เผยแพร่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552
แถลงการณ์
องค์กรภาคประชาสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย
ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านการก่อเหตุความรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์
ในเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน
ตั้งแต่เหตุการณ์ที่มัสยิดไอปาแย และเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นช่วงใหม่ของการผลัดเปลี่ยนกำลังของหน่วยงานความมั่นคงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีลักษณะไปในการสร้างความรุนแรงเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่สาธารณะ และการสร้างความแตกแยก เช่น เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ระเบิดงานประเพณีชักพระที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 17 ราย ทั้งนี้จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากโรงพักประมาณ 100 เมตร และมีเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เหตุเกิดที่ อ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาสมีเหตุความรุนแรงสองเหตุการณ์คือการกราดยิงทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนาย เป็นผู้หญิงและเด็กรวมเป็น 3 ราย และมีการปาระเบิดมือซ้ำไปในที่เกิดเหตุ และล่าสุดในเหตุการณ์วันนี้ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 มีเหตุจักรยานบอมบ์ภายในตลาดสด กลางเมืองยะลา เบื้องต้นส่งผลชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บประมาณ 15 ราย เป็นต้น
การกระทำดังกล่าวของผู้ใช้ความรุนแรงถือว่าเป็นการขัดขวางกับการสร้างสันติภาพส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และสร้างความสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายรัฐ ทั้ง ๆที่มีความพยายามของทุกภาคส่วนที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงและแสวงหนทางยุติความรุนแรงและความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคประชาสังคมของไทยที่ได้ร่วมประชุมกับกันที่กับองค์กรมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 16 ตุลามคม พ.ศ. 2552 ณ ศูนย์กลางอิสาม กรุงเทพมหานคร และร่วมเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ ชะอา เพชรบุรี ก็ตอกย้ำถึงความพยายามของภาคประชาสังคมในสร้างความสันติภาพด้วยแนวทางสันติวิธีรวมทั้งกันในประเทศไทยและในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน
องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ขอเรียกร้องต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ฯ ของประเทศไทยดังนี้
1. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างสันติภาพ โดยสร้างสวัสดิภาพและความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติและควบคุมการติดอาวุธประชาชน การตรวจสอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างเคร่งครัด มีมาตราการห้ามการซื้อขายอาวุธปืน สารตั้งต้นระเบิด และอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเด็ดขาด รวมทั้งพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพ และเป็นอิสระ เพื่อสร้างความเชื้อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง
2. ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาปรับปรุงปฎิรูปนโยบายต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเน้นการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม
3. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดแนวทางการพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวมุสลิมส่วนใหญ่และชาวพุทธในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ