รอมฎอน ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในชายแดนใต้ในรอบหลายปีมานี้อย่างใกล้ชิดก็คงพอจะคุ้นเคยกับข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในฐานะที่เป็นข้อเสนอทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ นั่นคือการเสนอให้มีการปฏิรูปการบริหารปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและลักษณะเฉพาะของพื้นที่และผู้คน ข้อเสนอเหล่านี้วางอยู่บนกรอบการมองปัญหาที่ว่าใจกลางของความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่ลงรอยกันระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับ “ท้องถิ่น” ซึ่งผูกโยงกับเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของผู้คน ตลอดจนความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารปกครองในปัจจุบันและที่ผ่านมา
หลายครั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะรู้จักกันในนามและ “ตัวแบบ” อันหลากหลาย ในระยะเวลาของความรุนแรงที่เข้มข้นตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา ข้อเสนอในทำนองนี้ก็ถูกพัฒนาและนำเสนอมาอยู่เป็นระยะ ทั้งในรูปแบบของการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ งานวิจัย การสำรวจความคิดเห็น บทความ ฯลฯ กระทั่งว่าได้พัฒนาจากประเด็นที่เคยเป็น “เรื่องต้องห้าม” และมีความพยายามสร้างความอันตรายเกินจริงโดยทำให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับข้อเสนอแบ่งแยกดินแดนมาสู่ประเด็นที่สามารถถกเถียงได้อย่างกว้างขวางและเปิดเผย แต่กระนั้นหลายครั้งการอภิปรายถึงเรื่องดังกล่าวก็ก่อคำถามสำคัญขึ้นมาว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นคิดเห็นอย่างไร
“เขตปกครองพิเศษ” ในเงื่อนไขของบีอาร์เอ็น
หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการเมืองการปกครองชายแดนใต้อย่างข้อเสนอ “เขตปกครองพิเศษ” ได้กลับมามีชีวิตในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง ภายหลังการริเริ่มพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยซึ่งนำโดย สมช. กับขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นได้ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการหยิบยกข้อเสนอ 5 ประการ อันเป็นเงื่อนไขบีอาร์เอ็นในการเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความอึดอัดใจฝ่ายทางการไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเนื้อหาที่เรียกร้องให้มีการยอมรับ “สิทธิความเป็นเจ้าของ (Hak Ketuanan)” ของชนชาติมลายูปาตานีเหนือดินแดนปาตานี ในบันทึกที่ทางคณะพูดคุยบีอาร์เอ็นจัดทำส่งมายังผู้อำนวยความสะดวกตามข้อเรียกร้องของคณะผู้แทนฝ่ายไทยก็ขยายรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความหมายของหลักการดังกล่าวพร้อมข้อแลกเปลี่ยน พร้อมระบุรูปธรรมเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นทางออกร่วมกัน
ข้อเสนอที่ว่าด้วยการอ้างอิงถึง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” อยู่ในรายละเอียดของข้อเรียกร้องประการที่สี่ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของเนื้อหาหลักที่เรียกร้องให้ฝ่ายทางการไทยยอมรับการดำรงอยู่และ “สิทธิความเป็นเจ้าของ” ของประชาชาติมลายูปาตานีเหนือดินแดนปาตานี คำอธิบายในรายละเอียดยังเน้นย้ำถึงการยอมรับการดำรงอยู่ของประชาคมมลายูปาตานีและสิทธิในความเป็นเจ้าของดินแดนที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนและผู้คน ในรายละเอียดดังกล่าวก็เน้นย้ำถึงความหมายของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (Right for Self Determination) ว่าอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยและไม่ได้หมายความถึงความต้องการในการที่จะแบ่งแยกดินแดนออกไปจากอาณาเขตของรัฐไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยังกำหนดให้การตระหนักยอมรับถึงสิทธิดังกล่าวนั้นต้องได้รับการกำหนดเป็นวาระของรัฐสภาไทย รวมทั้งระบุไว้เช่นกันว่าการพิจารณารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่งภายหลังจากบรรลุการหยุดยิงอย่างเป็นทางการตามวาระที่เหมาะสมแล้ว
ควรต้องกล่าวด้วยว่า หัวใจเบื้องหลังข้อเรียกร้องดังกล่าวประการหนึ่งคือการเรียกร้องให้มีการยอมรับหรือตระหนักรับรู้ถึงสถานะทางการเมืองของ “ปาตานี” อันเป็นเคยมีอดีตที่เป็นอิสระและสิทธิอำนาจของ “ชนชาวมลายูปาตานี” เหนือดินแดนดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองโดยปกติของชนกลุ่มน้อยต่อรัฐประชาชาติที่มีสิทธิอำนาจเหนือตน และแน่นอนว่าจากมุมมองของรัฐ สิ่งเหล่านี้รบกวนอำนาจที่ดำรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือการเมืองของการตระหนักรับรู้ (politic of recognition) ที่ฝ่ายรัฐเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะกดทับไม่ให้เผยตัวแจ่มชัด ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเองก็จำต้องหยิบยกขึ้นมาเพื่อเจรจาต่อรอง
ความยากลำบากในการขบคิดหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นความท้าทายที่สะท้อนความเป็นจริงของกระบวนการสันติภาพอย่างยิ่ง การพูดคุยสันติภาพที่ดูเหมือนจะหยุดชะงักเมื่อเผชิญกับอุปสรรคดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น หากบรรลุเงื่อนปมดังกล่าวไปได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อนาคตของการเจรจาสันติภาพจึงจะพอเป็นไปได้
“เขตปกครองพิเศษ” ในความหมายนี้จึงสามารถพิจารณาได้ว่านี่เป็นการถอยในทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการปาตานี ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจำต้องเผชิญกับคำถามหนักหน่วงมวลชนสนับสนุนและแนวร่วมทางการเมือง แต่ท่าทีดังกล่าวก็ยากจะสร้างความสบายใจให้กับผู้นำทางการเมืองและกองทัพไทยได้โดยง่ายนัก เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะเปิดช่องให้สถาปนาหน่วยการเมืองการปกครองชนิดใหม่ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นได้ แต่สังคมไทยก็มีแรงต้านทานอยู่สูงไม่น้อย
ปัจจัยชี้ขาดจึงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นอย่างไรต่ออนาคตของพวกเขา แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นเรื่องระหว่าง “ตัวแทน” ของคู่ขัดแย้งที่มีกำลังอยู่ในมือ แต่นอกเหนือจากปัญหาเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนแล้ว ปัญหาของความชอบธรรมทางการเมืองก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กล่าวอีกทางก็คือข้อตกลงทางการเมืองใดๆ ที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคตก็จำต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ฟังเสียงประชาชน: จะเลือกอนาคตของตนเองอย่างไร?
ในบริบทของความขัดแย้งที่ชายแดนใต้/ปาตานี ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองการปกครองชายแดนใต้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันพบว่ามี “ตัวแบบ” ที่ถูกนำเสนอมากกว่าสิบโมเดล อาทิเช่น ข้อเสนอ “ทบวงชายแดนใต้” (กรุณาดูรายละเอียด ที่นี่) ข้อเสนอ “ปัตตานีมหานคร” ที่ผลักดันโดยเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ (กรุณาดูร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ... และเอกสารประกอบการหารือ ที่นี่) ข้อเสนอ “นครปัตตานี” ที่เคยถูกเสนออย่างต่อเนื่องโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แนวคิดบางส่วนได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา แต่แล้วก็ไม่ได้รับการผลักดันต่อจนถึงปัจจุบัน (กรุณาดูร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ. ...) หรือแม้แต่ข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง “มณฑล” ในฐานะหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ (กรุณาดูบทความที่นำเสนอแนวคิดเบื้องต้น ที่นี่) นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงการเสนอให้จัดตั้งทบวงและเปลี่ยนผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (กรุณาดูรายละเอียด ที่นี่) หรือข้อเสนอจากงานวิจัยที่เรียกร้องจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (กรุณาดูรายละเอียด ที่นี่) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ท้าทายก็คือประชาชนในพื้นที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงนั้นคิดเห็นต่อข้อเสนอเหล่านี้อย่างไร พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองการปกครองจะตอบโจทย์ของปัญหาที่พวกเขาเผชิญได้จริงหรือไม่ นี่คือที่มาของ “สองร้อยเวที” ภายใต้โครงการเวทีนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง” ซึ่งทำทยอยจัดวงตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2556 กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา แม้จะตั้งเป้าเอาไว้ 200 เวที (จนกล่าวกันติดปากว่าสองร้อยเวที) แต่ด้วยเงื่อนไขความพร้อมต่างๆ เวทีดังกล่าวจัดขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะรวม 146 เวที ครอบคลุมตั้งแต่ชุมชนมลายูมุสลิม ชุมชนไทยพุทธ ทั้งที่เป็นชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอย่างนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มนักศึกษา ตลอดไปจนถึง “กลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่าง” (ดูรายละเอียดการจัดเวที ที่นี่)
เวทีดังกล่าวร่วมกันจัดขึ้นระหว่างสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับสำนักงานปฏิรูป โดยใช้คณะทำงาน 17 คณะ ที่มาจากกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกของสภาฯ และใช้เครื่องมือของกระบวนการเวทีวิจารณญาณสาธารณะ (Public Deliberation) เพื่อรับเสียงสะท้อนของประชาชนและพิจารณา “เหตุผล” ที่ประชาชนในพื้นที่อภิปรายถึง “ทางเลือก” ต่างๆ ซึ่งรวบรวมและสังเคราะห์ออกเป็น 6 ทางเลือก ซึ่งทั้งหมดเคยได้รับการนำเสนอในพื้นที่สาธารณะหลากหลายช่องทาง มีลักษณะเป็น “โมเดล” หรือ “ตัวแบบ” ที่มีรายละเอียดชัดเจน และที่สำคัญอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ (ดังรายละเอียดในเอกสารสรุปประเด็นเชิงนโยบาย “ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?”) ด้วยเหตุนี้ แนวทางของการแยกตัวเป็นรัฐอิสระจึงไม่ได้รวมในอยู่ในบรรดาทางเลือกเหล่านี้ เพราะนอกจากจะไม่มีรายละเอียดที่เปิดเผยแล้ว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด
ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?
แต่ถึงกระนั้น กระบวนการยังเปิดช่องให้มีการอภิปรายถึงทางเลือกต่างๆ เป็น “ทางเลือกที่ 7” เอาไว้ เป้าหมายของกระบวนการดังกล่าวนั้นไม่ได้ต้องการแสวงหาฉันทามติหรือสำรวจความคิดเห็นในลักษณะของโพลล์ หากแต่มุ่งพิจารณาเหตุผลที่ผู้เข้าร่วมใช้แลกเปลี่ยนเพื่อถ่วงดุลให้เห็นแนวทางการเลือกของพวกเขาอย่างรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ฉบับภาษามลายู
ในสถานการณ์ที่ “เขตปกครองพิเศษ” ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอีกครั้งอย่างกว้างขวางเช่นนี้ การหันกลับไปสนใจทัศนะของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงดังที่เครือข่ายเหล่านี้พยายามริเริ่มขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่าง สมช. และ บีอาร์เอ็น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง
รายงาน “เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ ‘ชายแดนใต้จัดการตนเอง’” (กรุณาดาวน์โหลดอ่านฉบับเต็ม ที่นี่) ซึ่งเป็นการประมวลบทสรุปจากเวทีดังกล่าว ได้สะท้อนข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก ผู้เข้าร่วมโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะให้เหตุผลสนับสนุนแนวทางใดก็ตามต่างก็มีความเห็นว่าการตั้งประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของพวกเขาในอนาคตนั้นสำคัญและเรียกร้องให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดเวทีในลักษณะเช่นนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา พวกเขาบางส่วนยังรู้สึกว่าแม้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองเช่นนี้จะเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ก็รู้สึกแปลกใจที่สามารถทำให้การพูดคุยในลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ แต่กระนั้น ก็ยังมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่าไม่ควรหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาอภิปราย ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตามแต่
ความปรารถนาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอนาคตของตนเองเป็นลักษณะร่วมที่พบได้ในแทบจะทุกเวทีที่คณะทำงานลงไปจัด นี่เป็นสัญญาณของความตื่นตัวทางการเมืองครั้งสำคัญของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สิ่งนี้ยืนยันผ่านการจัดเวทีอภิปรายในทางการเมืองที่เกิดขึ้นหนาตาในระยะหลัง และแน่นอนว่าผู้เข้าร่วมนั้นล้นหลาม
รายงาน “เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ ‘ชายแดนใต้จัดการตนเอง’”
เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของผู้เข้าร่วมที่ “เลือก” ทางเลือกต่างๆ ก็สามารถจัดกลุ่มความคิดเห็นต่างๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก คือ แนวทาง ศอ.บต. กล่าวคือการยืนยันว่าโครงสร้างการบริหารที่มี ศอ.บต. เป็นหน่วยงานบูรณาการนั้นยังถือว่าเป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพื้นที่อยู่ จุดแข็งสำคัญที่อยู่ในเหตุผลของผู้เข้าร่วมคือการมีผลการทำงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารในปัจจุบัน แม้ว่าการบริหารและที่มาของผู้บริหารจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่โครงสร้างที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน อีกทั้งยังมีสถานะพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรงจึงทำให้สามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ให้บรรลุผลโดยเร็วชัดเจน ในขณะที่ข้อวิจารณ์กลับพุ่งตรงไปที่ข้อจำกัดของ “บุคคล” มากกว่าที่เป็นตัวโครงสร้าง แง่มุมที่น่าสนใจอีกประการคือเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนไทยพุทธสะดวกใจที่จะเลือกแนวทางนี้มากกว่าแนวทางอื่นๆ เหตุผลหลักๆ โดยรวมสำหรับพวกเขาคือความไม่มั่นใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารในพื้นที่ แนวโน้มดังกล่าวนี้มีอยู่ทั้งในชุมชนในเมืองและชุมชนนอกเมือง
กลุ่มที่สอง คือ แนวทางทบวงหรือกระทรวงที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยเป็นหลัก แม้ในเวทีจะมีการอภิปรายถึงทางเลือกนี้ไม่มากนัก เหตุผลสนับสนุนคือเป็นแนวทางที่น้ำหนักและการให้ความสำคัญที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล แนวทางนี้ยังได้รับการกล่าวสนับสนุนอย่างมากเมื่อพิจารณาถึงบทบาทของประชาชนใน “สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” แต่กระนั้น ข้อวิจารณ์หลักก็ยังมองว่าเป็นแนวทางที่ศูนย์กลางยังคงผูกขาดการกำหนดทิศทางอยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีรัฐมนตรีมาจากรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งก็ตามที กล่าวอย่างถึงที่สุด ผู้เข้าร่วมมองว่าถึงจะมีการปรับเปลี่ยนไปในแนวทางนี้ แต่สาระก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก
กลุ่มที่สาม ซึ่งรวมเอาทางเลือก 3, 4, 5 และ 6 เข้าไว้ด้วยกัน (นั่นคือ สามนครสองชั้น, สามนครชั้นเดียว, มหานครสองชั้น และมหานครชั้นเดียว) โดยจุดร่วมสำคัญที่ผูเข้าร่วมให้น้ำหนักถกเถียงคือการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุด เหตุผลสนับสนุนหลักคือโอกาสที่ประชาชนในพื้นที่ “สามารถ” เลือกผู้นำได้เอง ผู้นำที่มีที่มาเช่นนี้จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบได้ดีกว่าการมีผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง สำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็นชาวมุสลิมบางส่วน ทางเลือกเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้มุสลิมเป็นผู้นำและบริหารกิจการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา ทว่าสำหรับชุมชนชาวไทยพุทธในอีกบางส่วนกลับกังวลในเรื่องเดียวกันและหวั่นเกรงว่าเสียงสะท้อนของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง
ผู้เข้าร่วมมองเห็นเช่นกันว่าแนวทางเหล่านี้อาจนำมาซึ่งปัญหาที่ตามหลายประการ ดังเช่น ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในท้องถิ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อแย่งชิงตำแหน่งและโอกาสทางการเมืองเหล่านี้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้ทรงอิทธิพลและผู้มีฐานะร่ำรวยจะได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งการบริหาร ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะทุจริตตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ได้รับการอภิปรายเพื่อถ่วงน้ำหนักอย่างมาก ผู้สนับสนุนแนวทางเหล่านี้เชื่อว่าสิ่งที่ต้องแลกมาเช่นนี้เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้
ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่อง “ขนาด” ของหน่วยการปกครองนั้นพุ่งตรงไปที่ความยากง่ายในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรายจังหวัดนั้นดูจะง่ายกว่าการรวมเขตเป็น “มหานคร” แม้ว่าอย่างหลังจะสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์มาก่อนก็ตาม ในขณะที่การคงให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นสองระดับดูจะเป็นการง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะบทบาทของ อบต. และเทศบาลในปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่
การให้เหตุผลเกี่ยวกับแนวทางการเลือกตั้งผู้ว่าราชการหรือฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางในเวทีนโยบายสาธารณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของประชาชนบางส่วนที่มุ่งหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองการปกครอง แม้ว่า “รูปแบบ” จะเป็นเช่นไร แต่เหตุผลสนับสนุนและข้อกังวลที่ถ่วงน้ำหนักระหว่างการพิจารณาก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายไม่มากก็น้อย
กลุ่มที่สี่ แนวทางอื่นๆ ที่มีการนำเสนอเพิ่มเติมในเวที เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วในเวทีสามารถแสดงความคิดเห็นเสนอแนวแนวทางใหม่ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลง มีขัอเสนอจากในเวทีหลากหลายน่าสนใจ อาทิเช่น การเสนอให้มีการเลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต. การเสนอให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการคัดกรองนายทหารระดับสูงที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการเลือกและถกเถียงก็ยังคงจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหากมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนถึงทางเลือกในอนาคตอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
การจัดกลุ่มข้างต้น สามารถพิจารณาได้จากการให้น้ำหนักของทางเลือกต่างๆ ที่เมื่อรวมเอาทางเลือกที่ 3 – 6 เข้าไว้ด้วยกัน (ในแนวทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ) ซึ่งมีข้ออภิปรายที่มีจุดร่วมสำคัญคือการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดในหน่วยการเมืองการปกครอง ก็จะเห็นแนวโน้มสำคัญ ดังภาพประกอบข้างล่าง (ภาพประกอบที่ 5 ในรายงาน)
สัดส่วนของกลุ่มทางเลือกในแนวทางต่างๆ โดยสรุป
บทสรุปของสองร้อยเวทีได้รับการนำเสนอครั้งแรกเมื่อคราวการประชุมสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 หรือหลังการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเวลาสองเดือน ข้อเสนอที่อยู่ในรายงานดังกล่าวยังได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ศาสนาในพื้นที่ความขัดแย้งต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา กล่าวในอีกด้านก็คือกระบวนการสันติภาพหาใช่เป็นเรื่องของ “ตัวแทน” ของแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันเท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจของประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะการเปิดโอกาสให้ประชาชน “เลือก” นั้นจะรักษาเนื้อหาสาระที่เป็นจริงและความยั่งยืนของสันติภาพที่จะก่อตัวขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอแนะต่อคู่สนทนาจึงพุ่งไปสู่ประเด็นที่ว่าในโต๊ะพูดคุย/เจรจาสันติภาพจำต้องหยิบยกข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองการปกครองในชายแดนใต้/ปาตานีขึ้นมาพิจารณาอย่างรอบด้านในฐานะทางออกทางการเมืองที่จะทำให้ชัยชนะเป็นของทุกฝ่าย ในขณะเดียวกัน ทั้งฝ่ายรัฐไทยและขบวนการปลดปล่อยปาตานีเองก็ต้องเปิดโอกาสและสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้พูดคุยและถกเถียงเกี่ยวกับทางออกดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยเพียงพอ
ข้อเสนอเหล่านี้ดำรงอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการหยิบยกประเด็นเขตปกครองพิเศษจากขบวนการเคลื่อนไหว โดยที่ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวผลักดันและถกเถียงอยู่ก่อนบ้างแล้ว แต่ก็ยิ่งตอกย้ำประเด็นทางการเมืองที่เป็นใจกลางสำคัญซึ่งหล่อเลี้ยงให้ความขัดแย้งดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน ความท้าทายไม่ได้มีแต่เฉพาะตัวแทนของคู่สนทนาเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมกินความกว้างขวางไปถึงสังคมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนกลุ่มต่างๆ ในชายแดนใต้/ปาตานีอีกด้วย หากไม่เผชิญหน้ากับโจทย์เหล่านี้ซึ่งหน้า ก็ยากจะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในปัจจุบันไปสู่สิ่งอื่น ความท้าทายประการต่อมาที่สำคัญก็คือเสียงของประชาชนจะในพื้นที่จะมีน้ำหนักต่อการสร้างความชอบธรรมเพียงใดเพื่อรองรับการสร้างอนาคต (สันติภาพ) ที่สำคัญ เราจะแสวงหาเสียงของประชาชนให้สะท้อนออกมาในรูปแบบใด นี่คือบทสรุปที่สองร้อยเวทีได้ริเริ่มทิ้งเอาไว้ให้กับทุกฟากฝ่าย