตของประชาชนต้องตกอยู่ในเกมการเมือง” ออเดรย์ โกห์รานกล่าว

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม