Skip to main content
หมายเหตุ:  “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง”เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …...


 "แยน๊ะ สะแลแม": ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา 

แยน๊ะ สะแลแม
โซรยา จามจุรี
สุไรยา วานิ

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับเราแล้ว มันเริ่มต้นจากที่ตรงนี้
...
เราเป็นเด็กกำพร้า แม่เสียชีวิตตั้งแต่เราอายุ 2 ปี และพ่อก็ออกจากบ้านหลังจากแม่เสียชีวิตประมาณ 1 เดือน เรามีพี่น้องทั้งหมด 10 คน เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน 4 คนรวมกับเรา อีก 6 คน เป็นพี่น้องแม่เดียวกันบ้าง พ่อเดียวกันบ้าง ป้าซึ่งเป็นพี่สาวของแม่รับเรา และพี่ชายต่างพ่อ 2 คน มาเลี้ยงดู เขาส่งเรียนกันทุกคน แต่ว่าเราเรียนจบแค่ป.4 เท่านั้นเอง พ่อของพี่ชายที่อยู่กับเรา เสียชีวิตตั้งแต่พี่ชายยังเล็กๆ ส่วนเรา เมื่อแม่เสียชีวิต พ่อก็ทิ้งให้อยู่กับป้า

อายุ 8 ปี เพิ่งเข้าเรียนหนังสือ พออายุ 14 ปีก็จบ ป.4 เราได้เข้าโรงเรียนบ้านศาลาใหม่ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จากบ้านไปโรงเรียนระยะทางไกลประมาณ 3 กิโลเมตร เราต้องเดินเท้าไปเรียนจนจบป.4 เพราะสมัยนั้นไม่มีรถ รองเท้าเราก็ไม่เคยใส่ จะซื้อรองเท้าก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แม้แต่รองเท้าแตะก็ไม่เคยใส่ ตอนนั้นรองเท้าคู่ละ 15 บาท แต่เราไม่เคยได้ซื้อใส่จนเรียนจบ เพราะว่าครอบครัวยากจนมาก

เราไปโรงเรียนบางวันไม่เคยพาเงินไป เพราะว่าไม่มีเงิน แต่บางวันเราก็พาเงินไป 50 สตางค์ แล้วก็พาข้าวห่อ เราเรียนเก่งมาก เรียนตั้งแต่ป.1 ถึง ป.4 สอบได้ที่ 1 ทุกปี เราสังเกตคุณครูเวลาตรวจสมุด คุณครูต้องเอาของเรามาตรวจก่อน เพื่อเอาเป็นตัวอย่างไว้ตรวจของคนอื่น เรื่องของจิตใจนั้น ตั้งแต่สมัยเราเรียนแล้ว เรารักความเป็นธรรม เช่นถ้าครูตีเด็กนักเรียนโดยไม่มีเหตุผล เราก็ไม่ยอม แล้วเราก็บอกเด็กคนอื่นไม่ให้ยอมด้วย

หลังจากเราเรียนจบ ป.4 ที่โรงเรียนบ้านศาลาใหม่ เราได้ไปเรียนต่อที่ปอเนาะ [1] มูโนะ อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสอีก 3 ปี เราได้เรียนทั้งวิชาศาสนาและสามัญ การเรียนสามัญที่ปอเนาะเราสมัยนั้น มีตั้งแต่ระดับ 1- 3 ส่วนการเรียนศาสนามีถึงชั้น 10 แต่น่าเสียดาย ที่เราได้เรียนแค่ 3 ปี ไม่ทันจบทั้งสามัญและศาสนา เพราะว่าไม่มีเงินจะเรียนต่อ

ตอนเราเรียนที่ปอเนาะ เราพาเงินไปเดือนละ 100 บาท เราต้องอดทนมาก จะกินอะไร เราต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เราต้องประหยัดมากเลย วันหนึ่งเราใช้เงิน 3 บาท เพราะเรามีเงิน 100 บาทต่อเดือน ตอนเช้าเราต้องลุกขึ้นมาหุงข้าวก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อ ตอนเช้าทุกๆวัน เราซื้อปลา 50 สตางค์ ได้ปลามาหลายตัว กินได้ 1 วัน ของทุกอย่างเราพามาจากบ้าน เช่น ข้าวสาร น้ำมัน เป็นต้น น้ำมันนี้เราทำเองจากมะพร้าว ไม่ต้องซื้อจากตลาด

ตอนที่เรียนปอเนาะมูโนะ เวลาไปมาลำบากมาก เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีถนนสายโกลก เราต้องนั่งเรือหางยาวจากแม่น้ำบางนราไปลงเกาะสะท้อน แล้วก็นั่งเรือต่อไปตามแม่น้ำสุไหงโกลกไปที่ปอเนาะ ตอนเราอยู่ปอเนาะ เราเรียนและอยู่ที่นั่นประจำ เราได้กลับบ้านปีละ 2 ครั้ง เพราะไปมาลำบาก แต่การเรียนของเรา ไปอยู่ไหนเราก็เรียนเก่งเหมือนเดิม ความฝันของเรานั้น เราอยากจะเรียนให้สูงๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เราถูกเรียกให้กลับบ้าน เพราะว่าป้าเราไม่มีเงินส่งเสีย

เมื่อกลับมาบ้าน ที่จาเร๊าะ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เราก็ได้เรียนที่ปอเนาะศาลาใหม่ ที่อยู่ใกล้บ้าน เราก็ต้องเดินเท้าอีก ที่บ้านเราไม่มีรถอะไรเลย เราได้เรียนกีตาบ (หมายถึงการเรียนศาสนา ใช้ตำราภาษามลายู) และอัลกุรอานเป็นเวลา 1 ปีที่ปอเนาะ ไม่ต้องออกเงินมากเหมือนเรียนสามัญ มีกีตาบ 2 เล่มเรียนได้เป็นปี หลังจากนั้นเราก็ได้แต่งงาน ตอนที่เราอายุ 17 ปี สามีเราชื่อมะยูโซ๊ะ มะหลง
...........................

เราแต่งงานผ่านไป 7 เดือนก็ตั้งท้อง เราสองคนลำบากเหมือนกัน เราต้องหางานทำทั้งสองคน เพื่อจะได้เงินเอามาใช้จ่าย สามีเราต้องออกไปทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงสีข้าวในประเทศมาเลเซีย ปีละ 2 ครั้งๆละประมาณ 40 – 60 วัน กลับมาบ้านแต่ละครั้งได้เงินถึงห้าหกพันบาท เราดีใจมากที่ได้เงินก้อน และเราเก็บสะสมเงินไว้ซื้อที่ดินทำนา ตอนนั้นลูกก็มีแค่ 2 คน

สามีเราเรียนจบแค่ ป.4 เหมือนกัน ครอบครัวเขาก็เป็นคนยากจน สามีเราเขามีพ่อแม่ แต่ตัวเราไม่มีพ่อแม่ มีพ่อก็เหมือนไม่มี เพราะพ่อออกจากบ้านหลังจากแม่เสียชีวิต 1 เดือน ไม่เคยเจอ จนถึงอายุ 17 ปี ที่เราจะแต่งงาน เราก็ตามหาจนเจอ สุดท้ายเขาอยู่ที่ปัตตานีนี่เอง อยู่ที่ปาลัส อำเภอปะนาเระ ตอนนั้นเขามีลูกกับเมียใหม่แล้ว 3 คน ปัจจุบัน พ่อเราเสียชีวิตไปประมาณ 15 ปีแล้ว

ตอนที่แต่งงาน เรายังอาศัยอยู่กับป้าอีก เพราะว่าเรายังไม่มีเงินสร้างบ้าน พอเราทำงานไปจนเรามีลูก 4 คน เราแยกบ้านกับป้ามาสร้างบ้านเอง

งานแรกของเราหลังแต่งงานใหม่ๆ คือ รับจ้างเย็บผ้าคลุมผมให้เถ้าแก่ ที่เป็นคนจีนในนราธิวาส เถ้าแก่เป็นพ่อค้าใหญ่ขายผ้าตามตลาดนัด เถ้าแก่จะให้ผ้าและด้ายให้เรากลับไปเย็บที่บ้าน ตอนแรกๆให้เย็บ 50 ผืน เราเย็บคนเดียวหนึ่งอาทิตย์เสร็จ ได้ผืนละ 10 บาท พอนานๆเข้า ขายดี เถ้าแก่ให้เราเย็บเป็นพันๆผืน เราก็เย็บไม่ทัน ต้องไปให้คนอื่นๆในหมู่บ้านช่วยกันเย็บเป็นสิบๆคน เราจ้างชาวบ้านผืนละ 8 บาท เราได้กำไร 2 บาท ตอนนั้นเราได้เก็บสะสมเงินมาเรื่อยๆ จนครบ 50,000 บาท ก็ได้สร้างบ้าน อยู่ใกล้ๆกับบ้านป้า

ตอนเรารับจ้างเถ้าแก่เย็บผ้าคลุมผม เราก็เริ่มรู้จักกับแม่ค้าพ่อค้าในตลาดตากใบ และตลาดที่ราตาปันยัง ในมาเลเซีย เราหันมาเป็นเถ้าแก่เอง มีลูกจ้างเป็นร้อยๆคน เราขายส่งผ้าคลุมผมให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดตากใบ สุไหงโกลก และตลาดฝั่งมาเลย์ เป็นเวลา 10 ปี

ตอนที่เราทำผ้าคลุมขาย เราอดทนมาก นอนก็ไม่ได้นอน เพราะวันวันหนึ่ง เราต้องส่งของให้ทัน ตามที่มีคนสั่ง บางอาทิตย์เขาสั่งเป็นพันๆผืน ตอนนั้นแหละ เป็นตอนที่เราเก็บเงินได้มาก ได้กำไรอาทิตย์ละ 1,500 -2,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่เยอะมาก ในสมัยนั้น

พอเรามีลูก 7 คน เราก็มาเช่าที่ตั้งร้านอยู่ในตลาดตาบา (ตลาดชายแดน ที่ตากใบ) จะได้ขายผ้าคลุมผมทุกวัน ทั้งขายปลีกและขายส่ง ทำแบบนี้มาประมาณ10 ปี เราก็รู้สึกแย่มาก เพราะว่าลูกเรียนหนังสือสูงขึ้น ใช้เงินมากขึ้น ไหนเงินที่เราจะทำทุนอีก และเงินที่จะต้องให้ลูกเรียนอีก

เราหมดทุน เลยเลิกร้านขายของในตลาด เราขายที่ร้านของเราให้คนอื่น เอาเงินมาซื้อจักรเย็บผ้า แล้วก็กลับมารับจ้างเย็บผ้าคลุมผมต่อ ได้เงินดีมาก วันละ1,000 –1,200 บาท ทำงานไม่หลับไม่นอนเป็นเวลา 3 ปี จนตัวขาว เพราะไม่ได้ออกไปไหน ไม่โดนแดด แม้แต่ตลาดก็ยังไม่มีเวลาออกไป สามีเราเองก็ช่วยเราทำงานตลอด เขาทำอะไรได้ เขาก็จะช่วยทำ เช่น เจาะรูฉลุเป็นลวดลายบนผ้าคลุม ตัดเศษด้ายออกจากผ้าคลุม เป็นต้น ถ้าเราไม่นอนเขาก็ไม่นอนเหมือนกัน

พอดีช่วงนั้น น้องสาวของสามีเราเสียชีวิต เราก็ต้องรับภาระอีก เอาลูกของน้องสาวสามีมาเลี้ยง 3 คน หลังจากนั้นเราได้ลูกอีก 1 คน เป็นคนที่ 8 และเป็นคนสุดท้อง คนสุดท้องตอนนี้อายุก็ 15 ปีแล้ว แล้วเรายังเอาหลานมาเลี้ยงอีก 2 คน เพราะพ่อแม่เด็กไปอยู่มาเลเซีย เราก็ต้องดูแลหลานสองคนนี้ พ่อเขาอยู่ในประเทศไทยไม่ได้ พ่อของเขาเป็นผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วมีคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราทั้งหมด 13 คน ที่กำลังเรียนหนังสือมีอยู่ 5 คน แม้เป็นภาระที่หนักมาก แต่เราก็ต้องอดทน ส่งเสียให้ทุกคนเรียนหนังสือให้ได้

........................................

 คนในชุมชนของเรา ที่บ้านจาเร๊าะ มีอาชีพทำนาทำสวน เยาวชนวัยรุ่นส่วนมากเรียนหนังสือ และเรียนหนังสือจนจบ ผู้หญิงทำงานเย็บผ้า และผู้ชายทำงานก่อสร้าง เกือบทั้งหมด นับถือศาสนาอิสลาม มีคนไทยพุทธอยู่ 2 ครัวเรือนเท่านั้นเอง

ส่วนตัวเรา คนในชุมชนก็เคารพนับถือเหมือนกัน เมื่อมีกิจกรรมประเพณีอะไร เช่นงานเมาลิด งานตาดีกา งานมัสยิด คนในหมู่บ้านจะเรียกเราเสมอ เพื่อปรึกษาหารือ และตั้งเราเป็นแกนนำ เราใช้ความรู้ป.4ที่เรามี มาใช้เป็นประโยชน์ในชุมชน เราไม่เคยทำตัวให้เสียประวัติในชุมชนของเรา สมัยก่อนเราไม่เคยออกสังคม จะอยู่แต่เฉพาะในหมู่บ้าน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547

ก่อนเกิดเหตุการณ์ตากใบ เราไม่สบายมาก เราเดินไม่ได้ เพราะว่าเราเย็บผ้าหนักมาก ก่อนเกิดเหตุตากใบหนึ่งอาทิตย์ เราหายไข้ และสามารถเดินออกไปตลาดได้ ช่วงเวลาที่เจ็บป่วยรวม 2 เดือน เราก็อยู่กับน้ำตาตลอด เพราะว่าเราคิดว่าถ้าเราเป็นอะไรไป ลูกหลานเราสิบกว่าคนจะอยู่ได้อย่างไร และลูกหลานเราจะได้เรียนหนังสือหรือไม่ 2 เดือนที่เราไม่สบาย เราก็ขอดุอาอ์ (ขอพร) จากอัลลอฮฺเสมอว่าขอให้เราหาย จะได้กลับมาทำงานต่อ เพื่อดูแลลูกหลานเรา บางทีเราก็ละหมาดฮายัต (ละหมาดเพื่อขอต่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่เราปรารถนา)ด้วย และบางทีเราก็คิดว่าอัลลอฮฺ จะทดสอบเราหรือเปล่า ว่าเราอดทนได้หรือไม่

.......................................

หลังจากเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 (ตรงกับเดือนรอมฎอน หรือเดือนปอซอ) ลูกชายเรา ชื่อ “มูฮำหมัดมารูวาซี มะหลง” ต้องคดีในเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ ลูกชายโดนข้อหาเป็นแกนนำในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ยังตั้งข้อหาด้วยว่าเขามีอาวุธซ่อนอยู่

ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ เราต้องหยุดเย็บผ้า เนื่องจากต้องตามหาและติดตามคดีของลูกชาย ญาติๆของเราก็ต้องคดีในเหตุการณ์ชุมนุมตากใบด้วย มีคนต้องคดีรวมแล้วทั้งหมด 58 คนในตอนนั้น เราเองก็เริ่มคิดมาก เนื่องจากเราต้องหาทางประกันตัวลูกชายออกมาให้ได้ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากถึง 250,000 บาทต่อคน เราไม่มีเงิน ทนายแนะนำให้ไปเอาโฉนดที่ดินของญาติๆ หลายคนมารวมกัน ตีเป็นเงินประมาณหนึ่งล้านห้าแสนบาท แล้วใช้ประกันตัวลูกและญาติๆในชุมชนของเราออกมาได้รวม 6 คน และคนอื่นๆ เราก็แนะนำให้ทำตามเหมือนที่เราทำ ในที่สุดก็สามารถประกันตัวออกมาได้ทั้ง 58 คน

ช่วงที่ต่อสู้คดี เราทำหน้าที่ประสานงานระหว่างทนายความจากสภาทนายความ ที่มาจากกรุงเทพฯ กับจำเลยในคดีตากใบ หัวหน้าทีมทนายตอนนั้นชื่อ รัษฎา มนูรัษฎา เขาได้รวบรวมบรรดาทนายในพื้นที่ทั้งจากสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กว่า 30 คน มาช่วยว่าความให้ โดยที่พวกเราไม่ต้องเสียค่าทนาย คดีนี้ต้องใช้ทนายเยอะ ทนายทั้งหมดที่มาช่วยว่าความ เราไม่เคยรู้จักใครมาก่อนสักคนเลย

เรารู้สึกว่าช่วงนั้นลำบากมาก เวลาทนายต้องการติดต่อผู้ต้องหาหรือญาติ บางคนไม่มีโทรศัพท์ เราต้องเดินทางไปหาถึงที่บ้าน บางคนบ้านอยู่ไกลจากหมู่บ้านของเรา เช่นที่เกาะสะท้อน บางขุนทอง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าบ้านของเขาอยู่ที่ไหน แต่เราก็ต้องหาให้เจอ

เราไปที่ศาลบ่อย ตอนแรกๆอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง แล้วก็เป็นเดือนละครั้ง และสองเดือนครั้ง รวมๆแล้วเราขึ้นศาล 52 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 2 ปี กว่าคดีจะถอนฟ้อง เราขึ้นศาลทุกนัดเป็นเพื่อนลูก เราเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เข้าไปในห้องพิจารณาคดี ผู้หญิงคนอื่นๆที่เป็นลูกเมียผู้ต้องหานั่งอยู่ข้างนอก ไม่กล้าเข้าไป จนวันหนึ่ง ผู้พิพากษาถามเราว่า “ก๊ะ เป็นผู้ต้องหาหรือเปล่า”

เรายืนขึ้น ตอบว่า “ไม่ใช่คะ เราเป็นแม่ของลูกชายที่ต้องคดี เราเป็นห่วงว่าลูกเราจะให้คำตอบไม่ถูกต้อง เพราะลูกชายพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้”

ผู้พิพากษาแนะนำว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ให้ก๊ะ เป็นผู้ประสานงานดีกว่า จะได้ทำงานง่าย”

ทนายรัษฎา (มนูรัษฎา) บอกผู้พิพากษาว่า “ ใช่ ตอนนี้ตั้งก๊ะ เป็นผู้ประสานงานแล้ว เพื่อจะได้ประสานกับจำเลยทั้ง 58 คนง่ายขึ้น”

บางทีเราก็กลายเป็นล่ามจำเป็นในห้องพิจารณาคดี มีอยู่เหมือนกัน เวลาผู้พิพากษาแนะนำอะไรให้ผู้ต้องหา หลังพิจารณาคดีเสร็จ เขาก็จะบอกให้เราช่วยแปลให้ผู้ต้องหาฟัง เราเองตอนนั้น พูดภาษาไทยก็ไม่ค่อยชัด แต่ก็ฟังพอจะเข้าใจ

อันที่จริงแล้ว หลังเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ เราเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่ต้น เราเป็นคนประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี และระหว่างทนายกับจำเลย หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามจะไปพบกับจำเลย เพื่อเยี่ยมเยียนและพูดคุย บางทีก็มีกระเช้าไปเยี่ยม แต่จำเลยก็ไม่ยอมพบ เพราะรู้สึกกลัวเจ้าหน้าที่อยู่ แม้แต่ลูกชายเราก็ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เห็นหน้า เราต้องเป็นคนบอกให้เจ้าหน้าที่เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่โดนคดี ที่มีต่อเจ้าหน้าที่ในตอนนั้น รวมทั้งพยายามอธิบายให้เขาเห็นว่า ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่ได้เป็นโจร ไม่ได้ทำอะไรผิด บางคนไปดูการชุมนุม บางคนก็ไปตลาด บางคนก็ถูกจับที่สามแยกโกลก ระหว่างเดินทางกลับจากทำงาน เราขอให้เจ้าที่อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับคนเหล่านี้ เพราะว่าเขากำลังขึ้นศาล ขอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ตลอด 2 ปีที่ขึ้นศาลนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปรบกวนชาวบ้านเลย จำเลยก็ไม่หนีไปไหน ขึ้นศาลทุกครั้งที่นัด

ส่วนกับทนายความ หลายครั้ง ก่อนขึ้นศาล ทนายจะบอกเรา ให้ช่วยประสานงานเรียกจำเลยมาประชุมชี้แจงกันก่อน เวลาทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องมีการประชุมกันรวมทั้งการสอบถามความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์จากจำเลย บางทีเราก็ต้องเป็นล่ามให้ เพราะทนายที่มาจากที่อื่นพูดภาษามลายูไม่ได้ ส่วนจำเลยส่วนใหญ่ ก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ หรือเวลาทนายขอเลื่อนนัดกับศาล ก็โทรมาหาเรา เพื่อให้เราบอกเลื่อนวันกับจำเลย

ตอนแรกเราประสานงานโดยที่ไม่ใช้โทรศัพท์ เพราะว่าเรายังไม่มีโทรศัพท์ เราประสานแบบไปตามถึงบ้าน ต่อมาลูกชายคนโตก็ให้โทรศัพท์มือถือของเขามาใช้ เพราะเห็นว่าเราติดต่อลำบาก ตอนหลัง เราพยายามตั้งแกนนำตำบลละหนึ่งคน เรารู้สึกว่าทำแบบนี้ ประสานได้เร็วกว่าตอนที่เราไปตามด้วยตนเอง ซึ่งแบบนั้นลำบากมาก เพราะเราขับรถมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น จะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก

ตอนเราทำงานช่วยผู้ต้องหา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราอยู่ในตำแหน่งอะไร เราไม่ได้เป็นกำนัน ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรืออบต. แต่ทำไมล่ะเราต้องมาทำหน้าที่นี้ ถึงแม้ว่าเราไม่มีตำแหน่ง ไม่มีเงิน เราก็ยอมเสียสละทุกอย่าง เพื่อช่วยลูกเราที่โดนคดีและคนอื่นๆอีก 58 คน บางทีเราต้องออกค่าใช้จ่าย เช่นค่ารถ ค่ากิน ให้จำเลยที่ไม่มีเงิน

นอกจากทนายความจากสภาทนายความแล้ว ก็มีองค์กรอื่นๆอีกหลายองค์กร ที่เราต้องประสานและทำงานด้วย เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย หรือยมท. กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานเยียวยา และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ก่อนถอนฟ้องตากใบ เราต้องทำงานใกล้ชิดกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอนุกรรมการของเขา เช่น คุณสุรสีห์ โกศลนาวิน อาจารย์พงศ์จรัส รวยร่ำ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิง เราจัดเวทีพบปะกับจำเลยหลายครั้ง รวมทั้งพบปะกับแม่ทัพวิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในตอนนั้น พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทที่ช่วยงานแม่ทัพวิโรจน์ตอนนั้น

ที่เราจัดเวทีก็เพื่อรับฟังปัญหา ความเห็นของผู้ต้องหา และผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่งคงอีกหลายคน เพื่อที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องได้หาทางช่วยเหลือต่อไป เราและจำเลยคดีตากใบทุกคน อยากให้ถอนฟ้องคดี เพื่อความเป็นธรรม อีกอย่าง ถ้าคดียังดำเนินต่อไป ชาวบ้านก็จะเดือดร้อนมาก เพราะคงใช้เวลาหลายปีกว่าคดีจะจบ สองปีที่ผ่านมา สอบพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เพียง 3 ปาก พยานฝ่ายเขามีมากเกือบ 2,000 ปาก คิดดูว่าจะใช้เวลานานขนาดไหน ตอนนั้นก็มีจำเลยเสียชีวิต ถูกยิงตายไปแล้วหนึ่ง และอีกคนก็ป่วยมาก

ส่วนกลุ่มผู้หญิง ที่มีอาจารย์โซรยา จามจุรี และนักศึกษา จากม.อ.ปัตตานี และพี่คุ้ง หรือคุณนารี เจริญผลพิริยะ จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มาจัดโครงการเยียวยาสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ และได้ประสานกับเรา เพื่อให้เรานำครอบครัวที่ติดคดีเข้ามาร่วมเวทีพูดคุยด้วย พร้อมกับครอบครัวคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานเยียวยา และปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งต่อมากลุ่มนี้ ก็ได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้”

กลุ่มตากใบที่เราช่วย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่โดนคดี แต่รวมถึงกลุ่มที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ด้วย กลุ่มนี้ ตอนหลังได้ฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ เราก็มีส่วนช่วยประสานระหว่างผู้ได้รับผลกระทบ ทนายความ แล้วก็กรรมการสิทธิมนุษยชน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างติดคดีนั้น หนักมาก เราจำได้ว่าเราเคยพูดถึงเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่ง ที่เดินทางมาเป็นพยานฝ่ายโจทย์ที่ศาลว่า “นาย นายรู้ไหมว่าพวกเราลำบากขนาดไหน สองปีแล้ว พวกเรามาศาลทุกครั้ง ต้องหยุดงาน บางคนทำงานรับจ้างอยู่ฝั่งมาเลย์ พอถึงวันนัด ก็ต้องเดินทางกลับมาขึ้นศาล ไม่มีบ่น ส่วนนายมาแค่วันนี้ วันเดียวก็รู้สึกลำบากแล้ว เราอยากจะให้เรื่องนี้จบเร็วๆ”

และแล้วสิ่งที่เราร้องขอความเป็นธรรมก็เป็นจริง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 เราพร้อมด้วยลูกชาย และผู้ที่ติดคดีทุกคนเดินทางไปศาลนราธิวาส เพื่อรับฟังข่าวดีจากศาล เรื่องที่อัยการสั่งถอนฟ้องคดีตากใบ พวกเราทุกคนดีใจมาก ทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิต ทำมาหากินได้เป็นปกติ ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นปีๆ และรู้สึกกังวลกับเรื่องคดีอีกต่อไป เราฟังข่าว เห็นคนในประเทศนี้ ก็ยินดีกับเราด้วย ในข่าวบอกว่าอัยการสูงสุดเห็นว่า การดำเนินคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกทั้งต้องใช้เวลานานในการนำสืบพยาน ที่มีเป็นจำนวนมาก จึงสั่งให้ถอนฟ้อง

........................................................

 แต่ทำไม ข่าวดีและความปกติสุข จึงอยู่กับเราและครอบครัวได้ไม่นาน ไม่ทันครบปีด้วยซ้ำไป...

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 เราได้ยินเสียงร้องตะโกนของเด็กแถวบ้านเรียกเราที่กำลังนั่งอยู่ในรถ หลังจากเรากลับจากไปงานศพของญาติที่อำเภอรือเสาะ แล้วรถเราก็จอด

“เปาะจิ [2] เสียแล้ว” เด็กคนนั้นที่ชื่ออาบีดีบอกเรา เรายังไม่เชื่อสิ่งที่เขาบอก ถามต่อว่า “เปาะจิไหน”

“เปาะจิของจินะนั่นแหล่ะ”

“เป็นอะไรตาย”

“โดนยิง เหมือนพ่อของผม” อาบีดีพูดถึงพ่อของเขา ที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่โดนยิงเมื่อปีที่แล้ว

“ลาอีลา ฮะอิ้ล ลัลลอฮฺ” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ) ประโยคแรกที่เรากล่าวออกมาจากปาก

เรามาถึงที่เกิดเหตุเที่ยงสิบนาที เปาะจิ หรือแบโซ๊ะ ซึ่งเป็นสามีเราถูกยิงตอนเที่ยงห้านาที เรานั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์เด็กที่มาบอกข่าว ไปถึงที่ที่แบโซ๊ะเสียชีวิต ซึ่งเป็นร้านขายของชำ หน้าปากซอยทางเข้าบ้านเรา แบโซ๊ะขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างมา 5 ปีแล้ว ที่นี่เป็นจุดรอรับลูกค้า ที่เขาจะต้องขับไปส่งในหมู่บ้าน ตอนเราไปถึงที่นั่น มีคนมามุงดูเพียงไม่กี่คน ลูกๆ ของเรามาถึงทีหลัง ร้องไห้ฟูมฟาย แต่เราไม่ร้อง เราตบหลังลูกๆ แล้วพูดว่า

“อย่าร้อง หากน้ำตาถูกร่างของพ่อ พ่อจะเป็นทุกข์ ”

เย็นวันนั้น ร่างของแบโซ๊ะ ถูกฝังที่กูโบร์(สุสาน) บ้านบาเดาะมาตี ในชุมชนของเรา ความรู้สึกตอนนั้น เราคิดว่าเขาไปสบายแล้ว ก่อนหน้านั้นก็คิดอยู่เสมอว่า เราต้องซอบัร (อดทน) ให้มากๆ ญาติและชาวบ้านมาที่บ้านเป็นจำนวนมาก แต่มีกลุ่มหนึ่งที่เราไม่อนุญาตให้เข้ามาในบ้าน นั่นคือ ทหารและตำรวจ มีทหารคนหนึ่ง นึกอย่างไรก็ไม่รู้ เข้ามาพูดกับเราว่า

“คนที่ทำนั้น เขาใส่เสื้อเหมือนทหารก็มีเยอะแยะ..”

“ไม่ต้องมาพูดมากหรอก คงรู้อยู่แก่ใจ คนทำก็รับกรรมไป..” เราตอบ

.......................................

ย้อนกลับไปก่อนที่แบโซ๊ะจะเสียชีวิต เย็นวันหนึ่งในช่วงเดือนปอซอ หรือดือนรอมฎอน ก่อนที่เขาจะละหมาดมัฆริบ (ละหมาดช่วงหัวค่ำ) เขาหันมาพูดกับเราว่า

“เป็นห่วงนะ ”

“เป็นห่วงอะไร” เราถามสามี

“เรื่องที่เธอทำ ไม่ใช่เป็นงานเล็กๆ เป็นงานใหญ่ เกินกว่าที่เธอจะแบกรับได้ ” เขาตอบ

ตอนนั้นเรารู้สึกเฉยๆ แบโซ๊ะพูดด้วยสีหน้าปกติ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มละหมาด ละหมาดเสร็จ เราก็เข้าไปคุยกับเขาต่อ

“เราจะทำอย่างไร ในเมื่ออัลลอฮฺ ได้ส่งเรามาทำหน้าที่นี้แล้ว มีคนอื่นที่เรียนสูงกว่าเรา แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยอะไร ใช่ เรายอมรับว่าสิ่งที่เราทำมันเกินกว่าความสามารถของเรา แต่ก็ต้องทำ”

เมื่อเราพูดจบ สามีก็ไม่พูดอะไรอีกเลย

ภาพของค่ำวันนั้น เราไม่รู้ว่า คำพูดของสามี เป็นคำพูดสุดท้ายที่แสดงความเป็นห่วงเราในสิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนี้ แต่อามานะห์ (หน้าที่) การเป็นผู้เรียกร้องเพื่อให้ได้ความยุติธรรมในพื้นที่นี้ เราคิดว่าอััลลอฮฺมอบหมายให้เรา เราจะต้องทำต่อไป

การตายของแบโซ๊ะ แม้เราทำใจได้ว่าเป็นตักดีร(การกำหนด)ของอัลลอฮฺ ว่าถึงเวลาของเขาแล้ว ที่เขาต้องจากเราไป โดยที่เราไม่สามารถเรียกเขากลับมาได้ แต่อีกใจหนึ่ง เราก็คิดตลอดว่าใครเป็นคนทำให้สามีเราตาย เขาตายเพราะสาเหตุอะไร เพราะเขาเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย ไม่เคยมีเรื่องกับใคร เลยทำให้เราคิดมากว่าการทำงานของเรา ที่ไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จะมีส่วนทำให้เขาเดือดร้อนถึงตายหรือเปล่าเป็นคำถามที่อยู่ในใจเราตลอดมา

..............................................

หลังจากที่สามีเสียชีวิตได้ 40 วัน มีภรรยาชาวบ้านกว่า 40 คน ที่สามีถูกจับ ที่บ้านกูตง อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มาร้องเรียนกับเรา เราช่วยประสานกับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิ หนึ่งอาทิตย์ต่อมา เจ้าหน้าที่ก็ได้ปล่อยตัวคนเหล่านี้ทั้งหมด นี่เป็นงานแรกที่เราช่วยเหลือชาวบ้านอีก หลังอาแบของเราเสียชีวิต

หลังจากนั้น เราก็ไม่หยุด ยังคงช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ถ้ามีอะไรทุกคนมาหาเรา คนนอกพื้นที่ก็มาหาเรา ตอนหลังชาวบ้านรู้จักเรามากขึ้น และชอบโทรศัพท์หาเรา เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เช่น เวลาเจ้าหน้าที่จับชาวบ้านเป็นผู้ต้องสงสัย ให้เราช่วยประสานถามเจ้าหน้าที่รัฐว่าผู้ต้องสงสัยนี้อยู่ที่ไหน จะได้ไปเยี่ยมเมื่อไหร่ หรือเมื่อมีคนถูกยิงเสียชีวิต เราก็แนะนำเมียหรือแม่ของเขาที่โทรมาหาเราว่า ต้องทำอย่างไรและติดต่อกับใครบ้าง เพื่อให้ได้เงินเยียวยา บางครอบครัว ไม่ได้เงินเยียวยา เพราะเจ้าหน้าที่สามฝ่ายไม่ยอมเซ็นรับรอง บอกว่าตายด้วยเรื่องส่วนตัว เราก็ประสานกับปลัดอำเภอ ทหาร หรือไม่ก็ตำรวจ ให้เขาช่วยตรวจสอบใหม่อีกที บางทีมีแม่ หรือพี่สาวของผู้ต้องสงสัยที่โดนจับ และถูกซ้อมทรมาน มาร้องเรียนกับเรา เราก็ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้สอบถามความจริง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลายครั้งเราลงพื้นที่กับกลุ่มผู้หญิงเพื่อไปเยี่ยมและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งที่เป็นมุสลิม และไทยพุทธ เมื่อองค์กรต่างๆจะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า เราก็จะเป็นผู้ประสานให้

ในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 เกิดเหตุการณ์จลาจลระหว่างนักโทษกับเจ้าหน้าที่ ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เราเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย เหตุการณ์ เรารู้สึกดีใจ ที่ได้ช่วยหยุดเหตุการณ์จลาจลในครั้งนั้นได้ ไม่ใช่ว่าเราช่วยไกล่เกลี่ยที่เรือนจำนราธิวาสเพียงที่เดียว เรื่องอื่นๆ เราก็ช่วยไกล่เกลี่ยด้วยเหมือนกัน เช่น ตอนเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นแถวๆหมู่บ้านเรา หรือเมื่อตอนเจ้าหน้าที่ ปิดล้อมตรวจค้นปอเนาะอิสลามบูรพา บางที เราพร้อมด้วยผู้หญิงคนอื่นๆ ของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ก็ไปสานเสวนากับแม่ทัพอุดมชัย เพื่อบอกปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบให้แม่ทัพ และพวกเจ้าหน้าที่ทหารได้ฟัง และช่วยเหลือต่อไปได้ ท่านแม่ทัพคนนี้ ก็ช่วยเรามาก เวลาเราได้รับเรื่องร้องเรียนที่หนักๆ ของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ เราก็จะโทรหาท่านโดยตรง เพื่อปรึกษา และให้ท่านช่วย

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมของเรา ยังได้จัดรายการวิทยุ และออกรายการโทรทัศน์ เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา รู้สึกว่าได้ผลมาก เพราะมีชาวบ้านเป็นจำนวนมากโทรหาเราหลังจากเราออกรายการ ผู้ได้รับผลกระทบดีใจที่มีรายการให้กำลังใจเขา เราเองก็ดีใจที่เราได้เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเราให้ผู้หญิงคนอื่นๆได้ฟัง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลุกขึ้นสู้เหมือนเรา

การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนให้ได้รับความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เราไม่นึกว่า สิ่งที่เราทำไป อััลลอฮฺประสงค์ตอบแทนเรา ให้เราได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2550 รางวัลพลเมืองคนกล้าจากสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ และรางวัลนักสู้ผู้ไม่แพ้ จากรายการโทรทัศน์คนค้นคน เมื่อปี 2552 และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 เราได้รับรางวัลสตรีดีเด่น ด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

................................................

กว่าที่เราจะมาถึงตรงนี้ได้ เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย ช่วงที่เราเป็นผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเมื่อ 8 ปีก่อน เรามักถูกค้นบ่อยๆ เกือบสิบครั้ง ความรู้สึกเราไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้ทำความผิดอะไร ความบริสุทธิ์อยู่กับเราตลอด กับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจค้น เราก็มีความรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อน บางอย่างเราก็คิดว่า อััลลอฮฺทดสอบเราหรือเปล่า บางทีเราก็คิดว่า เอ..เราทำงานแบบนี้ เจ้าหน้าที่มองเราว่าเป็นโจรหรือเปล่า เราต้องใช้ความอดทนมาก ถึงแม้ว่าเราถูกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรียกให้ไปพบถึง 2 ครั้ง เราก็ไม่เคยไป เพราะเราไม่เคยทำอะไรผิด อีกอย่าง เราก็เป็นผู้หญิงด้วย อายุมากแล้ว จะเรียกเราไปทำไม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราช่วยเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยเหตุการณ์จลาจล ที่เรือนจำนราธิวาสในวันนั้นได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มารบกวนเราอีกเลย เพราะเขาเห็นแล้วว่าเราทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน รวมทั้งการช่วยเหลือชาวบ้านของเรา บางทีก็ไปเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ ขอบคุณเราบ่อยๆ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 เราได้เป็นอนุกรรมการเยียวยา ดูแลผู้ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ รัฐบาลเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นเงิน คนละ 7.5 ล้าน บาท เรารู้สึกดีใจที่รัฐบาลไม่ทอดทิ้งคนกลุ่มนี้ พ.ต.อ.ทวี สองส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. ที่ดูแลงานเยียวยา ก็ทำงานตั้งใจ ทุ่มแท และจริงจังมาก เราเองก็รู้สึกว่าการเยียวยาเป็นธรรมมากขึ้น เช่นตัวเรา เคยได้รับเงินเยียวยาเพียง 100,000 บาทตอนสามีตาย มาตอนนี้กรรมการเยียวยา ก็ได้เพิ่มเงินเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเรา ให้ได้เท่ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ 500,000 บาท ส่วนผู้ได้รับผลกระทบที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ เช่นเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ สะบ้าย้อย เขาก็จ่ายเงินเยียวยามากกว่าผู้ได้รับผลกระทบทั่วไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบที่ต้องสูงกว่า เงินเยียวยาที่จ่ายมานี้ จะไม่ไปเกี่ยวข้องหรือตัดสิทธิ์การฟ้องร้องเอาผิดในคดีอาญา ของผู้เสียหายหรือคนในครอบครัว

เป็นครั้งแรก ที่เรามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ คือเป็นอนุกรรมการเยียวยา ทำให้เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบมากขึ้น เราต้องเดินทางไปประชุมที่ศอ.บต. จังหวัดยะลา บ่อยๆ เราต้องประสานกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอีกครั้งหนึ่ง นับร้อยๆ คน เพื่อให้เขาได้เยียวยา เราเจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่เราก็ไม่ท้อแท้ อดทนตลอด และคิดว่าอัลลอฮฺกำลังทดสอบเรา เหมือนที่เคยทดสอบตลอดมา

ที่เรารู้สึกดีใจที่สุด และขอบคุณอัลลอฮฺมาก ก็คือตอนที่เราได้ไปทำฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในช่วงวันที่ 19 กันยายน – 6 พฤศจิกายน 2555 ด้วยโควตาของ ศอ.บต. พร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ อีกประมาณ 200 คน

“โอ้อัลลอฮฺ ขอให้ชายแดนใต้ มีความสงบและสันติสุขด้วยเถิด เรากลัวว่าวันหนึ่ง เราอาจจะแบกรับภาระ และอามานะห์ที่พระองค์ให้มาไม่ไหว เพราะมันหนักหนาเหลือเกิน” นั่นคือดุอาอ์ ที่เราขอต่ออัลลอฮฺ หน้าบัยตุลลอฮฺ ตอนประกอบพิธีฮัจญ์

ความหวังของเราอยากเห็นความยุติธรรม ความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่เราต่อสู้มา ไม่ใช่ว่าเพื่อเอาชนะ แต่เราต่อสู้เพื่ออยากเห็นความเป็นธรรม เราอยากให้ผู้คนมีความสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้หวาดระแวงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ มีอะไรก็ขอให้หันหน้าคุยกัน.

 

“เหตุการณ์ตากใบ”: อย่าลด ละ ตามหาความเป็นธรรม

ทุกปียังมีการจัดกิจกรรมรำลึกและไว้อาลัยการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คน ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส กลายเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์บาดแผล และการทวงหาความเป็นธรรม ความรับผิดชอบ “กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ” เป็นส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ล่าสุดของอิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555

“เหตุการณ์ตากใบ” จุดเริ่มต้นจากการชุมนุมที่หน้าสภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2547 เพื่อเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) 6 คน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากยักยอกปืนของทางราชการ แต่แจ้งความเท็จว่าถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชิงไป ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนกระทำการดังที่ถูกกล่าวหา ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การชุมนุมบานปลายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตัดสินใจสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 7 คน (5 รายมีบาดแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ) ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ14 นาย แต่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างการขนย้ายระหว่างทาง จากหน้า สภ.อ.ตากใบถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่จับผู้ชุมนุมขึ้นไปซ้อนทับกันบนรถยีเอ็มซี ต้องขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตถึง 78 ราย

“เหตุการณ์ตากใบ” ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุเป็น “อาชญากรรมของรัฐ” และนำไปสู่การเรียกร้องให้ 'ผู้สั่งการ' ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพื่อบรรเทาความขัดแย้งที่ปะทุในพื้นที่

ต่อมาปี 2548คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาทนายความจัดตั้ง 'ศูนย์นิติธรรม' ขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือด้านคดีความแก่ชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ทั้งยังช่วยหาทนายความ ให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องคดีความแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ใน 3 คดีสำคัญ ได้แก่ 1. คดีผู้ต้องหาในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจำนวน 58 คน ซึ่งภายหลังอัยการถอนฟ้อง 2. คดีผู้ชุมนุมที่ตากใบเสียชีวิต 85 คน และ 3. คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการตายโดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ [3]

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้พยายามช่วยเหลือเยียวยา ทั้งช่วยค่าทำศพแก่ญาติและครอบครัวผู้สูญเสีย และให้ทุนเด็กกำพร้าจำนวน 64 คน แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความทุกข์ยาก และทุกข์ระทมระหว่างการเป็น “จำเลย” ต้องคดีความที่ผ่านมาได้ ทว่าเดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณีตากใบอีกครั้งในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการอุทรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตายเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ แปลว่า ไม่มีใครถูกลงโทษในการปฏิบัติการเกินกว่าเหตุนี้

และแม้ว่าเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบกรณีประชาชนเสียชีวิต รายละ 7.5 ล้านบาท จำนวน 85 ราย ซึ่งจ่ายเป็นงวดแรก 3.5 ล้านบาท เป็นเงิน 297.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยจ่าย ปีละ 1 ล้านบาท รวม 4 ปี [4]  และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีอาญาจำนวน 58 ราย รายละ 30,000 บาท เป็นเงินทั้งหมด 1,740,000 บาท และกรณีทุพพลภาพ มอบเพิ่มเป็นรายละ 500,000 บาท ซึ่งจากเดิมเคยได้รับ 80,000 บาท [5]

“การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการและฝ่ายความมั่นคงหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้ค่าชดเชยจำนวนมากก็ยังไม่อาจรับประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต” แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุ

ฉันชื่อ.... สุไรยา วานิ

“เธอคือคนที่ทำให้ความยุติธรรมเคลื่อนไหวได้ ด้วยตัวเธอ”

ฉันได้สัมผัสถึงพลังอันเต็มเปี่ยม พลังจากการเดินตามหา ความเป็นธรรมให้คนตากใบมาตลอด นั้นคือ ก๊ะแยน๊ะ ผู้ที่ฉันขนานนามว่าเป็น “ผู้คลี่คลายความซับซ้อนของความขัดแย้ง” นอกจากจะได้เรียนรู้และรู้จักกับคำว่า ยุติธรรมได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ก๊ะทำให้ฉันรู้จักกับคำว่าอดทน ความเสียสละ และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รวมทั้งความบริสุทธิ์ใจต่อการงาน ลองนึกภาพดู ผู้หญิงวัยใกล้เกษียณต้องมานั่งรับโทรศัพท์รับเรื่องร้องเรียนทุกข์ ร้องขอให้ก๊ะแยน๊ะช่วยหาทางออกให้ ก๊ะต้องกดโทรศัพท์เพื่อติดต่อ คนโน้น คนนี้ บางคืนก็หลับไม่สนิท เพราะต้องนอนคิดว่า จะต่อสายใครดี เสมือนว่า ต้องวางแผนการทำงาน

ดูเหมือนเธอจะทราบในสิ่งที่ฉันสงสัยอยู่

“เราจะทำอย่างไร ในเมื่ออัลลอฮฺได้ส่งเรามาทำหน้าที่นี้ มีคนอื่นที่มีความรู้มากกว่าเรา แต่อัลลอฮฺได้มอบหมายหน้าที่นี้แก่เรา เรารู้สึกว่า เป็นสิ่งที่เราต้องทำสุดความสามารถที่เรามี” นี่คือคำพูดของกะแยะน๊ะ ที่ให้ฉันเข้าใจว่า ทำไมคนอย่างเธอต้องทุ่มเทชีวิต ทั้งที่ไม่ได้ค่าตอบแทนเลยสักบาท ฉันค่อนข้างเชื่อมั่นว่า เรื่องเล่าที่บันทึกเส้นทางชีวิตของเธอคนนี้ จะทำให้หลายคนอยากเป็นเหมือน หญิงแกร่งที่ชื่อ แยน๊ะ สะแลแม

 

เชิงอรรถ

  1. ปอเนาะ มาจากคำว่า pondok (ปนโดะ) แปลว่า กระท่อม เพิง หรือโรงเรียนสอนวิชาศาสนาอิสลาม (วิเชียร ตันตระเสนีย์, พจนานุกรม มาเลย์ – ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท วี.พรินท์ (1991) จำกัด. 2553, หน้า670)
  2. เปาะจิ เป็นภาษามลายู แปลว่า อาหรือลุง หรือใช้เรียกแทนผู้ชายที่มีอายุมากกว่า
  3. ตากใบในอากาศ น. 20-21
  4. วารสารฟ้าใหม่ชายแดนใต้ ปีที่ 1 ฉ. 5 วันที่ 1- 15 สิงหาคม 2555 น.3
  5. รัฐเตรียมจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อไฟใต้เพิ่ม ชดเชยชาวบ้านเป็น 5 แสนบาท จาก http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000100729

 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี