Skip to main content

 

ชื่อบทความ: ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมและการบริหารการปกครองของรัฐไทยกับการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้เขียน ; นายอิสมาอีล เจ๊ะนิ นักศึกษาสาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
ความเป็นมาและความสำคัญของการศึกษา
การเลือกสนใจศึกษาปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552 นั้น ผู้เขียนในฐานะคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นคนในพื้นที่เขตสีแดงก็จริงอยู่ แต่ผู้เขียนเองมีคำถามอยู่ในใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางภูมิศาสตร์, ประเด็นศาสนา, ประเด็นทางชาติพันธุ์, ประเด็นทางอัตลักษณ์ ประเด็นทางภาษา, ประเด็นทางประวัติศาสตร์ และประเด็นวัฒนธรรม หรืออื่นๆอีกมากมายที่ผู้เขียนคิดอยู่ในหัวว่าน่าจะเป็นสาเหตุและปัจจัยที่สร้างความขัดแย้ง ดังที่นักวิชาการทั้งในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ หรือแม้แต่นักวิชาการต่างประเทศที่เข้าศึกษาปรากฏการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ และได้มีคำอธิบายมากมายถึงปมปัญหา และบางครั้งก็หาทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านั้นไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน
            แต่ดูประหนึ่งว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็หาทุเลาไม่ เพราะหากติดตามจากสถานการณ์ความไม่เรียบร้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 นับเป็นเวลา 5 ปี กับ 8 เดือน ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมาตามรายงานของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รายงานสถานการณ์ความไม่สงบอันประกอบไปด้วย การยิง การวางระเบิด การวางเพลิง และการก่อกวนอื่นๆทั้งหมดโดยประมาณ 9,232 เหตุการณ์ ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าวทำให้ผู้เสียชีวิตรวม 3,611 ราย บาดเจ็บ 6,073 ราย กล่าวโดยรวม เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บจากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นจำนวน 9,684 ราย จากประมาณการผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด จะมีผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกประมาณ 48,000-50,000 คน (ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี “ชายแดนใต้เดือนสิงหาฯ 52 : การต่อสู้ที่ฟาฏอนีในเดือนรอมฎอน์” 2552. [เปิดดูเมื่อ 29 กันยายน 2552]. จากhttp://www.deepsouthwatch.org/node/438 : INTERNET.) ก็เป็นอะไรที่ดูแล้วมีความสลับซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจและเรียนรู้ในประกฎการณ์เหล่านั้นได้
พร้อมๆกับมีคณะบุคคลที่พยายามเปิดประเด็นและร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ที่หมายมุ่งที่จะหาแนวทางในการสร้างความสงบและเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ผ่านการนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรง อย่างข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทยภายใต้ 3 กรอบคิดเช่น มองว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือมองว่าการแก้ปัญหานั้นจะต้องเน้นความมั่นคงของมนุษย์ด้วยหลักสันติวิธีและเน้นแนวทางสมานฉันท์(คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549: 59-65)
            ในขณะที่ล่าสุดในความพยายามของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสันติสุข’ รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ก็ได้พยายามแสดงกรอบคิดในการมองปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมองถึงรากเง้าของความขัดแย้งว่า ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดและทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนมลายูปาตานีอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในอัตลักษณ์ หรือความหวาดระแวงต่อการแบ่งแยกดินแดนมากจนไปกดทับอัตลักษณ์มลายูปาตานี ส่งผลให้คนมลายูปาตานีเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถดำรงอยู่อย่างมีเกียรติและมีคุณค่าในสังคมไทย หรือที่บอกว่า เกิดจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานีในอดีตที่ยังอยู่ในความทรงจำที่พยายามตอกย้ำและให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือลึกไปกว่านั้นมองถึงโครงสร้างการจัดองค์กร กฎหมาย และนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และการที่ไม่เอื้อต่อการให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในระดับที่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริงและเท่าเทียมเป็นต้น(นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า.รากเหง้าของความขัดแย้งคืออะไร?. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2552.:9)
ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายก็พยายามอธิบายถึงสาเหตุและปมปัญหา และพยายามหาทางออกเพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ให้ได้ แต่กระนั่นก็ตามปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เพิ่มระดับและทวีความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ แถมขยายเงื่อนไขความขัดแย้งที่ซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ
ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจในปรากฏการความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะความสนใจในประเด็นความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมและนโยบายทางการเมืองของรัฐไทยต่อการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญมากน้อยแค่ไหน และความขัดแย้งจากความสัมพันธ์ทั้งสองประเด็นมีอะไรที่เป็นเชิงสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง มีกลุ่มหรือหน่วยแห่งความขัดแย้ง หรือมียุทธวิธีการต่อสู้ระหว่างทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสียอย่างไร พร้อมๆกับหากความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มเงื่อนไขและปัจจัยในอนาคตจะเป็นอย่าง และพอมีกลไกแนวทางอะไรบ้างในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงเหล่านั้น นี้คือโจทย์คำถามที่ผู้เขียนสนใจและอยากศึกษาในปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วัตถุประสงค์
          เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอบเขต
          ด้านเนื้อหา
          จะศึกษาปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส
 เครื่องมือ
                เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการสำรวจเอกสารจากบทความวิชาการ ตำราวิชาการ จากฐานข้อมูลอินเตอร์เน็ต และจากวารสารต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วิธีการศึกษา
จะศึกษาในรูปแบบเชิงสำรวจปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และศึกษาแบบเชิงคุณภาพ
 
 
กรอบความคิดการสังเคราะห์งานวิจัย

แหล่งข้อมูล

- มิติเชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมกับนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย
มิติว่าด้วยเงื่อนไข ปัจจัยความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ยุทธวิธีการต่อสู้
มิติว่าด้วยกลไก ยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง
 
 

 

 


ผลการศึกษา

- เห็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
-เห็นแนวทางการจัดการความขัดแย้ง
 
 
 

         

 

                                                                
           
 
 
 
 
 
 
การวิเคราะห์ข้อมูลในการสังเคราะห์
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์สาระ (Content Analysis)
 
 
 
 
 
 
บทนำ
มีคนบอกว่าถ้าจะดูความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรมนั้น นอกจากจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรมไม่แพ้ออกเช่นกัน การมีกลุ่มพุทธ จีน และมุสลิมในพื้นที่ ก็เป็นอะไรที่สามารรถบ่งชี้ถึงความหลากหลายแม้บางครั้งอาจจะมีการแย้งก็ตามแต่ แต่ความหลากหลายของผู้เขียนไม่ได้หมายถึงชาติพันธุ์วรรณา แต่หมายถึงความหลากหลายในมิติทางภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต วิธีคิด การเมือง การปกครอง และอัตลักษณ์(โชคชัย วงษ์ตานี, 2552 : 2)ในแต่ละพื้นที่เป็นข้อสำคัญ  ซึ่งความหลากหลายของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นโจทย์สำคัญที่สามารถสร้างความอ่อนไหวไม่น้อยต่อสถานการณ์ความไม่เรียบร้อยในพื้นที่ และมักถูกเรียกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการหลอมรวมความเป็นพวก หรือสร้างความชอบธรรมทั้งทางสังคม การเมือง หรือบางครั้งอาจมีผลไม่น้อยต่อทิศทางการกำหนดนโยบายของรัฐทั้งในอดีต-และปัจจุบันออกเช่นกัน
แต่โจทย์สำคัญที่ผู้เขียนจะศึกษาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ในมิติต่างครั้งนี้คือ
1.      มิติเชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมกับนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย
2.      มิติว่าด้วยเงื่อนไข ปัจจัยความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ยุทธวิธีการต่อสู้
3.      มิติว่าด้วยกลไก ยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง
กรอบคิดในการวิเคราะห์
สำหรับกรอบการวิเคราะห์ในครั้งนี้ใช้หลักการวิเคราะห์ของ Expanding the Conflict Triangle: Transformers and Triggers of Conflict at Different System Levels ของHugh Mialเพื่อวิเคราะห์ ในปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552 เป็นหลักในการวิเคราะห์ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนขอนำเสนอในมิติต่างๆดังต่อไปนี้
(1) มิติเชิงพื้นที่
จาการสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวกับมิติเชิงพื้นที่นั้น เราจะพบว่า ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซียยาว 647 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางบก 552 กิโลเมตร ทางทะเล 95 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย(มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีอ้างถึงในเสาวนีย์ จิตต์หมวด, 2549 : 19)
 โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดกันในบ้าน สัดส่วนประชากรในปี 2546 มีจำนวน ร้อยละ 79.3 หรือ 1.39 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 1.75 ล้านคน ในขณะที่มีชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1(ศูนย์ข่าวอิศรา “เปิดร่างกอส. ฉบับ 5 ตอน 2-ปัญหาเชิงโครงสร้าง รากเหง้าความรุนแรงชายแดนใต้” 2006. [เปิดดูเมื่อ 29 กันยายน 2552]. จากhttp://www.isranewe.org :INTERNET.
หากเราพิจารณาจากฐานภูมิศาสตร์ จากฐานประชากร จากฐานการนับถือศาสนา หรือจากฐานความเชื่อทางศาสนาก็เป็นอะไรที่สะท้อนสภาพสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายแง่มุม หนึ่งในแง่มุมที่ผู้เขียนจะขอนำเสนอเพื่อเป็นฐานในการมองถึงเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552 นั้น มีมิติที่น่าสนใจดังต่อไปนี้  
 
(2) มิติเชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมกับนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย
    ความจริง ในฐานะที่ผู้เขียนเอง เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอน การที่จะสะท้อน สภาพพรมแดนของรัฐไทยที่มีต่อความบริสุทธิ์ และความเป็นธรรม ต่อเขตแดนของชาติพันธุ์มลายูมุสลิมกับเรื่องเหตุทางวัฒนธรรมกับนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย อาจจะเลือกข้างก็เป็นได้ เพราะแน่นอนว่า ในสถานการณ์ที่เราอาจอยู่ใกล้เหตุการณ์จนเกินไปนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงการที่เราจะตัดสินใจเข้าข้างตนเองไปไม่พ้น ซึ่งการสร้างระยะห่างจากเหตุการณ์ของตัวเราอย่างเหมาะสมนั้น ย่อมที่จะช่วยให้เราตัดสินหรือแยกถูกผิดได้มากกว่า (ณฐิญาณ์ งามขำ. 2552 : 217) เพราะบนฐานคิดที่ว่า ตัวตนอาจไม่ตัดขาดจากตัวตน หรือปัจจุบันไม่อาจตัดขาดแยกจากอดีต (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2543 : 12)
เพราะบนพื้นฐานความรู้แบบ Baconian ถือว่า ความรู้ถอดแบบจากการทำงานสามลักษณ์ในจิตมนุษย์ คือ ความทรงจำ เหตุผล และจินตนาการ เพราะความทรงจำเป็นการทำงานทางจิตใจของมนุษย์ ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่ก่อกำเนิดจากความทรงจำ สิ่งซึ่งนี้เอง เพื่อไม่ให้ถูกกับดักแห่งความทรงจำ และจินตนาการที่ผูกกับมายาคติ ที่แอบแฝงซ้อนเงื่อนแห่งความเชื่อ และความทรงจำนั้น จำเป็นต้องมองพรมแดนแห่งความอยู่จริง อันเป็นตรรกะหลักในตัวของมันอยู่ เป็นเพราะคงปฏิเสธการหยั่งรู้แห่งความอยู่จริงที่พร้อมสรรพที่จะอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น อย่างใจว่างเปล่า ที่ปราศจากเขตแดนแห่งสภาพความเป็นตัวตน เพราะการหยั่งรู้ที่ว่างเปล่า เป็นสิ่งซึ่งง่ายต่อการอรรถาธิบาย ถึงปรากฏการณ์ความอยู่จริง ที่ปราศจากการครอบงำนั้นเอง
เมื่อถึงจุดนี้เอง ทำให้ผู้เขียนคลายความกังวล ต่อกับดักเหล่านั้นไป แต่กลับเป็นความอึดอัดใจ ในมายาคิด ที่ไม่บริสุทธิ์และไม่เป็นธรรมของรัฐชาติ โดยเฉพาะความอึดอัดใจ ต่อนโยบายแห่งรัฐ ที่ไม่พยายามเข้าใจ และเรียนรู้ต่อภูมิหลังแห่งสังคมมลายูมุสลิม และความอยู่จริงแห่งสภาพสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเข้าใจ
เพราะ หากวิเคราะห์นโยบายของรัฐ ต่อบริบททางวัฒนธรรมอย่างเป็นกลางนั้น สามารถสรุปลักษณะของนโยบาย ได้ 3 ประการ (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะอ้างถึงในอับดุลรอยะ ปาแนมาแล, 2550 : 289) คือ บางนโยบาย มุ่งผสมกลมกลืน หรือมุ่งเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอิสลาม บางนโยบาย มีลักษณะผ่อนปรน หรือให้เสรีภาพ ในการดำเนินชีวิต ตามวิถีทางของวัฒนธรรมอิสลาม หรือบางนโยบาย มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนวัฒนธรรมอิสลาม นั่นเป็นการตอกย้ำ แสดงถึงความมุ่งมั่นอันไร้จุดหมายของรัฐไทย และความมุ่งหมาดปรารถนา บนฐานความไม่เข้าใจที่มีต่อความหลากหลายทางชาติพันธ์มลายูมุสลิม
ความไม่ลงตัว ในความเข้าใจ ต่อความอยู่จริงที่ดำรงอยู่ และความซับซ้อน อันเนื่องมาจากลักษณะสำคัญของพื้นที่ ภายใต้ความแตกต่างทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม และรวมถึงข้อปลีกย้อนที่ซ้อนเข้าไปผ่านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ธำรงคงอยู่เอง ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดบ่วงแห่งความเป็นอื่น ด้วยคำง่ายๆที่ว่า คนไทยหรือเปล่า? (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 99) แม้คำนี้เป็นคำธรรมดา แต่มันกินลึกถึงรากเหง้า ที่ไปพร้อมๆกับคำถาม ของคนสามจังหวัดออกเช่นกันว่า แล้วเรามาจากไหนกันแน่
จึงย้อนหาตัวตน ผ่านการยืมชื่อความเป็น “ปาตานี” อย่างมีเกียรติ ผ่านความทรงจำในอดีต และประวัติศาสตร์ ที่มีความอยู่จริงที่พลิกหากันได้ ก็จะเข้าใจตัวตนที่ว่า ปาตานี คือราชอาณาจักรมลายูแห่งลังกาสุกะในอดีต เมื่อช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล จนกระทั่งลังกาสุกะเสื่อมอำนาจลงประมาณช่วงสหัสวรรษต่อมา และได้ปรากฏอาณาจักรแห่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ คือราชอาณาจักรปาตานี ที่มีความรุ่งเรืองและทรงอำนาจแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายสหัสวรรษต่อมา ปาตานีก็ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐไทย เมื่อมีการบรรลุข้อตกลงระหว่างอังกฤษและสยามในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2445 ถึง พ.ศ. 2452 ผลจากสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว มีผลให้ปาตานีถูกผนวกรวมเข้ากับรัฐไทย คือปาตานี ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย โดยปราศจากความตกลงใดๆจากประชาชาติปาตานี (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 19-20)
ถึงกระนั่นก็ตาม ความเป็นปาตานี แม้จะอยู่จริงผ่านความทรงจำ และประวัติศาสตร์ในอดีต แม้ใครหลายๆคน จะมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตน แต่ความมุ่งมาดปรารถนา ของสังคมสามจังหวัด ก็ไม่ได้มีมากกว่า การสงวนรักษา ความเป็นตัวตนผ่านอัตลักษณ์  เห็นได้จากความล้มเหลวของรัฐไทย ในความพยายาม ใช้กระบวนการผสมกลมกลืน ที่ดำเนินมาจนปัจจุบันเป็นเวลา 102 ปี (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 20)
หรือการที่รัฐไทยพยายามสร้าง “ความเป็นคนไทย” (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 106) ให้กับคนในพื้นที่นี้ เป็นต้นว่า ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีแนวคิดในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ที่เราเข้าใจที่ติดปาก ติดใจ คือนโยบายชาตินิยม หรือถ้าจะพูดอย่างสวยหรู คือ นโยบายผสมผสานวัฒนธรรม (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2550 : 395)หรือแม้แต่ความพยายามที่จะปลูกฝัง วัฒนธรรมใหม่ให้กับคนในชาติ คือ การถือเอาสังคมวัฒนธรรมในกลุ่มเจ้าพระยา หรือภาคกลางของประเทศไทย เป็นวัฒนธรรมหลวง หรือวัฒนธรรมใหญ่ หรือวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 107)
แต่หารู้ไม่ ยิ่งความมุ่งมาดปรารถนา ของรัฐไทยบนนโยบายการสร้างชาติ และการพัฒนาบนฐานคิดนิเวศชาตินิยม คือการให้ความสำคัญ กับผลประโยชน์ของรัฐชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของท้องถิ่น และเน้นการจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2550: 393)อยู่เอง แต่ความมุ่งมาดปรารถนา ก็ย้อนศรแห่งการปฏิเสธ แต่กลับแข็งค่า แสดงตัวตนผ่านอัตลักษณ์ แม้จะตระหนักว่า การแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างเด่นชัดเกินไป อาจทำให้ตนไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งจากรัฐไทยและจากคนในชุมชน และอาจจะมีผลถึงการกีดกันโอกาส และสิทธิต่างๆ (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2550: 373-374)ก็ตาม
แม้จะตระหนัก และเข้าใจ ความยากลำบากของการต่อสู้ เพื่อแสดงความเหนือกว่า ทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในสังคมพหุลักษณ์ ที่มีการกีดกัน กดขี่ หรือเข่นฆ่ากลุ่มคนที่ด้อยกว่า ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคมพหุลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้นำประเทศ มุ่งสร้างชาติแบบให้มีเอกภาพ ทางวัฒนธรรม และเชื่อว่าความรู้สึกที่จะเป็นสมาชิกชุมชนทางการเมืองก็คือ ชาติ และมักมีการไม่ยินยอมให้มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย และถือว่า ความจงรักภักดีต่อชาติต้องมาก่อนชาติพันธุ์ (ปริญญา นวลเปียน, 2551: 101) ก็จริงอยู่ แต่สถานการณ์ข้างต้น มันก็ย่อมก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า ปฏิเสธความเป็นอื่นไปหมด (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2550: 393) เสมือนว่าวัฒนธรรมใดที่ไม่ตรงกับวัฒนธรรมกระแสหลัก มีความสำคัญน้อยกว่า หรือแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีความสำคัญก็ว่าได้
สภาพเช่นนี้ ยิ่งทำให้ชาวมลายูมุสลิม มีความรู้สึกเป็นกลุ่มชายขอบ แปลกแยก จากกระแสหลักของสังคมไทย และเป็นการตอบย้ำซ้ำเติม ถึงความเป็นอื่นให้กับพวกเขาด้วย เรียกได้ว่า รัฐไทยไม่เพียงครอบงำเท่านั้น แต่ยังตัดโอกาสอีกด้วย คือ ไม่เปิดโอกาสให้ชาวมลายูได้แสดงตัวตนตามชาติกำเนินที่แท้จริง หรือเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมเดิม ในภาวะที่ค่อนข้างจำกัด (ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2550: 393)เกิดขึ้น
 สอดคล้องกับมุมมองจากศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธ์ที่พยายามอธิบายรากเหง้าของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากปัจจัยเชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมส่วนหนึ่งบอกว่ามาจาก อคติทางชาติพันธุ์ หมายความถึงการใช้มุมมองของตัวเองไปอธิบายคนอื่น โดยไม่ใยดีต่อความแตกต่างของชีวิตของผู้คนที่แตกต่างจากตน อีกส่วนหนึ่งคือการมองเป็นอื่น คือการมองคนอื่นเหมือนไม่ใช่คน คือการเห็นตัวเองเป็นคนอยู่คนเดียว(มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อ้างถึงในอานันท์ กาญจนพันธุ์, 2550 : 15-16)
คำถามคือทำไมผู้เขียนต้องพิจารณาเรื่องนี้ก่อน เป็นเพราะมันสามารถตอบโจทย์ว่า แท้จริงคนมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างตกอยู่กับกับดักของพลังจิตสำนึกประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีตระหว่างรัฐสยามกับรัฐปาตานีที่กลุ่มชาติพันธุ์มลายูพยายามที่จะถ่ายทอดส่งต่อไปยังลูกหลาน ขณะเดียวกันพยายามสร้างความรู้สึกแรงกล้าต่อการปกป้องอัตลักษณ์ทางเชื่อชาติและศาสนา หรือพยายามสร้างความรู้สึกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ถูกครอบงำทางการเมือง ถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม ถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือถูกหวาดระแวงและไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มคนในสังคมใหญ่ (นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า , 2552 : 5)หรือไม่? และเรื่องหลายนั้นมันเพียงพอไหมที่จะตอบโจทย์ของเงื่อนไขความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างปีพ.ศ. 2547-2552 แต่สำหรับผู้เขียนคิดอยู่สองแง่ หนึ่งอาจไม่เพียงเพราะเราคนในพื้นที่ สองอาจเพียงพอเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงที่รัฐไทยพยายามผลิต แต่จะอย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากให้ดูในบริบทอื่นประกอบตามมิติต่างๆที่ผู้เขียนขอนำเสนอดังนี้
 (3) มิติว่าด้วยเงื่อนไข ปัจจัยความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ยุทธวิธีการต่อสู้
                    เพื่อให้เห็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้อง คือ ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมและนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทยต่อการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552 ส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไข ปัจจัยความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย และยุทธวิธีการต่อสู้ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้
            จากการศึกษาปัจจัยความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ปัจจัยความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัจจัยมาจาก 4 ประการ คือ 1) ปัจจัยประวัติศาสตร์ 2) ปัจจัยทางนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย 3) ปัจจัยจากค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ 4) ปัจจัยเชิงอัตลักษณ์และชาติพันธ์
3.1) ปัจจัยทางประวัติศาสตร์
                      ปัจจัยประวัติศาสตร์ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญมากๆที่ถูกเอามาเป็นข้ออ้างหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมต่อการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะขบวนการ พยายามผลิตจากการเอาประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ โดยมองว่ารัฐไทยเอาดินแดนหรือราชอาณาจักรปัตตานี ทำให้ผู้เคลื่อนไหวก็พยายามเอากรณีเชิงประวัติศาสตร์มาสร้างความชอบธรรมในการอ้างแบ่งแยกดินแดน โดยเลือกความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่ว่าเป็นของมลายู ดังนั้นลูกหลานต้องปกป้อง ซึ่งข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางข้อมูลการที่บางครั้งเลือกที่ทรงจำ เลือกที่จะลืมบางบทบางตอนนั้นก็สามารถสร้างแนวร่วม และสามารถสร้างสำนึกความเป็นชาติ เมื่อเกิดการสำนึกความรักชาติผูกติดกับศาสนา ทำให้เกิดขบวนการต่อสู้ด้วยการต่อสู้เพื่อศาสนา ทำให้ใครก็ตามที่ขัดขวางตามแนวทางการต่อสู้ คนเหล่านั้นก็สามารถทำลายล้างได้ ซึ่งแน่นอนมันก็สร้างความเป็นมุสลิมกับไม่ใช่มุสลิม และทำให้ไม่มองความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง .ซึ่งการไม่มองความเป็นมนุษย์นั้นเองทำให้เขาไม่คิดมากในการใช้ความรุนแรงเหล่านั้น และไม่คิดมากในการที่จะสร้างสถานการณ์ความไม่สงบหรือความรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนมองว่าปัจจัยทางประวัติศาสตร์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรุนแรงผ่านการเลือกที่จะจำหรือเลือกที่จะลืม ซึ่งก็เกิดบาดแผลในใจ โดยเฉพาะที่รัฐไทยได้กระทำกับพี่น้องมุสลิมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหะยีสุหลง กรณีของคุณสมชาย นีละไพจิต กรณีกรือแซะ กรณีตากใบ ซึ่งถือเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สามารถผลิตแนวร่วม หรือตกลงที่จะพร้อมถวายชีวิตเพื่อศาสนา ก็ด้วยบาดแผลทางประวิติศาสตร์ และเพราะความทรงจำทางประวัติศาสตร์
ซึ่งผู้เขียนมองว่าปัจจัยทางประวัติศาสตร์คือต้นเหตุที่สำคัญไม่น้อยในการก่อตัวในการสร้างความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.2) ปัจจัยทางนโยบายการบริหารและการปกครองของไทย
                     ความจริงปัจจัยที่มาจากนโยบายการบริหารและการปกครองนั้น นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรง โดยเฉพาะหากเฝ้าสถานการณ์ความรุนแรงนั้น ประเด็นปัจจัยนโยบายการบริหารและการปกครองของไทย ถือเป็นข้ออ้างสำคัญที่สร้างคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เช่น กรณีการเคลื่อนไหวการเรียกร้องของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่มีการเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 ประการ เช่น ให้ตั้งคนมุสลิมที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้าหลวงใน 4 จังหวัด ให้ใช้ภาษีอากรที่เก็บได้บำรุงท้องที่ 4 จังหวัดเท่านั้น ให้มีข้าราชการมุสลิมในทุกจังหวัดร้อยละ 80 ให้คณะกรรมการอิสลามโดยความเห็นชอบจากข้าหลวงออกกฎหมายที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนาอิสลามใช้เองได้(:สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้. สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข-สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. มปป.: 40) เป็นต้น แต่ก็ถูกการปฏิเสธ และมองว่าเป็นกบฏ แล้วในที่สุดก็ถูกอุ้มฆ่าเป็นต้น หรือ การที่รัฐไทยมีนโยบายที่มองคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนชั้นสอง ไม่สนใจการพัฒนา หรือพยายามใช้ความรุนแรงด้วยอำนาจรัฐในรัฐบาลต่างๆ เช่น อุ้มฆ่า หรือการที่ใช้นโยบายในการกีดกั้นการเข้าไปบริหารราชการในหน่วยงานสำคัญต่างๆ
ซึ่งผู้เขียนมองว่าปัจจัยชั้นนโยบายการเมืองและการปกครองของไทย มีส่วนสำคัญมากที่ผลิตความรุนแรงออกมา โดยเฉพาะผลิตความรุนแรงในเชิงความคิด เช่นการแยกกลุ่ม คนไทย และไม่ใช่คนไทย หรือที่หนักมากๆผลิตออกมาในรูปขบวนการ เช่นขบวนการ BRN Co ordinate กลุ่ม Ulama ซึ่งแน่นอนเมื่อกลุ่มเหล่านี้เกิดขึ้น ก็พยายามที่จะใช้ยุทธวิธีการต่อสู้ต่อรัฐ ในรูปของต่อสู้กู้ชาติรัฐปัตตานี ในรูปสภาองค์กรนำ หรือกำหนดขั้นการต่อสู้ในบันไดแห่งความสำเร็จ 7 ขั้น การสร้างความเข้าใจผิดแก่มวลชนที่เป็นกลางเป็นต้น(สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้. สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข-สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. มปป.35)  
ผลที่ตามมาคือความรุนแรงผ่านการสร้างสถานการณ์ความไม่เรียบร้อยในพื้นที่ โดยปฏิบัติการให้เห็นว่ารัฐไม่มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ คือการพยายามให้รัฐมีความล้มเหลวในการดูแลความเรียบร้อย ซึ่งเราก็จะเห็นความรุนแรงในหลายรูปแบบไม่ว่าจะมาในรูปของการวางเพลิง การระเบิด การยิง และนอกจากนั้น การสร้างสถานการณ์รายวัน เป็นต้น และรวมถึงปัญหาที่ที่รัฐไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับส่วนราชการ กับประชาชนอีกด้วย ทำให้รัฐมีปัญหาในการบริหารและปกครอง ซึ่งก็ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมมั่นในการลงทุนทั้งในพื้นที่ และคนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงด้วย ซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าจะเป็นเป็นอีกตัวหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
3.3)ปัจจัยค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์
                   กรณีความขัดแย้งที่เกิดจากปัจจัยจากค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นอีกความขัดแย้งชนิดหนึ่ง เมื่อคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคนในพื้นที่ และรัฐ ต่างมีค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ ต่างกัน การที่ค่านิยมมุสลิมถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน การที่เห็นสังคมร่วมศาสนาถูกรังแกจากรัฐย่อมก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจ
 ย่อมจะออกมาปกป้องและห่วงใย บางครั้งก็จะออกมารูปของการออกมาเคลื่อนไหวในรูปการปิดถนนดังที่เกิดขึ้นในหลายๆจุด หรือเกิดจากความเชื่อที่ต่างกันอย่างน้อยก็นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งการที่มุสลิมมีความเชื่อกับทางการต่างกัน ย่อมสร้างความไม่พอใจแล้วก็เกิดการเรียกร้องต่างที่มันอาจกระทบกับความเชื่อเหล่านั้น เช่นเรียกร้องการใช้กฎหมาย เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน เรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางกฎหมายอิสลาม เรียกร้องการใช้ธุรกรรมทางการเงินที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม หรือเรียกร้องในเรื่องการแต่งกาย หรือเรียกร้องเชิงข้อข้อห้ามต่างๆ เช่นเป็นพื้นที่ปลอดแหล่งท่องเที่ยวที่ผิดหลักธรรมของศาสนา จากความเชื่อที่ต่างกันย่อมนำไปสู่ความรุนแรงในเชิงการต่อต้าน หรือบางครั้งในเชิงการทำลาย เช่นการวางระเบิดในบาร์ หรือร้านอาหาร หรือมีการวางระเบิดในส่วนราชการที่มองว่าจะกระทบกับความคิดความเชื่อ เช่น โรงเรียนประถมเป็นต้น หรือเกิดจากโลกทัศน์ต่างกัน
ความเป็นมุสลิมไม่ใช่อยู่เฉพาะโลกดุนยา(โลกปัจจับัน) แต่มุสลิมมีโลกทัศน์ถึงโลกอาคีเร๊ะ(โลกหน้า) ซึ่งการที่สังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโลกทัศน์ที่ต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐไทย แน่นอนยอมนำไปสู่การปฏิเสธในการบริหารจัดการของรัฐ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ไปกระทบในสามส่วน คือ ค่านิยม ความเชื่อ โลกทัศน์ และมากไปกว่านั้น การที่ปัจจัยทั้งสามส่วนถูกลดถอนคุณค่าทั้งคนในพื้นที่ ผ่านการมองว่า เรื่องมาก ยุงยาก รำคาญ มากเรื่อง ก็ทำให้เกิดการแยกความเป็นเขา เป็นเรา ก็เลยเกิดความเป็นคนมลายู คนซีแย(พุทธ) ซึ่งทำให้เกิดมองคนที่มีความแตกต่างจากเราว่าไม่ใช่พวกเราเกิดขึ้นซึ่งทั้งหมดก็ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการสร้างความรุนแรงและความขัดแย้ง
3.4)ปัจจัยเชิงอัตลักษณ์
                   ปัจจัยเชิงอัตลักษณ์ นับเป็นปัจจัยอีกประการสำคัญหนึ่งที่มักจะถูกมองว่าเป็นชนวนที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหากติดตามปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์นั้นสามารถสร้างความความขัดแย้งและความรุนแรง และความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากปัจจัยเชิงอัตลักษณ์
เริ่มจากแนวคิดรัฐชาติที่พยายามสร้างเรื่องอัตลักษณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยการบ่งชี้ว่า ใครคือคนไทย และใคร่ไม่ใช่คนไทยที่แท้จริง การที่พยายามบ่งชี้ว่าใครคือไทย และใครไม่ใช่คนไทยนั้น มันก็สร้างความอึดอัดใจสำหรับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ซึ่งปัจจัยความขัดแย้งในชั้นนี้เราจะเห็นคู่ขัดแย้งที่ชัดๆมากคือระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้นำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 ซึ่งแน่นอนก็นำไปสู่ความขัดแย้งเกินขึ้น เราจะเห็นความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับรัฐบาลไทยโดยเฉพาะความขัดแย้งเริ่มรุนแรงเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการประกาศแผนการสร้างชาติเต็มรูปแบบเพื่อสร้างวิถีวัฒนธรรมและสังคมของพลเมืองไทย โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจัดระเบียบทั้งคนไทยและคนกลุ่มน้อยที่พยายามเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองไทยที่ดี ที่เรารู้จักกันดี คือนโยบายกลืนชาติพันธุ์ หรือกรณีการสร้างความเป็นไทยแบบแนวคิดการผนวกรวม ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการตั้งชื่อกลุ่มคนตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีคำว่า ไทย เช่น ในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า คนไทยมุสลิมเป็นต้น ซึ่งผู้เขียนก็มองว่า ปัจจัยเชิงอัตลักษณ์ที่เกิดนโยบายของรัฐไทยในอดีตที่พยายามสร้างความเป็นอื่น หรือพยายามกลมกลืนในอัตลักษณ์ในพื้นที่ก็นำไปสู่การสร้างความรุนแรงผ่านการต่อต้านของคนในพื้นที่เกิดขึ้น
จากการศึกษาค้นคว้าจากความขัดแย้งที่มาจากปัจจัยเชิงอัตลักษณ์นั้นเราจะพบคู่ขัดแย้งระหว่างรับบาลไทยกับผู้นำในพื้นที่โดยเฉพาะในคู่ขัดแย้งก็พยายามที่จะต่อสู้ยุทธวิธีในการเรียกร้องความไม่ชอบธรรม เช่นเราจะเห็นการต่อสู้ …”.ในปี พ.ศ. 2490 ของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ร่วมกับผู้นำศาสนาอีกประมาณ 100 คน โดยผ่านการเรียกร้องจากรัฐบาลในสมัยนั้นใน 7 ข้อ ซึ่งใน 7 ข้อเราจะเห็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับเชิงอัตลักษณ์ อาทอเช่น ให้ใช้ภาษามลายูในโรงเรียนระดับประถมศึกษา…"
ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของคนในพื้นที่ ซึ่งความไม่พอใจเหล่านั้นผู้เขียนมองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความไม่เข้าใจกันของสองชาติพันธุ์คือคนไทยในพื้นที่ กับคนมลายูปาตานี และความขัดแย้งและความรุนแรงจะทวีขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดสำนึกแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ผ่านวิถีชีวิต ศาสนา ชาติพันธ์ และประวัติศาสตร์เข้มข้นสูง ก็เลยเกิดสำนึกความรักชาติ คือสำนึกในการที่จะต้องรักษาปกป้องในอัตลักษณ์เหล่านั้น เมื่อภาวการณ์ป้องป้องมีความเข้มข้น แน่นอนก็จะเกิดการสร้างสำนึกร่วมผ่านการบอกเล่าถึงการกระทำของรัฐไทย เพื่อสร้างแนวร่วมเป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนมองว่าในอนาคตหากรัฐไทยยังไม่ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม ก็จะเป็นตัวเร่งในการสร้างแนวร่วม แล้วเกิดเงื่อนไขที่เอาประเด็นทางชาติพันธุ์มาผูกกับศาสนาแล้วพัฒนาความสำนึกความรักชาติ รักแผ่นดินเกิดซึ่งพลังสำนึกรักแผ่นดินนั้นเองก็เป็นพลังที่จะต่อสู้เพื่อปกป้อง แน่นอนความรุนแรงที่มาจากเชิงอัตลักษณ์ก็จะตามมา เช่น การสร้างพวก สร้างกลุ่ม สร้างฝ่ายเกิดขึ้น
ดังนั้นปัจจัยชั้นอัตลักษณ์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงที่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามสร้างเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ออกเช่นกัน
(4) คู่ขัดแย้ง
                   มีคนตั้งคำถามว่าแท้จริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีใครบ้างเป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อผู้เขียนได้ทำการสำรวจเอกสาร และเฝ้าระวังนั้น เราจะพบคู่ขัดแย้งหลักดังนี้ คือ 1) ขบวนการก่อการร้ายกับรัฐบาลไทย โดยขบวนการก่อการร้ายนั้น
บางรายงานบอกว่ามาจากกลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานีภายใต้กลุ่มขบวนการ บีอาร์เอ็ม โคออร์ดเนต และขบวนการปูโล ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลัก แต่เป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่เห็นภาพชัดว่าใครเป็นแกนนำ 2) ระหว่างคนมุสลิมกับคนพุทธในพื้นที่ ความขัดแย้งคู่นี้จะออกมาในรูปของการใส่ร้าย ให้ร้าย ด่า หรือแม้กระทั้งการตอบโต้ระหว่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คาบเกี่ยวที่เป็นชุมชนพุทธและมุสลิม 3) ระหว่างชาวมุสลิมกับมุสลิม คู่ขัดแย้งนี้เกิดจากความคิดความเชื่อต่างกัน โดยเฉพาะการมีมุมมองในเรื่องการต่อสู้ที่ต่างกัน ซึ่งคู่ขัดแย้งนี้เกิดจากปัจจัยทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ และศาสนาเกี่ยวข้องด้วย 4) คนมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพุทธและมุสลิมด้วย คู่ขัดแย้งนี้เกิดจากแนวร่วมและขบวนการมักมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมาขัดขวางการปฏิบัติการ หรือกลัวรู้การปฏิบัติการเลยใช้วิธีการกำจัดด้วยวิธีการต่างๆ เช่นขู่ ฆ่า ยิง 5) ระหว่างผู้ก่อการความไม่สงบกับกลุ่มศาสนาต่างๆเป็นต้น
นอกจากกลุ่มที่ผู้เขียนมองแล้วยังพบว่ามีกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐ คือกลุ่มที่ค่อยตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ทางกลุ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมและยังพบว่ากลุ่มที่แสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอิทธิพลที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ คือกลุ่มขบวนการยาเสพติด กลุ่มลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และกลุ่มบุคคลที่หาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน(นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2552.: 6-7)
(5) แนวโน้ม
    ในส่วนแนวโน้มของความรุนแรงที่จะเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นผู้เขียนขอมองแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า ซึ่งผู้เขียนมองว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญๆดังต่อไปนี้
5.1) ด้านการเมืองการปกครอง
                   ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ หากรัฐบางยังยึดมั่นที่จะใช้นโยบายการเมืองนำการทหารเป็นยุทธศาสตร์ในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ ผู้เขียนมองว่าแรงกดดันจากผู้ก่อความไม่สงบก็น้อยลง เพราะแนวร่วมก็จะลดท่าที หรือบางครั้งอาจจะหมดความชอบธรรมในใช้ความรุนแรง เพราะไม่สามารถเอาประเด็นความไม่เป็นธรรม หรือการกดขี่จากรัฐมาอธิบายให้สังคมในพื้นที่ได้ ขณะเดี่ยวกันก็ไม่สามารถอธิบายสังคมภายนอกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศ หรือกลุ่มโลกอาหรับ ซึ่งผู้เขียนมองว่าหากรัฐบาลยังยึดนโยบายนี้ แน่นอนเงื่อนไขของขบวนการหรือผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงหมดความชอบธรรมและจะมีความกดดันมากขึ้นในการปฏิบัติการในแต่ละครั้งได้ หรือหากจะบอกว่าความขัดแย้งในพื้นที่นั้นอาจไม่ใช่ฝีมือของขบวนการเท่านั้นอาจมีกลุ่มอื่น ด้วย ก็ยังมองว่าช่องทางการใช้ความรุนแรงให้เป็นเงื่อนไขก็น้อยลงเช่นกันด้วยเหตุนี้ เชิงนโยบายต้องไม่กระทบต่อความรู้สึกในพื้นที่
แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน เช่น อาจมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ เช่น พรก, พรบ.ความมั่นคง หรือการเรียกร้องเรื่องการปกครองรูปแบบพิเศษที่ดูเหมือนว่านักวิชาการพยายามพลัดดัน ก็อาจจะสร้างความรุนแรงด้วยเช่น
 
5.2) ด้านวัฒนธรรรม ภาษาและการศึกษา
            ในเชิงวัฒนธรรม ภาษา และการศึกษา ตัวที่สำคัญกำกับคือ อัตลักษณ์ หากรัฐหรือสังคมเข้ามาแทรกแซง ก้าวล่วง หรือมากดทับ หรือลดคุณค่าในเชิงอัตลักษณ์ เช่น บอกว่าต่อไปนี้จะไม่มีการจดโรงเรียนปอเนาะ หรือบอกว่าต่อไปนี้จะให้ลดวิชาเรียนศาสนา หรือจะยุบโรงเรียนสอนตาดีกา แบบนี้แน่นอนแนวโน้มย่อมรุนแรง และสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ อยู่ที่ว่าในอนาคตจะมีการเรียกร้องในเชิงอัตลักษณ์ เช่น หากมีการเรียกร้องให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน หรือเรียกร้องเชื้อชาติมลายูในบัตรประจำตัวประชาชน หรือเรียกร้องให้หยุดในวันสำคัญทางศาสนา เช่นวันรายอ วันศุกร์ หรือหากมีการเรียกร้องให้ยุบโรงเรียนสายสามัญในพื้นที่ที่เป็นมุสลิม หรือให้ยกระดับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐเพื่อให้มาดูแลในเรื่องค่าใช้จ่ายการเรียนการสอน เหล่านี้ถ้ามีข้อเรียกร้องผ่านเงื่อนไขที่ไม่ลงตัว หรือไม่ยอมรับทั้งคนในพื้นที่ ทั้งรัฐบาล ทั้งคนมลายูในพื้นที่ ผู้เขียนมองว่าจะเกิดความรุนแรงชนิดใหม่เกิดขึ้น คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมันก็ยิ่งแก้ปัญหายากขึ้น และมีความลำบากมากขึ้นในการจัดการความรุนแรงและความขัดแย้ง
สรุป
จากเงื่อนไจและปัจจัยความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ , ปัจจัยทางนโยบายการบริหารและการปกครองของรัฐไทย, ปัจจัยค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ และปัจจัยเชิงอัตลักษณ์ และพร้อมกับแนวโน้มของเงื่อนที่จะมีส่วนในการสร้างความขัดแย้งนั้นคงเป็นสิ่งจำเป็นแล้วที่ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และส่วนสำคัญที่สุด คือ คนในพื้นที่จะต้องมองว่าปัญหาสามจังหวัดนั้นเป็นปัญหาของเรา เป็นปัญหาที่เราต้องหันมาแก้ และกำหนดแนวทางในการแก้ หากแต่ต่างฝ่ายต่างโยงไปกันมา โยงไปว่าปัญหาทั้งเป็นเพราะคนมุสลิมหัวรุนแรง หรือฝ่ายมุสลิมในพื้นที่ เพราะรัฐเองไม่ให้ความเป็นธรรม คือต่างฝ่ายต่างพยายามสร้างเงื่อนไข และเพิ่มปัจจัย ย่อมแน่นอนความขัดแย้งอาจจะเพิ่มประเด็นมากขึ้น และอาจจะสร้างความสลับซับซ้อน หรือมีปัญหาที่ซ้อนเร้น ที่ยากที่จะให้ปรากฏการณ์ความขัดแย้งเหล่านั้นได้ ซึ่งก็ส่งผลต่อการที่จะสร้างสันติภาพ สร้างสังคมสมานฉันท์ สร้างสังคมที่เข้าใจ เข้าถึง หรือสังคมอยู่ดีมีสุข หรือสร้างสังคมสันติสุข อันเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายคาดหวังและเฝ้ารอ
(6) แนวทางการแก้ปัญหาจากนักวิชาการในประเทศไทย
     ด้วยเหตุนี้ไม่มีวิธีอื่นใดนอกจากการที่พึ่งพลังจากสังคมในพื้นที่สามจังหวัดในการสร้าง หรือมีทางออก หรือมีทิศทางในการแก้ปัญหาเหล่านั้นไป ซึ่งก็มีนักวิชาการทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ก็พยายามที่จะนำเสนอถึงแนวทางในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในเรื่องการเมืองนำการทหาร ด้วยการ 1) เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา 2) สมานฉันท์ สันติวิธี 3) บูรณาการให้เป็นเอกภาพ 4) สร้างความยุติธรรม 5) ใช้การเมืองนำการทหาร 6) ให้ประชาชนมีส่วนร่วม 7) ให้มีองค์กรเฉพาะดูแล 8) ให้อยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย 9) ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพิเศษ และสุดท้ายคือ 10) การทำความเข้าใจกับต่างประเทศ(นายนพ เฟื่องฟูการเมืองต้องนำการทหาร [3] : มุมวิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ”2009.[เปิดดูเมือวันที่ 29 กันยายน 2552].จาก http://www.deepsouthwatch.org/node/414 : INTERNET.
จากข้อเสนอของอาจารย์ประเวศ วะสี ดังนี้ ข้อที่ 1 ต้องสร้างจินตนาการใหม่ประเทศไทย ข้อเสนอที่น่าสนใจด้วยขั้นตอนที่สำคัญคือ ต้องมีจินตนาการใหม่ว่าประเทศไทยประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม หลายศาสนา เป็นประเทศแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม ข้อที่ 2 ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเอง พัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเขา  ข้อที่ 3 ต้องใช้ความจริง ความเชื่อถือไว้วางใจกัน และความยุติธรรม ข้อที่ 4 สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้สามารถแก้ปัญหาความยากจนด้วยตนเอง ข้อที่ 5 สนับสนุนให้ปัตตานีเป็นศูนย์ศึกษาวิชาการอิสลามที่สำคัญของโลกตามที่เขาเคยเป็น(ประเวศ วะสี “การใช้การเมืองนำการทหารในการแก้ไขปัญหาภาคใต้”2009.[เปิดดูเมือวันที่ 29 กันยายน2552]. จาก http://www.deepsouthwatch.org/node/398: INTERNET.
น่าสนใจจากข้อเสนอของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ของสถาบันพระปกเกล้า ที่พยายามหาทางออกที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ คือตั้งแต่การยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างในความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรม ไม่อคติหรือหวาดระแวงต่อคนที่แตกต่างกับเรา การมองให้เห็นความเป็นคน เคารพและให้เกียรติกันและกัน คือมองว่าหากสามารถมองความเป็นคนโดยปราศจากอคติ คิดถึงใจเขาใจเรา และตระหนักและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมองให้เห็นความเป็นคนของกันและกัน หรือจริงใจ จริงจัง อดทน และต่อเนื่อง หมายความว่าต้องมีความจริงใจให้กันและกัน คือหลักที่ว่า “…เราต้องเข้าใจ..ใจถึง เราต้องเข้าถึง..ถึงใจ หมายความว่าเราต้องเข้าไปนั่งพูดคุยกับเขา รับรู้ รับฟัง รับความรู้สึกนึกคิด หรือเปิดพื้นที่อิสระในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ใช้ระบบเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ค้นหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ใช้หลักการทางศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เข้ามาเชื่อมโยงกับแนวคิดสันติวิธี หรือบอกว่าทำความจริงให้ชัดเจนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2552 : 29-32)
 น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามวางนโยบายเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา เช่นในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206/2549 เรื่องนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ที่ได้กำหนดนโยบายสำคัญไว้ 4 ด้านด้วยกันคือ 1) เน้นยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความสมานฉันท์สันติวิธี 2) เน้นการให้ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม 3) ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นพลังในการเข้าถึงประชาชน 4) ใช้การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ ความจริงของภารกิจในการแก้ปัญหาความไม่สงบต่อสังคมทั้งในและต่างประเทศ
โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้ 1) ดำเนินการรุกทางการเมือง และสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2) สร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน 3) ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกแปลแยกไม่เท่าเทียม 4) สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 5) ใช้มวลชนสัมพันธ์จัดการกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา(สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้. สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. มปป..: 52-53)
 
 
(7) ข้อเสนอแนวทางการจัดการความขัดแย้งของผู้ศึกษา
       ผู้เขียนมองว่าทุกการนำเสนอ หรือทุกยุทธศาสตร์นั้นน่าจะเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยในการพลักดันในการร่วมกันในการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน้อยก็ยังเห็นภาพของความร่วมมือ ภาพแห่งความตั้งใจที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาสามจังหวัดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่ง ณ ขณะนี้อาจจะยังไม่ได้ผล แต่อนาคตไม่แน่ ดอกผลจากความคิด ความเห็น หรือข้อเสนอเหล่านั้นจะช่องในการคลี่คลาย และสร้างสันติภาพก็เป็นได้
สำหรับผู้เขียนเองนั้นก็มีความตระหนัก และถือเป็นความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เรียนด้านสันติวิธีอีกประการหนึ่ง ในฐานะทำงานในพื้นที่อีกประการหนึ่ง และที่สำคัญผมเชื่อและเข้าใจว่าทุกคนตั้งความหวัง ความหวังในที่นี้หมายถึงความหวังที่จะเห็นความสงบสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้บนมายาคติเราจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีความแตกต่างทางความคิด มีความแตกต่างทางศาสนา ความเชื่อ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แต่สิ่งเหล่านั้นผมเชื่อว่าเป็นข้ออ้างและเป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างความรุนแรงและความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้ไม่อื่นใดสำหรับผู้เขียน
ผู้เขียนมองว่าสำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้เขียนขอนำเสนอใน3 หนทางสำคัญๆคือ 1)  1) ระบบคุณค่าที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้งของชุมชน 2) กลไกที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้งของชุมชน 3) วิธีการที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้งของชุมชน ดังต่อไปนี้
1. การสร้างระบบคุณค่าเป็นหนึ่งทางออกในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่
                       ระบบคุณค่า ในที่นี้หมายถึง จิตสำนึกของชุมชนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความอุดมสมบูรณ์ และความยั่งยืนของสังคมและธรรมชาติ บนพื้นฐานของการเคารพต่อส่วนร่วมและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นเพราะว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายระบบคุณค่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบคุณที่มีอยู่ในรูปของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น การที่ยอมรับในคุณค่าในวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติในวันสำคัญๆ หรือประเพณีสำคัญ เช่น มุสลิม วันรายอ พุทธ ประเพณีชักพระ หรือคนจีน วันเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว หากแต่ละฝ่ายพยายามดึงคุณค่าทางวัฒนธรรม ทางศาสนา เหล่านี้มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นเพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกกิจกรรมในวันสำคัญของแต่ละศาสนา มันมีเป้าหมายสำคัญที่แฝงเชิงศีลธรรม เชิงความดี เชิงความรักความสามัคคี ดังนั้นหากรัฐไม่พยายามกัดกั้นในระบบคุณค่าเหล่านั้น
ดังที่เคยกระทำมาแต่อดีต เช่น ความรู้สึกที่ว่า…”ถูกกดทับจากสังคมใหญ่ที่เป็นพุทธ ทำให้ชาวมลายูปาตานีไม่เกิดความรู้สึกภูมิใจที่เกิดมาบนแผ่นดินไทย ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากรู้สึกว่ารัฐและสังคมใหญ่เองก็ไม่ได้ให้เกียรติเขาเพื่ออยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณีการเรียกร้องของหะยีสุหลง 7 ข้อ ที่เสนอและเรียกร้องสิทธิในอัตลักษณ์ ประเพณี และศาสนาแต่ถูกมองกลับว่าเป็นกบฏ…”(นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2552.:11)
แต่หากให้โอกาสในการแสดงอัตลักษณ์และคุณค่าดังกล่าวแน่นอนก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ เช่น วันสำคัญทางศาสนาในพื้นที่ อาจจะมีการหยุด หรือให้ความสำคัญ ก็ทำให้คนในพื้นที่มองว่าเขามีตำแหน่งแห่งนี้ในสังคม และมีศักดิ์ศรีมากขึ้น จะเห็นว่าการสร้างระบบคุณค่าด้วยการเปิดพื้นที่ทางอัตลักษณ์ได้แสดงนั้นถือเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างกัน ซึ่งแน่นอนจะช่วยให้พรมแดนระหว่างความขัดแย้งที่มาจากสาเหตุจากความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างคนในพื้นที่ ระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐลดน้อยลง และเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการให้คุณค่ากันและกัน แน่นอนปฏิกิริยาที่จะตอบกลับคือ เกิดการแลกเชิดชูวัฒนธรรมผ่านอัตลักษณ์ของตน เมื่อสิ่งเหล่านี้ต่างฝ่ายต่างเชิดชูทั้งจากคนในพื้นที่ จากรัฐ จากสังคมแวดล้อม มันก็เกิดความภาคภูมิใจ เกิดขึ้น เมื่อความภาคภูมิใจเกิดแน่นอนความผูกพันระหว่างคนในพื้นที่ หรือระหว่างรัฐ ก็จะเกิดกิจกรรม
 ผลที่จะตามมาคือเกิดการปรึกษาหารือทั้งในเรื่องกิจกรร และในเรื่องอื่นๆที่สังคมรอบข้างขอ เช่น ขอช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นหากได้ตระหนักในระบบคุณค่าที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะคุณค่าทางความเชื่อ ความศรัทธา แล้วเกิดการพัฒนาและสร้างวิถีชีวิตในวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตนได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนก็จะเกิดคุณค่าทางสังคมคือ เกิดคุณค่าที่จะมีชีวิตที่ไม่ดูถูกทางชาติพันธุ์ ไม่ดูถูกทางศาสนา ทางภาษา ทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ เมื่อสิ่งเหล่านี้มีชีวิต แน่นอนก็ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการยอมรับในความแตกต่างของแต่ละเชื่อชาติ แน่นอนก็ช่วยลดการนิยามว่า มลายูว่า “แขก” พุทธ “โต๊ะนา” พวกซีแย คือง่ายๆคือลดการลดคุณค่าในอัตลักณ์ของแต่ละกลุ่มออกไป
                       2. การหากลไกในพื้นที่ที่เป็นต้นทุนที่หาง่ายและถูกการยอมในการจัดการความขัดแย้งในชุมชน
                              กลไกในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้เขียนมีข้อเสนอในทิศทางดังต่อไปนี้นี้ คือ ให้ดึงกลไกที่เป็นต้นทุนของชุมชนมาใช้ประโยชน์ในการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งผู้เขียนพอเห็นกลไกที่สำคัญเช่น กลไกทางด้านสังคม กลไกทางสันติเสนา
                              2.1 กลไกทางด้านสังคม
2.1.1 การดึงผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ
                                             ผู้นำชุมชนที่เป็นทางการมีทั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐ คือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้านตามวิถีทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คือ สมาชิก อ.บ.ต. ความจริงในกรณีความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะเห็นบทบาทของผู้ใหญ่บ้านเข้ามาดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน โดยเฉพาะในรูปของการเฝ้าระวังความปลอดภัยในพื้นที่ ผ่านการจัดเฝ้ายามเพื่อดูแลความเรียบร้อย เช่น ดูแลทรัพย์สินของส่วนราชการ ดูแลความปลอดภัยของชุมชน และเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เช่น การจัดชุด ชรบ.  แต่ถ้าหากมีผู้ที่เป็นผู้นำทางการเข้ามามีบทบาทร่วมกันในรูปเครือข่ายความร่วมมือจากผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ เช่น จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล มามีบทบาทในการจัดการแก้ปัญหาตามความรับผิดชอบมากขึ้น คิดว่าปัญหาความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง ด้วยข้อสมมติฐานว่า ผุ้นำเหล่านั้นล้วนเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ได้เลือกเข้ามาดูแล และบริหารการช่วยเหลือ หรือเพื่อการพัฒนา แน่นอนผู้นำเหล่านั้นย่อมเป็นที่เคารพ ฟัง และให้ความร่วมมือ เพราะผู้เขียนคิดว่าหากในอนาคต ผู้นำตัดขาดการรับรู้ของปัญหา และไม่มีผู้นำที่เป็นแกนกลางในการสร้างความปรองดองระหว่างพื้นที่
 เป็นเพราะหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมาจากทุกหมู่บ้าน ซึ่งหากไม่สามารถสร้างความร่วมมือได้แน่นอนปัญหาที่จะตามมาคือ ตามก็ไม่ยอมกันและกัน ในที่สุดก็สร้างพวก สร้างกลุ่ม สร้างพื้นที่ อย่างที่ปรากฏในบางพื้นที่ที่มีการตั้งกองกำลังระดับหมู่บ้าน เพราะการที่ในพื้นที่มีหลายกลุ่มนั้น แน่นอนย่อมมีพวก ซึ่งการมีพวกนั้นหากอยู่ภายใต้ผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเข้ามามีอิทธิพลย่อมไปสู่การสร้างเงื่อนไขได้ ดังนั้นสำคัญอยู่ที่ระบบการบริหารในระดับผู้ที่เป็นทางการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขแก่ชาวบ้านนั้นถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผสานความร่วมมือ นับตั้งแต่ระดับแกนนำ ชาวบ้าน และคนในพื้นที่ให้เกิดความสามัคคี ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก และถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือในการสร้างความเรียบร้อย เพราะผู้นำเหล่านั้นก็อยู่กับชุมชน
 
                             2.1.2 การดึงผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการร่วมกับผู้นำศาสนา
                                               การดึงพลังผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการนั้นถือเป็นทักษะพิ้นฐานในการสร้างความปรองดองภายในพื้นที่ให้เกิดความเรียบร้อยได้ เพราะพลังของผู้นำที่ไม่ทางการหรือเรียกอย่างหนึ่งคือผู้นำตามธรรมชาตินั้น ถือเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากๆในการกำหนดทิศทางของหมู่บ้าน เพราะผู้นำประเภทนี้ชาวบ้านจะเกรงใจ จะนอบน้อม จะฟัง และจะยอมรับ เช่นคนที่มาจากสายตระกูลผู้ดีเก่า ตระกูลเจ้าเก่าที่ขึ้นต้นคำว่า กู, ต่วน, นิ หรือ มาจากคำว่า โต๊ะ, ตะเยาะ เหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพที่สูงกว่าผู้นำทางการ ยิ่งผู้นำศาสนา นับตั้งแต่ บาบอ(โต๊ะครู) อุสตาส(ครูสอนศาสนา) เจ๊ะกู (ครูสอนตาดีกา) โต๊ะอิหมาน, คอเต็บ บิหลาน (ผู้นำทางศาสนาประกอบทางศาสนา) หรือ ทางพุทธ ก็มีพระ มีปราชญ์ชาวบ้าน  เหล่านี้ถือเป็นที่เคารพมากๆ และเคารพมากถึงเชื่อและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
 ดังนั้นถือว่าเป็นผู้นำที่สามารถเข้าถึงชุมชนมากที่สุด และผู้นำที่สามารถสร้างอิทธิพลครอบงำ ทั้งทางความคิด ความเชื่อได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดสามารถดึงผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการจากทุกทุกฝ่ายที่มีอยู่ในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ เช่นอาจเข้ามาในฐานะเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้นำชุมชนที่เป็นทางการให้ผสานการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าจะเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหาในพื้นในระดับพื้นฐาน เช่น ผ่านการมาช่วยสอนอย่างถูกต้อง ผ่านการห้ามที่เอาความเคารพมาช่วย ผ่านการอาย ผ่านการเกรงใจมาช่วย ก็เป็นอะไรที่จะช่วยให้แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่หลงผิด หรือสำหรับคนที่เข้าแนวร่วม ปฏิบัติการที่ผิดๆ ด้วยนี้ผู้เขียนมองว่าเราอย่างไม่ได้ให้บทบาทในกลุ่มนี้เท่าที่ควร และทางการมักจะระแวงกลุ่มนี้มากไป ทั้งที่กลุ่มนี้มีอิทธิพลทั้งความคิด ความเชื่อ ที่คนในชุมชนเชื่อฟังและทำตาม
2.1.3 การดึงระบบเครือญาติ ครอบครัว
                                             อีกวิธีหนึ่งที่สามารถจัดการความขัดแย้งได้ดีคือ การดึงระบบเครือญาติ และครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกในปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางตรง หรือปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างหรือปัญหาชั้นวัฒนธรรม ระบบเครือญาติเป็นระบบที่ถูกเคยมาใช้ในการจัดการความขัดแย้งมาในอดีต เช่น การใช้ระบบปรึกษาหารือ ก็เป็นกลไกที่ช่วยหาทางในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวได้อีกเช่นกัน
        2.1.4การดึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ
                                          ส่วนนี้สำคัญมาก หากเราดูปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หมู่ ส่วนมากจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างและวัฒนธรรม โดยเฉพาะปัญหาทางชาติพันธุ์ที่มักถูกดูถูกต่อคนในพื้นที่ด้วยกัน หรือถูกเฝ้ามองและระวังจากราชการ และพยายามลดคุณค่าทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตผ่านนโยบายที่คนในพื้นที่ยอมรับไม่ได้ เช่นในหลายกรณีที่ห้ามคลุมฮีญาบ หรือไม่ให้ความสำคัญในวันสำคัญทางศาสนา เช่นเคยเกิดกรณีนักศึกษาประท้วงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้พิจารณาปิดเรียนเพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนา หรือการดูถูกทางชาติพันธุ์ผ่านด้วยภาษาคำพูดที่ดูถูก เช่นมุสลิมหัวรุนแรง คนไทยหรือเปล่า พวกแขกเป็นต้น ซึ่งการลดคุณค่าทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อถือเป็นปัญหารูปแบบหนึ่งที่มักเป็นเงื่อนไข และข้อหลักข้อปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้นสิ่งนี้สำคัญคือต้องดึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เข้ามาเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ เช่นอาจผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การเปิดโอกาสให้สามารถแสดงอัตลักษณ์ของตนไม่ว่าจะเป็นรูปของพิธีกรรม ภาษา การแต่งกาย ก็ถือส่วนสำคัญที่สามารถดึงวัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้นมาสร้างคุณค่าในเชิงการอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง เพื่อให้วัฒนธรรมประเพณีเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือร่วมใจ และสามัคคีของคนในพื้นที่ ในชุมชน ในท้องถิ่น ร่วมกัน
หรืออาจจะพิจาณาในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในเรื่องการจัดตั้งหน่วยสันติเสนาให้เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติงานสร้างสันติโดยไม่ใช้อาวุธในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ประชาชนกับประชาชน หรือให้เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ความเข้าใจรวมทั้งพัฒนาทักษะการเผชิญหน้าความขัดแย้งด้วยสันติวิธีกับข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ หรือให้เป็นหน่วยในการจัดให้มีการสานเสวนาระหว่างประชาชนด้วยกันเองและระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
หรือให้เป็นหน่วยงานปลูกฝังให้ข้าราชการเป็นข้าราชการที่ดี(:คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549 : 65) ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่น่าจะมาปรับใช้กับพื้นที่เพื่อสร้างสันติสุข เพราะข้อเสนนนี้ตั้งอยู่ในหลักการศาสนา หากสามารถนำไปประยุกต์กับทุกศาสนาได้อย่างลงตัว ก็ช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรงเหล่านั้นได้อีกเช่นกัน
 
 
 
(8) สำหรับผู้เขียนยังมีแนวคิดอีกการหนึ่งที่จะหาทางออกในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยข้อเสนอแนวในขั้นตอนต่างๆดังต่อไปนี้
1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือข้อแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักที่ไม่ลงร้อยก่อน โดยการขอรับฟังข้อมูลจากสองฝ่าย ทั้งจากชาวบ้านและจากคนในศูนย์อพยพว่าข้อเท็จจริงมีปัญหาตรงไหน ตรงไหนพอหาทางได้ พอร่วมมือได้ พอประสานความร่วมมือได้ และยอมรับกันได้ คือ ขอใช้หลักพบครึ่งทางของทั้งสองฝ่าย โดยใช้เทคนิคการแก้ปัญหาแบบแพ้-แพ้ คือจะเน้นตั้งแต่การประนีประนอมที่สามารถทำได้ เช่นการยอมรับการต่อรองของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 2. ขั้นการจัดระบบการจัดการภายในชุมชน ในขั้นตอนนี้ต้องการเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม และกระบวนการการระงับข้อพิพาท โดยจะเน้นกระบวนการที่สำคัญคือ
                         2.1 ดึงทุนทางสังคมในพื้นที่ คือ ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว เพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ผู้อาวุโสที่นับถือภายในชุมชนและคนในชุมชนทั้งหมด เข้ามาร่วมคุยว่าสภาพปัญหาปัจจุบันมีอะไรบ้าง โดยให้มีการระดมสมองต่อปัญหา และการหาทางออกทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วเกิดกติกา หรือระเบียบที่เป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน เช่นในเรื่องปัญหาข้อเงื่อนไขที่สร้างความไม่พอใจ เช่น วันหยุดในวันสำคัญของศาสนาควรจะมีทางออกอย่างไร วันสำคัญของรายสัปดาห์จะเอาอย่างไร คือ
                        2.2 ดึงแนวคิดกระบวนการแบบปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาความปลอดภัยพื้นฐาน เช่น ความปลอดภัยระดับชุมชนควรวางระบบอย่างไร
                                    2.3ดึงทุนทางผู้นำให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และพร้อมการเฝ้าระวังจากชุมชนเอง ด้วยกระบวนการเฝ้าระวังชุมชน
3. การพัฒนาพื้นที่สันติสุขอย่างยั่งยืนด้วยกระบวนการสำคัญดังต่อไปนี้
                    3.1 ประกาศปฎิญานสลามัต (ความปลอดภัย) กำหนดใช้40 วัน โดยปฎิญานนี้จะมีการยกร่างการสร้างความปลอดภัยพื้นฐาน ทั้งความปลอดภัยส่วนบุคคล ความปลอดภัยชุมชน-ระดับจังหวัด ความปลอดภัยส่วนราชการ ความปลอดภัยสถานที่ทางศาสนา โดยมีการยกร่างความปลอดภัยใน สามด้านก่อน คือ ด้านการการวางเพลิง ด้านการระเบิด ด้านการยิง เหตุผล คือเมื่อมีการตกลงสันติภาพ สิ่งที่เราต้องสร้างหลักประกันเบื้องต้นคือ การขจัดความรุนแรงที่ปรากฏในพื้นที่ ให้มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมรอบข้างในสามจังหวัดให้ปรากฏก่อน โดยผ่านการร่างข้อตกลงจากทุกฝ่ายในเรื่องการสร้างความปลอดภัยพื้นฐานภายใน 40 วัน ที่เอา 40 วันเป็นเกณฑ์นั้น เนื่องจากตามหลักการสร้างนิสัยนั้น หากภายใน 40 วันสามารถหยุดสถานการณ์ได้ และสามารถสร้างความปลอดภัยได้ ก็อาจเป็นนิมิตรหมายในการสร้างกระบวนการสันติภาพ
                      3.2 ประกาศปฎิญานปากัตแต (ความร่วมมือร่วมใจ) 120 วัน กำหนดใช้ปฎิญานชุดนี้ กำหนด 120 วัน โดยมีคณะกรรมจากทุกภาคส่วนดังนี้ 1. จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 2. จากผู้นำศาสนา จากทุกศาสนา 3. จากข้าราชการที่เป็นไทยพุทธ และมุสลิม 4 จากองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ 5 จากผู้นำชุมชนในทุกระดับ ตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต เทศบาล อบจ 6. นักวิชาการในพื้นที่ โดยเฉพาะจากสัดส่วนของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 7 จากตัวแทนครูสามัญ เอกชนสอนศาสนาอิสลาม 8.เชื้อเจ้าเดิมในทุกตำบล 9 จากนักการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ โดยมีกระบวนการคือ การจัดประชุมความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด โดยเอากระบวนการตัวแทนในการประชุมดังนี้ คือ ให้มีการคัดสรรตัวแทนจากทุกหมู่บ้าน 6 คน โดยมี ผู้ชายที่ผู้นำครอบครัว 2 คน ผู้แม่บ้าน 2 คน กลุ่มเยาวชนจากผู้หญิง 1 คน และผู้ชาย 1 คน จากทุกหมู่บ้าน ให้มาประชุมร่วมมือการสร้างสันติภาพ โดยให้แต่ละหมู่บ้านเสนอแนวปฏิญานความปลอดภัยระดับชุมชน 1 ฉบับ และปฏิญานการมีชีวิตในพื้นที่ 1 ฉบับ โดยนำเสนอคณะกรรมการเพื่อให้ทำแผนปฎิญานความร่วม คือ ทำแผนปฎิญานค    วามร่วมือระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้านต่อไป
                      3.3 ประกาศปฎิญานญาญาลานันฮิดูปปัน (ปฏิญานการมีชีวิตในพื้นที่) 2 ปี โดยกระบวนการคือ หลังจากที่ได้รับและรวบรวมปฏิญานความร่วมมือจากชุมชนในสามจังหวัด ทั้งเรื่องความปลอดภัย และเรื่องการมีชีวิตแล้ว ก็นำไปสู่ การกำหนดใช้ปฏิญานการมีชีวิตที่ยอมรับได้จากคณะกรรมการ คือการให้คณะกรรมการร่วมกันทำปฏิญานการมีชีวิตในพื้นที่ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยเฉพาะการมีชีวิตในเรื่อง การใช้ชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน การทำอาชีพ การมีวัฒนธรรมประเพณี การมีอัตลักษณ์ คือ การเปิดโอกาสให้คณะกรรมการจัดทำเป็นแผนปฏิญานมีชีวิตในพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น ในพื้นที่ที่มีชาวพุทธ-มุสลิมจะอย่างไร พื้นที่การค้า พื้นที่ทางทะเล พื้นที่ราบ พื้นที่เขา โดยปฏิญานฉบับนี้ต้องการให้เปิดพื้นที่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความปลอดภัย มีส่วนร่วม มีความหวังที่ผสานลงตัว
                        3.4 ปฏิญานญาลานันบารู (ทางสายใหม่) 10 ปี หลังจากที่มีแผนปฏิญานมีชีวิตในพื้นที่แล้ว เราจะมีแผนทางสายใหม่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยเฉพาะทางสายใหม่ ใน 3 ระดับที่ต้องสร้าง
                             3.4.1 ระดับการเมืองการปกครอง คือ เมื่อสามารถสร้างความสงบและมีความเข้มแข็งพอเราจะขอเสนอให้มีการปกครองรูปแบบพิเศษ แบบการปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะกิจ โดยรูปแบบคือรูปการบริหารการปกครองส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกอำเภอของสามจังหวัด นายกองค์การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกสภา โดยกำหนดว่าในพื้นที่สามจังหวัดให้ระบบการบริหารแบบเดียวคืด 1.การบริหารปกครองพิเศษแบบส่วนท้องถิ่นเป็นต้น
                                    3.4.2 ระดับเศรษฐกิจ เน้นการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้โครงสร้างการครอบครองในทรัพยากรที่ลงตัว หรืออาจจะกำหนดการถึงทรัพยากรเฉพาะด้าน เช่นด้านเศรษฐกิจอาจให้คนจีนเป็นแกน ด้านการปกครองและการบริหารจัดการอาจให้มุสลิมและพื้นที่ดังเดิม ด้านแรงงานและบริการอาจให้กลุ่มน้อยหรือคนผลัดถิ่นหรือ
                               3.4.2 ด้านวัฒธรรม จำเป็นต้องขยายการเปิดพื้นที่ คือเปิดโอกาสในเรื่องที่จะเป็นเงื่อนไข โดยเฉพาะการเป็นเงื่อนในทางภาษา เช่นอาจให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน หรืออาจจะกำหนดให้วันสำคัญของทุกศาสนา เป็นวันหยุดราชการของศาสนานั้นๆ ด้านการศึกษา ก็อาจให้เป็นไปตามความต้องการและสอดคล้องของพื้นที่ เช่น อาจจัดให้ตามความพึ่งพอใจของคนในพื้นที่ เช่น อาจยกระดับการศึกษาระดับประถมเป็นแบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้งระบบในพื้นที่ที่เขาต้องการ ภายใต้การดูแลแบบส่วนราชการ คือการให้การสนับสนุนเรียนฟรีทั้งระบบ และในระหว่างที่มีการใช้ปฏิญาน 4 ฉบับอยู่ สิ่งที่จะต้องสร้าง จากท้องถิ่นเพื่อที่จะสร้างบรรยากาศในการสร้างสันติภาพ โดยในทุกระดับจำเป็นต้องสร้างกระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพด้วยเช่นกัน คือ
                               1. จัดการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากคนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจว่ามีความต้องการอะไร จะได้หาทางออกร่วมกันอย่างสันติ และสามารถแก้ปัญหาตรงจุด คือการเน้นทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกันเอง
                               2. ร่วมสร้างเครือข่ายสันติภาพชายแดนใต้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างในการแก้ปัญหาและร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคของประชาชนในแต่ละพื้นที่
                                     3. กำหนดยุทธศาสตร์สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมใหญ่ในพื้นที่
                               4. ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการจัดการบริหารการปกครองที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
            การที่ต้องสร้างพร้อมกันนั้นเกิดจากต้องสร้างสันติภาพระหว่างทางด้วยกัน เพื่อกระบวนการสันติภาพมีชีวิต และเป็นทางเลือกและกระบวนการที่คนในพื้นที่เลือกมาใช้ หากมีปัญหา หรือขัดแย้งกัน
            หลังจากเราได้ทำปฏิญานจังหวัดชายแดนภาคใต้และกระบวนการสร้างสันติภาพให้มีชีวิตแล้ว ภายใน 2563 เราจะต้องสามารถกำหนดการจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัว และผสานประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดสรรด้านกระบวนการยุติธรรม การบูรณการณ์กฏหมายทั่วไปกับกฏหมายอิสลาม ด้านสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความแข็งแกร่งแก่เศษฐกิจชุมชน หรือการสร้างความเป็นเลิศทางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การบริหารกิจการการลงทุนตามหลักอิสลามที่ยอมรับทั้ง 3 ฝ่าย คือ พุทธ มุสลิม จีน มีระบบการทำธุรการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักอิสลาม และด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เราต้องฟื้นฟูป่าเสื่อมโทม และพื้นที่นาร่างให้สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ และด้านองค์กรและการจัดการ คือพยายามสร้างสมามัตดีสลาตันให้ถาวร คือ ความปลอดภัย ดี ในพื้นที่สามจังหวัดทุกพื้นที่
สรุป ข้าพเจ้ามองว่าจากกระบวนการทั้งสามขั้นตอน น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ภายใต้หลักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยแก้ที่เชิงสาเหตุ แล้วนำมาสู่การจัดระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าได้ และกระบวนตามมา คือการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนด้วยรูปแบบปฎิญานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
(9) ข้อจำกัดในการศึกษาในครั้งนี้
ในส่วนข้อจำกัดในการศึกษาในครั้งนี้คือ ผู้ศึกษาไม่ได้ศึกษาในภาคสนาม และขาดเครื่องมือการศึกษาไม่ว่าจะเป็นแบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม เป็นต้น ทำให้ขาดข้อมูลเชิงประจักษ์หรือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของสภาพความขัดแย้งในปัจจุบันลงได้
(10) ข้อเสนอนะในการศึกษาในด้านนี้ต่อไป
ให้เน้นการศึกษาถึงวิธีการปรับตัวของคนในพื้นที่ชุมชนต่างที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ และอยากให้ศึกษาการปรับตัวของคนเชื้อสายจีนว่าทำไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือให้ศึกษาการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน และควรที่จะศึกษาถึงยุทธวิธีการต่อสู้ที่สร้างสรรค์ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อ้างอิง
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยข้อเสนอ
สมานฉันท์สำหรับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
แห่งชาติ, 2549.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. “การเมืองแห่งการให้อภัย” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2543.
โชคชัย วงษ์ตานี. ความหลากหลายที่ไม่หลากหลาย ในการอยู่ร่วมกันของคนในกลุ่มชาติ
          พันธุ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. สงขลา : สถาบันสันติศึกษา มหาวิทย่ลัย
            สงขลานครินทร์ หาดใหญ่, 2552
ณฐิญาณ์ งามขำ. “การเมืองแห่งอภัยวิถี: กับความมุ่งมาดปรารถนาที่ไกลกว่าเทววิทยาใน
สังคมการเมือง”  รัฐศาสตร์สาร 30, 1 (มกราคม-เมษายน 2552): 217.
นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและ
            ธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า.รากเหง้าของความขัดแย้งคืออะไร?. กรุงเทพฯ :
             สถาบันพระปกเกล้า, 2552.
นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและ
            ธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า , 2552.
นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและ
            ธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
            : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ : สถาบัน
            พระปกเกล้า, 2552.
นพ เฟื่องฟู การเมืองต้องนำการทหาร [3] : มุมวิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ
 2009.[เปิดดูเมือวันที่ 29 กันยายน 2552].
ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ.“รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 2 โครงการจัด
ประชุมสังเคราะห์ความรู้เรื่อง “รัฐในบริบทสังคมวัฒนธรรม” ใน การต่อรองบน
เส้นพรมแดน : ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนชายแดนไทย
เรียบเรียงโดย อัจฉรา รักยุติธรรม และคณะ. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
 (องค์การมหาชน), 2550.
ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 2 โครงการจัด
ประชุมสังเคราะห์ความรู้เรื่อง “รัฐในบริบทสังคมวัฒนธรรม” ใน
 เฝ้าระวังด้วยความอึดอัดใจ : ทัศคติและความรู้สึกมุสลิมในสามจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ต่อนโยบายของรัฐ เรียบเรียงโดย อับดุลรอยะ ปาแนมาแล.
กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2550.
ปริตรตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 2 โครงการจัด
ประชุมสังเคราะห์ความรู้เรื่อง “รัฐในบริบทสังคมวัฒนธรรม” ใน
เฝ้าระวังด้วยความอึดอัดใจ : ทัศคติและความรู้สึกมุสลิมในสามจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ต่อนโยบายของรัฐ เรียบเรียงโดย อับดุลรอยะ ปาแนมาแล.
 กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2550.
 
ปริญญา นวลเปียน, “นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อาจอยู่ร่วม
และแบ่งแยกจากกันได้” ใน คนไทยหรือเปล่า?: เชื้อชาติและสัญชาติกับ
ความเข้าใจใน “ความเป็นไทย”  เรียบเรียงโดย อภิชาติ จันทร์แดง.
 สงขลา : ศูนย์ทะเลสาบศึกษา, 2551.
 
 
ปริญญา นวลเปียน, “นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อาจอยู่ร่วม
และแบ่งแยกจากกันได้” ใน ปัญหาของปาตานีและไทย:
เมื่อเราไม่อาจอยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกันได้ เรียบเรียงโดย วันกาเดร์ เจ๊ะมาน.
 สงขลา : ศูนย์ทะเลสาบศึกษา, 2551.
ประเวศ วะสี “การใช้การเมืองนำการทหารในการแก้ไขปัญหาภาคใต้”2009.[เปิดดูเมือวันที่
 29 กันยายน 2552]. จาก http://www.deepsouthwatch.org/node/398: INTERNET.
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีอ้างถึงในเสาวนีย์ จิตต์หมวด. การสมัมนาเรื่องบทบาทของมหา-
          วิทยาลัยราชภัฏในการสร้างสมานฉันท์และสันติสุข. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย-
            ราชภัฏธนบุรี, 2549.
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อ้างถึงในอานันท์ กาญจนพันธุ์. “มุมมองเชิงวัฒนธรรมของความ
          ขัดแย้งและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง1, (1 มีนาคม : 15-16)
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี “ชายแดนใต้เดือนสิงหาฯ 52 : การต่อสู้ที่ฟาฏอนีในเดือน
รอมฎอน์2552. [เปิดดูเมื่อ 29 กันยายน 2552]. จากhttp://www.deepsouthwatch.org/node/438 : INTERNET.
ศูนย์ข่าวอิศรา “เปิดร่างกอส. ฉบับ 5 ตอน 2-ปัญหาเชิงโครงสร้าง รากเหง้าความรุนแรง
          ชายแดนใต้ 2006. [เปิดดูเมื่อ 29 กันยายน 2552]. จากhttp://www.isranewe.org :
            INTERNET.
สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้. สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข-
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. มปป.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Ø  
Ø  
Ø