color:#222222">แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
color:#222222">แถลงการณ์
color:#222222">25 ตุลาคม 2556
แอมเนสตี้ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ
จากกรณีผู้ประท้วงเสียชีวิต 85 คน ที่ตากใบเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส โดยต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี
นางสาวปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลพ้นผิดไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ”
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา และมีลักษณะที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้เป็นข้ออ้างไม่ต้องรับผิดทางอาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้
ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการ่ที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ
“การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ หรือการจ่ายค่าชดเชยก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต”
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น แสดงให้เห็นว่า ทางการไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต 85 ศพที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่อำเภอตากใบได้
นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่เลือกหน้าด้วย
“ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางหรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม” ปริญญากล่าว
ข้อมูลพื้นฐาน
ในปี 2552 ภายหลังจากศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งในการไต่สวนการตายกรณีการเสียชีวิตของบุคคล 78 คนที่อำเภอตากใบทางภาคใต้ ศาลระบุว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุรายละเอียดของพฤติการณ์การตายตามที่กฎหมายกำหนด ญาติของผู้เสียชีวิตจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตาย ต่อมาได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ
คำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ระบุว่า ญาติของผู้เสียหายควรส่งคำคัดค้านยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น ไม่ใช่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ผลจากคำสั่งดังกล่าวคือการพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งระบุว่า การเสียชีวิตของบุคคล 78 คนเป็นผลมาจากการขาดอากาศหายใจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ