Skip to main content
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 15
วันจันทร์ ที่  21 ตุลาคม 2556
โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลา

 

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคดำรงไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สรุปข้อเสนอแนะจากการสานเสวนา โดยแบ่งออกเป็นสามประเด็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องกระบวนการของการพูดคุยสันติภาพ
  • ตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ที่ให้มีตัวแทนของพูโล บีไอพีพี รวมทั้งผู้ชี่ยวชาญ และเยาวชน ร่วมในคณะผู้พูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ดี เพียงแต่เสียดายที่ยังไม่มีตัวแทนฝ่ายสตรีซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อนึ่ง ฝ่ายพูโล บีไอพีพี ยังอาจฝ่ายที่แยกย่อยอีก และอาจมีฝ่ายเคลื่อนไหวอื่น ๆ อีกที่น่าจะมีส่วนร่วมในการพูดคุย โดยหวังว่าผลที่ได้จากการพูดคุยจะไม่มีฝ่ายใดที่มาปฏิเสธในภายหลัง
  • การที่บีอาร์เอ็นได้เสนอการปรับองค์คณะที่จะเข้าร่วมการพูดคุยของฝ่ายตนแล้วนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็น่าจะพิจารณาองค์คณะผู้พูดคุย ให้สอดคล้องและมีการครอบคลุมที่หลากหลายเช่นกัน เช่นมีผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนเยาวชนและสตรี เป็นต้น อนึ่ง ควรพิจารณาเชิญตัวแทนฝ่ายการเมืองพรรคต่าง ๆ ในพื้นที่ จชต. เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในการพูดคุยด้วย
  • ฝ่ายรัฐบาลควรดำเนินการให้มีความเป็นเอกภาพและแนวทางการพูดคุยที่ชัดเจนขึ้น และควรปรึกษาหารือกับภาคประชาชนในพื้นที่ทั้งในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ เพิ่มมากขึ้น
  • รัฐบาลควรจัดหรือสนับสนุนให้มีการพูดคุยสันติภาพในหลายระดับ เช่นระดับที่เป็นทางการ กึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ เช่นระดับชุมชนด้วย
ประเด็นที่สอง เรื่องการลดเงื่อนไขความขัดแย้งและการเสริมสร้างบรรยากาศการพูดคุย
  • รัฐบาลควรเร่งพิจารณายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 มาแทนที่ เช่นในพื้นที่ อำเภอกาบัง อำเภอเบตง อำเภอสุคิริน ที่มีความรุนแรงในระดับต่ำ
  • สืบเนื่องจากการที่ ศอ.บต.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2556 (ฮ.ศ. 1434) เพื่อตรวจสอบความรุนแรงสาเหตุที่มาของเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ในช่วงรอมฎอนที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมขอเสนอให้ ศอ.บต. พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบที่หลากหลายเหมือนเดิมเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบต่อไป
  • รัฐบาลควรมอบหมายและกำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งตำรวจ ให้ทำหน้าที่ป้องปรามและปราบปรามยาเสพติดและการค้าน้ำมันเถื่อน รวมทั้งคาดโทษต่อผู้ละเลยต่อหน้าที่ด้วย
ประเด็นที่สาม เรื่องเนื้อหาของการพูดคุย
  • ในเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบี อาร์ เอ็นนั้น รัฐบาลควรมีคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรในระดับใดระดับหนึ่งเพื่อให้การพูดคุยดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากแต่ละประเด็นอาจมีความละเอียดอ่อน ดังนั้น คำตอบเบื้องต้นอาจเป็นการตอบรับที่จะนำข้อเรียกร้องมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในรายละเอียดเพื่อหาข้อตกลงต่อไปตามลำดับ
  • ในเรื่องข้อเรียกร้องให้เคารพและฟื้นฟูอัตลักษณ์มลายูในพื้นที่อย่างจริงจังนั้น ที่ประชุมขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภาษามลายูให้มีมาตรฐาน และให้มีการเรียนการสอนภาษามลายู ทั้งในการฟัง พูด อ่าน และเขียน จนมีการใช้ภาษามลายูมาตรฐานได้อย่างคล่องแคล่วและแพร่หลาย
  • ที่ประชุมเห็นว่า การพัฒนาให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัด ตามมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้หลายฝ่าย รวมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคม ฝ่ายผู้นำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีรับฟัง/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง