Skip to main content
 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547  มีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85  คน  และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก  เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏภาพและข้อมูลต่อสาธารณะชนอย่างแพร่หลาย  เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง  อันเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง  ส่งผลกระทบเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน  ในช่วงสองปีที่ผ่านมา  รัฐบาลจึงได้มีนโยบายให้จ่ายเงินเยียวยาเพิ่มให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นคนละ  7.5  ล้านบาท  ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเงินคนละ 4.5 ล้าน – 2 แสน  และผู้ถูกควบคุมตัว  คนละ 15,000บาท  จากเดิมในคดีแพ่งที่รัฐตกลงจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บคนละ 3-4 แสนบาท 
อย่างไรก็ตาม  แม้ว่ารัฐบาลได้มีการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมและครอบคลุมมากขึ้น  แต่ก็ยังมีการเยียวยาอีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญกว่าการเยียวยาด้วยเงิน  คือการเยียวยาด้วยความจริงและความยุติธรรม  ความจริงและความยุติธรรมนอกจากจะเป็นการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว  ยังเป็นการเยียวยาต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมด้วย   การจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจมองว่าเป็นการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด
ในช่วง  9  ปีที่ผ่านมา  ปรากฏว่า  กรณีมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ในบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนและไม่มีการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามมาตรา  150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด  จึงงดการสอบสวน  ส่วนผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 ศพ แม้จะมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพและศาลมีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายทั้ง  78  คน  เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ  ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่  แต่ภายหลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวพนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดในกรณีนี้  เป็นเหตุให้การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐสิ้นสุดเพียงเท่านี้ 
แม้ว่าช่องทางตามกฎหมายจะให้สิทธิญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง  ซึ่งที่ผ่านมา ญาติได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  ว่าประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดโดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องคดีแทน  แต่ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด  โดยกสม. ให้เหตุผลว่าญาติผู้เสียชีวิตไม่ประสงค์จะฟ้องคดีอาญาแล้ว  ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องรับภาระในการดำเนินคดีอาญาต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ยาวนาน ความกังวลเรื่องความปลอดภัย  ฯลฯ  การที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแต่เพียงลำพังเป็นภาระที่มากเกินไป รัฐต้องสนับสนุนให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  เห็นว่า  เหตุการณ์ตากใบเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง   กระบวนการปรองดองและสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้  หากปราศจากซึ่งความจริงและความยุติธรรม  จึงขอเรียกร้องให้รัฐอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง